สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๔๔. ชายคาภาษาไทย (๒๓)_๒


         ตอนที่ 1

         อำนาจหน้าที่ของยุกระบัตรทั้ง 12 ประการข้างต้น แสดงให้เห็นว่า แม้ยุกระบัตรจะเป็นข้าราชการระดับกลาง แต่เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในระบบการปกครองของไทย ในระบบบริหารราชการแผ่นดินสมัยโบราณ เจ้ากรมและเจ้าเมืองมีลักษณะเป็นอิสระแก่กันค่อนข้างมาก ราชสำนักต้องใช้มาตรการหรือกลไกการควบคุมพฤติกรรมของทั้งเจ้ากรมและเจ้าเมือง ในการปกครองราชการส่วนกลาง

         การควบคุมและสอดส่องพฤติกรรมของเจ้ากรมต่างๆ มาในรูปของการตั้ง “จางวาง” กำกับราชการขึ้นอีกชั้นหนึ่งเหนือเจ้ากรมขึ้นไปกับการแต่งตั้ง “ราชปลัดทูลฉลอง” ซึ่งกราบบังคมทูลกิจราชการของกรมสำคัญต่อพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง ในการปกครองหัวเมือง ยุกระบัตรทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาของราชสำนัก เพราะคัดสรรจากกลุ่มผู้ที่กรมวังพิจารณาว่า มีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ประการหนึ่ง มีความรู้เรื่องบทพระไอยการอย่างดีประการหนึ่ง และมีความรู้เรื่องการบริหารราชการอย่างดีประการหนึ่ง อำนาจหน้าที่ของยุกระบัตรจึงเขื่อมโยงระบบราชการแบบรวมศูนย์ของอยุธยาเข้าด้วยกัน พระราชบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ยุกระบัตร มหาศักราช 1382 เป็นการกำหนด “พระราชประฏิบัติ” ของยุกระบัตรความ (8)  แต่รายละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบและปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับยุกระบัตรยังมีปรากฏอยู่ในบทพระไอยการต่างๆ ของประมวลกฎหมายตราสามดวง เช่น
 1. ในพระไอยการลักษณะทาส กล่าวว่า ไพร่หนีนายและทาษหนีเจ้าทาษไปนาน   
      [ก] เจ้าไพร่เจ้าทาษพบในบ้านในเรือนถิ่นถานบ้านแห่งใดๆ ให้อายัด (9)  แก่เจ้าบ้านเจ้าเรือนนั้น ถ้าเจ้าบ้านเจ้าเรือนเขาหมี  รับอายัดให้ประจำอยู่ ให้ไปบอกแก่สิบร้อยอายัดเอามายังกระลาการ ให้ โฉนดฎิกา (10)  ถึงมุนนายส่งมาว่าตามกระทรวงถบวงการ ถ้าพบในตลาดควรให้อายัดไว้แก่เจ้าตลาด แลยื่นบัตร (11) ให้กระทรวงการ ให้โฉนดฎีกาเรียกหามาโดยความแผ่นดิน ถ้าพบในกลางถนนหนทางแลหาที่จะอายัดมิได้  ให้เอาคนนั้นไปยังกระลาการแลให้นายยุกระบัตรกฎปากหลากคำ (12) ไว้ แลคนนั้นยังรับว่าเปนทาษเปนไพร่ใคร ๆ ก็ดีให้ตามมาว่าต่อกัน ส่วนตัวมันให้ใส่สังขลิกบันชร (13) ให้มั่นคง แลพ้นสามวันแล้ว เร่งให้โฉนดฎีกาถึงมุนนายให้ออกมาว่าต่อกัน ถ้าพ้นเจดวันมุนนายมิออกมาว่าต่อกัน ให้กระลาการอายัดคนนั้นไว้แก่เจ้าเก่านั้นก่อน เมื่อจะตามมาว่าจึ่งเรียกออกมาว่า โดยพระราชกฤษฎีกาท่านแล
      [ข] ถ้าคนนั้นหนีมาหาเจ้าหานายเองให้เอาไปยังกระลาการให้นายยุกระบัตรกฎเอาคำไว้ แลคนนั้นรับว่าเปนทาษเปนไพร่จริง ท่านให้เอานักการไปบอกที่คนอยู่นั้นแลให้ตามมาว่าต่อกัน ส่วนตัวมันให้กระลาการเกาะไว้ ถ้าพ้นเจดวันแลมิออกมาว่าประการใด ให้กระลาการอายัดคนนั้นไว้แก่เจ้านั้นก่อน เมื่อจะตามมาว่าเมื่อใดจึ่งเอาออกมาว่าโดยความแผ่นดินท่านแล
 2. พระไอยการลักษณะลักภาลูกเมียข้าคนท่าน ได้กล่าวถึงหน้าที่ของยุกระบัตรด้านกฎหมายและการบริหารราชการในเวลาเดียวกัน
         20 มาตราหนึ่งข้าคนลูกหลานผู้ใดก็ดี ไพร่ฟ้าข้าหลวงก็ดี หนีไปถึงนอกจังหวัดแว่นแคว้นราชเสมาท่านตกไปถึงต่างด่านแดนบ้านอื่น แล มีผู้ไถ่เอามารอด มาถึงจังหวัดด่านแดนเมืองท่านคืนเล่า อยู่มาเจ้ามาพบ ให้ยุกกระบัตรความ (14) ตีค่าให้ไถ่จงเตมค่า ถ้าแลไพร่ฟ้าข้าคนหลวงไซ้ ให้มุนนายอนาพะยาบาล พิดทูลขอเงินพิไนไถ่เอาสืบราชการไปเมื่อหน้า ถ้าข้าคนหลวงผู้ร้ายฬ่อลวงลักส่งไป ให้กระลาการพิจารณาเอาผู้ร้ายจงได้ ให้ริบราชบาดแล้วฆ่าเสีย ส่วนตัวคนหลวงนั้น ให้ไถ่เอาคืน [ลักภา]
 3. ยุกระบัตรมีหน้าที่ดูแลความถูกต้องด้านดคีความโดยตรง เช่น พระราชกำหนดเก่า ฉบับที่ 37 ได้กล่าวว่า ถ้าราษฎรร้องฟ้องกันด้วยคดีแพ่งอาชญาอุธรณ์หรือนครบาล ห้ามไม่ให้ภูดาษและทำมะรงซึ่งเป็นข้าราชการผู้น้อยไต่ถามเนื้อความโดยปราศจากพยานรู้เห็น
      3.1 ถ้าหากเป็นคดีแพ่ง จะต้องมีปลัด ยุกระบัตร และสพมาตรานั่งถามเนื้อความด้วย
      3.2 ถ้าหากเป็นคดีอาชญาอุธรณ์ ยุกระบัตรต้องร่วมกับจ่าเมืองและสพมาตรานั่งถามความด้วยทุกคู่โจทก์จำเลย โดยให้ถามตามสัจตามจริง ให้ยุกระบัตรทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง
 4. ปัญหาที่เกิดจากคดีความที่มาจากการทำสำนวนคงเป็นเรื่องที่ร้องเรียนกันไม่น้อย เพราะมีพระราชกำหนดเก่า ฉบับที่ 54 กล่าวว่า ถ้าราษฎรเป็นความกัน แล้วรู้สึกว่า เสมียนผู้คุมเป็นคนถามความและไม่ทำตามธรรมเนียม ก็ให้บอกแก่ผู้พิจารณาผู้กำกับการถามความนั้นว่า ให้แก้ข้อเนื้อความให้ถูกต้อง ถ้าหากว่าผู้พิจารณาผู้กำกับการถามความนั้นไม่อาจแก้ปัญหาให้ได้ ก็ให้บอกต่อไปยังลูกขุน ณ ศาลหลวงเพื่อพิจารณาตัดสินตามเนื้อความ ห้ามร้องเรียนอุธรณ์ว่า เสมียนบกพร่องเพียงฝ่ายเดียว ต้องร้องอุธรณ์การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิจารณาเนื้อความสำนวนไม่ว่าจะเป็นผู้รักษาเมือง กรมการ หรือ ยุกระบัตร ก็ตาม ถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ ดังความระบุไว้ว่า
         “ถ้าเปนเนื้อความหัวเมือง ถ้ากรมการทำผิด ให้ฟ้องแก่ปลัดยุกระบัตรๆ ทำผิดให้ฟ้องแก่ผู้รักษาเมืองผู้รั้ง ถ้าแลมิได้กล่าวโทษผู้รักษาเมืองปลัดยุกระบัตรด้วย ถ้ามีตราออกไปให้ส่งคู่ความมานั้นอย่าให้ส่งเข้ามา” [อักขรวิธีต้นฉบับ]
5. ในพระราชกำหนดเก่า ฉบับเดียวกัน ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของยุกระบัตรไว้ด้วยว่า ถ้าโจทก์และจำเลยฝ่ายใดติดใจว่า กระลาการพิภากษามิต้องถ้อยคำแลคำกล่าวหากับคำให้การในสำนวรขาดไป ให้ยุกกระบัตรทำหนังสือขึ้นไว้และเสนอให้พิภากษาใหม่ให้ถูกต้องด้วยสำนวร ไม่ให้ฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลยติดใจ
6. ยุกระบัตรมีหน้าที่ร่วมกับผู้รักษาเมืองผู้รั้งแลปลัดกรมการทั้งหลายพิจารณาตัดสินคดีความอาชญาอุธรณ์ ที่พระหลวงเมืองขุนหมื่นราษฎรซึ่งอยู่ณะแขวงจังหวัดหัวเมืองทั้งปวงร้องฟ้องแก่กันให้สำเร็จเสร็จสิ้นลง ณ เมืองนั้น “จะได้เอาพิไนยจ่ายราชการค่าหญ้าช้างสพมาตราตามธรรมเนียม”
7. พระราชกำหนดเก่า ฉบับที่ 46 ได้ระบุว่า ยุกระบัตรสอดส่องดูกระลาการผู้พิจารณาความ ถ้าเห็นว่า ผู้ใดมิได้กระทำตามกฎก็ให้บอกหนังสือมายังลูกขุน ณ ศาลา เพื่อให้นำเรื่องขึ้นกราบบังคมทูล ถ้ายุกระบัตรมิได้แจ้ง ให้ยุกระบัตรได้รับโทษด้วย
8. พระราชกำหนดเก่า ฉบับที่ 45 มีกำหนดว่า ในกรณีที่ “พระหลวงเมืองขุนหมื่นแลราษฎรทังปวงหาความแก่กัน แลความนั้นเปนโทษหลวงไซ้ อย่าให้เจ้าเมืองผู้รั้งกรมการเอาความนั้นว่า ให้ส่งเข้าไปยังกรุงเทพพระมหานครจะได้พิจารณา” ซึ่งหมายความว่า ยุกระบัตรต้องคอยดูแลรูปคดีความว่า คดีใดเป็นคดีหลวง หรือ คดีละเมิดพระราชอำนาจและพระราชอาชญาต้องพระไอยการอาชญาหลวง จะต้องส่งคดีความไปยังเมืองหลวง
9. ยุกระบัตรมิได้มีหน้าที่เพียงตรวจดูแลสำนวนและรับร้องทุกข์ของราษฎรเท่านั้น หากยังมีหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมเกือบทุกขั้นตอน  พระไอยการลักษณะรับฟ้องได้พูดถึงหน้าที่ของยุกระบัตรในการนำสืบพยานประการหนึ่งว่า
         5. มาตราหนึ่ง ผู้มีอรรถคะดีนำกระลาการไปเผชิญพญาณโดยอ้าง พญาณออกมาถึงสำนักที่ควรแล้ว มันผู้อ้างก็ดีมันผู้มิได้อ้างก็ดีหมีได้ออกอาวุธปาก แนะนำข้อเนื้อความสอนพญาณ พวกพ้องมันผู้มีคะดีซึ่งไปด้วยทังสองฝ่าย บอกข้อความว่ากล่าวแก่พญาณประการใด เมื่อพญาณยังมิได้สาบานตัวก็ดีได้สาบานตัวแล้วให้การอยู่ก็ดี ท่านว่ามันแกล้งจะให้พญาณหลงลืม ให้ยุกกระบัตรความไสฅอมันผู้ว่าแลขับพวกพ้องเสียให้พ้น อย่าให้อยู่ใกล้พญาณ ๆ จะได้ลำฦกหาว่ากล่าวแต่ที่อันจริง [อักขรวิธีต้นฉบับ]
10. นอกจากในเรื่องการเผชิญพยานแล้ว ยุกระบัตรยังมีหน้าที่เป็นผู้ดูแลความถูกต้องของการค้นหาความจริงโดยการต่อพิสูจน์ (15) ตามพระไอยการลักษณะพิสูจดำน้ำลุยเพลิง ดังความว่า
         อนึ่งถ้าจะพิสูทตามเทียน ให้ยุกระบัดแลนายความทังสองแลนายสมูนให้นั่งด้วยกันดูผิดแลชอบ ให้นั่งอยู่อย่าให้ต่อเถียงกัน แลผู้ใดปากร้ายด่าก่อนผู้นั้นพิรุท เพราะสำนวนมันพร่อง มันจึ่งแกล้งใส่กลท่านๆ ให้กดเอาคดีมันเปนแพ้ ถ้าเปดไก่ดิบให้จดหมายไว้ ให้ฟันเทียนจงเท่ากันด้ายใส้นับเส้นให้เท่ากัน ให้ทำไม้ตั้งเทียน เมื่อตามเทียนนั้นถ้าแมลงวันแลสิ่งใด ๆ จับเทียนข้างหนึ่งเทียนดับก็ดีดับเองก็ดีให้เอาผู้นั้นเปนแพ้ให้ไหมทวีคูน
11. หน้าที่ของยุกระบัตรความ หาได้จำกัดเพียงเรื่องของการสอดส่องดูแลพฤติกรรมการปกครองของเจ้าเมืองหรือผู้รั้งเมือง และการดูแลกระบวนการยุติธรรมในหัวเมืองเท่านั้น หากยังมีหน้าที่ในฐานะกรมการเมืองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยของชุมชน ดังเช่น พระราชกำหนดเก่า ฉบับที่ 49 กล่าวว่า ถ้าเกิดเหตุจุลาจลเพราะ “คนมีชื่อคุมพวกเกิดวิวาทตีด่าฆ่าฟันกันเปนอันมาก”
         ถ้าหัวเมืองให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งปะหลัดยุกระบัตรกรมการ …. บอกหนังสือส่งตัวเข้ามายังลูกขุนศาลา ….ให้สืบเอาพวกเพื่อนจงสิ้น มาลงโทษโดนอาชาหลวง ถ้าผู้ใดมิได้เปนใจแก่ราชการแผ่นดินไม่จับกุม จะเอาตัวเปนโทษตามโทษานุโทษ
12. ตามพระธรรมนูญว่าด้วยตระทรวงศาล ยุกระบัตรมีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินคดีความเกี่ยวกับชาวต่างประเทศ ถ้าคดีความนั้นเกิดขึ้นในหัวเมือง การกำหนดให้เป็นภาระหน้าที่ของยุกระบัตรเพราะถือว่า รู้บทพระไอยการดีกว่าผู้อื่น
         เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของยุกระบัตรเกี่ยวข้องกับเจ้าเมืองหรือผู้รั้งเมือง ดังนั้น พระราชกำหนดเก่า ฉบับที่ 23 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1727/พ.ศ. 2270 ว่าด้วยการการปกครองหัวเมือง จึงได้ระบุอำนาจหน้าที่ของยุกระบัตรที่เจ้าเมืองต้องทราบคือ
[1] อนึ่งจะภิภากษากิจราชการบ้านเมือง แลทุกขทุระราษฎรร้องฟ้องนั้นประการใด ๆ ให้ยุกรบัตรรู้เหนผิดแลชอบด้วย
[2] อนึ่งชาวต่างเมืองอย่าให้ผู้ใดเอาชี้นอกขุนยุกรบัตร
[3] อนึ่งให้เจ้าเมืองปลัดเมืองปลัดยุกรบัตรพิจารณาดูตราซึ่งออกมาเอากะทงความทังปวงนั้น ถ้าชอบด้วยพระราชกำหนดแลพระทำนูนให้ใช้ตรานั้นจึ่งให้ทำตาม ถ้าแลตราผู้ใดออกไปเอากะทงความมิต้องด้วยพระราขกำหนฎแลพระทำนูนไซ้ อย่าให้ส่งให้บอกหนังสือแลส่งตัวผู้ถือตรานั้นเข้าไปยังลูกขุนศาลา
[4] อนึ่งให้เจ้าเมืองแลปลัดยุกรบัตรกรมการให้รู้สารบาญชียช้างใหญ่น้อยศอกนิ้วไว้แล้วให้บอกเข้าไปณลูกขุนณศาลา
[5] ถ้าแลเจ้าเมืองปลัดยุกระบัตรกรมการทำล้ำเหลือรุกราชพระสาศหนา ทำข่มเหงตีด่าฆ่าฟันสมณพราหมณาจารย์อนาประชาราษฎรทังปวง เอาทรัพย์สิ่งของทองเงีนแลช้างม้าโคกระบือเกวียร กันโชกราษฎรให้ได้ความแค้นเคีองด้วยประการใดก็ดี ถ้าเจ้าเมืองแลกรมการต้องพิพาษให้ปหลัดยกระบัตรบอกเข้าไป  ถ้าปหลัดยกระบัตรต้องพิพาท ให้เจ้าเมืองบอกเข้าไปยังลูกขุนศาลาให้กราบบังคมทูลบอกเข้าไป

         สิ่งที่เจ้าเมืองต้องรับทราบเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ยุกระบัตร ผู้เป็นตัวแทนของสำนักพระราชวังสอดคล้องกับพระธรรมนูญและพระราชกำหนดเก่าต่างๆ ในพระราชกำหนดเก่าที่ยกมานี้ยังระบุว่า
         [7] อนึ่งครั้นเทศการพระราชพิทธีตรุดสาด ให้ยุกรบัตรเข้ามารับพระราชทานน้ำประพัทสัจจาณกรุง ฯ แลให้กำหนดรู้กิจราชการแลกิจศุกข์ทุกข์ราษฎรทังปวง แลคนแอบแฝงซุ่มซ่อนจรสัดพลัดนั้นให้จงแจ้งจงทุกประการ จะให้กรมวังถาม ถ้าแลให้การไปมิได้จะให้ทีโทษจงหนัก

         ในข้อความที่ยกมานี้ ยุกระบัตรต้องมาดื่มน้ำพระพิพัทสัจจาที่พระนครศรีอยุธยา และเป็นโอกาสที่ต้องรายงานกิจการของหัวเมืองที่ตนถูกกรมวังส่งไปประจำ เพราะฉะนั้น ย่อมเห็นได้ว่า ในระบบการตรวจสอบหลายชั้นหลายตอนและซึ่งกันและกัน กรมวังก็มีบทบาทสำคัญที่มองข้ามไปมิได้ เพราะได้บังคับบัญชาข้าราชการพิเศษที่รายงานตรงต่อพระมหากษัตริย์ และฐานะของยุกระบัตรก็คือการเป็น “สายสืบ” ที่เปิดเผย แต่การเป็นสายสืบที่เปิดเผยนั้นมิใช่ว่า จะได้ผลเสมอไป

(มีต่อตอนที่ 3)

----------------------------------------------------------------------------------------

(8) ศัพท์ทางการที่ใช้เรียก ยุกระบัตรที่ส่งไปประจำเมืองต่างๆ นั้นคือ ยุกระบัตรความ ซึ่งปรากฎในพระราชกฤษฎีกามาตรา 20 ของบทพระไอยการลักษณะลักภาลูกเมียข้าคนท่าน ตามที่ยกมาแสดงข้างล่างนี้
(9) ใช้สิทธิและอำนาจให้ยึดให้เกาะกุมตัวไว้
(10)โฉนดฎีกา มักใช้กับ “โฉนฎฎีกาตราสาร” ไล่ลำดับน้ำหนักทางกฎหมายของเอกสารราชการจากน้ำหนักน้อยไปมากตามลำดับชั้นของเจ้าพนักงานผู้ออก
(11) ปตฺร ภาษาสันสกฤต แปลว่า จดหมาย เอกสารลายลักษณ์ (a letter, a written document)
(12) กฎ ภาษาเขมรโบราณแปลว่า จด; ปากหลากคำ ปัจจุบันกร่อนเหลือเพียง ปากคำ แปลว่า ถ้อยความที่มาจากการรายงานด้วยปาก ไม่ใช่เสนอเป็นหลักฐานเอกสาร
(13) โซ่ตรวน เครื่องจองจำ

(14) การใช้คำนี้เรียกยุกระบัตรเมือง หมายความว่า หน้าที่ของยุกระบัตรเป็นหน้าที่พนักงานกฎหมายของรัฐ

(15) การต่อพิสูจ (เขียนแบบปัจจุบันว่า ต่อพิสูจน์) เป็นการใช้วิธีการพิสูจน์ความจริงของคำให้การของคู่คดีโจทก์จำเลยโดยวิธีการทางไสยศาสตร์ 7 ประการ ใช้เมื่อไม่มีหลักฐานเอกสารหรือพยานบุคคลที่ให้ความจริงอย่างชัดแจ้ง

หมายเลขบันทึก: 155818เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2007 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท