7 วิธีป้องกันโรคเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต


พวกเราคงจะต้องการมีอายุยืนอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตอะไรทำนองนี้ วันนี้มีคำแนะนำจากเว็บไซต์อินเทลิเฮลธ์มาฝากครับ

พวกเราคงจะต้องการมีอายุยืนอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตอะไรทำนองนี้ วันนี้มีคำแนะนำจากเว็บไซต์อินเทลิเฮลธ์มาฝากครับ

ปัจจัยสำคัญที่พวกเรามีส่วนช่วยป้องกันโรคเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตัน (stroke) อัมพฤกษ์ อัมพาตได้แก่

...

(1). ระวังความดันเลือดสูง

  • ควรตรวจเช็คความดันเลือดเป็นประจำ เนื่องจากความดันเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ
  • การศึกษาหลายรายงานพบว่า การลดความดันเลือดที่สูงเกินได้ 5 หน่วยช่วยลดความเสี่ยงได้ประมาณ 42%

(2). ควบคุมน้ำหนัก

  • การควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วน มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากโรคความดันเลือดสูงได้

(3). ออกแรง-ออกกำลัง

  • การออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำช่วยป้องกันโรคอ้วน และความดันเลือดสูงได้

(4). ลดเกลือ

  • เกลือโซเดียมส่วนใหญ่พบในอาหาร และเครื่องดื่มสำเร็จรูป
  • การทำอาหารกินเอง และฝึกนิสัยไม่เติมซอส-น้ำปลาในอาหารที่ปรุงแล้ว มีส่วนช่วยลดเกลือ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงโรคความดันเลือดสูงได้

(5). เลือกอาหาร

  • การกินอาหารที่มีธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ฯลฯ ผัก ผลไม้ ถั่ว และนมไขมันต่ำ(หรือนมไม่มีไขมัน)มีส่วนช่วยป้องกันโรคความดันเลือดสูงได้ในระดับหนึ่ง
  • การศึกษาในหมอและพยาบาลมากกว่า 100, 000 คนพบว่า การกินผักผลไม้ (ผลไม้ทั้งผล ไม่ใช่น้ำผลไม้) เพิ่มขึ้นวันละ 1 ส่วนบริโภค ซึ่งมีขนาดประมาณกล้วยขนาดกลาง 1 ผล หรือแผ่น CD 1 แผ่น มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงโรคเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตันได้ 4% ในผู้ชาย และ 7% ในผู้หญิง
  • การลดไขมันอิ่มตัว ซึ่งพบมากในกะทิ น้ำมันปาล์ม และน้ำมันสัตว์ เช่น น้ำมันหมู ฯลฯ ช่วยลดความเสี่ยงจากการสะสมคราบไขมัน(โคเลสเตอรอล)ในผนังเส้นเลือดได้
  • การลดไขมันทรานส์ หรือไขมันแปรรูป ซึ่งพบมากในอาหารจานด่วน(ฟาสต์ฟูด) เนยเทียม ครีมเทียม(คอฟฟีเมต) ให้ผลดีมากกว่าการลดไขมันอิ่มตัว เนื่องจากไขมันชนิดนี้เพิ่มโคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) และลดโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL)
  • การกินปลาทะเลสัปดาห์ละ 2-4 ส่วนบริโภคช่วยได้ (1 ส่วนบริโภคเทียบเท่าเนื้อปลาประมาณ 1 ฝ่ามือผู้ใหญ่ ไม่รวมนิ้วมือ หรือ 80 กรัม - ประมาณเท่าปลากระป๋องขนาดเล็ก)

(6). ถ้าเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน

  • คนที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตันปีละ 1-2% หรือประมาณ 31% ตลอดชีวิตที่เหลือ
  • การใช้ยาลดโคเลสเตอรอลกลุ่มสเตตินมีส่วนช่วยลดโรคเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตัน ทั้งแบบถาวร (stroke) และแบบชั่วคราว (TIA) ได้ประมาณ 32%

(7). ถ้าเป็นโรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ

  • คนที่เป็นโรคหัวใจห้องบนเต้นไม่เป็นจังหวะ (AF) และไม่ได้รับการรักษามีความเสี่ยงโรคเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตันปีละ 5% หรือประมาณ 1 ใน 3 ตลอดชีวิตที่เหลือ
  • ถ้าท่านมีโรคนี้... ควรใช้ยาตามที่หมอแนะนำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงโรคเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตันให้น้อยลงได้

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                 

  • Thank Intelihealth > Stroke prevention guidelines > [ Click ] > March 13, 2006.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบคุณอาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 9 มกราคม 2551.
หมายเลขบันทึก: 158322เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2008 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • หวัดดีค่ะคุณหมอ
  • กลับจากอินเดียแล้วหรือคะ 
  • ขออนุโมทนาในความตั้งใจจริงของคุณหมอ
  • เล่าสู่กันฟังบ้าง...ในเรื่องธรรม
  • แต่  เรื่องทางโลกก็อยากทราบค่ะ
  • คุณหมอกรุณาให้คำแนะนำ  FBS 107 mg%

          และวิธีปฏิบัติตัวได้ไหมคะ.......

         จะรอคำตอบ.......ขอบคุณค่ะ

ขอขอบคุณ... คุณ pp (ชื่อนี้ออกเสียงแบบนี้ ถ้าไม่ใช่ตัวย่อ... ภาษาพม่าแปลว่า "ช้าๆ" ครับ)

  • กลับจากอินเดีย-เนปาลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 แล้วครับ
  • ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของคุณ pp เช่นกัน... สาธุ สาธุ สาธุ

ถ้าอดอาหาร+น้ำ และพบน้ำตาลในเลือด (FBS) 107 mg%

  • ระดับน้ำตาลในเลือดระดับนี้นับว่า ค่อนไปทางสูง และเสี่ยงต่อภาวะ "ก่อนเบาหวาน" หรือมีโอกาสพัฒนาไปเป็นเบาหวานเต็มตัวได้
  • ข่าวดีคือ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (lifestyle) ให้ออกกำลัง+ควบคุมอาหาร+นอนให้พอ... ป้องกันเบาหวานเต็มตัวได้ประมาณ 40% ขึ้นไปทีเดียว

คำแนะนำ...

  1. ออกกำลัง-ออกแรงทุกวัน เน้นเดิน+เดินขึ้นลงบันไดตามโอกาส รวมกันให้ได้วันละ 60 นาทีขึ้นไป (แบ่งเป็นช่วงๆ นำเวลามารวมกันได้)
  2. เวลาเดิน... ถ้าเป็นไปได้ - เดินให้เร็วขึ้น
  3. เปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง ขนมปังขาวเป็นขนมปังโฮลวีท
  4. ลดขนม น้ำตาล น้ำหวาน น้ำผลไม้
  5. ลดอาหารนอกบ้าน โดยเฉพาะอาหารจานด่วน(ฟาสต์ฟูด)
  6. ทำกับข้าวกินเองให้มากขึ้น
  7. ลดผลไม้หวานจัด เช่น ทุเรียน ฯลฯ
  8. เพิ่มผัก ผลไม้ไม่หวานจัดทั้งผล (ไม่ใช่น้ำผลไม้) เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล ส้ม มะเขือเทศ (น้ำมะเขือเทศนี่... ดีมากๆ เลย) รวมกันให้ได้อย่างน้อย 5 ส่วนบริโภคต่อวัน (เทียบเท่ากล้วยขนาดกลาง 5 ผล หรือแผ่น CD 5 แผ่น)
  9. วัดความดันเลือด พยายามควบคุมให้ไม่เกิน 130/80 ถ้าเกิน... ให้ลดเกลือ และฝึกหายใจช้าๆ ไม่เกิน 10 ครั้ง/นาที วันละ 10 นาทีขึ้นไป

และอย่าลืม... ตรวจน้ำตาลในเลือดติดตามทุก 3-6 เดือน + ปรึกษาหมอใกล้บ้านไว้ด้วย

  • ขอบคุณ คุณหมอที่ตอบให้อย่างรวดเร็ว
  • จะบันทึกเก็บไว้อ่านกันลืม
  • จะรีบนำไปปฏิบัติโดยด่วนค่ะ
  • ได้ผลเป็นอย่างไรจะขอคำแนะนำอีกครั้ง..........

     ข้อคิด-ความรู้ จากการไปอินเดีย-เนปาล......อยากให้คุณหมอเล่าสู่กันฟังบ้าง....

    ..................จะรอค่ะ................

 

ขอขอบคุณ... คุณ pp

  • ขอขอบคุณครับ
  • เรื่องอินเดีย-เนปาลนี่... พยายามเขียนมา 2 รอบแล้ว ไปไม่รอด (เขียนไม่จบ) สักที

ตอนนี้กะว่า จะพยายามเขียนใหม่

  • ปัญหาสำคัญอยู่ที่ความเร็วอินเตอร์เน็ตลำปางช้ามากๆ (อาศัยอินเตอร์เน็ตโรงพยาบาล) ...
  • ผมคิดว่า คงจะต้องพยายามใหม่ในบล็อก OKnation

คือว่าพ่อเส้นเลือดในสมองแตกค่ะ อยากทราบวิธีดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดหน่อยค่ะว่าดูแลเค้ายังไงให้ไม่กำเริบอีก แบบใช้ชีวิตเป็นปกติ(เหมือนปกติ)ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท