ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเสียงกับความหมาย ของคำในภาษาไทย


            ภาษา คือ เครื่องหมายที่มนุษย์ และกลุ่มชนกำหนดขึ้นอย่างมีระบบ กฏเกณฑ์ มนุษย์สร้างภาษาขึ้นมาเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน  ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด ภาษาเขียน สัญลักษณ์ หรือภาษาสัญญาณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จัดเป็นสื่อในการสื่อสารทั้งสิ้น  แต่สื่อที่สำคัญที่สุด และใช้กันแพร่หลายมากที่สุด คือ ภาษาพูด  ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจึงขอกล่าวเน้นถึงเรื่องเสียง เพราะเกี่ยวข้องกับภาษาพูดโดยตรง
            ภาษาของมนุษย์ไม่ว่าชนชาติใดภาษาใด จะต้องมีลักษณะสำคัญที่เป็นของคู่กัน คือมีหน่วยเสียง(Phonemes)  และหน่วยคำ(Morphemes)  โดยหน่วยเสียงเป็นหน่วยที่ย่อยที่สุดของภาษา  และเมื่อนำหน่วยเสียงมารวมกันเป็นกลุ่มจะเรียกว่า "พยางค์"  และกลุ่มของหน่วยเสียงที่เล็กที่สุดที่มีความหมาย เรียกว่า "หน่วยคำ"  การกำหนดเสียงเป็นสัญลักษณ์ใช้สื่อความหมายนี้เป็นสิ่งสมมติของแต่ละภาษา  กล่าวคือ  การที่เสียงพูดไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความหมายแบบตายตัว  โดยไม่มีเหตุผลอะไรที่คำว่า "ขา"  ซึ่งหมายถึงอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายตั้งแต่ตะโพกถึงข้อเท้า ใช้สำหรับยันกาย และเดิน จะต้องมีเสียงเช่นนี้ ทั้ง ๆ ที่มนุษย์เราสามารถเปล่งเสียงต่าง ๆ ได้มากมาย  ดังนั้นคำว่า "ขา" จึงเป็นความสมมติที่ผู้พูดภาษาไทยยอมรับรู้ความสมมตินี้  ในขณะที่ผู้พูดภาษาอื่น ๆ ไม่รับทราบ หรือเข้าใจความหมายสมมตินี้ หรือแม้แต่คำเลียนเสียงธรรมชาติ ในเสียง "ค้อกอะดูเดิ้ลดู"  เมื่อปรากฏการณ์จริงทางภาษาเป็นเช่นนี้  จึงนำมาเป็นข้อสนับสนุนได้ว่า  การที่เสียงหนึ่งมีความหมายอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องของการตกลงยอมรับกันของแต่ละกลุ่ม ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ใช้ภาษาต่างกลุ่ม ต่างความคิด จึงได้สมมติเสียงใช้แทนความหมายต่างกัน  ความแตกต่างดังกล่าวเป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับการทำความเคารพ  ปรัชญา  ความเชื่อ
            อย่างไรก็ตามได้มีผู้สนใจศึกษา และให้ข้อสังเกตในคำภาษาไทยซึ่งมีคำอยู่จำนวนมากทีเดียว ที่เสียงกับความหมายเป็นสิ่งที่เป็นเหตุผลกัน  นั่นคือ เสียง ๆ หนึ่งมักจะใช้สื่อความหมายได้ในลักษณะหนึ่ง  หรือกล่าวได้ว่าเพื่อจะสื่อความหมายในลักษณะหนึ่ง  ผู้ใช้ภาษามักจะเลือกใช้คำที่มีเสียงอย่างหนึ่ง  และเมื่อจะสื่อความหมายในอีกลักษณะหนึ่ง จะเลือกใช้เสียงอีกเสียงหนึ่ง  ตัวอย่างเช่น  เสียงพยัญชนะนาสิก /น/, /ม/  มักให้ความสำเร็จในการสื่อความหมายที่บ่งความรู้สึกนุ่มนวล  ละมุลละไม  ค่อยเป็นค่อยไป  เช่นคำว่า  นุ่ม  นุ่น  นาด  นาบ  แนบ  ละไม  ละม้าย  มาลย์  ม้วน ฯลฯ   แต่เสียงพยัญชนะระเบิด /บ/, /ป/, /พ/ มักให้ความรู้สึกแข็งกระด้าง  หรือสัมผัสที่เกิดจากการปะทะที่หนัก และเกิดสียงดัง  เช่นคำว่า  กระบึง  สะบัด  แบะ  บิด  ปุบปับ  โป๊ก  พึ่บพั่บ  เพียะ  ผัวะ    ส่วนเสียงพยัญชนะเสียดแทรก /ซ/  มักใช้ในคำที่บ่งบอกความหมายถึงการเคลื่อนไหวอย่างมีการเสียดสี  หรือซึมแทรก  เช่น  ซัด  สาด  ซ่า  กระเซ็น  ซ่าน  กระซิบ  กระซาบ  ซู่ เป็นต้น  เรื่องเสียงของคำที่ให้ความรู้สึกนี้  ชมัยพร  วิทูธีรศานต์  อ้างถึงใน ประสิทธิ์  กาพย์กลอน (2524) ได้รวบรวมเสียงพยัญชนะที่ทำให้เกิดความรู้สึกต่าง ๆ กัน ซึ่งจะขอยกมาเป็นตัวอย่างเพียงบางส่วน ดังนี้
            พยัญชนะ "ข"  มีความหมายไปในทางให้อารมณ์รุนแรง  ทางความรู้สึกลึก ๆ เช่น ขึ้ง  ขม เขื่อง  เข้ม  ข้น  ขาด  ข่ม  ขืน  ขัด  ขีด  ขูด  ขบ  ขึง  แต่ถ้า  "ข" กล้ำ "ย" จะให้ความรู้สึกไปในทางไม่เรียบร้อย  เช่น  ขย่ม  ขย้อน  ขยะแขยง  ขยัก  ขยำ  ขยุกขยิก  เขย่ง  เขยื้อน ฯลฯ
            พยัญชนะเสียง  "ง"  เสียงบ่งถึงลักษณะไม่มั่นคง  ให้ความหมายในทมงไม่ค่อยดี  ตลกหรือน่าสงสาร  เช่น  ง่วน  งอแง  งอน  ง่อนแง่น  งุ่มง่าม โง่เง่า  งอม  งมงาย  งงงวย  งก  งัวเงีย  ง่วง ฯลฯ
            พยัญชนะ  "จ"  ส่วนมากจะให้ความรู้สึกที่ไม่เป็นปึกแผ่น  แต่แผ่กระจายให้เสียงที่เป็นช่วง ๆ เช่น จู้จี้  จ้อ  จุกจิก  จุ้นจ้าน  เจี๊ยวจ้าว  เจื้อยแจ้ว  จ้าละหวั่น  จืด  จาง  จน  จม  จอด ฯลฯ
            ดวงมน  จิตร์จำนงค์ (2527)  ได้กล่าวว่าเสียงที่ประกอบขึ้นเป็นกลุ่มที่เรียกว่าพยางค์  จะมีความหมายมากน้อยต่างกัน  บางคำความสำคัญอยู่ที่พยัญชนะต้นดังคำที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้วข้างต้น  งคำก็ต้องพิจารณาเสียงสระ  เสียงพยัญชนะท้าย  และเสียงวรรณวุกต์ประกอบด้วย  เช่น  คำที่มีเสียงพยัญชนะท้าย เป็นเสียงระเบิด  ซึ่งเรียกในภาษาไทยว่า "คำตาย" นั้นมักให้ความรู้สึกบีบคั้นถ่วงหนัก  โดยเฉพาะเมื่อมีเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงต่ำ (เสียงเอก) เช่นกลอนกลบทที่เล่นคำตายทั้งวรรค "เจ็บจิตคิดวิตกอกอึดอัด"
           นอกจากเสียงพยัญชนะแล้ว เสียงสระสั้นหรือยาว ก็อาจมีผลต่อการสร้างความรู้สึกได้เช่นกัน โดยที่เสียงสระสั้นจะให้ความรู้สึกเร่งเร้า ฉับไว ทำให้นึกถึงการเคลื่อนไหวเลื่อนลอยในช่วงสั้นถี่ เช่น  ลิ่ว  ขวับ  ระริก  ยึกยัก  มุบมิบ  งุบงิบ  ขวิด ฯลฯ  ส่วนเสียงสระยาวให้ความรู้สึกยืดยาด เนิบนาบ หรือหนักหน่วงเยิ่นเย้อแช่มช้า  เช่น เคว้งคว้าง  ขว้าง  ย้าย  ย่าง  เยื้อง  โยก  โยน  ถาก  ถาง  ปาด  ทาบ  เทียบ ฯลฯ
            อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ทางภาษาดังกล่าว  ยังไม่สามารถนำมาสรุปเป็นทฤษฎีแน่นอนตายตัวได้เหมือนกับสูตรคณิตศาสตร์  หรือสูตรปฏิกิริยาทางเคมี  เป็นเพียงแต่ข้อที่น่าสังเกตเท่านั้น  อีกประการหนึ่งถ้ากล่าวว่าเสียง กับความหมายไม่ได้มีความสัมพันธ์กันเลย แล้วลองพิจารณาในแง่ของวรรณศิลป์ จะด้วยเหตุผลอะไร ที่ทำให้ผู้ประพันธ์ต้องเลือกเฟ้น พิจารณาชนิดของคำประพันธ์ซึ่งแตกต่างกันที่ฉันทลักษณ์ เพื่อนำมาแต่งให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์  เพราะคำประพันธ์แต่ละประเภทถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อเอื้อต่อผลสำเร็จของการสื่อสารที่แตกต่างกัน  และจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ผู้ประพันธ์ไม่จำเป็นต้องพิจารณา หรือเลือกเฟ้นคำ  โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเสียงกับความหมาย  โดยไม่ว่าจะนำคำที่มีเสียงใด ๆ มาแต่งคำประพันธ์ แล้วจะส่งผลไปสู่ความสำเร็จของการสื่อสารได้เหมือน ๆ กัน
................................................................

เอกสารอ้างอิง
ดวงมน  จิตรจำนงค์. 2527.  สุนทรียภาพในภาษาไทย. กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย.
ประสิทธิ์  กาพย์กลอน. 2524. แนวทางศึกษาวรรณคดี : ภาษากวี. กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย.

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15976เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2006 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นางสาววิลัยพร งามสุข

ได้สาระมากเลยค่ะ และได้ความรู้เรื่องนี้ด้วยค่ะ

OK..........

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท