การวิจัยเชิงจัดการความรู้ (Knowledge Managementative Research)


 

ในระหว่างการนั่งทำความเพียรในค่ำคืนของวันพระเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑
ความคิดนั้นก็ได้ฟุ้ง ๆ ออกไป ก็ได้ตามรู้ไป ตามรู้ไป จนมาจับต้นสายปลายทางอย่างเป็นชิ้นเป็นอันได้ในเรื่องของการปลูกข้าวตามยุค ตามสมัยต่าง ๆ ของประเทศไทย

โดยตั้งต้นคิดขึ้นที่การปลูกข้าวแบบไม่ไถของ ท่าน ดร.แสวง รวยสูงเนิน ที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมไปชมที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อกลางปีก่อน

จากนั้นจึงจับจุดคิดย้อนกลับลงไป กลับลงไปถึงในอดีตว่าญาติโยมพี่น้องชาวนาไทยเขาปลูกข้าวกันอย่างไร จนกระทั่งเจอหัวข้อสำคัญที่ปิ๊งแว๊บขึ้นมาในเรื่องของ “ภูมิปัญญา”

ตามติดชิดต่อกับความคิดที่ฟุ้งกลับไปกลับมาอย่างนี้หลายรอบ ก็ตระหนักเห็นคุณค่าแห่งภูมิปัญญาของคนไทยที่มีอยู่ในตัวคนแต่ละคนแต่ละท่าน

ไม่ว่าจะเป็นท่านนักวิชาการในปัจจุบันโดยเฉพาะนักวิชาการชีวิตในครั้งหนหลัง อันได้แก่บรรพบุรุษบุพการีชน บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว
ซึ่งท่านทั้งหลายเป็นต้นแบบแห่งนักวิชาการที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อมองในแง่ของการทดลอง และ “วิจัย (Research)”

ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ท่านทดลอง ท่านวิจัย “ทำ” กันด้วยชีวิต เพื่อชีวิต ทั้งชีวิต
ซึ่งไม่เพียงแต่ชีวิตเดียว แต่เป็นหลากรุ่นหลายยุค สืบทอด แก้ไข ปรับปรุง “พัฒนา” ให้เหมาะ ให้สม กับพื้นที่ ดิน ฟ้า อากาศ
รวมทั้งการโยกย้าย เคลื่อนหา พื้นที่ ภูมิลำเนา เป็นการวิจัยชีวิตเพื่อดำรงชีวิต การค้นหาทรัพยากรที่เหมาะสม “ภูมิปัญญาเหล่านี้มีคุณค่า ถ้ามีการบันทึกไว้โดยละเอียดอย่างเป็นระบบดั่งเช่นพระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนา”

จากความคิดที่ฟุ้ง ๆ อยู่นั่น ก็ได้เจอข้อต่อ จุดเชื่อมโยง จนเห็นปัญหารวมถึงเครื่องมือที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้เกิด “คลังแห่งองค์ความรู้” ของภูมิปัญญาที่ละเอียดและเป็นระบบ

โดยสิ่งสำคัญที่สุดของประเด็นที่พบนั้นคือ “เหมาะกับจริตคนไทย” ทั้งคนทำและคนใช้ สิ่งนั้นคือ "การจัดการความรู้แบบไทย ๆ (Thai Knowledge Management)" ที่พัฒนาและวิจัยขึ้นโดยคนไทย เพื่อคนไทย ซึ่งพัฒนาอยู่ภายใต้การนำของ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

การวิจัย (Research) และการจัดการความรู้ (Knowledge Management) เมื่อใช้ดูแล้ว มีบางส่วนที่คล้าย มีบางส่วนที่เหมือน แต่ถ้านำมาประสมรวมกันให้เป็น “การวิจัยเชิงจัดการความรู้ (Knowledge Managementative Research)" ก็จะสามารถดึงข้อดี จุดเด่น ส่วนแข็งของสิ่งที่ดีทั้งสอง คือ ทั้งการวิจัย และการจัดการความรู้ออกมาใช้เป็นเกิดพลังสูงสุด

การวิจัยแบบเดิมไม่ใช่จะไม่ดี แต่เมื่อทบทวนย้อนกลับไปมันเหมือนจะมีอะไรขัด ๆ อยู่นิด ๆ ติดอยู่หน่อย ๆ ซึ่งเกิดจาก Tacit Knowledge ที่เกิดขึ้นเฉพาะกับตนเอง พร้อมกับสังเกตจากเพื่อนร่วมทีมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อถอดชุดความรู้หรือจัดการความรู้จากเด็ก ๆ นักศึกษาที่เคยได้ทำวิจัยร่วมกัน

อาจจะเป็นไปได้ด้วยสาเหตุที่ว่าการวิจัยที่เคยเรียน และเคยทำนั้นเราเล่น “เอามาทั้งดุ้น”

เอาทฤษฎีจากต่างประเทศมาทั้งท่อนเลย
ซึ่งอาจจะมีการประยุกต์บ้าง ก็เป็นการประยุกต์จากค่ายยุโรป ผสมค่ายอเมริกา ต่อพ่วงด้วยญี่ปุ่นหน่อย แต่ความรู้ของพี่ไทยเราเอง ไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากนักวิชาการไทยด้วยกันสักเท่าไหร่

คนไทยว่าไปนี่แปลกประหลาดมาก
เอ๊ะ! ถ้าจะใช้คำว่าแปลกประหลาดคงจะดูพิกล ๆ น่าจะใช้คำว่าแตกต่างหรือมี “จริตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว" จะดีกว่า

ทฤษฎีวิจัยแบบดุ้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณ หรือว่าจะเชิงอะไรต่ออะไรก็ตามที่ต่างชาติผ่องถ่ายผ่านคนไทยเข้ามา หรือว่าจะเป็น Grounded Theory แม้แต่กระทั่ง การวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) ทำ ๆ ไปสักพักหนึ่ง ถ้าวัดและว่ากันซื่อ ๆ แบบไม่มี Bias เลย ก็ดูเหมือนว่าจะขัด “จริต” คนไทย หรือแม้กระทั่ง “จริตงบประมาณไทย” นักวิจัยในโครงการเองก็ยัง “งง ๆ”

แต่เมื่อครั้นคิดต่อยอดกันไป ใช้เหตุและผลหักล้างกันมา ก็มาฉุกคิดถึงตอนเทอมสุดท้าย ตอนที่ใช้ลูกมึนนำการจัดการความรู้ไปผสม ผสาน ปนเป กับการวิจัยแบบมีส่วนร่วมหรือ PAR รวมถึงนำไปใช้เป็นการวิจัยในชั้น

การทำงานแบบนี้ที่เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายนั้น มีความแปลกตรงที่ว่าเป็นความประทับใจอันทรงพลังที่เมื่อคิดย้อนกลับไปทีไร ก็มีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำ
แตกต่างกับการวิจัยครั้งก่อน ๆ
ถึงแม้ว่างบประมาณจะแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว มีการประชุม อบรม นำเสนอความก้าวหน้า ทดลองอะไรกันมากมายตามที่ต่าง ๆ มากมายหลายจังหวัดในประเทศไทย
แต่สุดท้ายอย่างไรก็ “ปลงใจ” กับเจ้าวิจัยแบบที่นำการจัดการความรู้เข้าไปผสมสานกับ PAR

PAR กับ KM ว่าไปก็มีส่วนคล้ายคลึงกันมากนะ หรือแม้กระทั่งเรื่องการวิจัยกับการจัดการความรู้ ถ้านักวิชาการไม่แยกออกให้งงเล่น มันก็น่าจะคืออันเดียวกัน เป็นญาติโกโหติกาหรือลูกพ่อแม่เดียวกันก็ว่าได้


ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ รูปแบบ โดยจุด “จุดประสงค์” ผลลัพธ์ ธง สุดท้ายก็คืออันเดียวกัน ก็คือ “การทำมาให้ได้ซึ่งความรู้ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์กับทุก ๆ คน" โดยให้ทุกคนเป็นผู้ทำ เป็นทีม ไม่แบ่งแยกเขาแบ่งแยกเรา ทำงานร่วมกัน ทำปุ๊บใช้ปั๊บ หมุนเวียน แลกเปลี่ยนเป็นพลวัตเพื่อสร้างสรรค์สังคมนี้ให้ดีงาม

แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดกว่าการวิจัยก็คือ “ถูกจริตคนไทย” สบาย ๆ คล่องตัว ทำแล้ว “ได้ใจ”
ได้ใจทั้งทีมงาน ทีมวิจัยชุมชน ๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุก ๆ คน และที่สุดก็คือ “ได้ใจตนเอง” ด้วย

ความคิดยังฟุ้งต่อไม่หยุด ก็ลองคิดให้ลึกลงไปอีกว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ก็ได้คำตอบที่ได้ใจอีกนั่นก็คือ KM หรือการจัดการความรู้ ณ วันนี้ เป็นของไทย ทำโดยจริตคนไทย และเพื่อจริตคนไทย

โดย KM ที่ สคส. ซึ่งเป็นหน่วยงานหรือ “องค์กรต้น” ที่สร้างกระบวนการมากว่า ๕ ปี มีการปรับรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลงพัฒนาเป็นพลวัตรอันน่าอัศจรรย์

โดยเฉพาะในเรื่องของทีมงานผู้ร่วมสร้างและพัฒนา KM แบบไทย ๆ ตลอดมานั้น เกิด เติบโต และเจริญวัยจากคนไทยทั้งประเทศ
ซึ่งจะเห็นได้ชัดและเป็นรูปธรรมที่สุดได้แค่ Blogger ใน G2K แห่งนี้
เป็น “การพัฒนาโดยจริตแบบถูกจริต” ที่มีให้เลือกให้สรรมากและมาย แถมท้ายยังเป็นการพัฒนาแบบ Real Time ที่เกิดขึ้นภายในจิตและข้างในกายทุก ๆ ท่านที่ใช้ได้และสัมผัสอีกต่างหาก

การวิจัยเชิงการจัดการความรู้ (Knowledge Managementative Research) ซึ่งมีตัวย่อว่า KMR น่าจะได้รับการตั้งเป็น ทฤษฎีการจัดการความรู้แบบไทย ให้นักศึกษาและนักวิชาการไทยได้ใช้ (อย่างยอมรับ) ทั้งในมหาวิทยาลัยและในสถาบันหรือแหล่งทุนต่าง ๆ บ้างก็ดี

อาจจะเริ่มใช้เปลี่ยนแปลงในบทที่ 3 ที่ว่าด้วยเรื่องของวิธีดำเนินการวิจัย ก็ว่ากันไปซื่อ ๆ เลยว่า ครั้งนี้ฉันจะใช้การวิจัยแบบ KMR นะ แทนที่จะเขียนว่า ใช้ PAR, PRA, การวิจัยเชิงคุณภาพ ฯลฯ
เครื่องมือก็ว่าไปว่าใช้ Model ก้างปลาของ ดร.ประพนธ์ เนี่ยแหละ ว่ากันแบบนี้เลย นักวิชาการ ครูบาอาจารย์ ที่เป็น Advisor น่าจะยอมรับ

กิจกรรมกลุ่มก็ไม่ต้องเขียนให้งงว่าใช้ Focus Group Discussion หรือว่าจะเป็นชื่ออะไรแปลก ๆ แค่ชื่ออย่างเดียวก็ต้องเรียนกันหลายวัน
Concept Model รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้หลักก็นำมาจากสิ่งที่ สคส. ร่วมกับพันธมิตรทั้งประเทศร่วมกันพัฒนาขึ้นมาใช้กันเลย
เสียงของคนทั้งประเทศ จะสู้เสียงของนักวิชาการที่จบมาจากต่างประเทศได้ไหม (ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองนะครับ) อันนี้คงต้องลองดูและติดตามกัน

รับรอง KM ให้เป็น KM Theory

ใช้ KM เป็นทฤษฎีการวิจัยแบบไทย โดยคนไทยเพื่อคนไทย 

หรืออาจจะใช้แทน Grounded Theory เลยก็ได้

ข้าวย่อมถูกปากคนไทยมากกว่าขนมปัง 

KM ของไทยนั่นย่อมดีสำหรับคนไทยมากกว่าทฤษฎีนำเข้า ฉันนั้น

คิดไปคิดมาก็ไปถึงการเขียน Abstract หรือบทคัดย่อนั่นเลย
ก็จั่วหัวกันเลยว่า “การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงจัดการความรู้ (Knowledge Managementative Research) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย รูปแบบการเก็บรวบรวมข้อมูล...................................................

ถ้าเป็นแบบนี้ได้จริง ภูมิปัญญาไทยที่บรรพบุรุษของเราทั้งรุ่นก่อนและรุ่นปัจจุบันที่ได้ทดลองใช้ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ทดลองด้วยชีวิต เพื่อชีวิต จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อหลานไทย “เหมาะสมกับลูกไทย" ก็จะระเบิดออกมาอย่างมากมายอเนกและอนันต์ ตามยุคที่ฝรั่งชอบเรียกกันว่ายุคนี้เป็นยุคของ Knowledge Explosion หรือความรู้ที่กำลังระเบิดออกมาอย่างมากมาย

เมืองไทยความรู้น่าจะระเบิดด้วยจริตคนไทย
และถ้าระเบิดด้วย Thai Knowledge Management จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

เพราะไม่ว่าจะเป็นหัวปลา พุงปลา หางปลา ก้างปลา เกล็ดปลา หรือแม้กระทั่ง “ขี้ปลา” คนไทยเอราเองก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสิ่งต่าง ๆ ได้แบบง่าย ๆ และสบาย ๆ

ประโยชน์อันเกิดจาก “ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ความรู้ในสมอง และความช่ำลองในจิตตน”

เราเองในฐานะคนไทยสามารถใช้ประโยชน์อย่างมีความรับผิดชอบอันอยู่ภายในกรอบศีลธรรมและจริยธรรมได้อย่างสูงสุด
ซึ่งดีกว่าทฤษฎีทางการบริหารของบิดา มารดา ทางการจัดการเขาว่าไว้

เพราะของเขาว่าไว้ว่า “นำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ก็เขาเล่นเอาของที่หมดไปมาใช้กันนี่ ก็ว่าจำกัดกันสิเน๊อะ
แต่ของเราต้องนิยามไม้ว่า “นำทรัพยากรที่เหลือกิน เหลือใช้ ไปประยุกต์ใช้ให้ประโยชน์สูงสุดและก่อโทษน้อยที่สุด”

ที่ว่าเหลือกิน เหลือใช้ ก็เพราะยังไม่ค่อยมีใครใส่ใจนำมาใช้ หรือนำมาใช้ คนไทยด้วยกันเองก็ยังตะขิดตะขวงใจในการยอมรับ

นำของเหลือกิน เหลือใช้ นั่นก็คือภูมิปัญญาไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การจัดการความรู้หรือ KM ก็เป็นภูมิปัญญาไทย
นำ KM ที่สร้าง สั่งสม ความรู้และปัญญาอันเหลือกินและเหลือใช้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกัน...

หมายเลขบันทึก: 155819เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2007 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท