BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

จางจื้อ พุทธทำนาย และคนชายขอบ


จางจื้อ พุทธทำนาย และคนชายขอบ

วันนี้อ่านพุทธทำนายในอรรถกถา เมื่อมาถึงสุบินนิมิตที่ ๙ ก็ทำให้นึกถึงคำว่า คนชายขอบ ในสำนวนไทยปัจจุบัน และย้อนระลึกไปถึงประวัติของจางจื้อ จึงนำมาเล่าเล่นๆ เชื่อมโยงกัน...

จางจื้อ เป็นปรัชญาเมธีจีน (ราวพุทธศตวรรษที่ ๓) ไม่ชอบรับราชการอยู่ในเมือง จึงมาเป็นเกษตรกรอยู่บ้านนอก ต่อมาก็มีทูตจากเมืองหลวงมาเชิญไปรับราชการ จางจื้อก็ยกถึงเต่าศักดิ์สิทธิ์ตัวหนึ่งในศาลเจ้าซึ่งมีคนนับถือมาก และเต่าตัวที่อยู่ตามท้องไร่ท้องนา แล้วก็ถามทูตที่มาเชิญว่า ท่านอยากจะเป็นเต่าตัวใด ? เมื่อทูตบอกว่า อยากจะเป็นเต่าตามท้องไร่ท้องนามากกว่าเต่าศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้า จางจื้อก็ตอบว่า เราก็ต้องการเช่นนั้น สรุปว่า จางจื้อไม่ยอมไปรับราชการอยู่ในเมืองหลวง แต่ต้องการเป็นเกษตรกรอยู่บ้านนอก... ประมาณนี้ 

สุบินนิมิตที่ ๙ เล่าว่า มีสัตว์สี่เท้าและสองเท้าลงมากินน้ำริมสระน้ำโดยรอบ... ขณะที่น้ำริมสระนั้นใสสะอาด แต่น้ำกลางสระนั้นกลับขุ่นมัวสกปรก ซึ่งพระพุทธจ้างทรงทำนายว่า ในอนาคตกาลพระราชา (หรือผู้ปกครอง) ไม่ตั้งอยู่ในธรรม มุ่งสินบนและขูดรีด คนทั้งหลายจึงหนีจากเมืองไปอยู่ชายแดนห่างไกล...

ผู้เขียนคิดว่าการที่จางจื้อไม่ยอมรับราชการอยู่ในเมือง ยินดีที่จะอยู่บ้านนอก อาจเป็นเพราะรู้สึกว่าอยู่ในเมืองซึ่งใกล้ชิดผู้ปกครองไม่ประกอบด้วยธรรมทำนองนี้ ทำให้อึดอัดใจ ไม่มีความสุข (น้ำขุ่น)  ยินดีที่จะอยู่บ้านนอกซึ่งมีความเป็นอิสระและสบายใจ (น้ำใส) นั่นคือ จางจื้อยินดีจะเป็นคนชายขอบ... ประมาณนั้น

คนชายขอบ คำนี้ใครนำมาใช้ก่อนผู้เขียนก็จำไม่ได้ รู้แต่ว่าเพิ่งได้รับความนิยมไม่นานนัก ตามความเห็นของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งบอกว่า คนชายขอบก็คือผู้ที่ได้รับสิทธิอันควรจะได้จากความเป็นพลเมืองน้อยกว่าคนซึ่งอยู่ใกล้แก่นอำนาจ... ทำนองนี้

เมื่อพิจารณาเรื่องราวเหล่านี้ ผู้เขียนกลับได้ความเห็นตรงข้ามว่า คนชายขอบอาจมีความสุขและสบายใจกว่าคนที่อยู่ใกล้แก่นอำนาจ เหมือนการเลือกที่จะอยู่บ้านนอกของจางจื้อ หรือเหมือนกับพุทธทำนายในสุบินนิมิตที่ ๙ ว่าริมขอบสระน้ำใส แต่กลางสระน้ำขุ่น... ประมาณนี้

ถ้าว่าความเห็นนี้ถูกต้อง ผู้เขียนก็ขอชักชวนว่า

  • เรามาเป็นคนชายขอบกันเถอะ !

............ 

อนึ่ง พุทธทำนาย ผู้สนใจอ่านได้ที่...

http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=77 

หมายเลขบันทึก: 156134เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2007 05:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

นมัสการพระคุณเจ้า

คำว่าคนชายขอบในภาษาไทย เข้าใจว่าแปลกันมาจากภาษาอังกฤษของคำว่า marginalize คำนี้หมายถึงกลุ่มคนที่อยู่วงนอกของประโยชน์ต่างๆที่คนส่วนใหญ่ได้รับ โดยมีแนวคิดว่ากลุ่มนี้ถูกกดไว้ (oppress ) จากคนที่มีอำนาจกว่า บนฐานของตะวันตกที่มองกลุ่มของชนชั้นกลางกับกลุ่มใช้แรงงานที่ยืนบนฐานเดียวกันหรือแนวระนาบแต่กลุ่มนี้แทบจะตกขอบกระด้งในทุกเรื่องเช่นการศึกษา การรักษาพยาบาลฯลฯ   ต่อมามีการนำไปใช้มากขึ้นเช่นระหว่างหญิงและชาย ระหว่างคนผิวสีดำกับคนขาว ระหว่างพวก white collar และ blue collar และบางครั้งก็ตีความขยายหมายถึงกลุ่มที่ขาดโอกาสแม้อยู่ในสถานะเดียวกัน เช่นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทำให้ได้หรือเสียโอกาสต่างกัน คำว่า คนชายขอบจึงไม่ได้หมายถึงคนในชนบทค่ะ

คำๆนี้จะเหมาะในแนวคิดของตะวันออกของไทยไหม..ดิฉันไม่ค่อยจะแน่ใจนัก เพราะสังคมไทยแต่อดีตไม่ได้มองว่าทุกคนยืนระนาบเดียวกัน มีความเป็นชั้นเชิง ด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ ลฯ มาแต่แรก และสังคมในอดีตเราไม่มีคนเร่ร่อนไร้ที่อยู่เพราะทุกๆคนก็ล้วนมีที่ทำกินไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง และวิถีตะวันออกที่ไม่มีการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นหรือไปเบียดให้ผู้อื่นตกขอบกระด้งเพราะเกรงบาป แต่มุ่งพัฒนาระดับความสามารถของตัวเอง มีภาวนาเป็นต้น เรามองความเสมอภาคที่ กรรมดี กรรมเลว ในตัวบุคคล และมีเชิงประจักษ์ที่มรณังกันทุกคน

การก่อม๊อบ การเรียกร้องอย่างรุนแรงด้วยการยกประเด็นว่าตนเองเป็นคนชายขอบ เป็นวิถีตะวันตกล้วนๆค่ะ และน่าแปลกใจที่คนมีที่ทำกินเช่นมีไร่ ขับรถอีแต๋น ที่ไม่ทราบคำๆ นี้ แต่ถูกนักจัดตั้งการเรียกร้องนำมาใช้ประโยชน์ ให้เรียกร้องมากกว่า และมากขึ้น สามารถทำได้และเรียกร้องสำเร็จเกือบทุกครั้ง....อาจจะเป็นเพราะว่าการเรียกร้องรุนแรงที่ไม่ใช่วิถีตะวันออก สร้างความตระหนกให้กับคนไทยเมืองไทยจึงมีนักเรียกร้องและนักจัดตั้งการเรียกร้องที่อ้างความเป็นคนชายขอบ เพียงเพราะอยู่ในชนบทเท่านั้น.

.นี่คือสิ่งที่ดิฉันมองเห็นความแตกต่างและการหยิบยก "คำ" ที่มีการเปลี่ยงแปลงของความหมายได้มาใช้ประโยชน์ในรูปแบบของไทยค่ะ

กราบพระอาจารย์ค่ะ...

P

จันทรรัตน์

อนุโมทนาสำหรับคุณโยมอาจารย์จันทรรัตน์ ที่ให้ความกระจ่างแจ้งยิ่งขึ้น...

อาตมาก็ตระหนักอยู่ว่า คนชายขอบ อาจหมายถึงกลุ่มคนตามที่อาจารย์ว่ามา จึงได้เลี่ยงไปให้คำนิยามว่า.. คนชายขอบก็คือผู้ที่ได้รับสิทธิอันควรจะได้จากความเป็นพลเมืองน้อยกว่าคนซึ่งอยู่ใกล้แก่นอำนาจ แต่อีกความหมายหนึ่งตามที่เข้าใจกันแบบไทยๆ คนชายขอบก็คือชาวชนบทห่างไกลที่ด้อยโอกาส ซึ่งก็รับรู้กันทั่วไป... 

ในประเด็นที่โยมอาจารย์ให้ความเห็นเพิ่มเติมมานั้น อาตมาก็หวนไปคิดถึงงานของใครแล้วก็จำไม่ได้ เขาวิจารณ์ว่า ปัญหาสังคมปัจจุบันมาถึงยุค Rancism ซึ่งมีผู้บัญญัติใช้คำไทยว่า ชาติพันธ์นิยม ซึ่งความหมายเดิมของคนนี้บ่งชี้เฉพาะ การแบ่งแยกหรือกีดกันสีผิว (ตามรูปศัพท์) แต่ต่อมาคำนี้ก็ขยายความไปถึงการถือพรรคถือพวกถือผลประโยชน์ร่วมกัน... (อาตมาเคยคุยเล่นๆ ว่า Rancism น่าจะบัญญัติศัพท์ว่า พวกนิยม เหมาะสมกว่า)

ความเห็นเรื่อง Rancism นี้ อาตมาก็เห็นด้วย เพราะปัญหาของกลุ่มประท้วง หรือกลุ่มกดดันทางการเมืองเกือบทุกกรณีในปัจจุบัน มักมีพื้นฐานมาจากกรณีนี้ เช่น แท็กซี่ประท้วง รถไฟประท้วง ชาวนาประท้วง  ชาวประมงประท้วง หรือแม้แต่พระสงฆ์ก็ยังประท้วง เพราะพวกเขาเดือดร้อน (แต่รัฐหรือกลุ่มอื่นอาจไม่เข้าใจ หรือเข้าไม่ถึงปัญหาของพวกเขา)

ส่วนว่า กลุ่มประท้วงหรือกลุ่มกดดันทางการเมืองนั้นๆ จะมีการว่าจ้าง จัดตั้ง หรือเกิดจากความรู้สึกร่วมของกลุ่มนั้น หรือบางครั้งก็อาจผสมสานกันหลายๆ อย่าง...

อาตมาเป็นผู้สังเกตการณ์เท่านั้น มิใช่ผู้สันทัดกรณี...

เจริญพร 

กราบ 3 ครั้ง...

กลับมาก็เห็นเรื่องโดนจัยจากพระอาจารย์เลยเทียว...

 

พระอาจารย์ครับ...ตอนนี้ไม่ทราบว่าผมกำลังอยู่ชายขอบหรือปล่าว....55555

 

ต้องขออนุญาตนำข้อเขียนของพระอาจารย์และอาจารย์จันทรรัตน์ไปเสนอในรายการวิทยุด้วยนะครับ...

 

อีกคำนึงที่น่าสนใจ คำว่า พลเมือง ครับ...พระอาจารย์...ผมได้ยินคำนี้...ได้รับคำกล่าวอ้างอรรถาธิบายมามาก...ยังอยากให้พระอาจารย์และอาจารย์จันทรรัตน์ช่วยแถลงไขด้วยครับ...

P 

นายขำ

 

ไปดูที่บล็อกท่านเลขาฯ เมื่อเห็นว่ายังล็อกอินเข้ามาอยู่ ก็รู้ว่ายังมีอยู่ และคาดเดาว่าคงจะยุ่งจัดด้วย จึงไม่ค่อยจะมีเวลาใช้เวลาเพื่อ เจาะแจะศาสตร์...

พละ เป็นคำบาลี แปลว่า กำลัง

เมือง น่าจะเป็นคำไทยแท้  ถ้าจะแปลก็น่าหมายถึง ชุมชนที่อยู่กันหนาแน่น ซึ่งอาจมุ่งหมายถึง ประเทศชาติ

พลเมือง  น่าจะเป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นมาจากภาษาอังกฤษ ซึ่งท่านเลขาฯ ก็ทราบอยู่แล้ว...

ส่วนความหมายแบบไทยๆ อาตมาคาดเดาเอาเองว่า ผู้บัญญัติน่าจะประสงค์เอาว่า กำลังของประเทศชาติ

เจริญพร 

จันทรรัตน์: สยามก็มีชาวนาลุกขึ้นแข็งข้อกับรัฐมานานแล้วหรือเปล่าครับ? (เหมือนอ่านเจอใน blog ของหลวงพี่) การที่มีกบฐจะเรียกว่าเรียกร้องรุนแรงได้หรือเปล่า?

Pवीर

เรื่อง กบฎชาวนา หลวงพี่พาดพิงถึงที่ ประชาธิปไตยกับเทคโนโลยีการเกษตร

เรื่อง กบฎชาวนา นี้ เป็นเรื่องสมัยอยุธยา ซึ่งหลวงพี่ก็ไม่รู้เรื่อง เพียงแต่บทความที่อ่านไปมีการอ้างถึง และผู้เขียนก็ได้อ้างอิงว่ามาจากหนังสือชื่อ

  • ขบวนการเกษตรยั่งยืนในสังคมไทยและการเมืองของงานเขียนเกษตรกรรมยั่งยืน  ของ อนุสรณ์ อุณโณ พิมพ์โดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) 2546

ถ้าน้องวีร์ หรือใครสนใจก็ไปค้นเอาเอง...

เจริญพร 

P

จันทรรัตน์

 

จากความเห็นที่ 2 แก้คำผิด จาก

  • rancism เป็น racism .

ปกติ... อาตมาสะกดภาษาอังกฤษผิดเสมอ ขออภัยโยมอาจารย์ จันทรรัตน์ และท่านอื่นๆ ด้วย...

เจริญพร 

นมัสการพระคุณเจ้า

ก็คิดว่า คงเป็นคำ Racism ค่ะ

ส่วนที่คุณขำ และคุณ वीर  ถามนั้นเข้าใจว่า ท่านมีคำตอบในใจอยู่แล้ว...ขอถือโอกาสรับทราบความคิดจากท่านทั้งสองเลยดีกว่าค่ะ.....ขอบคุณค่ะ

กราบพระอาจารย์

BM.chaiwut: ขอบคุณมากครับ ... แต่ว่ายังหาหนังสือเล่มนั้นไม่เจอเลย T_T. ลองหาใน www.lib.ku.ac.th (ที่ดูเหมือนน่าจะมี ก็ไม่เจอ) จันทรรัตน์: ผมก็ไม่ได้มีคำตอบชัดเจนอะไรดอกครับ.

P

वीर

 

น้องวีร์... ทำให้หลวงพี่สงสัยอีก ลองค้นดูก็มีอยู่ในห้องสมุดหลายแห่ง และที่นี่ ถ้าจะสั่งซื้อ
 

หนังสือเล่มนี้ หลวงพี่ก็ไม่เคยเห็นและไม่เคยอ่าน เพียงแต่เห็นเชิงอรรถว่าอ้างมาจากเล่มนี้เท่านั้น

เจริญพร
ขอบคุณมากครับ. ผมเข้าไปในเว็บ chulabook แล้วลองใส่ชื่อหนังสือก็ยังหาไม่เจอ. แต่ก็เชื่อว่าหลวงพี่ให้ URL มาแล้วน่าจะเคยเจอมาก่อนเลยใส่ชื่อผู้แต่งแทน (แสดงให้เห็นว่าทักษะการค้นหาของผมต้องการการพัฒนาอีกมาก) ก็เป็นอันว่าพบ. และทำให้พบในหอสมุดด้วย http://intanin.lib.ku.ac.th/search/a%7B717%7D%7B697%7D%7B728%7D%7B714%7D%7B707%7D%7B691%7D%7B748%7D+%7B717%7D%7B728%7D%7B691%7D%7B738%7D%7B691%7D/a|cdb9d8cac3b3ec+cdd8b3b3e2/1%2C1%2C4%2CB/frameset&FF=a|cdb9d8cac3b3ec+cdd8b3b3e2&2%2C%2C4 ผมให้หอสมุดดีใจกว่ามากๆ เพราะจ่ายขอใช้ไปแล้ว.

ท่านมหาครับ

นี่ แสดงว่าเราต้องห่างอำนาจหรือ จึงจะทำงานได้ ผมไม่แน่ใจในประเด็นนี้ครับ

ถ้าเป็นจริง ทำไมเราต้องวิ่งเข้าหาอำนาจเพื่อจะทำงานให้ได้ผลในวงกว้างครับ

ท่านช่วยอธิบายได้ไหมครับ

งง&งง ครับ

P 

ดร. แสวง รวยสูงเนิน

 

  • อาตมามิได้หมายความอย่างนั้น...

เพียงแต่ตอบคำถามโดยอ้อมของอาจารย์เรื่องนักวิชาการว่า ส่วนหนึ่งของนักวิชาการยินดีที่จะอยู่ห่างจากอำนาจ แล้วก็ใช้ชีวิตอย่างสุขสงบ  เพราะเบื่อที่จะต้องรองรับอารมณ์และสนองตอบความต้องการของผู้มีอำนาจ....

การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นของนักวิชาการก็เหมือนกับวงการอื่นๆ (อาตมาว่าแรงกว่าอีก 5 5 5) ซึ่งบางคนเบื่อความเป็นอยู่ทำนองนี้ จึงออกไปอยู่ชายขอบสระ ซึ่งมี น้าใส นั่นคือ เป็นอยู่อย่างสุขสงบยิ่งกว่า... ขณะที่ศูนย์กลางอำนาจนั้น น้ำข้น เพราะการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น...

ในสามก๊กก็มีตัวอย่าง ตามที่พอนึกได้ เช่น ลกซุนบัณฑิตหยูแห่งก๊กซุนกวน ยินดีจะเป็นอยู่อย่างสงบ แต่เมื่อเล่าปียกทัพมาแล้วไม่มีใครต้านทานได้จึงมีผู้เสนอซุนกวนให้เรียกลกซุนเข้ามารับราชการเป็นแม่ทัพ... หรือ สุมาอี้ ยุคหลังเป็นต้น เมื่อขงเบ้งยกทัพมาแล้วทางเมืองหลวงไม่มีใครต้านทานได้ จึงมีผู้เสนอ (จำชื่อไม่ได้) ให้เรียกสุมาอี้มารับราชการอีกครั้ง....

ถามว่า ลกซุนหรือสุมาอี้ มีผู้รู้หรือไม่ว่ามีความสามารถ ตอบว่า รู้ แต่ก็ไม่มีใครคิดเรียกหาในยามปกติเพราะการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันนั้นเอง...

ซึ่งคล้ายๆ กับนักวิชาการของสังคมไทยตอนนี้ เราจึงมีแต่ ักวิชาการชั้นสอง (สำนวนใน gotoknow นี้แหละ แต่จำไม่ได้ว่าของใคร) ที่คอยคิดแผนงานต่างๆ ตามที่เบื้องบนสั่งมา... ส่วนนักวิชาการชั้นหนึ่งที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมจริงๆ โดยมากมักเบื่อหน่ายแล้วก็ยินดีไปใช้ชีวิตอยู่อย่างเงียบสงบมากกว่า...

ยกตัวอย่างประเด็นเดียว เรื่องน้ำมันอีทานอล ที่ผลิตจากพืชซึ่งเริ่มดังตอนนี้ อาตมาได้ยินมาสิบกว่าปีแล้ว แต่ประเทศไทยไม่เคยตระหนักเรื่องนี้ สาเหตุก็เพราะบริษัทน้ำมัน.... (อาจารย์คงจะคิดเองได้ 5 5 5

ถามว่านักวิชาการด้านนี้ รู้หรือไม่ ? อาตมาว่าต้อง รู้ แน่นอน แต่......

  • ไม่แน่ว่าอาจารย์จะถามตรงคำตอบหรือไม่ ?

เจริญพร

นมัสการพระอาจารย์ครับ

นอกจากคำว่าคนชายขอบแล้วยังมี

คนใต้ถุนสังคม (พวกอยู่ใต้สะพานลอย)

คนไร้รัฐ

นักปราชญ์จีนที่ โด่งดังอีกท่านหนึ่งก็คือ เถาหยวนหมิง ท่านลาออกจากนายอำเภอไปทำนา เขียนนิยายเรื่อง สวนดอกท้อ (ยูโทเปีย แบบจีนๆ)

หลักความคิดเกี่ยวของลัทธิ ขงจื้อ ซึ่งก็คือ

"เทียนโหย่วเต้าเจ๋อเจี้ยน เทียนอู๋เต้าเจ๋ออิ่น"

((ยามที่)ฟ้า(ในที่นี้ใช้แทนโลก)มี(อยู่ใน)มรรค(เป็นไปตามหลักคุณธรรม)(ผู้มีคุณธรรมก็จะ)ปรากฎ (เมื่อใดที่)ฟ้าไร้มรรค(โลกไม่เป็นไปตามหลักคุณธรรม)(ผู้ที่มีคุณธรรมก็จะ)หลบซ่อน(ตน))

หรือดั่งที่ในคัมภีร์ "อี(จิง)" บันทึกไว้ว่า

"เทียนตี้เสียน เสียนเจ๋ออิ่น"

(ฟ้าดิน "เสียน" (ไร้ซึ่งสิ่งที่ควรจะทำ) "เสียน" (ผู้รู้ ผู้ประเสริฐ)หลบ(ปลีกตัวไปหลบซ่อน))

หรือ "ต๋าเจ่อจี้เทียนเซี่ย ผินเจ่อตู๋ซ่านฉีเซิน"

((หาก)ประสบความสำเร็จ(ก็จะต้อง)ช่วยเหลือสรรพสิ่งใต้ฟากฟ้า (แต่ถ้าหากตัวเองนั้นไม่อยู่ในสภาวะที่ประสบควาวสำเร็จ หาก)ยากจนก็พยายามที่จะรักษาตัวรอดและทำให้ดีที่สุด)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท