BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

รำลึกถึงครูเพ็ญศรี ครูคนแรก


ครูคนแรก

ยกเว้นพ่อแม่ซึ่งจัดว่าเป็นครูคู่แรกแล้ว เมื่อแรกเข้าเรียน ป.๑ ครูเพ็ญศรีซึ่งเป็นครูประจำชั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นครูคนแรกของผู้เขียน....

พ.ศ.๒๕๑๒ คือปีแรกที่ผู้เขียนเริ่มเข้าเรียน ป.๑ ที่โรงเรียนวัดคูขุด (เพื่อมประชานุกูล) จำได้ว่า วันแรกที่เข้าเรียนนั้น บรรดาเพื่อนชักชวนกันว่า ไปอยู่ห้องพี่ศรีดีกว่า ครูเพียรตีเจ็บ กล่าวคือ ป.๑ มีสองห้องเรียน โดยมีครูเพ็ญศรีและครูเพียรเป็นครูประจำชั้นในแต่ละห้อง ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสมัครใจ...

ครูเพียร เป็นครูผู้ชาย อายุมากแล้ว (แก่กว่าโยมพ่อ เพราะบางครั้งผู้เขียนก็เรียกว่า ลุงเพียร) ส่วน ครูเพ็ญศรี ครูผู้หญิง เป็นคนในบ้านคูขุด ซึ่งพวกเรามักจะเรียกกันติดปากว่า พี่ศรี จนกระทั้งปัจจุบัน...

สมัยนั้น ป.๑ ยังคงใช้กระดานชนวน ส่วน ป. ๒ ขึ้นไปจะใช้สมุด... และยังมีอดีตที่ผู้เขียนจำไม่ลืม เพราะวันแรกที่เข้าโรงเรียนนั้น กระดานชนวนของผู้เขียนหายไป... เล่าเรื่องว่า ในภาคบ่าย พี่ศรีจะให้วาดๆ เขียนๆ อะไรก็ได้ลงในกระดานชนวนแล้วก็นำไปส่ง ตอนเย็นเมื่อเลิกเรียนก็ไปเอาคืน แต่ตอนเลิกเรียนนั้น ผู้เขียนไปเอาคนสุดท้าย (จำไม่ได้ว่า ทำไมไปเอาคนสุดท้าย อาจเพราะไปเข้าห้องน้ำ หรือหลับอยู่ในห้อง ไม่แน่ใจ ?)

เมื่อไปที่โต๊ะครู กระดานชนวนหายไปหมดแล้ว ผู้เขียนจึงต้องเดินกลับบ้านตัวเปล่า กลับมาบอกที่บ้าน... น้าชายซึ่งเป็นน้องของโยมแม่ ผ่านมาที่บ้านก็แนะนำผู้เขียนทันทีว่า วันนี้ เพื่อนเอาของหมึง ต่อเช้า หมึงต้องเอาของเพื่อนมาสักสองอัน... แต่ตอนเย็นใกล้ๆ ค่ำ โยมพ่อก็ไปเอาคืนมาได้.... ผู้ที่เอาไปก็คือ ปุ (ผู้หญิง) สาเหตุก็คือ เพื่อนเอาของเธอไปให้แล้ว แต่เธอไม่รู้ เมื่อมาเอา เห็นมีอยู่เพียงอันเดียว เธอจึงเอาไป...

อาคารเรียนสมัยยังอยู่ ป. ๑ นั้น เป็นอาคารไม้สองชั้น ชั้นบนสามห้อง ชั้นล่างสามห้อง... ห้องผู้เขียนเรียนนั้น อยู่ชั้นล่างติดกำแพงวัดด้านตะวันตก โดยพื้นของห้องเรียนนั้นเป็นดินเหนียว มิได้เทคอนกรีต ริมด้านล่างของฝาห้องแต่ละด้านจะมีช่องโหว่ เรียกกันว่า ช่องหมาลอด แต่พวกเราเด็กๆ มักจะลอดเข้าลอดออกได้ เช่น บางคนจะเข้าห้องน้ำไม่ขออนุญาตคุณครูออกทางประตู แต่แอบลอดออกไปทางช่องใต้ฝาห้อง ก็มักจะถูกเฆี่ยน เมื่อครูจับได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับพวกเรา

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้เขียนยังจำได้ตอนอยู่ ป.๑ ก็คือ ในภาคเช้าของวันหนึ่ง ครูเพ็ญศรีหาปากกาที่โต๊ะไม่พบ จึงยังไม่ปล่อยกลับไปกินข้าวที่บ้าน (ขึ้นเที่ยง) ซึ่งนักเรียนเกือบทุกคนมักจะกลับไปกินข้าวที่บ้าน... ผู้เขียนไม่ได้ขโมย ดังนั้น เมื่อเพื่อนอีกห้องผ่านมาชวนกลับบ้าน ผู้เขียนจึงแอบลอดช่องหมากลับบ้านไปพร้อมเพื่อน.... เมื่อกลับมาเรียนตอนบ่าย ผู้เขียนจึงถูกครูเพ็ญศรีเฆี่ยนในข้อหากลับก่อนได้รับอนุญาต...(ส่วนปากกานั้น มิได้หายไป และมิได้มีใครขโมย รู้สึกว่าท่านจะหาเจอ หรือครูบางท่านยืมไปนี้แหละ ไม่แน่ใจ ?)

ครูเพ็ญศรีสอนอย่างไรบ้าง ผู้เขียนก็เลือนๆ ประติตประต่อไม่ค่อยจะถูก แต่ผลเชิงประจักษ์ก็คือ ผู้เขียนสามารถ อ่านออก เขียนได้ บวกเลขเป็น และได้รับการผ่านชั้นขึ้นไปเรียน ป.๒ ในปีต่อมา....

หลังจากพ้น ป.๑ ไปแล้ว รู้สึกว่าอีก ๑-๒ ปีต่อมา พี่ศรีหรือครูเพ็ญศรีได้แต่งงานแล้วก็ย้ายไปสอนโรงเรียนอื่น... ส่วนผู้เขียนเมื่อจบ ป.๕ แล้วครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ในเมืองสงขลา จึงได้ย้ายมาเรียน ป.๖ ที่โรงเรียนเทศบาล ๓ (วัดศาลาหัวยาง) และตั้งแต่นั้นมาเกือบจะไม่ได้เจอพี่ศรีอีกเลย...

ครั้งสุดท้ายที่ได้เจอ รู้สึกว่าจะเป็นที่โรงเรียนวัดกลาง ต.กระดังงา ประมาณปี ๒๕๒๙-๓๐... ซึ่งช่วงนั้น ผู้เขียนบวชได้ราวสองพรรษา ญาติคนหนึ่งซึ่งเป็นครูสอนอยู่ที่นั้นได้นิมนต์ผู้เขียนเพื่อไปพูดให้เด็กนักเรียนฟังในโอกาศวันครู จึงได้เจอครูเพ็ญศรีโดยบังเอิญ... พี่ศรีย้ายมาสอนที่นี้หลายปีแล้ว หลังจากคุยกันเล็กน้อย ก็ทราบว่าสามีของท่านเป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ที่นี้...

ตอนนี้ ครูเพ็ญศรี หรือ พี่ศรี ถ้ายังไม่เกษียณยก็คงจะใกล้ๆ แล้ว... ในโอกาสที่วันนี้ เป็นวันครู ผู้เขียนจึงนำเรื่องนี้มาเล่าเพื่อเป็นที่ระลึกถึงครูคนแรกที่สอนให้ผู้เขียน อ่านออก เขียนได้ บวกเลขเป็น

  • ครูคือคนคู่โค้ง             ความคิด
  • ควรใคร่คู่ควรคิด          คัดค้าน
  • ครองคำคู่ครองคิด       ควรค่า คือครู
  • ควรเคาคบคำคึ้ง           เคียดแค้น คล่อนคลาย 

 

คำสำคัญ (Tags): #ครูครแรก
หมายเลขบันทึก: 159503เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2008 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

นมัสการค่ะ

จำได้ว่า เด็กๆกลัวครูค่ะเพราะครูชอบทำหน้าดุ เวลาเราคุย

เราก็ชอบคุย ต่อมา โดนดุบ่อยๆเข้า เลยไม่คุย และแก้ปัญหาด้วย การขอขึ้นไปนั่งหน้าสุดเลย จะได้คุยไม่ได้

เลยติดนิสัย ชอบนั่งหน้าสุดในชั้นเรียน จนเรียนจบตลอดมาค่ะ มีสมาธิดีค่ะ

กราบ 3หนค่ะ

..กราบนมัสการครับ..ผมเคยไปเที่ยวที่คูขุดเมื่อสักพศ.๒๕๑๓-๑๔ยังจำบรรยากาศของบ้านไม้ยกพื้นอยู่ใกล้ๆกันมีน้ำและโคลนและพี่ ป้า น้า อาแต่ละท่านที่มีอัธยาศรัยดีๆ(และกุ้ง หอย ปู ปลา)..จำได้ว่าพี่ศิริพร จำนง(ไม่แน่ใจว่าตอนนั้นเรียกว่า ฉีพร ) พี่สาวคนสวยบ้านคูขุดได้กรุณาสอนให้ขับเรือหางยาวสนุกมาก..หลังจากนั้นไม่ได้ไปอีกเลย..แต่ภาพความดีงามของคูขุด..ยังอยู่ในจิตใจตลอดมา..ขอบคุณครับที่พระอาจารย์ได้เล่าเรื่องจนทำให้รำลึกอดีตได้ดีมาก..(สำหรับผู้สูงวัย)

P

ลุงรักชาติราชบุรี

 

  • เอ่ ! ! ! ! !

ถ้าเป็น สุรีพร จำนง บ้านที่คุณโยมไป ก็อาจเป็นบ้านอาตมาด้วย เพราะเป็นญาติใกล้ชิด บ้านก็ติดต่อกัน เพียงแต่แยกย่อยเป็นสองครอบครัวเท่านั้น... แต่หลายๆ อย่างก็ใช้ร่วมกัน เช่น เข้าห้องน้ำบ้านโน้นไม่ทันก็มาใช้ห้องน้ำบ้านนี้ หรือครัวบ้านโน้นกับข้าวไม่ถูกใจ ก็อาจถือจานข้าวเลยมาหากับข้าวครัวบ้านหลังนี้ ... ทำนองนั้น

เจริญพร

 

 

 

..นมัสการครับ..ใช่แล้วครับ!!พี่สุรีพร จำนง(ทองศรี)ซึ่งเป็นญาติกับน้า(เถ้าแก่)ส้อง เจ้าของโรงไม้คูขุดและโรงแรมเก้าแสน..พ่อคุณนิกร ..ทราบว่า..พี่พร แต่งงานกับครูบุญช่วย ทองศรี..ผมไปเที่ยวคูขุดพร้อมกับเพื่อนเกลอ..  หมู ..   จุมพจน์ เชื้อสาย(ลูกคุณแม่เถี้ยว)..นึกถึงบรรยากาศตอนเด็กแล้วมีความสุขมาก..ทุกท่านที่เอยถึงผมไม่ได้เจอมาหลายสิบปี..เฮ้อ..ขอให้พระคุ้มครองทุกท่านมีความสุข..และขอกราบขอบพระคุณพระอาจารย์..บางทีผมอาจจะเคยได้เจอะเจอกับท่านในวัยเด็กบ้างแล้ว..โลกอาจจะกลมจริง..

P

ลุงรักชาติราชบุรี

พี่พร มีศักดิ์เป็นน้าสาว (แม่ของพี่พรเป็นน้องสาวแม่เฒ่าของอาตมา) แต่เพราะอยู่บ้านติดต่อกัน อาตมาจึงเรียกตามน้องๆ ของพี่พร ซึ่งรุ่นราวคราวเดียวกับอาตมา...

ตอนอาตมาเล็กๆ นั้น พี่พรเป็นวัยรุ่นแล้ว และมีเพื่อนๆ ไปมาหาสู่อยู่เสมอ... ต่อมาก็เริ่มมี พี่ช่วย (บุญช่วย ทองศรี) มาบ่อยๆ ขึ้น เค้าว่าแฟนพี่พร ซึ่งก็คือพ่อของ น้องเพื่อน ลูกพี่พรในปัจจุบันนี้เอง...

เป็นไปได้ที่จะเคยเจอกัน เพราะโลกมันแบน ( เดียวนี้โลกกลม ล้าสมัยแล้ว โลกแบนกลับมาฮิตอีกครั้ง 5 5 5)

เจริญพร

คูขุด...

อาจสมมุติเป็นธรรมะได้อย่างหนึ่ง

คนขุดคู คูขุดคน บนคำนึง

เมื่อซาบซึ้ง อนิจจัง กำลังเยือน

โลกสงบ สันติ เพราะเดียงสา

ข้ามเวลาพ้นสมัยไม่อาจเหมือน

ติดกิเลศตรึงเกรอะจึงเลอะเลือน

ทิ้งถิ่นเถื่อนธรรมชาติ..จนพลาดธรรม..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท