สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ ราชาศัพท์และศัพท์อันเกี่ยวเนื่อง : ที่คนไทยควรเรียนรู้ (๓)


๗ วัน ผ่านมาแล้วนับแต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ แต่ความอาลัย โศกาดูรของพสกนิกรชาวไทยก็มิได้จางหาย

  

  

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ ราชาศัพท์และศัพท์อันเกี่ยวเนื่อง : ที่คนไทยควรเรียนรู้ (๓)

               ๗ วัน ผ่านมาแล้วนับแต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๑  แต่ความอาลัย โศกาดูรของพสกนิกรชาวไทยก็มิได้จางหาย  ต่างร่วมถวายสักการะอาลัยแด่พระองค์ในพระราชพิธีพระศพอย่างเนืองแน่น ทั้งได้รับทราบพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจมากขึ้นจากสื่อมวลชนที่รายงานทุกวัน ทั้งได้เรียนรู้ถ้อยคำราชาศัพท์และศัพท์ต่างๆ ในพระราชพิธี ที่ถูกต้องเรื่อยมา ตลอดจนการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่เหมาะสมแก่การพระราชพิธี

               บันทึกนี้จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกประวัติศาสตร์ และสื่อความรู้เรื่องราวผ่านคำราชาศัพท์และศัพท์อันเกี่ยวเนื่องในพระองค์เป็นครั้งที่ ๓ ครับ

๑๖.เศวตรฉัตร     :  หมายถึง ฉัตรสีขาว  ซึ่งเป็นเครื่องประกอบยศ   ("ฉัตร" คือ ร่ม  ส่วน "เศวตร" หมายถึง สีขาว)  ฉัตรจะแบ่งเป็นชั้นๆ ตามพระอิสริยยศ

           เบญจปฎลเศวตรฉัตร   คือ  ฉัตร  ๕  ชั้น ( เบญจ แปลว่า ๕ ปฎล แปลว่า ชั้น) ใช้สำหรับประกอบพระยศชั้นกรมพระราชวังหลัง

          สัปตปฎลเศวตรฉัตร  คือ ฉัตร ๗ ชั้น ใช้สำหรับประกอบพระยศสูงขึ้นในชั้นพระมหาอุปราช

         นพปฎลเศวตรฉัตร  คือ ฉัตร ๙ ชั้น   เป็นเครื่องประกอบความเป็นพระมหากษัตริย์

         สำหรับพระศพในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นั้นฉัตรที่กางกั้นพระโกศประกอบพระยศจะอยู่ในระดับ เบญจปฎลเศวตรฉัตร ๕ ชั้น แต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระเกียรติยศสูงขึ้นเทียบชั้น สัปตเศวตรฉัตร ๗ ชั้น เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ ดังประกาศสถาปนาต่อไปนี้

   
              "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระอนุสรณ์ถึง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 มกราคม พุทธศักราช 2551 ว่าเป็นสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินี ที่ทรงเคารพนับถือในฐานะที่ทรงมีอุปการคุณมาแต่หนหลัง อีกทั้งทรงพระคุณแก่บ้านเมืองเป็นอเนกปริยาย เป็นที่ประจักษ์แก่ตาแก่ใจของมหาชนทั่วไป เมื่อเสด็จสิ้นพระชนม์ เป็นเหตุให้พระองค์และประชาชนทุกชนชั้น อาลัยระลึกถึงพระคุณเป็นอันมาก ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯพระองค์นั้น ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่เชิดชูแห่งพระราชวงศ์ ควรได้รับพระเกียรติยศใหญ่ยิ่ง โดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เจ้าพนักงานจัดเศวตฉัตร 7 ชั้น กางกั้นพระโกศ พระราชทานเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศให้ปรากฏสืบไป

ประกาศ ณ วันที่ 9 มกราคม พุทธศักราช 2551 เป็นปีที่ 63 ในรัชกาลปัจจุบัน"

๑๗. ราชรถ   :   ยานพาหนะสำหรับพระราชพิธี    ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพจะมีราชรถเชิญพระศพไปสู่พระเมรุ ซึ่งเป็นเครื่องประกอบพระเกียรติยศอย่างหนึ่งและมีความแตกต่างกันตามระดับฐานะของบุคคล

       พระมหาพิชัยราชรถ    แปลว่า  ราชรถแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่   เป็นราชรถสำหรับอัญเชิญพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สร้างขึ้นราวพุทธศักราช ๒๓๓๘  ใช้ครั้งแรกเมื่อครั้งอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมราชชนก (ทองดี) เพื่อถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศทุ่งพระเมรุต่อมาก็กลายเป็นราชประเพณี เช่น

       อัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑

       อัญเชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ ๓

      อัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

      อัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

      อัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

      อัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕    เป็นต้น

       พระมหาพิชัยราชรถ ทำด้วยไม้แกะสลัก ทาชาด (สีแดง) ปิดทองประดับกระจก สูง ๑๑.๒๐ เมตร มีการแกะสลักลวดลายวิจิตรสวยงามอลังการมาก


ภาพพระมหาพิชัยราชรถ อ้างจากhttp://www.manager.co.th

 

         พระเวชยันตราชรถ   เป็นราชรถที่สร้างขึ้น ราว พุทธศักราช ๒๓๔๒  ชื่อพระราชทานครั้งแรกคือ เวไชยันตราชรถ ราชรถองค์นี้ใช้สำหรับทรงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงระดับชั้นเจ้าฟ้า ใช้ครั้งแรกในการทรงพระโกศสมเด็จพระพี่นางเธอในรัชกาลที่ ๑ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์

        พ.ศ.๒๔๒๓ อัญเชิญพระโกศสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ 

         พระเวชยันตราชรถ ทำด้วยไม้สักสลักลาย ทาชาด ปิดทองประดับกระจก คล้ายพระมหาพิชัยราชรถ จะแตกต่างที่ลวดลายแกะสลัก สูง ๑๑.๗๐ เมตร

 

พระเวชยันตราชรถ  อ้างจาก ผู้จัดการออนไลน์

 

       พระยานมาศสามลำคาน     เป็นคานหามที่มี ๓ คาน ใช้สำหรับอัญเชิญพระโกศพระศพ หรือพระบรมศพ ประดิษฐานบนราชรถ หรือจะหามไปสู่พระเมรุ หรือพระเมรุมาศก็แล้วแต่  พระยานมาศสามลำคาน เป็นคานหามขนาดใหญ่ กลางตั้งแท่นทำด้วยไม้สลักปิดทองประดับกระจกสี ลักษณะเป็นแท่นซ้อนลด ๔ ชั้น ย่อมุมไม้สิบสอง  ชั้นบนสุดทำเป็นแผงราชวัตรจำหลักลายประดับกระจกกั้น เว้นช่องที่ส่วนหน้าและส่วนหลัง และมีมุขยื่นออกมา

      พระยานมาศสามลำคานนี้สร้างขึ้นในสมับรัชกาลที่ ๑และได้ใช้ในพระราชประเพณีต่อมาจนปัจจุบัน

         

พระยานมาศ ๓ ลำคาน  อ้างจาก http://www.manager.co.th

    ยังมีต่อครับ เพราะพระราชพิธีพระศพนั้นเป็นพระราชพิธีใหญ่และมีความสำคัญทั้งในแง่จิตใจและประวัติศาสตร์ ที่ควรค่าแก่การจารึก ทรงจำไว้ในหัวใจของคนไทยตลอดไป

 

หมายเลขบันทึก: 158761เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2008 17:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอให้ท่านเสด็จสู่สวรรคาลัย

ขอบคุณอาจารย์มากนะคะ

ได้ความรู้มากเลย

หนูเป็นลูกศิษย์อาจารย์นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท