บทเรียนการบริหารนวัตกรรมของโทเร (2)


เอกชนไม่สามารถหยิบงาน ของภาครัฐไปต่อยอด รัฐก็ไม่สนใจ พัฒนาผลิตภัณฑ์ สนใจแต่มุ่งสร้าง ความเป็นเลิศ ด้วยผลงานตีพิมพ์

ฟ้าครับ

บทเรียนชิ้นต่อไปของโทเร เป็นเรื่องราวการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อว่า เส้นใยคาร์บอน (carbon fiber)

อย่างที่บอกแล้วว่าโทเรเป็นบริษัทเคมี จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เส้นใยคาร์บอน เป็นผลิตผลจากงานวิจัยทางเคมีสังเคราะห์ ใช้วัสดุตั้งต้นจากอคริลนำมาผ่านกระบวนการออกซิไดซ์
จนกระทั่งได้ออกมาเป็นถ่านกราไฟต์ที่มีคุณสมบัติทั้งยืดหยุ่นและแข็งในเวลาเดียวกัน

เส้นใยนี้สามารถนำมาทอเป็นวัสดุที่ใช้งานได้ต่าง ๆ นานา เช่น เครื่องกีฬา

โน้ตบุ้คคอมพิวเตอร์ของ IBM ก็ใช้วัสดุนี้

ความแข็งของมันทำให้มีการนำไปใช้เป็นเพลารถยนต์

รวมทั้งกระโปรงหน้าและสปรอยเลอร์ของรถนิิสสัน มิตซูบิชิ ฯลฯ

สุดท้ายไปอยู่ที่เครื่องบิน คาดว่าลำตัวของโบอิ้ง 787 จะใช้วัสดุทำจากเส้นใยคาร์บอนมากกว่า 50%

แต่เชื่อไหมว่า นวัตกรรมด้านเส้นใยคาร์บอนเริ่มขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว กว่าจะมาแพร่หลายอย่างทุกวันนี้ เส้นใยคาร์บอนต้องถูกพัฒนาคุณสมบัติ เปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมมาโดยตลอด ไม่ใช่ทำเสร็จก็ใช้ได้ไปทั่ว

ทุกขั้นตอนต้องอาศัยงานวิจัยและพัฒนา แต่เป็นงานวิจัยแบบที่องค์กรวิจัยของรัฐเขาจะไม่ทำกัน

การค้นพบเส้นใยคาร์บอนในเชิงหลักการและต้นแบบเกิดขึ้นในหน่วยงานวิจัยภาครัฐแ่ห่งหนึ่งในโอซาก้า นำเสนอออกมาเป็นผลงานตีพิมพ์ นั่นคือปี 1961

สมัยนั้นภาครัฐกับภาคเอกชนยังไม่ค่อยคุยกัน หรือคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เอกชนก็ทำวิจัยของตัวเองไป

กว่าจะทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ขายได้ในท้องตลาดก็ล่วงเข้าปี 1971 เวลาผ่านไปเปล่า ๆ สิบปี

Mr. Tamada ของโทเรมองว่า นี่เป็นความสูญเปล่าที่เกิดจากระบบ
เกิดเพราะการที่รัฐกับเอกชนไม่มีความสามารถจะคุยกัน ร่วมวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยกัน

เอกชนไม่สามารถหยิบงานของภาครัฐไปต่อยอด รัฐก็ไม่สนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ สนใจแต่มุ่งสร้างความเป็นเลิศด้วยผลงานตีพิมพ์

ผ่านไปสามสิบปี กว่าจะไปถึงเครื่องบินโบอิ้ง บริษัทเอกชนทำงานวิจัยหนักมาก ทั้งพัฒนาเส้นใยคาร์บอนให้มีคุณสมบัติทนต่อแรงกระทบ ไม่เป็นรอยขีดข่วนง่าย ฯลฯ

พอเศรษฐกิจญี่ปุ่นตกต่ำ รัฐบาลเริ่มหันมาให้ความสนใจ สร้างความสามารถในการแข่งขัน และสนองความต้องการของสังคมด้วยงานวิจัยอย่างเต็มที่ นวัตกรรมแบบนี้ถูกจับตามองมาก

เมื่อบริษัทไปบอกรัฐบาลว่า ชิ้นส่วนจากเส้นใยคาร์บอนช่วยลดน้ำหนักของรถยนต์ลงได้ถึง 100 กิโลกรัม และลดมลภาวะจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงลงได้โข
รัฐบาลจึงสนองตอบอย่างเต็มที่ งบประมาณวิจัยจากกระทรวงการคลังก็ไหลมาเทมา

อนาคตของเส้นใยคาร์บอนยังมีอีกยาวไกล

จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทุกวันนี้บริษัทญี่ปุ่น 3 ราย ครองตลาดเส้นใยคาร์บอนของโลกถึงกว่า 70%

หมายเลขบันทึก: 15966เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2006 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท