ขอขมา


ในสังคมพม่า การแสดงความนอบน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ ผู้น้อยมักหวังความเมตตาจากผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ก็ย่อมหวังความเมตตาจากผู้น้อย
ขอขมา
ในสังคมพม่า  การแสดงความนอบน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ  ผู้น้อยมักหวังความเมตตาจากผู้ใหญ่  และผู้ใหญ่ก็ย่อมหวังความเมตตาจากผู้น้อย  ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แบบพม่าโดยยึดความเมตตาเป็นที่ตั้งนั้น  จะพบได้ในความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับชาวบ้าน  พ่อแม่กับลูก และครูกับศิษย์  เป็นต้น  โดยถือว่า พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  บิดามารดาและครูอาจารย์เป็นอนันตคุณ ๕  หรืออนันตะงาบา  ( voO9'jtxj X และโดยธรรมเนียมของพม่าแล้ว  ชาวพม่าจะกราบไหว้เฉพาะกับอนันตคุณ  ๕  และเทพเท่านั้น ชาวพม่าจะไม่ยกมือไหว้บุคคลทั่วไป ดังนั้นในเวลาทักทายกัน  ชาวพม่ามักจะยิ้ม  พยักหน้า หรือจับมือกันเท่านั้น  หากเป็นผู้มีอำนาจ  อาทิ ผู้นำระดับสูงของประเทศ  แม้จะมิได้รวมอยู่ในอนันตคุณ  ๕  ก็ตาม  แต่ก็พบว่าในระยะหลังกลับเริ่มเห็นเยาวชนและข้าราชการระดับล่างแสดงความเคารพผู้นำประเทศด้วยการยกมือไหว้ด้วย  แต่ไม่ถึงกลับต้องหมอบกราบอย่างกับกราบอนันตคุณ  ๕ 
คำว่า “ กราบไหว้” ในภาษาพม่าจะว่า กะเด๊าะ ( doNg9kH X คำนี้ปราชญ์พม่าสันนิษฐานว่าอาจมาจากคำว่า K’ou  T’ou  หรือ Kotow  ในภาษาจีน  พม่ากราบในแบบเบญจางคประดิษฐ์เหมือนไทยคือ พนมมือจรดหน้าผากแล้วก้มกราบโดยวางฝ่ามือแนบกับพื้นและจรดหน้าผากไว้ระหว่างมือ   อย่างไรก็ตาม  คนพม่าบางคนอาจก้มกราบเพียงให้ปลายนิ้วชี้แตะพื้นแทนหน้าผาก
คำว่า กะเด๊าะ ยังมีความหมายว่า “ ขมา” ความหมายนี้สามารถสาวได้จากตำนานเมืองพุกาม  ที่พุกามมีเจดีย์องค์หนึ่ง ชื่อว่า กะเด๊าะปะลีง ( doNg9kHx]]'N X กะเด๊าะก็คือ  “ขมา” และปลีงคือ บัลลังก์  ในสำเนียงพม่า เจดีย์องค์นี้มีตำนานเล่าว่า พระเจ้านรปติสี่ตู่ ( oix9b0PNl^ X เป็นผู้สร้างในปี  ค.ศ. ๑๒๐๓ และสร้างโดยมิได้ใช้พระราชอำนาจของพระองค์เกณฑ์ผู้คนให้เดือดร้อน  แต่ด้วยทรงสิ้นพระชนม์เสียก่อนจึงสร้างไม่แล้วเสร็จ   กษัตริย์องค์ต่อมาคือ ทีโหล่มีงโหล่ ( 5ut]b6,'Nt]b6 X ได้สร้างต่อมาจนเสร็จ ณ จุดที่สร้างเจดีย์องค์นี้ กล่าวว่าแต่ก่อนเคยมีบัลลังก์วางคีมสำหรับพิพากษาโทษ  และพระเจ้าอลองสี่ตู่ ( vg]k'Nt0PNl^ X ก็เคยมาขอขมาที่บัลลังก์นี้  ด้วยได้กล่าวจ้วงจาบบรรพบุรุษว่ามิมีบารมีเสมอตน  นอกจากนี้พระเจ้านรปติสี่ตู่เองก็เคยทำพิธีขอขมาต่อพระอาจารย์ปั้งตะกู่  ณ บัลลังก์นี้ด้วยเช่นกัน  และเมื่อพระองค์ได้ทรงสร้างเจดีย์สวมบนบัลลังก์นั้น  เจดีย์จึงมีชื่อดังกล่าวในความหมายว่า “ บัลลังก์ขอขมา” การขมาจึงถือเป็นธรรมเนียมพม่ามาแต่โบราณ
ในปัจจุบัน  พม่ามีธรรมเนียมการขอขมาผู้ใหญ่และการขอพรต่อสิ่งศักด์สิทธิ์  โดยจัดวางเครื่องบูชาที่เรียกว่า กะเด๊าะบแว  ( doNg9kHx:c X เครื่องบูชาจะประกอบด้วย มะพร้าว ๑ ผล วางเคียงบนถาดพร้อมกล้วยดิบ ๓-๔ หวี และอาจจัดเมี่ยง  หมาก  ยาสูบ ใบหว้า ดอกไม้  ธูป  เทียน  ฉัตร  วางรวมไว้ด้วย  มีคำอธิบายสิ่งที่ประกอบเป็นกะเด๊าะบแวไว้ว่า  เนื้อมะพร้าวและกล้วยแทนธาตุดิน  เทียนแทนธาตุไฟ  น้ำมะพร้าวแทนธาตุน้ำ  ฉัตร ตุงและพัดแทนธาตุลม  และธูปแทนอากาศธาตุ  ในการประกอบเป็นเครื่องบูชานี้  สิ่งสำคัญที่สุดคือมะพร้าวและกล้วย เพราะถือเอาว่าทั้งสองสิ่งนั้นมีธาตุแห่งความสำร็จ
ในสังคมพม่าจะพบว่า  มีการจัดเครื่องบูชากันอยู่เสมอ  เช่น  เครื่องบูชาพระพุทธเพื่อขอความคุ้มครอง  เครื่องไทยธรรมในงานฟังธรรมและงานบวช  เครื่องบูชาพระสงฆ์และผู้มีพระคุณหรือเจซูฉี่ง ( gdyt=^tia'N X และยังมีเครื่องบูชาเทพในงานพิธีสำหรับกิจกรรมต่างๆ เช่น การแสดงละคร  ดนตรี หรือภาพยนตร์  นอกจากนี้  ชาวพม่าจะถวายเครื่องบูชาพระอุปคุตเพื่อไม่ให้ฝนตก  บูชาพระสาลีบุตรเพื่อขอลาภ  และในเวลาขึ้นบ้านใหม่  ซ่อมถนนหรือขุดบ่อน้ำ  จะบูชาเจ้าที่เจ้าทาง เป็นต้น
พม่ายังเชื่ออีกว่าการถวายเครื่องบูชาจะช่วยล้างบาปและอกุศล  นอกเหนือจากเพื่อเพิ่มกุศล  นำความสำเร็จและได้รับความเมตตา  การถวายเครื่องบูชาต่อปูชนียบุคคลและสิ่งศักดิ์สิทธิ์  จึงมิใช่เป็นเพียงการแสดงความเคารพหรือขอขมา  หากยังหวังความเมตตาและความสัมฤทธิ์อีกด้วย
ในการมอบเครื่องบูชานั้นนิยมจัดในช่วงสงกรานต์และออกพรรษา  โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์พม่าจะจัดงานไหว้ผู้สูงอายุ  เรียกว่า  แต๊ะจีบูซอ-บแว ( ldNWdutx^g=kNx:c X ส่วนงานไหว้ครูซึ่งเรียกว่า อาซาริยะบูซอ-บแว (vk0kibpx^g=kNx:c X นั้น จะมีในช่วงสอบปลายภาค  ออกพรรษา  และช่วงสงกรานต์  นอกจากเครื่องบูชาอันมีมะพร้าวและกล้วยเป็นสำคัญนั้น  พม่ายังมีธรรมเนียมมอบของกำนัลซึ่งเรียกว่า กะเด๊าะปิจซี  (doNg9kHx00PNt X ส่วนมากจะได้แก่ เสื้อ  โสร่ง  ซิ่น  ปิ่นโต  อาหารหรืออาจเป็นเงิน
นอกจากนี้ คำว่า กะเด๊าะ ยังมีความหมายว่า“ขอโทษ”ได้ด้วย    โดยจะพูดว่า  กะเด๊าะบ่าเตแย่ะ ( doNg9kHxjgltich X   หรือพูดซ้ำว่า  กะเด๊าะ-กะเด๊าะ หากคุ้นเคยกันจะพูดว่า  มะต่อโละหนอ  ( ,g9kN]b6hgokN Xเทียบได้กับ  “ไม่ได้ตั้งใจนะ”  อย่างไรก็ตาม  คำที่พบใช้กันบ่อยๆ  คือ  ซอรี่ ( Sorry ) และในเวลาใส่บาตร  ถ้าพระมาบิณฑบาตในเวลาที่ชาวบ้านทำอาหารยังไม่เสร็จหรืออาจไม่มีเจตนาจะใส่บาตรในเช้านั้น  เพื่อมิให้พระท่านเสียเวลารอ  ก็จะกล่าวขอโทษว่า  กะเด๊าะซูนบ่าพะยา  ( doNg9kHC:,Ntxj46ikt X แปลว่า “ ขอถวายอภัยภัตรเจ้าค่ะ”พระท่านก็จะเข้าใจว่าวันนี้ไม่มีอาหารจะถวาย  กะเด๊าะนับเป็นคำพม่าที่ได้ยินกันบ่อยๆจนคุ้นหู                 
 วิรัช นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15596เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 19:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท