ต้นไทรแสนแปดสิบต้น แนวเคลื่อนเข้าหาของประชาคม


“น้ำตกโตนลุงไข่” ชื่อนี้อาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก  ตามแนวเทือกเขาบรรทัดอันทอดผ่านอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลายังมีน้ำตกอีกหลายแห่ง  ที่ยังไม่ถูกรบกวนจากนักท่องเที่ยวต่างถิ่น
    
แนวเขาบรรทัดบริเวณบ้านหน้าเขา ตำบลท่าชะมวง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เรียกว่าเขาแก้วเป็นที่ตั้งของน้ำตกโตนลุงไข่  การเดินทางเข้าไปถึงสถานที่แห่งนี้ค่อนข้างสลับซับซ้อน


จากถนนสายเก่าหาดใหญ่ –รัตภูมิ   มีทางเข้าอยู่หลายทาง อาจเลี้ยวลงจากถนนใหญ่ตรงข้ามโรงเรียนห้วยโอนหรือใช้เส้นทางข้างโรงเรียนรัตภูมิวิทยา  แต่คนไม่เคยไปอาจต้องแวะลงถามหลายครั้ง  เพื่อลัดเลาะตามหมู่บ้านและสวนยางไปบนถนนดินแคบ ๆ ที่บางแห่งน้ำเซาะเป็นร่องลึก ไล่เรื่อยจนได้ยินเสียงน้ำตกจากไหล่เขาทางทิศใต้  ในผืนป่าสิริกิติ์อันเป็นต้นน้ำสำคัญของสงขลา ไม่ว่าคลองภูมี หรือคลองอู่ตะเภา
    
31 พฤษภาคมที่ผ่านมา  เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำภูมี นำโดย วรัณ สุวรรณโน หรือ “พี่เจีย” ของน้องๆ ได้จัดกิจกรรมค่ายยุวชนต้นกล้ารักษ์ป่ารักษ์น้ำครั้งที่ 2 ขึ้นที่น้ำตกโตนลุงไข่    ทำให้น้ำตกดูคึกคักกว่าทุกวัน  เพราะมีเยาวชนจากรัตภูมิเข้าร่วมกว่า 45 คนตั้งแต่ระดับชั้น ประถม-มัธยม  เด็กเหล่านี้แม้จะมีภูมิลำเนาในพื้นที่รัตภูมิ แต่บางคนไปเรียนต่างถิ่นทั่วสงขลา ขณะที่มีกลุ่มผู้ใหญ่ใจดีมาร่วมเป็นวิทยากรอีกไม่น้อยจากหลากหลายอาชีพ ทั้ง ครู อาจารย์ ตำรวจ ผู้นำชุมชน ฯลฯ

โดยเฉพาะอาสาสมัครของเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำภูมีนั้นความเป็นมาน่าสนใจยิ่ง  อดีตของพวกเขาจำนวนหนึ่งคือผู้ที่เคยผ่านมรสุมชีวิตเดินก้าวพลาดไปสู่หนทางของยาเสพติด แต่ทุกวันนี้ กลับตัวกลับใจอย่างเด็ดขาด หันมาทำงานเพื่อรับใช้สังคม  พวกเขาเคยเสนอให้มีการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารีในป่า เมื่อพูดกับใครก็ถูกหัวเราะกลับมา คิดดีแต่แทบไม่มีแนวร่วม  โอกาสเพิ่งเปิดหลังจากมีการจัดกิจกรรมแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาพวกเขาได้รับการตอบรับจากเครือข่ายต่างๆ ไม่มองเป็นเรื่องไร้สาระอีกต่อไป

กล้วยไม้รองเท้านารี กำลังออกดอกสีม่วงสลับขาวเขียวเบ่งบานสวยงาม จำนวนหนึ่งได้ถูกนำมาแสดงในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย
    
กิจกรรมวอล์คแรลลี่  เริ่มต้นบนแผ่นหินบนน้ำตกโตนลุงไข่   ลักษณะน้ำตกโตนลงลุงไข่ยามนีเห็นสายน้ำเล็กๆ ไหลผ่านแผ่นหินขนาดใหญ่ ลงมาสู่แอ่งใสเบื้องล่าง ความชันไม่มาก เดินไต่สะดวก ไม่มีหินแหลมคม เด็กแถวนั้นที่ตั้งใจไปเล่นน้ำโดยเฉพาะ จึงมีวิธีเล่นหวาดเสียวโดยเดินขึ้นไประดับสูงแล้วทิ้งตัวลงเหมือนสะพานลื่น หรือสไลเดอร์ในสวนสนุก ดูจะไม่อันตรายนัก

กิจกรรมเริ่มตั้งแต่การจัดการไหว้เจ้าที่เจ้าทางตามแบบโบราณ   โดยการเชิญชาวบ้านผู้ประกอบพิธีโดยตรงมาทำพิธี   เพื่อให้เด็กได้รับรู้ถึงพิธีกรรมในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ  และตามแบบวิถีชุมชม นอกจากนั้นยังเป็นการขอพรจากเจ้าที่เจ้าทางให้เดินทางเข้าป่าอย่างปลอดภัย ตามความเชื่อ
 
เด็กถูกแบ่งออกเป็น 7 ทีม  แล้วการแข่งขันก็เริ่มต้น ผู้เข้าร่วมจะถูกปล่อยเดินขึ้นเขาเข้าป่าทีละทีมพร้อมกับวิทยากรพี่เลี้ยง ผู้เชี่ยวชาญเส้นทางในพื้นที่  เดินขึ้นไปสู่ยอดเขาแก้ว เล่นเกมเก็บคะแนนตามโจทย์  ของการแข่งแรลลี่ทั่วไป  เพียงแต่คำถามให้บอกชื่อต้นไม้ , ต้นไม้ที่กินได้ ฯลฯ  กระทั่งผลการแข่งขันอาจจะไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะหลักใจความสำคัญเป็นเพียงเครื่องมือการเรียนรู้อย่างหนึ่ง
 

"กิจกรรมนี้เราไม่คาดหวังเรื่องวิชาการ  แต่ต้องการให้เด็กที่เข้าร่วมได้ซึมซับบรรยากาศของผืนป่า พวกเขาจะเห็นวิวทิวทัศน์  เห็นกล้วยไม้  อะไรต่างๆ การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ก็จะตามมา ” พี่เจีย เดินถือกล้องถ่ายวิดีโอ ถ่ายภาพไปด้วย และคุยให้ฟัง ถึงเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการและเกี่ยวกับป่าผืนนี้ ที่เขาคุ้นเคยดี  ด้วยบทบาทของเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำภูมี  อันมีแนวคิดต่อขั้นตอนการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยเริ่มตั้งแต่ทำการศึกษาเพื่อไปสู่การอนุรักษ์ให้เข้มแข็งเสียก่อน   ส่วนการจะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้นเอาไว้เป็นเป้าหมายปลายสุด

“ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็ง ยังไม่ชัดเจนในเรื่องการจัดการ การอนุรักษ์  จะปล่อยให้การท่องเที่ยวเกิดขึ้นไม่ได้” พี่เจียเล่าว่าต้องสร้างวิถีให้ชาวบ้านใหม่ในการเฝ้าระวังต้นไม้  ป่าแถบนี้เดิมเคยถูกแผ้วถางบุกรุกมาก่อน  ขนาดมีคนขนกล้วยไม้และพันธุ์ไม้ป่าบางชนิดออกไปขาย กันเป็นกระสอบเลยทีเดียว  การเวนคืนประกาศเป็นพื้นที่สวนป่าสิริกิติ์ น่าจะเป็นสัญญาณที่จะต้องฟื้นฟูสภาพธรรมชาติให้กลับมาใหม่อีกครั้ง  แม้ว่าถัดจากน้ำตกลงไปจะถูกรุกคืบด้วยสวนยางพาราเข้ามาใกล้

“อย่าดึงต้นไม้นะครับ  ห้ามเด็ด เก็บภาพได้อย่างเดียวห้ามเก็บต้นไม้ ” พี่เจียเตือนน้องคนหนึ่ง ที่เผลอไปจับกล้วยไม้ลอยขึ้นมาจากพื้น พร้อมกับอธิบายว่าแม้เป็นกล้วยไม้ที่ไม้ต้องยึดเกาะ ดูแล้วเป็นเหมือนเศษอะไรสักอย่าง แต่เป็นส่วนประกอบสำคัญของป่า
 
เดินปีนป่ายขึ้นเขาไปตามทางของการแข่งขันที่ชันและรก   สภาพภูเขาที่มีพื้นแผ่นหินขนาดใหญ่ฝังอยู่ทั่วไป บริเวณแผ่นหินผาเตียนโล่งเปล่าเปลือยจากไม้ใหญ่ ในยามฝนชุกเดาได้ไม่ยากว่าคือทางที่น้ำไหลบ่าลงมาจากยอดเขาจนอาจจะมองเห็นสายน้ำกระทบแดดระยิบระยับจากระยะไกลจากพื้นราบเบื้องล่างโน่นทีเดียว  แต่ในยามที่น้ำเหือดแห้ง คราบตะไคร่น้ำแห้งสนิท พื้นไม่ถึงกับลื่นมาก เดินไปตามแนวแผ่นหิน และบางช่วงต้องหลบหลีกซอกหินอย่างระมัดระวัง  เมื่อได้หยุดพักบริเวณโล่งๆ จะมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่าง สุดลูกหูลูกตาที่ลงพื้นด้วยสีเขียว  ยกเว้นภูเขาที่ถูกขุดผ่าซีกเอาดินลูกรังสีส้มเป็นรอยหมองเว้าแหว่งบางแห่ง นั่นเป็นปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมอีกประเด็นหนึ่งที่ดำรงอยู่

ระหว่างทางนอกจากสัญลักษณ์สำหรับการเดินไปสู่จุดหมายในเกมแล้ว  พี่ๆ ผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลาย  เอาป้ายมาติดบนต้นไม้ เพื่อบอกว่ามีต้นอะไรบ้าง  ขี้แรด เคียนหิน  ตอป่า  ขอมป่า กระเรกระร่อน  ฯลฯ  ท่ามกลางเสียงนกร้องจากปลายไม้ เสียงแมลง หากสำหรับเด็กยุคใหม่ อาจเป็นเรื่องที่ไกลตัว ที่เขาจะทำความรู้จักกับชื่อพืชหรือสัตว์ลักษณะนี้ถ้าไม่ถูกชักจูงด้วยเกม
 
อย่างไรก็ตามกิจกรรมในวันนั้นและกลุ่มเด็กกลุ่มนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจทีเดียว ในการดึงคนรุ่นใหม่กลับมาเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์ ในเมื่ออนาคตที่แท้จริงอยู่ในมือพวกเขาเหล่านี้

พี่เจียเล่าระหว่างการเดินไปกับน้องๆ กลุ่มหนึ่งว่า เพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้กลับมาได้มีโครงการปลูกต้นไทรจำนวน 100,080 ต้น เพื่อถวายในหลวงในวโรกาสพระชนมายุ 80 พรรษาในปีนี้ด้วย  โครงการดังกล่าวกำลังเริ่มต้นแล้ว โดยได้รับการอุดหนุนพันธ์ไม้เบื้องต้น  จากศูนย์เพาะชำกล้าไม้ ฯ  มีทั้งการนำต้นมาปลูก และหาเมล็ดของต้นไทรใส่ในดินปั้นเป็นลูกบอล แล้วช่วยกันโยน  การปลูกจะดำเนินการไปเรื่อยๆ โดยไม่รีบปลูกให้ครบตามจำนวนในคราวเดียว แต่จะทำไปเรื่อยๆ ใครก็ได้มาช่วยกันปลูก ต้องการความยั่งยืนทางกายภาพและสำนึกทางธรรมชาติที่จะก่อตัวในจิตใจผู้คนทีละน้อย
    
ในอนาคตเมื่อป่าต้นไทร เกิดขึ้นความร่มรื่น ชุ่มชื้นจะกลับคืนมาอีกครั้ง   ฝูงสัตว์ป่าจะตามมาหลังจากต้นไทรกลายเป็นแหล่งอาหารคงจะได้เห็นลิงตัวจริง แทนที่จะเห็นแต่ “กางเกงลิง” ที่พี่ๆ เอาไปแขวนเอาไว้ในราวป่า เป็นเกมหลอกให้น้องๆที่เข้าร่วมแข่งขันแรลลี่ ใช้กล้องส่องทางไกลส่องดูเท่านั้น


เส้นทางวอร์คแรลลี่ วันนั้นระยะทางน่าจะอยู่ที่ 1กิโลเมตรเศษ เวลาเดินของผู้ชำนาญการเดินป่าราว 30 นาที อย่างไรก็ตามเด็กมีโอกาสได้ถูกปล่อยเข้าไปเดินเล่น ในป่าเกือบ 2 ชั่วโมงอย่างอิสระ แฝงไว้ด้วยความตื่นเต้น ผจญภัยเล็ก ระหว่างการไต่ขึ้นหรือโรยตัวตามเชือกในจุดสูงชันของหินผา  นับว่าหลายคนได้ซึมซับบรรยากาศของธรรมชาติ ซึ่งคงมากกว่าการเรียนรู้ตามระบบที่ไม่มีกลิ่นไอของชีวิตแท้ๆ

กลิ่นข้าวที่หุงด้วยกระบอกไม้ไผ่   ในฐานของการดำรงชีวิตในป่า ทำให้เข้าถึงชีวิตและป่ายิ่งขึ้นอีก  ขณะที่นั่งพักดื่มน้ำ รับลมพัดเย็นในจุด RC ใกล้จะสุดท้าย   ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนบางเรื่องราว  

ผู้ใหญ่ใจดี คนหนึ่งจากเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำภูมี เล่าว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวในบริเวณนี้ในอนาคต ยังมีหลายสิ่งที่น่าสนใจ ในป่าแห่งนี้ยังมีสถานที่ประวัติศาสตร์ เป็นอุโมงค์ของทหารพรรคคอมมิวนิสต์ จากการสู้รบทางการเมืองในอดีต จากการสำรวจเบื้องต้นพบลักษณะที่คล้ายกับอุโมงค์ทหารป่าในแหล่งอื่น ๆ  นอกจากนั้น สถานที่หลายแห่งในอำเภอรัตภูมิยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของประเทศไทย คือเป็นทางเดินของนักโทษที่จะนำไปถูกจองจำที่เกาะตะรุเตา


“ผมเห็นว่าการเล่าตำนานของสถานที่  อย่างผูกโยงเป็นเรื่องน่าสนใจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ ” ชาคริต โภชะเรือง จากเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจ.สงขลา มาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วยนำเสนอ เขายังมองว่า การจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จะเข้ามามีบทบาทแทนที่การท่องเที่ยวแบบเดิมค่อนข้างมากหลังจาก การท่องเที่ยวหลักในพื้นที่ประสบปัญหาต่างๆ  อย่างไรก็ตามถ้าจะให้ได้รับความสนใจมาก อาจจะต้องจัดเส้นทางการท่องเที่ยวในอำเภอรัตภูมิทั้งหมดให้เชื่อมโยงกันด้วย  

ทุกอย่างน่าจะเชื่อมโยงกันได้หมด ชาคริตมองว่า แม้แต่เด็กที่อยู่ในลุ่มน้ำสำคัญ 4 แห่ง ในจังหวัดสงขลามาเจอกัน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ในเรื่องเดียวกัน อันนำไปสู่การขับเคลื่อนที่ใหญ่ขึ้น

ดูเหมือนว่าความเชื่อมโยงของเครือข่ายต่างๆกำลังก่อร่างอย่างเงียบๆ และมั่นคง เห็นได้จากกิจกรรมในวันนั้นมีคนทั้งในและต่างเครือข่าย มาร่วม พวกเขาได้สนทนาแลกเปลี่ยนในกิจกรรมที่ทำอยู่ และพร้อมเคลื่อนเข้ามาหากัน

หมายเลขบันทึก: 160349เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2008 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีครับ แวะเข้ามาเยี่ยมชม
  • เยี่ยมครับ
  • ที่จริงผมก็คนสงขลา อยู่อำเภอสะเดา แต่มาติดกับในเมืองหลวงนี้มาเกือบ 20 ปีแล้ว ไม่มีโอกาสได้ย้ายกลับไปอยู่บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองจริง
  • ในฐานะที่ผมก็เป็นคนสงขลา ขอขอบคุณ เครือข่ายอนุรักษ์ มากๆ ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณน้าเจีย ที่ช่วยกันดูแลทรัพยากรในบ้านเกิดเมืองนอนผม
  • ขอบคุณมากครับ _/|\_

หนูเคยไปเเล้วค่ะสนุกมากเลยเเถมยังมีที่ให้สไลอีกด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท