'คลัง' โยน ธปท. ลดดบ. ตามเฟดอุ๋ยขวางเลิก 30%


'คลัง' โยน ธปท. ลดดบ. ตามเฟดอุ๋ยขวางเลิก 30%
ฉลองภพโยนแบงก์ชาติตัดสินใจลดดอกเบี้ยตามเฟดหรือไม่ ด้านสภาพัฒน์เตือนรับเงินทุนเคลื่อนย้ายกระทบค่าเงินบาท ส่งออกเดี้ยงหลัง ศก.สหรัฐถดถอย "ปรีดิยาธร" แนะรัฐบาลใหม่หาผู้รู้รับมือปัญหาซับไพรม์สหรัฐ อย่าบุ่มบ่ามเลิกกันสำรอง 30% หุ้นไทยร่วงอีก 12 จุด ต่างชาติทิ้งแล้ว 4 หมื่นล้านบาทนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 มกราคมว่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.75% เพื่อแก้ปัญหาปัญหาซับไพรม์นั้น ในส่วนของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะต้องพิจารณาว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามหรือไม่  ส่วนจะต้องมีการประชุมเร่งด่วนเช่นเดียวกับเฟดหรือไม่นั้น อยู่ที่การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)  ทั้งนี้ ภายหลังเฟดประกาศปรับลดราคาดอกเบี้ยลง 0.75% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 3.50% ส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทยปัจจุบันยังอยู่ที่ 3.25%ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 25 ม.ค. ธปท.จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ธ.ค.2550 พร้อมทั้งจะมีการปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2551 ใหม่ จากเดิมที่ปรับเมื่อเดือน ต.ค.2550 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.5-6% อัตราเงินเฟ้อ 1.5-2.8%  ด้านค่าเงินบาท วันที่  24  ม.ค. ปิดที่ 33.09-33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  จากที่เปิดตลาด 33.12-33.13 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนายอำพน   กิตติอำพน  เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า จากกรณีปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) สหรัฐ และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ได้ส่งสัญญาณยืนยันอย่างชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ระยะถดถอยอย่างแน่นอนแล้ว  สศช. ได้คาดการณ์ว่าแม้กรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะยังขยายตัวที่ 4-5%  "เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยที่จะส่งผลอัตราการบริโภคของสหรัฐชะลอตัวลงนั้น จะส่งผลกระทบต่อเนื่องกับภาคการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ที่ผ่านมาไทยได้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับภาคการส่งออก ทั้งการมุ่งหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอย่างเต็มที่ ดังนั้น การส่งออกของไทยน่าจะได้รับผลกระทบบ้าง โดย สศช.คาดว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวที่ 10% จากระดับ 18% เมื่อปีที่แล้ว" นายอำพนกล่าวเลขาธิการ สศช.ระบุว่า สิ่งที่ประเทศไทย โดยเฉพาะ ธปท.ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ การเคลื่อนย้าย เงินลงทุนในตลาดเงินที่จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทได้ แต่ทั้งนี้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นหรือจะอ่อนค่าลงไม่สามารถระบุได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายตัว เช่น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐ เศรษฐกิจสหรัฐที่ถดถอย และค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "รัฐบาลใหม่ต้องทำอะไร...ต่อไป?" ว่า สิ่งที่ห่วงและอยากให้รัฐบาลใหม่เตรียมการไว้คือ เตรียมการรองรับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐที่เกิดจากปัญหาซับไพรม์ ซึ่งจะส่งผ่านผลกระทบมาทางตลาดการเงิน จนทำให้คู่ค้าทางการเงินมีปัญหา ไม่สามารถส่งมอบเงินตามข้อตกลงต่าง ๆ ได้ ปัญหาการส่งเงินไม่ได้จะลามข้ามประเทศ         จึงอยากให้รัฐบาลใหม่เตรียมผู้ที่มีความรู้ไว้คอยรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ เชื่อว่าผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว   ที่ผ่านทางตลาดการเงินจะกระทบเศรษฐกิจไทยน้อยกว่าประเทศอื่นอดีต รมว.คลังระบุว่า มีความกังวลว่ารัฐบาลใหม่จะรีบเร่งยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% และอยากให้มาตรการดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปอีกระยะ เพราะขณะนี้ค่าเงินหยวนของจีนแข็งค่า 13.3%  เงินริงกิตของมาเลเซีย 14% และดอลลาร์สิงคโปร์ 13% ซึ่งกำลังแข็งค่าใกล้เคียงกับเงินบาทซึ่งแข็งค่าที่ 15.7% หากค่าเงินสกุลอื่นแข็งค่าใกล้เคียงค่าเงินบาท  จึงจะเป็นช่วงเวลาที่สมควรคิดยกเลิกมาตรการกันสำรองได้ดีที่สุด  "การส่งสัญญาณครั้งนี้ เพื่อไม่ให้รัฐบาลใหม่บุ่มบ่ามยกเลิกมาตรการดังกล่าว   เพราะไม่ควรดูเฉพาะด้านทฤษฎีเท่านั้น แต่ควรดูทางปฏิบัติด้วย"สำหรับผลกระทบเศรษฐกิจสหรัฐต่อตลาดหุ้นไทย ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเชื่อว่ามีไม่มากนัก เพราะตลาดหุ้นไทยยังมีกลไกบางอย่างปกป้องอยู่บ้าง โดยหากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงยังเดินหน้าต่อไปได้ ตลาดหุ้นไทยก็ยังเดินหน้าไปได้เช่นกัน ต่างจากตลาดหุ้นอื่นที่ได้รับผลกระทบมากกว่าม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวถึงปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐว่า การที่สหรัฐซึ่งเป็นประเทศผู้ซื้อสุดท้ายของโลกลดการใช้จ่าย ยอดนำเข้าสินค้าย่อมลดลง ส่งผลกระทบยอดส่งออกทั่วโลกลดลงตามไปด้วย จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ โดยการส่งออกปีนี้จะขยายตัวชะลอลง ประกอบกับรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น 2-9% ต่างจาก 4-5 ปีที่แล้ว ซึ่งเศรษฐกิจไทยอยู่รอดได้เพราะรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 20% จึงไม่หวังว่าปีนี้การบริโภคเอกชนจะดีขึ้นมากนัก  อย่างไรก็ตาม หวังว่าการใช้จ่ายของเอกชนในส่วนการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะปิโตรเคมี  11 โครงการ ประมาณ 200,000 ล้านบาท หากเริ่มต้นทุนได้แม้ 1 ใน 3 และการเป็นโครงการต้นน้ำ จะทำให้โครงการปลายน้ำอีก  34  โครงการที่รออยู่  เดินหน้าต่อไปได้  ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้รอการลงทุนมาปีเศษแล้ว เชื่อว่าเดือน มี.ค.นี้ หากมีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการดังกล่าวได้ทั้งหมด จะทำให้การลงทุนปีนี้เติบโตในระดับตัวเลข 2 หลัก และอาจจะถึง 20% พร้อมเชื่อว่ารัฐบาลใหม่        จะไม่ขวางโครงการเหล่านี้ที่เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ อดีต  รมว.คลังกล่าวอีกว่า  สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการคือ เร่งเปิดประมูลโครงการระบบขนส่งมวลชน  ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ เร่งการลงทุนภาครัฐในโครงการต่าง ๆ ที่รออยู่ ผลักดันโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) ที่เริ่มไว้แล้วต่อไป  นอกจากนี้ อยากจะเห็นรัฐบาลใหม่พัฒนาระบบโลจิสติกส์ ทั้งระบบรถไฟและทางน้ำ  เดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาเทิร์นซีบอร์ด) และการจัดสรรทรัพยากรทางน้ำ ขณะที่สิ่งที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก ได้แก่ การรับจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาดเหมือนในอดีตการดำเนินโครงการที่เกินกำลังและหมกหนี้ไว้ตามหน่วยงานต่าง ๆ ส่วนสิ่งที่ควรดำเนินการด้วยความระมัดระวังคือ เลือกตัวผู้มาแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%ด้านตลาดหุ้นไทยวันที่ 24 ม.ค.ยังคงผันผวนอย่างหนัก โดยปิดตลาดครึ่งวันที่ระดับ 746.42 จุด เพิ่มขึ้น 5.77 จุด แต่ช่วงบ่ายมีแรงเทขายออกมาอย่างหนัก ส่งผลให้ดัชนีปรับลดลงมาปิดที่ระดับ 728.58 จุด  ลดลง 12.07 จุด  มูลค่าการซื้อขาย 16,508.96 ล้านบาท  ต่างชาติขายสุทธิ 2,213.56  ล้านบาท สถาบันซื้อสุทธิ 764.90 ล้านบาท  รายย่อยซื้อสุทธิ 1,448.66 ล้านบาท  รวมตั้งแต่ต้นปี นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 39,095.76 ล้านบาท ดัชนีลดลง 129.52 จุดนายวีระชัย ครองสามสี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ฟาร์อีสท์ กล่าวว่า ดัชนีวันที่ 24 ม.ค.  มีการปรับตัวสวนทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาค เป็นผลมาจากนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ออกมา นอกจากนี้การที่เมอร์ริล ลินช์ ลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทย  เพราะปัญหาเรื่องทางการเมือง  แม้ว่าจะมีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว แต่นักลงทุนเองไม่มั่นใจ เพราะต้องการเห็นหน้าตาของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ขณะเดียวกันปัจจัยลบภายนอกเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลง ก็มีผลเข้ามากดดันบรรยากาศการลงทุนอยู่เช่นกันนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า   ตลาดหุ้นไทยน่าจะเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวนจนถึงกลางปี 2552 เนื่องจากยังมีการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับปัญหาซับไพรม์ที่ยังไม่คลี่คลาย แต่ดัชนีถือว่าปรับลดลงไม่มากนัก และอยู่ในอันดับที่ 6 ของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งดีกว่าอีกหลาย ๆ ประเทศที่ปรับลดลงค่อนข้างแรง โดยดัชนีตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับลดลงไป 13%ส่วนตลาดหุ้นไทยยังคงมีพื้นฐานที่ดี รวมทั้งราคาหุ้นยังถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ขณะเดียวกันปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง ดังนั้นจึงเชื่อว่าเม็ดเงินลงทุนที่ไหลออกไปตั้งแต่ช่วงที่ผ่านมาน่าจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย หากรัฐบาลชุดใหม่มีการบริหารประเทศได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายไปในทิศทาง  ที่ดีขึ้น  "ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% เมื่อคืนวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมาคงจะไม่ช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจสหรัฐให้ดีขึ้นเท่าไรนัก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสหรัฐในปัจจุบันถือว่ารุนแรง และต้องใช้เวลานานในการแก้ไข ซึ่งอย่าไปหวังว่าสถานการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งสภาวะของเศรษฐกิจจะดีขึ้นในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการประชุมที่เร่งด่วนและหารือผ่านทางโทรศัพท์ ฉะนั้นจึงพอจะสรุปได้ว่าปัญหาซับไพรม์รุนแรง ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าปัญหาดังกล่าวจะคลี่คลาย" นายปกรณ์กล่าว

ประธาน กก.ตลท.ระบุว่า ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยหลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มถดถอยคือ การส่งออกอาจจะไม่ดี และอาจจะส่งผลต่อจีดีพีด้วย แต่จะกระทบมากน้อย แค่ไหนยังไม่สามารถประเมิน
สถานการณ์ได้  ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน  อย่างไรก็ตาม ยังคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะสามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ดีขึ้น รวมทั้งคงจะช่วยฟื้นความ
เชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมาได้

 ไทยโพสต์  คม ชัด ลึก  25  ม.ค.  51
หมายเลขบันทึก: 161340เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2008 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท