งานวิจัยเชิงคุณภาพ


งานวิจัยเชิงคุณภาพ

เมื่อวันก่อน พี่อานนท์ วิทยานนท์​ หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ สงขลานครินทร์ ได้เชิญ อ.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพมาเป็นวิทยากรที่โรงพยาบาลในหาดใหญ่ มาทีก็ใช้งาน (เกิน) คุ้มค่า เพราะให้อาจารย์บรรยาย​ (หรือเรียกว่า "เล่า" จะถูกลักษณะการแสดงของพี่โกมาตรมากกว่่า) เรื่อง qualitative research หรืองานวิจัยเชิงคุณภาพ เสร็จแล้วยังวิพากษ์โครงการเพื่อนวันอาทิตย์ (SunShine Friends) ของหมอลิลลี่ แล้วตบท้ายด้วยบรรยายให้นักศึกษาแพทย์ชั้นปี 4-5 ฟังเรื่อง humanized health care ส่งอาจารย์กลับบ้านตอนเย็นพร้อมด้วยถั่วพิตาชิโอ 1 ถุง เมล็ดมะม่วง 1 ถุง (ไม่เรียกว่าคุ้ม ก็ไม่รู้จะเรียกอะไรแล้ว อิ อิ) 

พอได้ข่าวว่าพี่โกมาตรมา ผมก็จัดสรรเวลาตนเองให้ว่างทันทีเพื่อจะไปนั่งฟังด้วย ซึ่งปรากฏว่าคุ้มค่ามาก นอกเหนือจากการบรรยาย (เล่า) อย่างเต็มอิ่ม เพราะให้เวลามากมาย ยังมีเวลา "คุยนอกรอบ" กับพี่โกมาตร ซึ่งหลายครั้งการคุยนอกรอบนี่แหละเป็น highlight ของงาน ซึ่งครั้งนี้ก็ไม่เป็นที่ยกเว้นแต่อย่างใด บทความนี้จะขอถอดความรู้เรื่อง "งานวิจัยเชิงคุณภาพ" ออกมาเล่าต่อ และเรื่องนอกรอบจะเขียนเป็นอีกบทความหนึ่งต่างหาก

งานวิจัยเชิงคุณภาพ

คุณภาพ หรือ quality ก็จะมีความหมายที่แตกต่างตรงกันข้ามกับ "ปริมาณ หรือ quantity" งานวิจัยเชิงปริมาณและงานวิจัยเชิงคุณภาพจึงมีความหมาย ปรัชญา วิธีเก็บข้อมูล วิธีวิเคราะห์ การนำไปใช้ประโยชน์ ไม่เหมือนกัน เรื่องบางเรื่องต้องใช้วิธีหนึ่ง บ้างก็ต้องใช้อีกวิธี หรือแม้กระทั่งบางครั้งก็ควรจะใชทั้งสองอย่างควบคู่กันไป

 

 เชิงปริมาณ

 เชิงคุณภาพ

 คำถาม

อะไร / เท่าไร

 ทำไม / อย่างไร

 วิธีวิเคราะห์

อนุมาน

อุปมาน

 ตัวอย่าง

ตัวแทนประชากร

มีข้อมูลที่ดี

 เครื่องมือ

เครื่องวัด

ตัวผู้วิจัย

 ข้อมูล

ตัวเลข

รื่องเล่า (story)

 จุดเด่น

พิสูจน์ทฤษฎี / อิงทฤษฎี

สร้างทฤษฎี / หาคำอธิบาย

 ถ้าหากเราใคร่ครวญดูดีๆแล้ว จะพบสิ่งน่าสนใจหลายประการ

ปกติเรามักจะคุ้นเคยกับงานวิจัยประเภทปริมาณมากกว่าด้วยสาเหตุหลายประการ ที่ชัดเจนอาทิ การมีตัวชี้วัดที่จับต้องได้ชัดเจน รายงานผลเป็นปริมาณ เป็นตัวเลข สามารถนำไปเปรียบเทียบ และคำนวณ ทำสถิติ เขียนกราฟบอกแนวโน้ม บอกการกระจายของข้อมูล ฯลฯ methodology ค่อนข้างชัดเจน วิธีทางสถิติก็ขึ้นกับลักษณะของข้อมูลและคำถาม พูดอีกอย่างก็คือ มีความเป็น "ภววิสัยสูง" (objectivity)  ในขณะที่งานวิจัยเชิงคุณภาพเป็นเรื่องราว เป็นพรรณนา ออกมาจากจินตนาการและกระบวนทัศน์ของผู้ทำวิจัยเป็นหลัก ไม่ค่อยมีตัวเลข นำมาคำนวณทางสถิติ หรือเปรียบเทียบยาก นั่นคือมีความเป็น "อัตตวิสัยสูง" (subjectivity)

อันเนื่องมาจาก "อัตตวิสัย" ที่เป็นความรู้สึก เป็นความเห็น นี้เอง ที่ทำให้ "นักวิจัย" หรือ ผู้ถามคำถาม อาจจะเกิดความไม่สบายใจในคำตอบเท่าไรนัก คนอ่านบทความงานวิจัย ต่างก็มีอัตตวิสัยที่แตกต่่างกัน ก็อาจจะมีความเห็น หรือการตีความ แปลความได้หลากหลาย ความเป็น "ปรนัย" ต่ำ มีความเป็น "อัตนัย" สูง นักการศึกษาบางท่านก็รู้สึกว่านี่เป็นความไม่แน่นอน และอาจจะเกิดความลำเอียง หรือ อคติในการประเมินได้

เช่น

นักวิจัยบอกว่าภยันอันตรายหรืออุบัติเหตุร้ายแรงในหมู่บ้านนี้เกิดจาก "กรรมเก่า" ทำให้เกิดพิธีบวงสรวง บนบาลศาลกล่าว แก้บน ฯลฯ เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของ "ความเชื่อ ศรัทธา วิถีชีวิต กระบวนทัศน์" ทั้งสิ้น การเปรียบเทียบ คำนวณ ทำไม่ได้ หรือยากมาก

ที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากก็คือ งานวิจัยเชิงปริมาณใดๆนั้น สุดท้ายก็ต้องไปตีความเชิงคุณภาพออกมาอยู่ดี พียงแต่มี "เกณฑ์" หรือ surrogate measurement ที่คิดว่าสะท้อนได้ตรงเท่านั้นเอง

เช่น กินนมผงยี่ห้อ a ทำให้เด็ก "โตเร็ว" ก็อาจจะใช้ความสูง น้ำหนัก มาเป็นตัววัด กลายเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ ทีนี้งานวิจัยนี้จะ "มีความหมาย" ก็ต่อเมื่อ "โตเร็ว" นั้น มีนัยสำคัญต่อมนุษย์เสียก่อน และนัยสำคัญนี้จะเน้นที่ไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การเน้นที่ส่วนสูง น้ำหนัก ก็เป็น "การเติบโต" แบบหนึ่ง หรือคำถามอาจจะไปวัดที่ IQ (intelligent quotient) ก็ได้ แม้แต่คำว่า "intelligent" ที่มีตัวเลขออกมาเป็นเท่าไรๆ ก็เป็น surrogate ซึ่งจะมีความหมายต่อเมื่อถูกทำเป็น "คุณภาพ" อีกทีหนึ่งก่อนอยู่ดี และกลายเป็นประเด็นที่ Howard Gardner เขียนเรื่อง Frame of Mind และว่าด้วยทฤษฎี multiple intelligences อันโด่งดัง เป็นที่แพร่หลายในมวลหมู่นักการศึกษา

ถ้าพิจารณาไตร่ตรองให้ดี "คุณค่า" ทุกอย่าง หรือเกือบทุกอย่าง (ถ้าจะพูดให้รอบคอบ) สำหรับมนุษย์นั้นล้วนแล้วแต่เป็น "นามธรรมทั้งสิ้น"

 

 ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราพยายาม "วัด" กันแค่ไหน เช่น อายุจะยืนยาวเท่าไร หา survival rate กัน แต่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าอายุที่ยืนยาวจะมีความหมายเมื่ออยู่อย่างปราศจากความทุกข์ทรมานด้วย อยู่อย่างมี "คุณภาพชีวิต" ด้วย

และคุณภาพชีวิตนี้ก็แตกต่างไปตามบริบท ความเป็นมา ความเชื่อ ศรัทธา value ของปัจเจก ของชุมชน บูรณาการเข้าหากันตลอดทั้งชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่เราสามารถจะให้ "นิยาม" หรือ definition เพราะสิ่งเหล่านี้มัน "ไม่ finite" หรือ "ไม่สิ้นสุด ไม่ตายตัว" ยิ่งเราพยายามจะให้นิยามเท่าไร ยิ่งเพิ่มโอกาสที่เราจะ "กีดกัน" ประสบการณ์ของปัจเจกบุคคลให้ด้อยความหมายลงไปเท่านั้น จะเกิดอะไรขึ้นถ้า "ผู้เชี่ยวชาญ" ยืนยันให้ความหมายคุณภาพชีวิตแบบหนึ่ง แล้วมีชาวบ้านคนหนึ่งลุกขึ้นมาบอกว่าไม่เห็นด้วย ใครจะเป็น "คนผิด?" นิยามที่ผู้่เชี่ยวชาญตั้งมานั้น ทำไมจึงต้องเป็น official? ทำไมจึงไม่ใช้ของชาวบ้านคนนั้นแทน? อะไรคือ qualification ของการเป็น "ผู้่เชี่ยวชาญชีวิต" ได้?

จะเห็นได้ว่าใน quantitative research จะเป็นการทำเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีที่มีอยู่แล้ว นำผลไปเปรียบเทียบ แล้วหาข้ออธิบาย phenomenon ส่วนใน qualitative research นั้น ยังไม่มีทฤษฎีอธิบายเรื่องนี้ตรงๆมาก่อน และ exhibition ครั้งนี้ก็จะเป็นการที่จะเติมข้อมูล ข้อคิดเห็น ต่อยอดไปเพิ่มให้ของเก่า หรือตัดทิ้งของเก่าที่เขียนผิดไป เกิดคำอธิบายใหม่

ในยุคที่ไม่มีนิยามมาก่อน ไม่มีคำจำกัดความมาก่อน กลายเป็นอุปสรรคไม่สามารถทำงานต่อไปได้ กำลังจะเป็นปัญหาลูกโซ่ เพราะสมัยแห่ง New Age ณ ขณะนี้ เรื่องของจิต สังคม และจิตวิญญาณ ที่ถูกละเลยโดยโลกแห่งวัตถุนิยมกำลังเริ่มฟื้นฟู และเราต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ในการต้อนรับ และบูรณาการคุณภาพเหล่านี้เข้าไปให้ได้ มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นการบริหารจัดการเป็นส่วนๆ เป็นท่อนๆเหมือนเดิม สอนแบบ holistic ก็จะกลายเป็นจัดสรรใครสอน bio ใครสอนจิตใจ ใครสอนสังคม ใครสอนจิตวิญญาณ แต่นักเรียน นักศึกษา จะหาครูอาจารย์ที่มีครบทุกอย่างเป็น role model ไม่ได้เลย เขาก็จะเกิดการ "รับรู้ความจริง" ว่าบูรณาการนั้นไม่มีหรอก หรือมีแต่ในห้องเรียนเท่านั้น นักเรียนก็จะเลือกระหว่างจะเป็นคน "ในอุดมคติ" แบบที่เรียนในห้องเรียน หรือจะเลียนแบบคนจริงๆดี สุดท้ายความรู้ทาง semantic (ทฤษฎี หรือ wording) หรือจะสู้ความรู้ทาง episodic (ประสบการณ์ตรง หรือ direct experience) ได้

ทั้งนี้ถึงแม้ว่างานวิจัยเชิงคุณภาพจะใช้ตัวผู้วิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญ แต่ผู้วิจัยก็จะมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อความคิด ความเห็น และข้อสรุปนั้นๆ การทบทวนวรรณกรรม (review literature) เพื่อที่จะเรียนรู้ความคิด ความเห็น และทฤษฎีิเชิงคุณภาพที่เคยทำมาในอดีต มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่างานวิจัยเชิงปริมาณเลย เพียงแต่ว่า งานวิจยเชิงคุณภาพส่วนหนึ่งจะเป็นการ "เพิ่มมุมมอง" หรือ "มองต่างมุม" จึงมีพลังแห่ง originality หรือ การสร้างสรรค์ทฤษฎีใหม่ เกิดคำอธิบายใหม่ เพ่ิมให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพราะชีวิตนั้น เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ยากแก่การจะใช้สมการเชิงเดี่ยวมาอธิบายหรือฟันธง พยากรณ์ได้ 

การเก็บรวบรวมข้อมูล

งานวิจัยเชิงคุณภาพเป็นงานรวบรวมข้อมูลที่เป็น "ประสบการณ" ซึ่งมีมิติของประสบการณ์ทางกาย และปรากฏการณ์ทางจิตใจ อารมณ์ ของปัจเจก ของชุมชน และรวมทั้งมิติของจิตวิญญาณด้วย ผู้ทำวิจัยจะต้องเปี่ยมด้วย non-judgmental attitude ในขณะเก็บข้อมูล เพื่อให้การ "ถอดประสบการณ์" เป็นประสบการณ์ของ subject ที่เราไปสัมภาษณ์หรือสังเกตอยู่อย่างแท้จริง ต้องมี skill ในการสังเกต ในการฟัง เปิดจิตเปิดใจใฝ่รู้ใฝ่สนใจในเรื่องราว story ของ subject ของเราอย่่างแท้จริง จนกระทั้งได้รับความไว้วางใจอย่างลึกซึ้ง จึงจะได้รับถ่ายทอด "การรับรู้ประสบการณ์" ของคนที่เราศึกษาได้อย่างละเอียดและลงลึก ลงไประดับ "คุณค่า" ระดับ "virtue" และมุมมองจากก้นบึ้งของตัวตนอย่างแท้จริง ซึ่งจะอย่างไรก็ดีสุดท้ายก็จะถูกประสมประสานเข้ากับประสบการณ์ของผู้วิจัยเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตอนวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างคำอธิบาย หรือสร้างทฤษฎีขึ้นมาใหม่

ในงานที่เป็นองค์รวมในปัจจุบัน การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง เพื่อให้เราสามารถเชื่อมโยงคุณค่าของศาสตร์ต่างๆที่เราเรียนมา เข้ากับคุณค่าภายในตัวเอง คุณค่าของชุมชน คุณค่าของมวลมนุษยชาติ และเกิด harmony สมดุลในระบบนิเวศ มากกว่าการทำลายล้างตนเองอย่างที่เป็นอยู่ในอดีตที่ผ่านมา 

 

หมายเลขบันทึก: 159325เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2008 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีครับอาจารย์

หัวข้อนี้เนื้อหาดีมาก/ทำให้เข้างานวิจัยคุณภาพดีขึ้น

ขอบคุณครับโรจน์

 แต่ผมยังเขียนไม่จบอ่ะ รีบลงก่อนกลัว com มันแฮงค์ คอยอ่านต่อนะครับ กำลัง edit อยู่

อูยย ชอบมากกก ทำให้ผมเห็นภาพการเชื่อมโยงกันของการดูแลผู้ป่วย  การเรียนการสอน และการวิจัย ในแง่ nonjudgement approach เลย เด็ดครับ ยังมีตอนต่อใช่มั๊ย 

 สวัสดีค่ะอาจารย์

บันทึกนี้เยี่ยมมากค่ะ

ทำให้ดิฉัน นึกถึงการไปจ้าง บริษัท  มืออาชีพ ทำการวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณมาแล้ว  ในหัวข้อต่างๆ 

 แต่ละงานที่เขารับไปทำมาให้ ก็ เป็นค่าจ้าง หลักแสนขึ้นไป ทั้งนั้น เพราะจะต้อง ไปสัมภาษณ์ กลุ่มตัวอย่าง มากมาย ตามหลักวิชา ของเขา จนกว่า จะนำมา ประมวลรวม และวิเคราะห์ออกมาให้เราได้ อย่าง ค่อนข้างจะถูกต้อง แม้เราจะทายผลลัพธ์ ที่จะออกมาล่วงหน้าได้อยู่แล้ว แต่เรายังอยากได้ ให้พวกมืออาชีพมาทำให้อยู่ดี เพื่อจะได้มีหลักฐาน อ้างอิง แก่สาธารณชนได้

ตัวอย่าง ที่ไม่เหมือนทางด้านการแพทย์ เช่น

การสร้างสรรค์เอกลักษณ์ตราสินค้า (Create a brand identity) เพื่อบอกกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายว่าเรานั้นต่างจากคู่แข่งขันอย่างไร

 อะไรคือสิ่งที่เราต้องการให้ตราสินค้าเป็น..??...

ในมุมมองของลูกค้า และที่สำคัญจุดขายของตราสินค้า ที่เราต้องการจะสื่อสารนั้นเป็นอย่างไร จึงจะโดนใจลูกค้าเป้าหมาย เป็นต้นค่ะ

อ่านแล้วเข้าใจวิจัยคุณภาพได้มากขึ้น

ขอบคุณค่ะ

พี่เต็มครับ

ยังมีต่อครับ ยังไม่ทราบเมื่อไร (ADSL ที่ส่งไปตามบ้านเสียหลังไฟไฟ้า รพ.ช็อต เมื่อวาน)

Watch This Space!!!  

คุณ sasinandaครับ

พี่สาวผมเคยทำอยู่บริษัทโฆษณา เป็น creative director เธอเคยพาผมไปดูทำโฆษณาสินค้า มันดีจริงๆครับ ต้องมี focus group มีสุ่มกลุ่มเป้าหมาย และกลุ่มอื่นๆ บรรยากาศ relax สนุกสนาน เป็นกันเอง ทำให้คนทุกคนแสดงออกตัวตนอย่างเปิดเผย และได้ข้อมูลที่มีความหมายมากครับ

มิน่า เรา (สาธารณสุข) ถึงสู้พวกบุหรี่ เหล้่า ไม่ได้สักที!!! 

คุณอุบลครับ

 ยินดีครับ โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ :) 

ฐิติพร จตุพรพิพัฒน์(วาส)

สวัสดีค่ะอาจารย์

อ่านแล้วอยากบอกว่า...โดน..จริงๆค่ะอยากให้พวกผู้บริหาร(โดยเฉพาะทางการพยาบาล)มาอ่านบ้างจังค่ะเผื่อจะทำให้วิสัยทัศน์กว้างขึ้นมาบ้าง

สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์ ที่เคารพ

ขอสมัครเป็นศิษย์ของท่านด้วยค่ะ ดิฉันกำลังทำวิทยานิพนธ์ชาว อาข่า เชิงคุณภาพ อ่านบทความของท่านแล้วทำให้มีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น เข้าใจง่ายค่ะสามารถนำไปใช้ในงานวิจัยได้ดียิ่งขึ้นค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ได้ข้อสังเกตุและมุมมองงานวิจัยคุณภาพที่แตกต่างออกไปจากที่เคยศึกษา ทำให้ได้แนวทางที่ลุ่มลึกขึ้น ขอบคุณในวิทยาทานที่ให้ รอภาคสองอยู่นะ

ได้อ่านบทความของท่านอาจารย์แล้ว ทำให้เข้าใจการทำวิจัยเชิงคุณภาพมากขึ้น เพราะกำลังจะทำวิจัยแต่ยังด้อยปัญญาในเรื่องนี้

ช่วยให้ดิฉันตัดสินใจในการเลือกทำวิจัย คือจะใช้ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีและเพิ่มมุมมองใหม่ ขอขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท