มิจฉาทิฐิ


มิจฉาทิฐิ

         บทความเรื่อง Follow the Money ในนิตยสารไทม์  ฉบับวันที่ 13 ก.พ.49  ทำให้ผมสะท้อนใจ

         บทความบอกว่าในปี 2548   แรงงานย้ายถิ่น (ประเทศ) ส่งเงินกลับประเทศ 230,000 ล้านเหรียญสหรัฐ   หรือประมาณ 9.2 ล้านล้านบาท   เท่ากับกว่า 6.5 เท่าของงบประมาณแผ่นดินของประเทศไทย

ตัวเลขนี้บอกอะไร   คงมองได้หลายมุม
- แรงงานข้ามประเทศช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศยากจนดำรงอยู่ได้
- แสดงการดิ้นรนของมนุษย์และความรักครอบครัว   ทนไปทำงานต่างแดน   เพื่อส่งเงินกลับมาเลี้ยงครอบครัว
- เป็นกระแสกดดันทางสังคม   ให้หัวหน้าครอบครัว (ซึ่งบางกรณีเป็นผู้หญิง) ต้องไปทำงานต่างแดนเพื่อส่งเงินกลับบ้าน   เอาเงินมาสร้างบ้านและซื้อของใช้ทันสมัย   เป็นการโชว์ความสำเร็จของครอบครัว
- มองเป็นการไหลเวียนของเงินจากประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศกำลังพัฒนาในส่วนของประเทศที่ยากจน (ชนบท) แล้วเงินนั้นก็ถูกดูดเข้าสู่ศูนย์กลางของประเทศผ่านการซื้อสินค้าทันสมัย

         ผมมองต่างมุมว่าเป็นพยาธิสภาพของสังคมมนุษย์   เป็นมิจฉาทิฐิหรือความหลงผิดว่าการที่ครอบครัวแยกกันอยู่และหาเงินส่งไปให้ทางบ้านจับจ่ายใช้สอย   มีบ้านตึกเป็นที่เชิดหน้าชูตา   ในท่ามกลางกระท่อม   เป็นความสำเร็จของครอบครัว

         ผมมองว่าผู้บริหารประเทศที่ปล่อยให้มีสภาพเช่นนี้ในประเทศของตน   เป็นการทำร้ายสังคมในระยะยาว   เพราะจะบ่มเพาะค่านิยมผิด ๆ และทำให้เด็กและเยาวชนไม่ได้รับความรักและการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ทางด้านจิตใจและอารมณ์   และเป็นค่านิยมที่ให้ความสำคัญต่อเงินมากกว่าความเป็นมนุษย์   เป็นค่านิยมที่ไม่สร้างทุนทางสังคมของท้องถิ่น 

         ไม่ทราบว่าผมคิดมากไปหรือเปล่า

วิจารณ์  พานิช
 12 ก.พ.49

คำสำคัญ (Tags): #ทุนทางสังคม
หมายเลขบันทึก: 15694เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2006 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท