การรักษาแผนโบราณของพม่า


พม่าเรียกสมุนไพรว่า "เซวาปี่ง"
การรักษาแผนโบราณของพม่า
พม่าเรียกสมุนไพรว่า "เซวาปี่ง" (gCt;jtx'N) หรือ "บะยะเซปี่ง" (xigCtx'N) หรือ  "ไตยีงเซปี่ง" (96b'Nti'NtgCtx'N) หากเป็นประเภทว่าน จะเรียกว่า "กะโมง" (8,6oNt) และเรียกยาพื้นบ้านโดยรวม ว่า "ไตยีนเซ" (96b'Nti'NtgCt)
โดยทั่วไปชาวพม่ายังคงนิยมการรักษาแบบแผนโบราณควบคู่ไปกับการรักษาด้วยแผนปัจจุบัน หากเป็นความเจ็บป่วยเล็กน้อยอาทิ ปวดหัว ปวดท้อง และเจ็บคอ เป็นต้น ชาวบ้านมักอาศัยการรักษาพื้นบ้าน ต่อเมื่อเป็นโรคร้าย จึงจะหันไปพึ่งวิธีการรักษาสมัยใหม่ แต่ถ้าไม่อาจเยียวยาด้วยวิธีสมัยใหม่ได้แล้ว ก็จะหวนกลับมาพึ่งการรักษาพื้นบ้านดังเดิม สมุนไพรจึงเป็นทั้งทางเลือกแรกและทางเลือกสุดท้ายของชาวพม่าโดยเฉพาะในชนบท อาจกล่าวได้ว่าชาวพม่ามักมีความรู้ด้านสมุนไพรกันพอควร และยังสามารถพึ่งสมุนไพรได้ง่าย ดังมีคำกล่าวว่า เมื่อต้องการยา ก็ไปป่า (gCt]6b g9kd6bl:kt)  และแม้สมุนไพรจะหาได้ง่ายในพม่า แต่การปรุงยาสมุนไพรถือเป็นความชำนาญเฉพาะด้าน ดังคำกล่าวที่ว่า ไม่รู้ฤดูกาล อย่าจัดยา (iklu,O6b'N gCt,d6b'NOa'NH) จากคำกล่าวทั้งสองจึงพอบอกได้ว่าชาวพม่ารู้จักการพึ่งพาตัวเองในด้านสุขภาพ และยังตระหนักถึงคุณและโทษของสมุนไพรเป็นอย่างดี
ความรู้เรื่องยาพื้นบ้านของพม่าเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่น่าศึกษา ชาวพม่าเรียกการรักษาพื้นบ้าน ว่า ไตยีงเซปิ่งญา (96b'Nti'NtgCtxPk) แปลตามศัพท์ได้ว่า "ความรู้ยาพื้นบ้าน" ในถ้อยคำนี้ประกอบด้วยศัพท์ ๓ คำ คือ ไตยีง แปลว่า "พื้นถิ่น" เซ แปลว่า "ยา" และ ปิงญา เป็นคำบาลี ตรงกับคำว่า "ปัญญา" สารานุกรมพม่ากล่าวไว้ว่า การรักษาพื้นบ้านของพม่าได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย โดยเข้าสู่แผ่นดินพม่า ๒ เส้นทาง คือ ทางด้านเหนือและทางด้านใต้ ด้านเหนืออ้างว่าสืบผ่านมาแต่ยุคเมืองตะกอง (9gdk'Nt) ที่เชื่อว่าเป็นราชธานีแห่งแรกของชนเผ่าพม่า ส่วนทางด้านใต้นั้น เชื่อกันว่าพม่าคงได้รับอิทธิพลด้านการรักษาพื้นบ้านจากอินเดียผ่านมอญแห่งเมืองสะเทิม(l5"6)อย่างช้าก็ในสมัยพระเจ้าอโนรธาแห่งอาณาจักรพุกาม
แม้ว่าพม่าจะกล่าวว่าระบบการรักษาพื้นบ้านอันได้แก่ตำรายาและวิธีการรักษาของพม่านั้นรับมาจากอินเดียตั้งแต่สมัยพุทธกาลก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าความรู้เกี่ยวการรักษาพื้นบ้านของพม่านั้นเชื่อว่ามีอยู่แล้ว คือ ยากลางบ้าน หรือที่เรียกว่า เซ-มยีโด่ (gCtw,ut96b) ซึ่งเป็นยาที่ไม่ต้องอาศัยการปรุงที่ซับซ้อนอย่างยาแผนโบราณที่จะต้องพึ่งหมอยา
ในการกล่าวถึงพัฒนาการของยาพื้นบ้านของพม่านั้น นิยมจำแนกยุคสมัยได้ ๔ ยุค คือ ยุคโบราณ ยุคราชวงศ์ ยุคอาณานิคม และยุคเอกราช
ในยุคโบราณ พม่ารับความรู้การรักษาพื้นบ้านจากอินเดียตอนกลาง หรือ มัชฌิมะเทสะ (,=b±,gml) ความเป็นมาของยาพื้นบ้านฝ่ายพม่าจึงมักอ้างตามตำนานยาพื้นบ้านของอินเดีย โดยมีการกล่าวถึงเหตุกำเนิดโรค ชนิดของโรค และการรักษา และกล่าวว่าในกาลอุบัติของโลก คือจากสมัยพระเจ้ามหาสัมมตะจนถึงสมัยของพระเจ้าสุชาตะนั้น มนุษย์มีแต่ความสุขสบาย มีจิตอกุศลเบาบาง ฤดูกาลเป็นปกติ และอาหารบริบูรณ์  โรคที่คุกคามชีวิตมีเพียง ๓ ประเภท คือ ความอดอยาก ความโลภ และความชรา จนถึงสมัยพระเจ้าอุกกากะราช ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าสุชาตะ เหล่าปุณณาหรือปุโรหิตได้แนะให้พระองค์ฆ่าสัตว์เซ่นสังเวย โดยอ้างว่าเป็นทางสู่ทิพยสวรรค และยังมีการฆ่าสัตว์เพื่อกินเนื้อ อันเป็นผลให้บังเกิดโรคภัยถึง ๙๖ หรือ ๙๘ โรค เหตุนี้หมอยาและตำรายาจึงมีขึ้นเพื่อเยียวยารักษาบรรดาโรคเหล่านั้น
ในยุคราชวงศ์ของพม่า ได้แก่ สมัยตะกอง ศรีเกษตร พุกาม สะกาย ปีงยะ อังวะ จนถึงสมัยคอนบองนั้น การรักษาพื้นบ้านของพม่าได้เจริญมาโดยลำดับ พงศาวดารพม่าได้กล่าวถึงการตั้งราชทินนามให้กับหมอหลวงเช่นเดียวกับเหล่าขุนนาง โหราจารย์ และคหบดี และในสมัยศรีเกษตรมีการเดินทางไปศึกษาความรู้ด้านยา  มนตรา และโหราศาสตร์ ณ เมืองตักกศิลา พอถึงสมัยพุกาม พระเจ้าอโนรธาทรงให้การสนับสนุนหมอยาและโหราจารย์ที่มีความชำนาญ และนำหมอรักษาช้างม้ามาจากเมืองสะเทิมของชาวมอญ ในยุคหลังๆตำราสรรพวิชาทางโลกีโลกุตตระเพิ่มพูนมาโดยลำดับ ความรู้เกี่ยวกับการรักษาพื้นบ้านจึงไม่เพียงจำกัดอยู่แค่ตัวยา แต่ยังรวมถึงนักขัต  โชคชะตา ตลอดจนคุณไสย เวทมนตร์ คาถา อาคม เป็นอาทิ ในอดีตนั้นพม่าจึงได้รับความรู้ทางการรักษาพื้นบ้านทั้งจากอินเดียและจากมอญ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่าพม่าได้รับความรู้ด้านการนวดแผนโบราณจากไทยด้วยเช่นกัน
พอถึงยุคอาณานิคม อังกฤษได้นำการแพทย์แผนใหม่มาสู่พม่า เรียกเป็นภาษาพม่าว่า ขิจ์ติจ์เซปิญญา(g-9Nl0N gCtxPk) และเรียกยาสมัยใหม่ว่า ยาอังกฤษ หรือ อี่งกะเละเซ (v8§]bxNgCt) การแพทย์สมัยใหม่เข้ามาในศริสตศตวรรษที่ ๑๙ และส่งผลกระทบต่อยาพื้นบ้านพอควร ถึงขนาดมีการดูถูกการรักษาแบบพื้นบ้าน อย่างไรก็ตามผู้ที่ยังเชื่อมั่นในการรักษายาพื้นบ้านก็ยังมีอยู่มาก บางแห่งเกิดมีสำนักรักษารักษาโรคด้วยแผนโบราณ สำนักการแพทย์แผนโบราณของพม่าที่มีชื่อเสียง คือ สำนักต่องต่า (g9k'Nlk86bINt)  ในปี ค.ศ. ๑๙๒๘ รัฐบาลอาณานิคมได้ตั้งกรรมการศึกษาบทบาทของยาพื้นบ้านในพม่า ซึ่งพบว่าแม้การรักษาแผนใหม่จะเป็นที่นิยมทั่วไปในยุคนั้นแล้วก็ตาม แต่ชาวพม่าส่วนใหญ่ยังคงนิยมการรักษาแบบพื้นบ้านอย่างแพร่หลาย
ในสมัยที่พม่าได้รับเอกราช การรักษาพื้นบ้านเริ่มได้รับความสนใจโดยภาครัฐอีกครั้งหนึ่ง เริ่มในปี ๑๙๕๒ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูการรักษาพื้นบ้าน และรัฐบาลอูนุได้ออกกฎหมายว่าด้วยหมอพื้นบ้าน (Indigenous medicine Practitioners Act) เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๓  ผลจากกฎหมายนี้ได้มีการแต่งตั้งสภาหมอพื้นบ้าน ขึ้นทะเบียนหมอยา และเปิดสถานบำบัดการรักษาพื้นบ้านขึ้น ที่เมืองย่างกุ้งและมัณฑะเล ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๖๒ รัฐบาลเนวินส่งเสริมให้ปลูกพืชสมุนไพรทดแทนการนำเข้า และได้กำหนดให้หมอพื้นบ้านที่มีอายุต่ำกว่า ๕๐ ปี ต้องผ่านการทดสอบความรู้เพื่อขึ้นทะเบียนใหม่อีกครั้ง  โดยกำหนดสอบความรู้หมอพื้นบ้าน ๓ แขนงวิชา คือ ระบบเทศนะ พุทธเวท หรือ อภิธัมมะต่องต่า (v4bT,Ág9k'NlkoPNt) ระบบเภสัชเวท(g4l=ªoPNt) และระบบนักขัตเวท (od¢g;moPNt) มีผู้สอบผ่านวิชาดังกล่าวจำนวน ๗,๔๖๒ คน และมีหมอยาอาวุโสขึ้นทะเบียนไว้จำนวน ๓,๘๘๗ คน ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๗๐ มีการตั้งโรงเรียนการรักษาพื้นบ้านที่มัณฑะเล และมีการส่งข้าราชการไปดูงานอายุรเวทที่อินเดีย ในปี ค.ศ. ๑๙๗๒ มีการตั้งแผนกรักษาพื้นบ้าน และสร้างโอสถศาลาขึ้นในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเล ในปี ค.ศ. ๑๙๘๙ ตั้งกองการรักษาพื้นบ้านมีหน้าที่ทั้งการวิจัย การผลิตยา และฝึกอบรม และมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปดูงานที่จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๙๓ รัฐบาลสล็อร์กเปิดโรงพยาบาลการรักษาพื้นบ้านที่เมืองพะสิม สร้างสวนสมุนไพรที่ย่างกุ้ง ขยายจำนวนโอสถศาลาเพิ่มขึ้น และได้จัดสอบความรู้หมอพื้นบ้าน ๔ แขนง โดยเพิ่มการสอบระบบวิชชาธระ (;b=ªkTioPNt) มีผู้สอบผ่าน ๙๓๕ คน ปัจจุบัน ประเทศพม่ามีจำนวนสถานรักษาแผนโบราณราว ๒๐๐ แห่ง
ในด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการรักษาพื้นบ้านนั้น จะจำแนกเป็น ๔ แขนง คือ พุทธเวท เภสัชเวท นักขัตเวท และไสยเวท รัฐบาลพม่าให้การสนับสนุนทั้ง ๔ แขนง โดยจัดให้มีการสอบความรู้การแพทย์แผนโบราณ องค์ความรู้ดังกล่าวเป็นดังนี้
๑.      พุทธเวท พม่าเรียกว่า แนวเทศนา หรือ แนวอภิธัมมะต่องต่า (v4bT,Ág9k'NlkoPNt) เป็นการรักษาด้วยแนวคิดทางพุทธศาสนาและวิถีธรรมชาติ เช่น การใช้อาหารบำบัดโรค การหลีกเลี่ยงอาหารแสลง และการป้องกันโรค เป็นต้น
๒.     เภสัชเวท พม่าเรียกว่า เแนวเภสัชชะ (g4l=ªoPNt)  เป็นการรักษาด้วยเภสัชธาตุต่างๆ ได้แก่ สมุนไพร (rigCt) แร่ธาตุ (Tk96gCt) และซากสัตว์ (U6xNEd:'NtgCt) อาจเรียกแนวการรักษานี้ว่า "อายุรเวท"
๓.     นักขัตเวท พม่าเรียกว่า แนวนักขัตตะเพทะ (od¢9µgrmoPNt) เป็นการรักษาด้วยการตรวจสอบดวงชะตาอันเกี่ยวเนื่องกับวันเกิดและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย และรักษาด้วยอาหารหรือสะเดาะเคราะห์โดยอาศัยการคำนวนตามแนวโหราศาสตร์
๔.     ไสยเวท พม่าเรียกว่า แนววิชชาธระ (;b=ªkTioPNt) เป็นการรักษาด้วยไสยศาสตร์ โดยอาศัยอำนาจเหนือธรรมชาติที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ การรักษาด้วยวิธีนี้ยังเป็นที่นิยมของชาวพม่า และกำหนดเป็นส่วนหนึ่งขององค์ความรู้การรักษาพื้นบ้านของพม่า
การที่การรักษาพื้นบ้านยังคงมีอยู่ในสังคมพม่านั้น มีปัจจัยเกื้อหนุนหลายด้าน กล่าวคือ การรักษาพื้นบ้านเป็นการรักษาสุขภาพทั้งองค์รวม ไม่แยกส่วนอย่างการรักษาแบบสมัยใหม่ ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งผู้ป่วยเองก็สามารถเข้าใจอาการของตน ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และพร้อมจะบำบัดรักษาหลังจากที่ได้มีการพูดคุยกับหมอแล้ว  ในด้านเทคนิคการรักษาด้วยวิธีพื้นบ้านนั้นจะไม่ยุ่งยาก มักไม่ใช้วิธีการผ่าตัด  หากแต่จะใช้อาหารหรือยาสมุนไพรที่หาได้จากธรรมชาติมาเยียวยา  ในส่วนหมอพื้นบ้านเองนั้นมักเป็นบุคคลที่ชาวบ้านคุ้นเคย เพราะหมอพื้นบ้านจะเป็นผู้ที่อยู่ประจำท้องถิ่น จึงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่บ้าน และหมอยาพื้นบ้านที่ดี  นอกจากจะชำนาญในการรักษาแล้ว ยังมักจะต้องประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรม ถือสัจจะ หากไม่แน่ใจว่ารักษาได้ ก็จะแนะนำให้ไปรักษากับผู้อื่น ทำให้คนไข้ทั่วไปให้ความไว้วางใจ นอกจากนี้ หมอพื้นบ้านยังมักจะรักษาโดยไม่กำหนดเวลาหยุดพัก จึงสะดวกต่อคนไข้ที่จะมาติดต่อรักษาโดยสะดวก และที่สำคัญ ค่ารักษาด้วยวิธีนี้ใช่ค่าใช้จ่ายไม่มากอย่างการรักษาแผนใหม่ บางรายคิดตามศรัทธา  บางคนอาจไม่เรียกร้องค่ารักษาใดๆ  ต่อเมื่อผู้ป่วยหายดีแล้ว  จึงอาจจ่ายค่ารักษากันในภายหลัง
การที่ชาวพม่ายังคงต้องพึ่งการรักษาแบบพื้นบ้านกันมากอยู่นั้น ยังมีปัจจัยด้านความไม่พร้อมของการบริการด้านสาธารณสุขของพม่าประกอบอยู่ด้วยมาก โดยเฉพาะจำนวนสถานพยาบาลและร้านจำหน่ายยาสมัยใหม่ยังค่อนข้างจำกัด อีกทั้งค่ายาและค่ารักษายังถือว่าแพงสำหรับชาวพม่าที่มีรายได้ไม่มากนัก และหากเป็นพื้นที่ชนบทด้วยแล้ว การรักษาพื้นบ้านด้วยสมุนไพรและยากลางบ้านยังถือเป็นที่พึ่งที่สำคัญ
อรนุช นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15561เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 04:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บ้าเอ้ยไม่ได้เรื่องเลย

ได้ความรู้ดีมากค่ะ อย่าไปสนใจพวกคนพาล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท