หมีใหญ่กับนักเดินทาง


การเชื่อในมิตรภาพ

สอนคุณธรรมอย่างไรให้มีความพอเพียง

บทที่ 4

การเชื่อในมิตรภาพ 

จุดประสงค์ :   เพื่อรู้ รัก และฝึกจนเคยชิน

นิทานคติ  เรื่อง : หมีใหญ่กับนักเดินทาง

           

นักเดินทางสองคนกำลังเดินไปด้วยกันในเส้นทางกลางป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ทั้งสองคุยกันเรื่องมิตรภาพ การเป็นเพื่อนแท้ เพื่อนตายคนหนึ่งกล่าวว่า

 เพื่อนแท้ก็คือคนที่เราสามารถเชื่อถือได้ และจะช่วยเราเมื่อเราต้องการ

อีกคนหนึ่งเห็นด้วยอย่างยิ่ง และกล่าวเสริมหลายคำ

ทันใดนั้นทั้งสองได้ยินเสียงบางอย่างแหวกพุ่มไม้ ทำให้กิ่งไม้หักดังลั่นป่า อยู่ไม่ไกลนัก ทั้งสองรู้ว่าสิ่งนั้นคงเป็นสัตว์ป่าตัวใหญ่ และน่าจะเป็นหมีนั่นเอง ชายคนแรกรีบวิ่งไปที่ต้นไม้ และปีนขึ้นไป ชายคนที่สองก็รีบวิ่งตาม ทันใดนั้นหมีป่าตัวใหญ่ก็โผล่ออกมาจากพุ่มไม้ขวางหน้าชายคนที่สองอย่างคาดไม่ถึง หมีป่ายกตัว และขาหน้าสูงขึ้น ทำให้มันยิ่งดูตัวใหญ่ขึ้นไปอีก ชายคนที่อยู่บนต้นไม้แล้วรู้สึกโล่งอกที่ตัวเองปลอดภัยแล้ว และภาวนาให้หมีมองไม่เห็นหรือไม่ได้กลิ่นของเขา แต่ชายอีกคนยังไม่ได้ปีนขึ้นต้นไม้เลย หมีป่าก็อยู่ตรงหน้า เขาไม่รู้จะทำอะไรดี ก็เลยล้มตัวลงนอนกับพื้น เขาแกล้งตายนั่นเอง หมีป่าเมื่อเห็นไม่มีอะไรขวางทาง จึงค่อยๆ เอาขาหน้าลง จากนั้นก็เดินไปยังชายที่นอนอยู่ที่พื้น มันใช้จมูกดมไปตามตัวของเขา ชายคนที่นอนอยู่จึงกลั้นลมหายใจ แต่ไม่นานนัก หมีป่าตัวนั้นยื่นจมูกมาที่หน้าของเขา พลางสูดดม ชายคนที่อยู่บนต้นไม้มองเห็นว่าหมีดุเหมือนจะกระซิบที่หูของเพื่อนของเขาทีเดียว แต่เมื่อหมีไม่ได้กลิ่นอะไรหมีตัวนั้นก็เดินจากไป

ชายทั้งสองรออยู่ครู่ใหญ่จนแน่ใจว่าหมีจะไม่กลับมา ชายคนแรกจึงไต่ลงจากต้นไม้ ชายคนที่นอนอยู่ก็ลุกขึ้น แล้วทั้งสองก็รีบวิ่งไปอย่างรวดเร็วเพื่อให้ออกจากป่าโดยไว  ระหว่างนั้นชายคนที่แกล้งตายวิ่งไปอย่างเงียบๆ และเมื่อพ้นชายป่าเขาก็เปลี่ยนมาเป็นเดินอย่างช้าๆ ชายคนที่ปีนต้นไม้ทันจึงเอ่ยถาม

 ดูเหมือนหมีตัวนั้นจะกระซิบอะไรกับแกซักอย่างใช่ไหม เพื่อน

ชายคนที่แกล้วตาย จึงตอบอย่างเนือยๆ ไปว่า

 ใช่ หมีตัวนั้นมันบอกว่าถ้าจะหาเพื่อนแท้ละก็ เขาจะต้องไม่ทิ้งเพื่อนเมื่อเพื่อนอยู่ในอันตราย

และเมื่อเดินมาถึงทางแยก ชายคนที่แกล้งตายก็เดินไปอีกเส้นทางหนึ่ง            

ช่วยกันขยายความเพื่อสร้างความเข้าใจ           

๑) ให้ช่วยกันหาคติพจน์และสุภาษิตส่งเสริมการเชื่อในมิตรภาพ           

๒) ให้ช่วยกันหาคำสอนของศาสนาต่างๆ ที่กล่าวถึงการเชื่อในมิตรภาพ

            ในทั้งสองกรณีให้มีอาสาสมัครรวบรวมบันทึกไว้ เพื่อทำเอกสารแจกให้เก็บไว้ โดยลงวันที่ไว้ด้วย 

ฝึกคุณธรรม            

๑) ฝึกรู้รอบ : เรื่องนี้เหมาะสมสำหรับสอนเรื่องการเชื่อในมิตรภาพหรือไม่ อย่างไร           

๒) ฝึกแข็งขัน : เราจะเชื่อในมิตรภาพอย่างเหมาะสมได้อย่างไร  แล้วเรามีความมุ่งมั่นที่จะทำแค่ไหน           

๓) ฝึกพอเพียง : การเชื่อในมิตรภาพอย่างไร จึงเรียกว่าทำได้อย่าง พอเพียง        - อย่างไรเรียกว่าขาด               - อย่างไรเรียกว่าเกิน           

๔) ฝึกความยุติธรรม : การเชื่อในมิตรภาพที่ดำเนินไปอย่างมีความยุติธรรมเป็นอย่างไร ให้ช่วยกันยกตัวอย่าง 

กิจกรรมสันทนาการ           

๑.ให้อาสาสมัครออกไปที่สนาม  และให้แต่ละคนจับมือเพื่อนข้างละหนึ่งคนหนึ่ง ให้คนหนึ่งอยู่เป็นแกนกลาง จากนั้นให้คนที่เป็นแกนหมุนตัว เหวี่ยงเพื่อนๆ ไปตามแนวทวนเข็มนาฬิกา หมุนตัวเรื่อยๆ คนไหนที่หลุดมือจากเพื่อน ก็ให้ออกจากกลุ่มไป พร้อมคนที่จับมือกับเขาต่อๆ ไป แล้วดูว่าระหว่างเพื่อนข้างซ้ายหรือขวา จะเหลืออยู่เท่าใดเมื่อหมุนครบ 15 รอบ  จากนั้นให้ทั้งหมดจับมือกันใหม่ แต่ให้คนที่หลุดมือจากเพื่อน มาจับมือกับคนที่เป็นแกนหมุนแทน คราวนี้ให้หมุนตามเข็มนาฬิกา แล้วเมื่อครบ 15รอบ ดูว่าเพื่อนข้างไหนเหลืออยู่มากกว่ากัน บันทึกไว้ แล้วเปลี่ยนคนมาเป็นแกนหมุนบ้าง แล้วนำสถิติมาเทียบกัน 

เอนก สุวรรณบัณฑิตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการคุณธรรมและจริยธรรม

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เอกสารคุณธรรมและจริยธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ปรับจากหนังสือ Discovering the Real Me, Universal Peace Federation Edition

หมายเลขบันทึก: 158317เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2008 20:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท