บาปบริสุทธิ์ : ยุทธวิธีเตรียมเด็กสู่นักบริโภคนิยม


แม้วัยเด็กจะเป็นวัยที่ยังไม่มีบทบาทในฐานะผู้ผลิต แต่เด็กก็สามารถมีบทบาทในฐานะผู้บริโภคที่ไร้เดียงสา และถูกหลอก ถูกกระตุ้น ถูกครอบงำได้ง่ายที่สุด

เด็กสมัยนี้กับเด็กสมัยก่อน สมัยไหนเลี้ยงยากกว่ากัน??? ” 

ผมมักจะเจอคำถามอย่างนี้อยู่เนืองๆ บ้างก็ว่าสมัยก่อนยากลำบาก เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไกลกว่าจะถึงโรงหมอ บางทีปอดบวมเด็กเล็กก็ตาย

ผมเคยไปสอนชาวกะเหรี่ยงบางบ้านมีลูกห้าคน ตายไปสามเพราะท้องร่วง เฮ้อ ท้องร่วงก็ยังตาย ไปดูอัตราการรอดชีวิตของเด็กทารกก็น้อยกว่าปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด บ้างก็ว่าสมัยใหม่นี่เลี้ยงลูกยากกว่า เพราะพ่อแม่ต่างเอาเวลาไปทำมาหากินนอกบ้าน ปล่อยลูกไว้กับพ่อ(พิมพ์) แม่(พิมพ์) ที่โรงเรียนซึ่งไม่มีทางจะเหมือนพ่อแม่แท้ๆ บ้างก็เอาไปให้คนแก่หูตาฝ้าฟางเตรียมจะละสังขารเลี้ยง  (แต่ไม่ค่อยมีใครจะสนใจให้สวัสดิการคนแก่เพิ่มเลยนะ ทั้งๆที่ปัจจุบันนี้คนแก่ทำหน้าที่นี้เยอะขึ้น)

ที่สำคัญ การเลี้ยงเด็กสมัยนี้ต้องใช้เงินเยอะกว่าสมัยสิบยี่สิบปีก่อนหลายเท่า 

ผมพยายามคิดไปให้ไกลกว่าคำถามที่สุดขั้วไปทั้งสอง เอ้อ เฮ้อ มันก็คงมีความยากง่ายในบริบทของมัน ดังนั้น จะเปรียบเทียบของกันมันก็ยาก เพราะมันคนละบริบท แต่เอาละ ไหนๆตัวเราก็มีลูกกะเค้าแล้วนะ หนึ่งคน กำลังซนน่าฟัดอยู่อย่างนี้

ก็เลยมีอะไรๆให้เรียนรู้ร่วมทางกับการเติบโตของลูกไปอีกเป็นพะเนิน 

เช้าวันนี้ มานั่งอ่านงานวิจัยเรื่อง แต่งองค์ทรงเครื่อง : ลิเกในวัฒนธรรมประชาไทยของอาจารย์สุริยา สมุทคุปติ์ และคณะ หนาสามร้อยกว่าหน้า อ่านได้หนึ่งในสามอยู่เลยเพราะปลีกเวลาจากงานบริหารยากจริงๆ แต่ก็จำต้องหาข้อมูลไปสร้างกรอบคำถามในงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กไร้สัญชาติและจ๊าดไต” (ลิเกไทใหญ่) ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่แม่ฮ่องสอน อ่านบททบทวนวรรณกรรมซึ่งยอมรับว่าผู้เขียนเขียนได้เข้าใจ อ่านแล้วรู้สึกทะลุไปหลายจุด และได้กรอบการคิดบางอย่างมาใช้เชื่อมกับการเลี้ยงดูลูก เห็นว่าดี ก็เลยนำมาฝากเพื่อจะมีใครสนใจนำไปใช้ 

 ในงานวิจัยเล่มนี้ มีส่วนหนึ่งที่อ้างถึงงานเขียนของ Susan Willis (1991) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเรื่องสินค้าและมายาภาพเกี่ยวกับสินค้า (Commodities and commodities fetishism)    ของ  Karl Marx ซึ่งสะท้อนอิทธิพลของสินค้าและวัฒนธรรมการบริโภคที่มีต่อการสร้างอัตลักษณ์หรือตัวตนทางเพศและชาติพันธุ์ของคนรุ่นใหม่ โดยยกตัวอย่าง การเล่นตุ๊กตาบาร์บี้ในเด็กผู้หญิง และการเล่นตุ๊กตาฮีแมนในกลุ่มเด็กผู้ชาย เป็นกรณีศึกษาว่า การที่เด็กเล่นตุ๊กตาเหล่านี้ช่วยให้เด็กสร้างจินตนาการเกี่ยวกับอัตลักษณ์หรือตัวตนของตนเองจากวัยเด็กเข้าสู่วัยรุ่น ในขณะเดียวกันก็เป็นการเตรียมเด็กเข้าสู่ระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว 

Willis ยังระบุอีกว่า แม้วัยเด็กจะเป็นวัยที่ยังไม่มีบทบาทในฐานะผู้ผลิต แต่เด็กก็สามารถมีบทบาทในฐานะผู้บริโภคที่ไร้เดียงสา และถูกหลอก ถูกกระตุ้น ถูกครอบงำได้ง่ายที่สุด  

ผมคั่นหน้ากระดาษไว้ แล้วหันไปมองและยิ้มให้กับเจ้าลูกชายวัยขวบเศษที่กำลังสนุกสนานกับการเล่นต้นไม้ใบหญ้าและกองทรายข้างบ้าน ในขณะเดียวกัน ผมก็จินตนาการถึงเด็กของญาติพี่น้อง รวมทั้งคนรู้จักอีกหลายคนที่มีของเล่นราคาแพงกองเกลื่อนอยู่เต็มบ้าน 

หากการเล่น และของเล่นเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญของเด็ก  ทุกวันนี้พ่อแม่ ครู นักพัฒนาจากภาครัฐ เอ็นจีโอ มีความเข้าใจกับการเล่น และของเล่นของเด็กอย่างไรบ้าง  

 เราจะเห็นอาวุธสงครามจำลองวางขายให้พ่อแม่นักช้อปอยู่ในห้างสรรพสินค้า (และขายดีกว่าหนังสือนิทานไม่รู้กี่ร้อยเท่า) เราจะเห็นตุ๊กตาที่มีชุดให้แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างหรูหรา (ทำนองเดียวกันกับบาร์บี้)

จะมีพ่อแม่ ครู นักพัฒนาจากภาครัฐ เอ็นจีโอ สักกี่คนจะรู้กันบ้างนะ ว่าของเล่นสวยๆเหล่านี้มีนัยยะบอกกับเด็กๆว่า ความรุนแรง และความหรูหราฟุ้งเฟ้อ เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กควรต้องมีเมื่อพวกเขาโตขึ้น  

พวกเราที่อายุสามสิบกว่าปีลงมาอาจจะไม่รู้ เพราะเราเติบโตมาจากของเล่นและการเล่นแบบนี้อยู่ก่อนแล้ว เราก็คิดว่ามันดีนะ ที่จะส่งมอบ "มรดกทางความคิด"เหล่านี้ต่อให้เด็ก แต่ใครจะรู้ว่านี่จะเป็นบาปบริสุทธิ์ที่ส่งลูกหลานของเราไปสู่ปัญหาการใช้ความรุนแรง และวัตถุนิยมในอนาคตอันใกล้  กระบวนการเรียนรู้จากการเล่น และของเล่นเหล่านี้ นี่ต่างหากเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กเป็นคนเลี้ยงยาก  

ทั้งๆที่เราทุกคนสามารถสร้างของเล่นที่มีค่าจากเวลาของเรา จากความคิดสร้างสรรค์ของเรา จากการบูรณาการเอาธรรมชาติและสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ปลอดภัยและอ่อนโยนต่อเด็กมากกว่า โดยไม่จำต้องใช้เงินตราอะไรมากมายเลย......

 แม้ว่าในส่วนของการวางนโยบาย ยุทธศาสตร์ทางโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมการศึกษา เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังเงียบอยู่ แต่เราจะปล่อยให้เงียบอย่างนี้ต่อไปอย่างนั้นก็ไม่ได้ 

ผมเองก็ไม่ใช่นักการศึกษา แต่น่าสังเกตว่าพัฒนาการศึกษาของเด็กบ้านเรา ยังขาดมิติเรื่องการเรียนรู้จากการเล่นและของเล่น

 เรื่องนี้จำต้องพูดกันอีกยาว แต่ต้องทำกันเดี๋ยวนี้ (เท่าที่จะทำได้) นะครับ

หมายเลขบันทึก: 158455เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2008 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

  อิทธิพลของของความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้  " ชาติพันธุ์ของคนรุ่นใหม่ " แตกต่างจาก"คนรุ่นเก่า" อย่างสิ้นเชิง

  เห็นด้วยครับ

  

น้องยอดดอย มันบี้หัวใจหลายเติบ...พี่รู้สึกเห็นพ้องจริงๆ   พี่คิดอย่างนี้นะ

  • เอาเรื่องของเล่นเด็ก โดยสาระแล้วมีหลายอย่างที่หลักการดี เสริมสร้างรอยหยักในสมองเด็ก พี่มีความรู้สึกคล้อยตามอยู่นะ  แต่ไอ้ที่เป็นปืนยิงแล้วมีไฟแลบออกมาน่ะ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
  • ของเล่นพื้นบ้านที่เสริมสร้างสมองเด็กก็มี แต่เราลืมไปหมดแล้ว  เพราะไปหลงการได้มาง่ายๆโดยการซื้อ เพราะวิถีชีวิตต่างออกไปจากเดิมเสียแล้ว  แต่ก่อน ลุงป้า อา ปู่ช่วยทำของเล่นให้หลาน เช่นม้าก้านกล้วย นกจากใบมะพร้าว หลักหมุนจากเศษไม้ข้างบ้าน....เดี๋ยวนี้อยู่บ้านจัดสรรมันไม่มีแม้แต่ค้อนสักอันเลย
  • ระบบธุรกิจเข้ามาและคิดหาเงินจากเด็กมากมายเป็นกอบเป็นกำ ดูซิ...ไม่ซื้อให้มันดิ้นพลาดๆตรงนั้น พ่อแม่อายจะแย่ต้องไปซื้อให้
  • วันหนึ่งพี่ไปกินข้าวที่ร้านกับเพื่อนๆมีฝรั่งพาลูกๆไปกินด้วย นั่งโต๊ะติดกัน เจ้าลูกกินข้าวแล้วก็เล่นตามประสาเด็ก มันเล่นอะไร...หรือ...มันนอนที่พื้นไถไปไถมา พื้นที่เราเดินน่ะแหละ ฝรั่งพ่อแม่เฉยๆ  นี่ถ้าเป็นพ่อแม่ไทยก็ร้องลั่น แล้วไปอุ้มมานั่งตักแล้ว พี่ไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กสกปรก แต่ฝรั่งเขาคิดต่างจากเรา ปล่อยให้เขาเป็นอิสระและเรียนรู้จากธรรมชาติ...ดูแล้วไม่อันตรายเป็นใช้ได้...
  • มันเป็นการรู้ไม่เท่าทันนะ ไม่ได้ฉุกคิด พี่ก็ตะหงิดๆแต่นึกไม่ออก แต่พอน้องยอดดอยพูดถึง และอ้างถึง ก็เออ ใช่เลย...
  • อีกเรื่องหนึ่ง(ทั้งเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้) แฟนพี่เอาของขวัญที่ญี่ปุ่นชอบมอบให้เมื่อพบกันหรือจากกัน  ก็เป็นของเล็กๆน้อยๆ เช่นปากกาลูกลื่นราคาค่างวดไม่กี่ตังค์หรอก แต่มันเป็นการแสดงออกซึ่งน้ำใจ...???.... แต่ที่จะกล่าวคือ มันเป็นของขวัญที่ผู้รับประทับใจของสวยๆเพราะซองที่ใส่เล็กๆ เป็นสีสวย ดอกไม้ แถมมีกลัดเล็กๆของก้านดอกไม้ ดูแล้วน่ารักใครๆก็ชอบ ใครๆเห็นก็ว่าเออนี่เอาไปฝากคนได้ ทั้งๆที่ข้างในคือปากกาลูกลื่นถูกๆ....
  • แล้วไงต่อ ซองที่สวยที่ใส่ปากกามานั้นจะเก็บไว้ก็คงรกบ้าน พวกบ้าเก็บเต็มบ้านหมดแล้ว  เคยเก็บ  แต่ก็พบว่า ตลอดสิบปีมานี่เราไม่ได้ไปดูอีกเลย คือดูครั้งเดียว แล้วเก็บ  คราวนี้เลยทิ้งไป..ลงถังขยะ.......แล้วพี่ก็มานั่งคิด...เออ..นี่ เมื่อกี้มันสวย เราชม และรู้สึกดีๆกับผู้ให้  มาตอนนี้เราเอาสิ่งนั้นทิ้งลงถังขยะแล้ว...  พี่คิดอะไรตามมาอีกมากมาย คือ
  • คนเราเอาซองสวยๆทิ้งเช่นนี้วันละเท่าไหร่เนี่ยะ....มิน่าป่าไม้จึงหมดเร็วกว่าที่เราคิด  ญึ่ปุ่นจึงส่งเสริมประเทศโลกที่สามปลูกป่า .... เราทำลายธรรมชาติทางอ้อมโดยไม่รู้ตัว
  • ระบบธุรกิจมุ่งคิดเพียงอย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรให้ขายปากกาถูกๆด้ามนี้ให้ได้ในราคาที่สูงขึ้น ก็ต้องเพิ่มมูลค่า ตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ หลักการทางการตลาด ก็ไปเอาเด็ก คนแก่มานั่งประดิษฐ์ประดอยของสิ่งเหล่านี้ แล้วก็เอาค่าแรงไป แล้วก็ไปขาย เข้าระบบตลาด  ทั้งๆที่คุณค่ามันเพียงเอาปากกาลูกลื่นมาเขียนเท่านั้น
  • พี่จะเรียกว่าระบบธุรกิจมันสร้าง  ปรุงแต่งของไม่มีค่าให้มีมูลค่า เพื่อกระตุ้นกิเลส ตัญหาคน ที่อ่อนไหวต่อสิ่งนี้อยู่แล้ว ในแง่การใช้ประโยชน์นั้นจะห่อด้วยทอง 1000 % หรือกระดาษสวยๆอย่างที่ญี่ปุ่นทำ หรือแค่จกปากกาแท้ๆมามอบให้ ค่าของการใช้งานก็แค่นั้นเท่ากัน  แต่ค่าทางกิเลส ตัญหามันต่างกัน..
  • วกมาเรื่องของเล่นเด็กก็เช่นเดียวกันระบบธุรกิจเขาเอาวิชาการมาผสมผสานการทะลวงกิเลสคน แม้กระทั่งเด็กที่บริสุทธิ์ที่เขาเห็นก็อยากได้ อยากมี....
  • เฮ่อ..ไอ้พวกเรานี่สงสัยต้องแยกตัวออกไปสร้างนิคมคนบ้าคิด...เหมือนในเดนมาร์คหรือเปล่า ที่พี่เห็นเขาจับกลุ่มกันออกไปทำนิคมร่วมกัน เพื่อเลี้ยงตัวเอง ...ความจริง..บ้านเราก็มีนะ อโศกไง...
  • เอ้า...จบคำบ่น....อิอิ
  • ในฐานะเป็นนักการศึกษาที่มีส่วนรับผิดชอบเรื่องนี้ มีเรื่องอยากแบ่งปัน....ไม่ใช่การแก้ต่าง
  • ผมเรียนในสายการศึกษาทางเลือก ที่เชื่อเรื่องศักยภาพในการเรียนรู้ของมนุษย์ ตามเชื่อสำคัญคือ เด็กเล็กควรได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกที่งดงามนี้ เขาจึงให้เด็กได้เรียนจากวัสดุธรรมชาติ เศษไม้ ใบหญ้า ก้อนกรวด เปลือกหอย เมล็ดพืช ฯลฯ
  • ของเหล่านี้มีค่าในตัวมันเอง กิ่งไม้อันหนึ่งสำหรับเด็ก วันนี้อาจเป็นไม้เท้าวิเศษ บางวันก็กลายเป็นกิ้งกือ บางวันก็กลายเป็นบ้าน ...
  • ใบไม้ไม่กี่ใบ เด็กจะเห็นความเปลี่ยนแปลง จากใบเขียว เวลาผ่านไปก็เปลี่ยนสี  สีของมันไม่อาจแทนได้ด้วยสีในกล่องสี และเด็กได้เรียนอนิจจังของสรรพสิ่งจากใบไม้
  • ชอบดูเวลาเด็กคิดวิธีการเล่นจากวัสดุธรรมชาติ เช่น เอาใบสนมาหักแล้วต่อไป ยื่นให้เพื่อนทายว่ารอยหักอยู่ตรงไหน เอาดอกเข็มาต่อก้น ใครต่อยาวที่สุดชนะ 
  • ทางการศึกษามีวิธีการคิดเหล่านี้อยู่ แต่คนที่ดูแลการศึกษาหลายคนก็ต้องศึกษาเรียนรู้ด้วยเช่นกัน เพราะบางคราวก็ทำไปเพราะไม่รู้ ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ก็มี เราจึงต้องกรุณาต่อเขาให้มากเช่นกัน
  • พี่บางทรายตอบได้ยาว ถึงใจดีครับ ทำให้ผมคิดต่อเรื่องการเพิ่มมูลค่าโดยใช้หีบห่อบรรจุภัณฑ์  โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งเป็นแนวหน้าของโลกในเรื่องนี้  เอ้อเฮ้อ ของขวัญชิ้นเล็กๆ ของเล่นชิ้นน้อยๆของเราเป็นเรื่องระบบโลก เป็นการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจที่มาครอบงำ ดูดเอาทรัพยากรของเราไป อันนี้เป็น post colonialism แต่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงในแง่วิชาการเมืองไทยนะครับ เพราะมัวแต่ไปสนใจ colonialism ในเรื่องของผู้ใหญ่
  • คิดต่อจากพี่บางทราย ขะมองได้ว่า อาณานิคมทางความคิดมันเข้าไปฝังอยู่ในสมองของลูกหลานเราไปหมดแล้ว อันนี้ พูดไปใครก็คงจะว่าเราเพี้ยน แต่ช่างเหอะ อย่างน้อย มีคนเพี้ยนสองคนคือผมกับพี่ที่เว้ากันซื่อๆ เดี๋ยวมันก็ดังออกไปเรื่อยๆแหละ
  • ผมเข้าใจครูอยู่บ้างนะครับ ครูหนุ่ม เพราะเพื่อนผมเป็นครูหลายคน ทำงานกับเด็กในพื้นที่ก็ต้องอาศัยครูตลอด ก็ไม่ได้ว่าครูไม่มีความสามารถนะครับ ครูไทยทำงานหนักกว่าพยัญชนะตัวที่สี่ของอักษรไทย แต่ก็ยังมีมาตรฐานการครองชีพ และค่าตอบแทน สวัสดิการสังคมน้อย เมื่อเทียบกับอาชีพเชิงพาณิชย์  แต่ถ้าครูไม่ Active กับเรื่องเหล่านี้  ในฐานะพ่อแม่คนที่สองของเด็ก ผลกระทบย่อมตกไปถึงครูเช่นเดียวกันนะครับ
  • น่าแปลกใจนะครับครูหนุ่ม ตอนเรียนในมหาวิทยาลัย เราก็ถูกสอนให้เชื่อเรื่องการศึกษาทางเลือก แต่พอออกมาเป็นครู ไหง มันไม่ค่อยจะมีทางเลือกให้ครูใช้หลักวิชาเหล่านี้ก็ไม่รู้
  • ขอบคุณคุณ Singha the kop นะครับที่เข้ามาเตือนให้คิดในมิติชาติพันธุ์ แต่ผมคิดว่า คนรุ่นใหม่ใช้นิยาม "ชาติพันธุ์" อย่างลื่นไหล นะครับ ส่วนในคนรุ่นเก่า ผมไม่แน่ใจว่าเค้านิยาม "ชาติพันธุ์" ว่าอย่างไร เพราะส่วนใหญ่ คำๆนี้ถูกบอกเล่า ใส่ความหมายโดยนักวิชาการซึ่งมาจาก "คนนอก" ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท