สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๔๔. ชายคาภาษาไทย (๒๓)_๓


ตอนที่ ๒ 

         แม้ว่าจะมี “พระราชประฏิบัติ” และพระราชกำหนดเก่ากำหนดแนวทางการทำหน้าที่ของยุกระบัตรหลายฉบับก็ตาม แต่ก็ยังมีรายงานหลายครั้งว่า ยุกระบัตรไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ แทนที่จะไปสอดส่องเจ้าเมืองกลับร่วมมือกับเจ้าเมืองกระทำผิดแบบแผนการปฏิบัติราชการ เช่น พระราชกำหนดเก่า ฉบับที่ 13 ยกกรณีที่พระยาพิชัยและกรมการเมืองพิชัยร้องเรียนว่า กรมการ ขุนแพ่ง และยุกระบัตรเมืองทุ่งย้างไม่ยอมส่งตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโจรผู้ร้าย ซึ่งถูกซัดทอดโดยจำเลยที่เมืองพิชัยไปดำเนินคดีความที่เมืองที่เกิดเหตุ เป็นต้น เหตุที่ไม่ยอมส่งผู้ร้ายไปพิจารณาคดีความที่อื่น เพราะผู้รักษาเมืองกรมการและยุกระบัตรจะเสียผลประโยชน์เรื่องค่าริดชา/ฤทชา/ฤชาธรรมเนียมต่างๆ นอกจากนั้น พระราชกำหนดเก่า ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2281 ก็ได้กล่าวถึงการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของขุนยุกระบัตรเมืองสระบุรีซึ่งปกป้องข้าพระที่ก่อเหตุโจรกรรมฆ่าคนตายถึง 5 คน กรมพระนครบาลเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้และขอให้กรมการเมืองสระบุรีส่งตัวผู้ร้าย 7 คน แต่เนื่องจากผู้ร้ายเป็นคนของขุนยุกระบัตร ขุนยุกระบัตรไม่ยอมส่งตัวให้ พระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ตำรวจในนำตราพระราชสีห์ไปจับกุมตัวขุนยุกระบัตร แต่ขุนยุกระบัตรหนีไปพึ่งพระมงคลเทพที่วัดพระพุทธบาท แม้ข้าหลวงไปจะกุมตัวขุนยุกระบัตร พระเทพมงคลกลับใช้วาจาไม่เหมาะไม่ควรต่อว่าต่อขานตำรวจใน ทำให้สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงต้องออกพระราชกำหนดติเตียนพระสงฆ์ที่กระทำผิดพระวินัยเข้ามายุ่งเรื่องทางโลกย์ และให้ลงโทษขุนยุกระบัตรอย่างหนัก

         ด้วยเหตุที่ยุกระบัตรมีโอกาสกระทำความผิดและมีหลักฐานว่าได้กระทำความผิด การใช้ระบบคานอำนาจและตรวจสอบซึ่งกันและกันเปิดโอกาสให้ยุกระบัตรเองต้องอยู่ในสายตาของเจ้าเมืองและกรมการเมืองเช่นกัน ดังที่สรุปไว้ในพระราชกำหนดเก่า ฉบับที่ 51 ตราขึ้น ณ วันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1723/พ.ศ. 2266 ความว่า

         อนึ่งราษฎรพลเมืองมีกิจศุขทุกขสิ่งใดมาร้องฟ้องแก่ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการด้วยเนื้อความสิ่งใดๆ ก็ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการเมืองนั้น รับเอากิจศุขทุกขร้องฟ้องของราษฎร ซึ่งร้องฟ้องข้อนี้กะทงนี้เปนแต่เนื้อความสาเร่ว่า ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการณะเมืองนั้น จะพิจารณาว่ากล่าวให้สำเรจ์แต่ณะเมืองนั้นตามพระทำนูนได้ ก็ให้กรมการพิจารณาตามกระทรวงให้สำเรจ์ณะเมืองนั้น ถ้าโจทจำเลยติดใจแก่กรมการผู้เปนกระลาการไต่ถาม ถ้าเมืองเอกให้กรมมหาดไทจัตุสดมแลสัศดีผู้ได้ว่า  อุธรนครบาลแลแพ่ง (16) นอกกระลาการ (17) เบิกเอาเนื้อความนั้นไปว่ากล่าวไต่ถามตามพระทำนูนตามสัจตามจริงให้สำเรจ์แต่ณะเมืองนั้นๆ ถ้า[เมืองโท] (18) เมืองตรีเมืองจัตวาให้ปลัดยุกระบัดนอกกระลาการ เบิกเอาไปว่าตามเนื้อความนั้น ถ้าโจทจำเลยติดใจปลัดยุกรบัตร ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งบังคับให้กรมการนอกนั้นเอามาว่ากล่าวตามเนื้อความซึ่งโจทจำเลยติดใจกันนั้น ถ้าโจทจำเลยติดใจผู้รักษาเมืองผู้รั้งแลปลัดยุกระบัตรกรมการทังนั้น มิเตมใจให้ว่าเนื้อความสืบไป ให้ร้องฟ้องแก่กรมการซึ่งมิได้เปนกระลาการ ให้บอกหนังสือนำฟ้องโจทจำเลยเข้าไปว่ายังศาลา (19) ประการหนึ่งว่าเนื้อความผู้ร้องฟ้องนั้นเปนเนื้อความวิปริตต่างๆ พ้นที่ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการจะว่ากล่าว ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการเมืองจะว่ากล่าว ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการปฤกษาพร้อมกันเหนเนื้อความฃองราษฎรฟ้องเปนข้อใหญ่ พ้นที่ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการจะว่ากล่าวให้สำเรจ์แต่ณะเมืองนั้นมิได้ ก็ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการบอกหนังสือเข้าไปตามกฎให้ไว้นี้

         เนื่องจากบทบาทของยุกระบัตรความหรือยุกระบัตรเมืองมีความเกี่ยวข้องกับระบบการบริหารราชการหัวเมืองและให้คุณให้โทษได้มาก จึงมีความโดดเด่นจนทำให้เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า ยุกระบัตรมีเพียงจำพวกเดียว แต่ในความเป็นจริง ยุกระบัตร คือ ข้าทูลละอองผู้มีความเหมาะสมที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้ไปทำหน้าที่พิเศษโดยเฉพาะความชอบมาพากลของการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการฝ่ายต่างๆ เช่น มาตรา 142 ของพระไอยการลักษณะอาชญาหลวง มีระบุว่า
         มาตราหนึ่ง ท่านใช้ให้เปนนายกองยุกรบัตรไปดูไม้กฤษนานฤมาตงาช้างจันทแลไม้หอม ถ้าลักเอาของท่านไว้ก็ดี ขายเสียในกลางป่าก็ดี ให้ทวนแล้วให้ไหมจัตุรคูน ถ้าฝางแลสิ่งของมาถึงหน้าชั่งแล้วลักขายลงสำเภา พิจารณาเปนสัจ ให้เอาฝางทำขาหย่างประจาน แล้วให้ปลงลงทวนด้วยลวดหนัง ๕๐ ทีแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ถ้าฝางแลสิ่งของเข้าท้องพระคลังแล้วลักไปฃายต่างเมือง ให้ตัดฅอริบเรือนแล้วเอาบุตรพรรยาลงหญ้าช้าง

         ยุกระบัตรในที่นี้จึงหมายถึง “ผู้ตรวจ (ความถูกต้อง)” ผู้ทำหน้าที่อาจได้รับแต่งตั้งเป็นครั้งคราวจากบรรดานายแวงที่ไว้วางพระราชหฤทัย ในกรณีที่ยกมาเป็นเรื่องของการตรวจสอบส่วยสิ่งของที่จะเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชบรรณาการที่จัดส่งไปเมืองจีนเป็นประจำ

         นอกจากยุกระบัตรตรวจส่วยแล้ว ยุกระบัตรทัพเป็นข้าราชการที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ายุกระบัตรความหรือยุกระบัตรเมือง พระราชกฤษฎีกา มาตรา 15 และ 16 พระไอยการลักษณะกระบดศึก ได้กล่าวว่า
         [15] ถ้าเสดจ์โดยพยู่หบาตรยาตราทับ ไปการณรงสงครามนั้น ให้ยุกระบัตทับแลปีกซ้ายปีกขวา  ถืออาชาต้อนพลทังปวง แลให้นายกองยุกกระบัดเกียกกายกองหน้าหลังปีกซ้ายปีกขวา แต่งขุนหมื่นต้อนพลจงทุกกอง แลให้แต่งลูกหลานอันไว้ใจได้นั้นต้อนพลทังปวงหลังยุกรบัดเปนขนัด (20)
         [16] อนึ่งแลให้แต่งองครักษอันบันดาได้ประจำทับ ไว้ด้วยยุกรบัดในปีกซ้ายปีกขวานั้น แลให้กฎหมายให้แก่ยุกรบัดในปีกซ้ายปีกขวา แลขุนหมื่นบันดาถืออาชาสิทต้อนพลทังปวงโดยพนักงาน ถ้าผู้ใดต่อรบด้วยราชสัตรูมิฟังบังคับย่อท้อในที่รบ ฝั้นเฟือนจากกระบวนทับประการใด ถ้ามีบันดาศักดิ์ แต่นา 800 ลงมาถึงไพร่ไซ้ โทษหนักเท่าใดให้ลงโทษโดยโทษานุโทษนั้น ถ้าบันดาศักดิ์นา 1000 หนึ่งขึ้นไป ให้กุมเอาตัวไปส่งแก่นายกองยุกรบัดเกียกกาย ให้ลงโทษโดยโทษานุโทษนั้น แลให้เกียกกายบันดาถืออาชาต้อนพลกฎหมายเอาโทษนั้น ไปบอกแก่นายกองแลยุกระบัดเกียกกาย ให้พิจารณาโดยโทษ แลเมื่อยุกระบัดแลขุนหมื่นจะลงโทษผู้ฝั้นเพื่อนในกลางสงครามนั้นถ้าแลฝั้นเฟือนลงมาถึงช้างม้านายกอง ให้ลงโทษจงหนักเร่งต้อนเข้าให้รบ ถ้าแลถอยหลังลงมาจากนายทับนายกองให้ลงโทษถึงสิ้นชีวิตร

         ความในมาตรา 15 เป็นหลักฐานแสดงว่า ยุกระบัตรทัพมีหน้าที่จัดต้อนพลหรือจัดทัพ ซึ่งเป็น active military duty และความในมาตรา 16 ก็ยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีกว่า ยุกระบัตรทัพ มีองครักษ์ผู้ช่วยเป็นกำลังสำคัญในการอำนวยการทัพขณะทำสงคราม องครักษ์ได้รับอาชญาสิทธิ์ในการลงโทษผู้มีบรรดาศักดิ์ตั้งแต่ 800 ลงไป ถ้า “ฟั่นเฟือน” จากกระบวนทัพไม่ว่าประการใด แต่ถ้าบรรดาศักดิ์ตั้งแต่ 1000 ขึ้นไปจึงเป็นอำนาจของยุกระบัตรเกียกกาย (21) ได้พิจารณาโทษ โดยเฉพาะผุ้ถอยร่นลงมาหลังนายทัพนายกอง ต้องโทษประหารชีวิต

----------------------------------------------------------------------------------------

(16) เป็นผู้ได้พิจารณา
(17) อยู่นอกคณะกระลาการที่ถูกร้องเรียน
(18) ความตรงนี้อาจตกไป
(19) หมายถึง ลูกขุน ณ ศาลหลวง
(20) คงหมายถึง เป็นแนวขัดเป็นช่วงๆ
(21) คำว่า เกียกกาย มาจากคำมอญว่า จักกาย แปลว่า ปลัดหรือผู้ช่วย ในที่นี้ยุกระบัตรจึงเป็นปลัดทัพ

หมายเลขบันทึก: 155823เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2007 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท