เล่าสู่กันฟัง 3


แบบพอเพียง
ป้านะ
 : หญิงวัยชรากับการให้ความหมายของคำว่า เกษตรพอเพียง ในพื้นที่ 3 งาน
หากพูดถึงการทำเกษตรผสมผสานแบบพอเพียง ย่อมมีการตีความหมายกันหลากหลาย เพราะด้วยความพอเพียงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน  ไม่เว้นข้อจำกัดของ เพศ อายุ การศึกษา   เกษตรกรที่มุ่งหวังร่ำรวยก็ให้ความหมายอีกแบบหนึ่ง ส่วนเกษตรกรยากจนก็ไปอีกทางหนึ่ง  ฉะนั้นสิ่งที่พอจะบอกได้นั่นก็คือ ใจของเราเอง แค่ไหนแค่นั้น เพราะจิตใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมันยากมากแก่การทำนายได้ แม้แต่หมอดูก็ตามเถอะ ไอ้ที่ว่าดูแม่นๆ ยังเสียคนมาไม่รู้เท่าไหร่แล้ว  ด้วยภาวะทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในทางเสื่อม  และสลับซับซ้อนมากขั้น จนน่าใจหาย   ทุกภาคส่วนเดือดร้อนกันทั่วหน้า อย่าง เด็กนักเรียน นักศึกษาต้องเรียนหนักขึ้น จบมาแล้วหางานทำไม่ได้  ข้าราชการเร่งสร้างผลงาน  น้ำมันแพงขึ้นเกือบเท่าตัว  ราคาพืชผลทางการเกษตรราคาถูก เกษตรกรเป็นหนี้กันเพิ่มขึ้น ปัญหาเหล่านี้เป็นส่วนน้อยนิดเท่านั้น ยังมีปัญหาพาปวดหัวเยอะแยะเต็มไปหมด ถามว่าทำอย่างไรเราถึงจะอยู่รอดในสภาวะสังคมเช่นนี้ได้  (ด้วยตัวเราเอง)  จะหาตัวอย่างได้จากไหน เค้าคือใครที่จะมาชี้ทางออกให้เราได้รู้จักคำว่า พอเพียงและอยู่รอดได้       ป้านะ อะบุตร เกษตรกรหญิงชราแห่งอำเภอโพธิ์ประทับช้าง  วัย 66 ปี   ที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบอะไรเลย  จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบัน  เป็นตัวอย่างของการเอาตัวรอดในภาวะเช่นได้เป็นอย่างดี
ชีวิตผูกพันกับธรรมชาติมาตั้งแต่เยาว์วัย
        ย้อนกลับไป ราวปีพ.ศ. 2481 นางนะ อะบุตร ได้กำเนิดและเติบโตขึ้นมาที่อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ในยุคสมัยที่ข้าวไม่ยากแต่หมากแพง  ชีวิตความเป็นอยู่ในสมัยนั้น ถือว่าไม่ถึงกับเดือดร้อนมากมายอะไร หาอยู่หากินกับท้องไร่ท้องนา และดงป่าธรรมชาติ พึ่งพากันอย่างสมดุล ด้วยการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พอเรียนจบก็ช่วยพ่อแม่รับจ้างทั่วไป หักข้าวโพด เก็บถั่ว เก็บของป่ามากินมาขาย  แต่นำมาปลูกที่บ้านไม่ได้ เพราะในสมัยนั้น ชาวบ้านถือว่าของป่าเป็นทรัพย์สินสาธารณะประโยชน์ จะนำมาเป็นประโยชน์ส่วนบุคคลไม่ได้ ถึงจะห้ามอย่างไรก็ตามเถอะมันก็ยังมีคนแหกกฎอยู่ดี  หลายครั้งที่ป้านะเข้าไปเก็บของป่า ก็จะแอบเก็บเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ มาหว่านและปลูกไว้บริเวณบ้าน จุดประสงค์แรกเพื่อกิน พอปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ มากว่า 10 ปี จนขึ้นเต็มไปหมดบนพื้นที่ 3 งาน ที่น้อยนิด มีเกือบทุกอย่างทั้ง ผลไม้ จำพวก ส้มโอ ขนุน น้อยหน่า พืชผักกินใบ สมุนไพร ก็มีจำนวนมากพอที่จะขายได้
เผชิญชีวิตเคียงคู่บุตรสาวพิการ 
     หลังจากที่สามีของป้านะ เสียชีวิตไปเมื่อปี พ.ศ. 2528  บุตรทั้ง 4 คน  ซึ่งเป็นลูกชาย 3 คน ก็แยกย้ายไปมีครอบครัวกันหมด (เสียชีวิตแล้ว 1 คน)  เหลือก็เพียงลูกสาวที่พิการทางเท้า  หนึ่งเดียวเท่านั้นที่ดำเนินวิถีชีวิตเคียงคู่ กันมา  แต่ชีวิตความเป็นอยู่ก็ไม่ได้เดือดร้อน เพราะด้วยมีรายรับจากการเก็บพืชผักในสวนไปขายทุกวัน 100 – 300 บาท  มี ชะอมกับตำลึง ที่เป็นรายได้หลัก  ข้าว ลูกชายก็เอามาให้บ้าง ขาดเหลืออย่างไรก็ซื้อ เบื่ออาหารที่บ้านก็ไปซื้ออาหารถุงจากตลาดนัดบ้างเป็นครั้งคราวไป
เป็นหนี้ 50 บาท 3 ปีใช้คืนหมด!
     ใครจะไปเชื่อว่าคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมา 66 ปี แล้วจะเคยเป็นหนี้แค่ครั้งเดียว  และเป็นบทเรียนอันเจ็บปวดเสียด้วย ครานั้นป้านะกู้เงินมา 50  บาท (หากเทียบกับสมัยนี้ก็ตกราว 5,000บาท) เพื่อซื้อโอ่งราคา 30 บาท มาไว้รองน้ำฝนกิน กว่าจะใช้คืนเจ้าหนี้หมดต้องใช้เวลาถึง 3 ปี  หลังจากนั้น ป้านะ ก็เข็ดกับการต้องกู้หนี้ยืมสินถึงแม้จะตกทุกข์ได้ยากขนาดไหน หันมาพึ่งตนเองดีกว่า อยากได้อะไรก็เก็บออมไว้แล้วค่อยไปแลกสิ่งของนั้นมา จนบัดนี้ คำว่า “หนี้” ก็ไม่เคยเยี่ยงกายเข้ามาในชีวิตป้านะอีกเลย จนภรรยาของครูเลิศ รร.โพธิ์ประทับช้าง บอกว่าป้านะเป็นคนเดียวในอำเภอโพธิ์ประทับช้างที่ไม่มีหนี้สิน
โดนตีหน้าว่าเป็น “คนชั่ว”
ถึงแม้ว่าละแวกบ้านป้านะ จะมีญาติพี่น้องอยู่มากก็ตามแต่ความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านไม่ได้ต่างอะไรไปกว่าคนโกรษเคืองกันมาแต่ชาติปางก่อน เพราะด้วยบุคลิกที่ดู แข็งๆ คำพูดห้วนๆ ผสมปนเปกับความหวาดระแวง และอาการน้อยใจนิดๆ ทำให้ความไม่เข้าใจกันระหว่างเพื่อนบ้านและญาติพี่น้องจึงไม่ลงรอยกัน  บ่อยครั้งที่ไก่เพื่อนบ้านมักมาคุ้ยเขี่ยพืชผักของป้านะเสียหาย  อดรนทนไม่ไหวก็ต้องด่าต่อว่ากันตลอด ไม่เพียงเท่านั้นแม้กระทั่งผู้นำชุมชนอย่างผู้ใหญ่บ้านก็โดนป้านะต่อว่าเช่นกัน เพราะเวลาเชิญไปร่วมงานชุมชน นัดประชุมกันแล้วผู้ใหญ่บ้านก็พลัดวันประกันพรุ่งบ่อยๆ อาการฉุนและเบื่อหน่ายก็เกิดขึ้นทันที  ทำให้ทุกวันนี้แทบจะไม่ค่อยมีใครอยากยุ่งด้วย จนป้านะคิดไปเองว่า ตัวเองเป็นคนชั่ว!
โกรษหมอ
     เมื่อก่อนช่วงที่ป้านะเป็นแรงงานรับจ้างทั่วไป ร่างกายแข็งแรงดี แต่ด้วยคำว่า “แรงงาน” เมื่อสิ้นสุดการทำงานแต่ละวันอาการปวดเมื่อยก็มีเป็นเรื่องธรรมดา ทางออกคือผ่อนคลาย ดื่มน้ำเมา กินยาแก้ปวด เคี้ยวหมากซึ่งเป็นของโปรดบ้าง  ทางออกนี้ถูกสะสมมาอย่างต่อเนื่อง จนอายุเพิ่มมากขึ้น โรคประจำตัวเริ่มถามหา อาการมือไม้สั่นและชา ด้วยพิษของโรคความดันต่ำ ทำให้ทุกเดือนป้านะ จะต้องไปหาหมอตลอด เพื่อรับยาและฟังคำแนะนำ สิ่งที่ป้านะรับไม่ได้มากที่สุดเห็นจะเป็นข้อห้าม 3 ข้อ คือ ห้ามอดนอน, ห้ามโกรษใคร และให้ หยุดทำงานเสีย  สองข้อแรกยังพอผ่อนปรนทำได้ แต่ข้อหลังนี่สิ หากไม่ทำแล้วใครจะเลี้ยงดูแล ยังไงเสียถึงห้ามมันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะทำตามที่หมอแนะนำ ก็ต้องแอบทำแอบปฏิบัติตามวิถีชีวิตของตัวเองอยู่ดี เพราะต้องดูแลสวนทุกวัน  จะต้องเก็บผัก ถ้ามีหนอน ไส้เดือนก็เก็บไปให้ปลาในบ่อ หรือหญ้าขึ้นก็กำจัดด้วยการดาย เป็นอย่างนี้เนืองนิตย์   ทุกวันนี้ที่เลิกได้เด็ดขาดแล้วก็คือ เหล้ายา แตะต้องไม่ได้อีกแล้ว หากขืนแหกกฎเหล็กข้อนี้ คุณหมอ บอกว่า “เตรียมตอกฝาโรงรอได้เลย”
  อยู่อย่างมีความสุขไปเรื่อยๆ
          หากถามว่าป้านะ มีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญด้านใด ป้านะเองบอกว่าไม่มี สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่มันก็ไม่อะไรน่าสนใจ แต่มีสิ่งหนึ่งที่พอสัมผัสได้คือ แนวคิดการพึ่งตนเอง  เพราะด้วยพื้นที่ 3 งาน ถูกปลูกถูกเติมแต่งจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ก็เก็บมาจากป่า  การขยายพันธุ์ด้วยการตอน ทาบกิ่งก็ทำเอง ไม่มีเทคนิคการปลูกอะไร เอาไม้ไปปักไปจิ้มหยอดลุงหลุมมันก็ขึ้นเอง ปุ๋ย ยาเคมี ไม่ต้องถามถึงไม่เคยใช้เลย     สิ่งที่ทำอยู่ปัจจุบันก็เพื่อลูกหลาน พื้นที่นี้คาดว่าจะให้ลูกสาวที่อยู่ด้วยกันมา หากอนาคตเป็นอะไรไป เพราะคิดว่าพืชผักในสวนพอจะสร้างรายได้ตลอด คงไม่สร้างเสริมเติมแต่งอะไรอีกแล้ว อยู่อย่างนี้แบบมีความสุขไปเรื่อยๆ  จนกว่าร่างกายจะทำงานไม่ไหว
                เส้นทางชีวิตของคนคนหนึ่ง กับความพอเพียง มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้กันทุกคน หากยึดถือแนวปฏิบัติอย่างตั้งใจและเชื่อมั่น ความสุขก็จะเกิดโดยที่เราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเข้ามาสู่ชีวิตเราตั้งแต่เมื่อไร  ไม่ต้องรอลมๆแล้งๆ ฝากอนาคตไว้กับใครที่ไม่แน่นอน
หนุ่ม : 11.00 น. / 2459
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15697เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2006 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท