เมื่อหิว จะป่วย....ไหม?


 

เรามักมีความเชื่อว่า เมื่อหิวแล้วไม่ได้กิน ไม่ได้ “ตอบสนองความหิว” นั้น จะป่วย...

การที่จะป่วยหรือไม่นั้นจะต้องมีเหตุอยู่ ๒ ประการ ประกอบเข้าด้วยกัน คือ

ประการแรก “ถึงเวลาของเขา”
เมื่อร่างกายถึงเวลาของเขา ซึ่งเรานั้นเป็นคนตั้ง เป็นผู้กำหนดเอาไว้
ร่างกายเขานั้นก็จะรำลึกสัญญาเพื่อส่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่า “ถึงเวลาของฉันแล้วนะ”
ตอนนั้นจิตของราก็จะเริ่มกระสับ ใจของเราก็จะเริ่มกระส่าย
ด้วยเพราะร่างนั้นนั้นย้ำเตือน “ให้ทำในสิ่งที่เคยทำ”
แต่ถ้าเราตอบสนองเขาไม่ได้ด้วยเพราะสาเหตุประการใด “เขาจะเริ่มป่วย”
โดยส่งสัญญาณผ่านความหงุดหงิด ว้าวุ่นใจ และถ้าเรายอมแพ้ต่ออาการแบบนี้เรื่อย ๆ ไป ใจก็จะพาใจป่วยตามได้ในเร็ววัน

สมาธิลดลง ประสิทธิภาพในการทำงานหดหาย สติเริ่มไม่มี
เพราะความคิดจะไปจับจ้องและจับจดอยู่กับอาหารหรือสิ่งที่ร่างกายกำลังเรียกร้อง

ถ้าเขายังไม่ได้ เขาก็จะยังเรียกร้องอยู่อย่างนั้น
เรียกร้องจนกว่าเราจะ “ยอมแพ้” เดินตามเสียงโอดครวญของเขาไป “เดินไปตามกายที่ปรารถนา”

อันที่จริง ร่างกายเขาก็ไม่ได้อะไร เขาก็เป็นอย่างนั้นของเขาตามธรรมดา
เราตั้งเวลาเขาไว้ ถึงเวลาเขาก็เตือนเรา
เมื่อเราทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับเขา “เขาก็จะหยุด”
“ร่างกายมีพอ” รู้จักคำว่าพอ
แต่ปัญหาจะเริ่มเกิดขึ้นหลังจากคำว่า “พอ” ของร่างกาย


เมื่อร่างกายพอ แต่จิตไม่พอ
กายอิ่ม แต่จิตยังไม่


จิตที่ร่ำร้อง มีพลังและแรงอันมหาศาลมากกว่ากายหลากหลายเท่า
อาการป่วยนั้นจะเกิดขึ้นมาถ้าเราตอบสนองความต้องการของจิต
เมื่อเราได้เติมอาหารให้จิต “อาหารนั้นจิตไม่ต้องการ” ร่างกายก็เกินพอที่จะต้องการ
อาหารนั้นไม่มีประโยชน์กับจิต จิตต้องการแค่การตอบสนองความยาก
เมื่อเติมสิ่งที่ไม่จำเป็นลงในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
สิ่งนั้นจะพลิกผลันเปลี่ยนเป็นโทษ โดยหาซึ่งประโยชน์มิได้

การเติมอาหารแบบนี้ให้จิตก็เปรียบเสมือนหนึ่งเติมน้ำมันให้กิเลส
เติมน้ำมันที่จะหล่อลื่นชีวิตเพื่อเดินทางลงสู่นรกและอบายภูมิ

นรกที่แท้นั้นมิได้อยู่ใกล้ถึงขนาดเมื่อตายถึงจะได้พบ
นรกขุมแรกนั้นอยู่ใกล้เราแค่เอื้อม
อยู่ติด ๆ บ้านเรา
ถ้ามีโอกาสหรือเวลา ขอเชิญท่านทั้งหลายทัศนานรกขุมแรก “โรงพยาบาล”
นรกอันเกิดจากการกระทำของสัตว์มนุษย์ซึ่งมิใช่ใคร
“ตนเอง” สร้างให้เกิด โดยปล่อยให้จิตนั้นเตลิดตามความต้องการที่เกินพอดีของจิต เป็นนรกบนดินที่เกิดขึ้นโดยกรรมหรือการกระทำของตนเอง
คนที่ “แพ้ใจ” ก็มิต่างอะไรกับคนที่ดวงตานั้นมืดบอดมองมิเห็นโทษภัยในโลกใบกลม ๆ นี้
ยอมแพ้ต่อกิเลส ให้อาหารจิต เติมน้ำมันให้ใจเพื่อให้ลื่นไถลตกลงอยู่ทุกข์แห่งโรคภัยที่จะต้องกล้ำกลายเข้ามาเบียดเบียน...

ประการที่สอง “ป่วยเพราะปรุง”
การใช้ชีวิตที่อยู่ในกระแสสังคมที่ทั้งสับสนวุ่นวายและอุดมไปด้วยการแข่งขัน
สิ่งเร้าต่าง ๆ เกิดขึ้นอยู่รอบ ๆ ข้างหรือแม้กระทั่งภายในกาย
การที่จะเราจะป่วยเพราะหิวนั้น จะต้องประกอบด้วยสาเหตุอีกหนึ่งประการก็คือ “การปรุง”
เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ กระทบต่อสิ่งเร้า
ถ้าหากเราปรุงกายและจิตจะตอบสนองโดยฉับพลัน
ร่างกายจะสร้างน้ำย่อยออกมาในกระเพาะอาหาร
น้ำย่อยที่ออกมาเพื่อย่อย เขาก็ทำหน้าที่ตามปกติของเขา
“ในยามที่ไม่มีอาหาร” มีอะไรอยู่รอบข้างเขาก็ย่อยไป
น้ำย่อย เป็นสิ่งที่ร่างกายผลิตออกมา
“ถ้าไม่ผลิตเขา เขาก็ไม่เกิด” เมื่อเขาไม่เกิด ก็ไม่ต้องย่อย
น้ำธรรมดา ก็จะเป็นธรรมดา หรือของเหลวธรรมดา ๆ แบบนั้นอยู่ในร่างกาย
น้ำธรรมดา ๆ ที่ถูกเรา “จิต” ปรุง
น้ำธรรมดาก็จะกลายเป็นน้ำที่มีประโยชน์ ถ้ามีอาหาร
น้ำธรรมดาก็จะกลายเป็นน้ำที่มีโทษ ถ้าไม่มีอาหาร
กายปรุงน้ำย่อย เพราะมีอาหาร
จิตปรุงน้ำย่อย เพราะมีกิเลส

กิเลสปรุงน้ำย่อย แต่น้ำย่อยไม่สามารถย่อยกิเลสได้
น้ำย่อยจะย่อยร่างกายของจิตผู้ปรุงแต่ง กลิ่น สี รส สัมผัสนั้นขึ้นมา
เปรียบเสมือนหนึ่งการลงโทษและลงทัณฑ์ ให้กับเจ้าของนั้นรู้จักยับยั้งจิตและช่างใจ

ดังนั้น เมื่อหิวหรือแม้กระทั่งไม่หิว เราจะป่วยหรือไม่นั้น อยู่ที่สาเหตุประการที่สองเป็นหลักแห่งปัจจัยเหตุ

เพราะแม้เมื่อถึงเวลา
แต่จิตไม่ปรุงเพิ่ม ไม่ใส่อารมณ์และความรู้สึกเข้าไป
อย่างน้อย “จิตไม่ป่วย”
ไม่วิตก วิจารณ์ กระสับ กระส่าย
ถ้าเกิดด้วยสาเหตุถึงเวลานี้ เพียงใส่อาหารตอบสนองลงไปให้ “เพียงพอ”
จะป้องกันและระงับอาการป่วยได้ในฉับพลัน

แต่ถ้าหิวเพราะจิตปรุง
ปรุงแต่งกิเลส ปรุงแต่งตัณหา
สองสิ่งนี้จะนำพามาทั้งโรคกายและโรคใจ
ที่เป็นมหันตภัยของชีวิต

ระงับอาการหิวของกายด้วยอาหาร
ระงับอาการหิวของจิตด้วยปัญญา
ลมหายใจที่สงบ สบาย “สร้างสติ” ซึ่งเป็นจุดริเริ่มแห่งปัญญา
เมื่อจิตปรุง ครั้งเมื่อถูกกระทบด้วยสิ่งเร้าทั้งจากภายนอกหรือภายในก็ดี
หายใจยาว ๆ สักสี่ถึงห้าครั้ง
หายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย
สติมา ปัญญาเกิด
ปัญญาเกิด กิเลสสงบ ตัณหาระงับ อาการป่วยก็ดับได้ทั้งกายและใจ...

หมายเลขบันทึก: 156892เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2008 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท