สีสันและเสรีในวันสงกรานต์พม่า


เดือนเมษายนเป็นช่วงหน้าร้อน กวีพม่าชื่อ อูบุญญะ(Ftx6P) บันทึกไว้ว่า ในยามเที่ยงตรงของเดือนตะคู (9oN-^t) ซึ่งเริ่มราวกลางเดือนเมษายน จะเห็นเงาตนเองออกห่างตัวเพียงแค่ ๓ ฝ่าเท้า
สีสันและเสรีในวันสงกรานต์พม่า

 

เดือนเมษายนเป็นช่วงหน้าร้อน กวีพม่าชื่อ อูบุญญะ(Ftx6P) บันทึกไว้ว่า ในยามเที่ยงตรงของเดือนตะคู (9oN-^t) ซึ่งเริ่มราวกลางเดือนเมษายน จะเห็นเงาตนเองออกห่างตัวเพียงแค่ ๓ ฝ่าเท้า แต่จะเห็นได้ยาวสุดในเดือนอื่นถึง ๖ ฝ่าเท้า ฉะนั้นเดือนตะคูจึงเป็นเดือนที่ตะวันยามเที่ยงอยู่ตรงศีรษะมากที่สุด ในช่วงนี้น้ำในแม่น้ำลำคลองจะเริ่มแห้ง จริงตามคำกล่าวของพม่าที่ว่า ตะคูน้ำลง กะโส่งน้ำแล้ง (กะโส่ง (dC6oN) เริ่มราวกลางเดือนพฤษภาคม) ในปี ๒๕๔๐ พม่ากำหนดเทศกาลสงกรานต์ หรือที่พม่าเรียกว่า ตะจัง-บแว (lWdoNx:c) ในช่วงวันที่ ๑๔ - ๑๖ เมษายน ในช่วงเทศกาลนี้ พื้นดินพื้นถนนที่ร้อนระอุจะดับคลายเป็นชุ่มเย็นด้วยน้ำสงกรานต์ จึงช่วยสร้างความสดชื่นให้กับชีวิตในยามร้อนแล้ง

 

พม่าเริ่มศักราชใหม่ในเดือนตะคู และฉลองด้วยประเพณีสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเพณีสิบสองเดือนที่มีสีสันกว่าเทศกาลอื่นๆ สงกรานต์ถือเป็นเทศกาลฉลองวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่(Oa0Nl0Nd^tx:c)ของชาวพม่า สำหรับปี ๒๕๔๐ จะก้าวสู่ปี ๑๓๕๙ ตามศักราชพม่า ซึ่งตรงกับจุลศักราชไทย ชาวพุทธพม่าถือว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นเวลาเหมาะสำหรับ การสร้างบุญกุศล จึงนิยมเข้าวัดทำบุญ รักษาศีล ฟังธรรม ตลอดจนประกอบกิจอื่นทางศาสนา นอกจากนี้ในช่วงเดือนเมษายน ชาวพม่าจะนิยมจัดงานบวชเณรให้กับบุตรชายและจัดงานเจาะหูและบวชชีให้กับบุตรสาว ดังจะพบเห็นขบวนแห่บวชตามท้องถนนและบนลานเจดีย์ในช่วงเดือนดังกล่าว ฉะนั้นหลังสงกรานต์แต่ละวัดจึงเต็มไปด้วยเณรและชีมากเป็นพิเศษ นอกจากสงกรานต์จะเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างกุศลของชาวพุทธพม่าทั้งประเทศแล้ว สงกรานต์ยังเป็นเทศกาลสำหรับเด็ก หนุ่มสาว และคนรักสนุก จะได้มีโอกาสแสดงออกอย่างอิสระ โดยเฉพาะในการเล่นน้ำ ร้องเพลง เต้นรำ ตลอดจนการแต่งตัวตามรสนิยมปนเประหว่างค่านิยมเก่ากับใหม่

 

พม่าเขียนคำว่า สงกรานต์ เป็น สง์กรน์ (lEdoN) เป็นคำยืมจากภาษาสันสกฤตว่า สงฺกรานติ (lEdkOb) เขียนเป็นคำบาลีว่า สงฺกนฺตะ (ldO) พม่าอ่านคำนี้เพี้ยนเป็น ตะจัง ศัพท์นี้หมายถึงช่วงเวลาเคลื่อนจากปีเก่าสู่ปีใหม่ และหากเป็นเทศกาลสงกรานต์พม่าจะเรียกว่า ตะจังบะแว (lEdoNx:c) บะแว ซึ่งฟังคล้าย ปอย แปลว่า งานเทศกาล

 

พม่ายังมีคำเรียกงานสงกรานต์อยู่หลายคำ เช่น ตะจังบะแวด่อ (lEdoNx:cg9kN) หรือ ตะจังเหย่ตะเบงบะแวด่อ(lEdoNgil4'Nx:cg9kN) คำว่า เหย่ตะเบง (gil4'N) แปลว่า "พิธีน้ำ" ส่วน บะแวด่อ (x:cg9kN) แปลว่า "เทศกาล" หรืออาจเรียกสั้นๆว่า เหย่บะแวด่อ (gix:cg9kN) ในความหมาย "เทศกาลน้ำ" คำว่า เหย่ (gi) แปลว่า "น้ำ" และเนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ตรงกับราศีเมษ ตำราโหราศาสตร์พม่าจึงเรียกวันสงกรานต์ว่า มิสสะตะจัง(,blEdoN) คำว่า มิสสะ(,b) เป็นคำภาษาบาลี ตรงกับคำว่า เมษ ที่ไทยใช้ นอกจากนี้ยังผสมคำ ตะจัง กับคำ อะต่า (v9k) เรียกรวมเป็น อะต่าตะจังบะแว (v9klEdoNx:c) คำว่า อะต่านั้น บ้างเห็นว่าคงเพี้ยนมาจากคำบาลีว่า อดีต (v9u9) บ้างว่า อะต่า อาจมาจากคำบาลีว่า อันต (vO) หมายถึง "ที่สิ้นสุด" และบ้างเห็นว่า ตา (9k) น่าจะเป็นคำพม่า จากคำว่า ตาวง (9k;oN) หมายถึง "หน้าที่" พม่ากำหนดเรียกวันสุดท้ายของสงกรานต์ว่า อะต่าแต๊ะ (v9k9dN) และเรียกช่วงที่พระอาทิตย์กำลังย้ายเข้าสู่ศักราชใหม่ว่า อะตากู (v9kd^t) และเรียกวันปีใหม่ว่า นิจ์ซางตะแยะเนะ (Oa0NCoNt90NidNgoh) พม่ามีปฏิทินสงกรานต์เช่นกัน เรียกว่า ตะจังส่า (lEdoN0k) เป็นปฏิทินตามศักราชพม่า พร้อมกับคำทำนายสำหรับแต่ละเดือนของศักราชใหม่ ตลอดจนโชคเคราะห์ของผู้เกิดตามวันในสัปดาห์

 

ตามตำนานของฝ่ายพม่า กล่าวว่าเหตุกำเนิดของสงกรานต์เป็นด้วยกรณีท้าวมหาพรหมโต้ปริศนาพ่ายแก่พระอินทร์ ท้าวมหาพรหมจึงถือสัจจะตัดเศียรตนเอง แต่ด้วยเกรงว่าเศียรของท้าวมหาพรหมจะตกต้องพื้นโลกจนเป็นกาลวิบัติ พระอินทร์จึงกำหนดให้นางฟ้า ๗ องค์ ผลัดเปลี่ยนหน้าที่อัญเชิญเศียรท้าวมหาพรหมไว้ทุกรอบปี พม่ายังเชื่ออีกว่าในช่วงสงกรานต์ ๓ วัน พระอินทร์จะลงมาเยือนโลกมนุษย์ กำหนดลงมาในวันแรกของสงกรานต์ เรียกว่า ตะจังจ๊ะเน๊ะ (lEdoNdygoh) และกลับวิมานในวันสิ้นสุดสงกรานต์ ที่เรียกว่า ตะจังแต๊ะเน๊ะ (lEdoN9dNgoh) เล่ากันว่าขณะที่พระอินทร์เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ พระองค์จะนำบัญชีทองและบัญชีหนังสุนัขมาด้วย เพื่อบันทึกความดีชั่วของผู้คน กล่าวว่าหากผู้ใดสร้างคุณความดีไว้ชื่อก็จะปรากฏในบัญชีทอง หากได้สร้างสิ่งอกุศลชื่อก็จะถูกบันทึกในบัญชีหนังหมา นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่าอาการเสด็จลงมาของพระอินทร์จะเป็นนิมิตบ่งบอกสภาพดินฟ้าอากาศและทำนายปรากฏการณ์ทางสังคม อาทิ หากพระอินทร์ถือจักรและหอกถือเป็นนิมิตไม่ดี อาจเกิดเภทภัยและการทะเลาะเบาะแว้ง หากถือกาน้ำ ไม้เท้า หรือคบไฟ ถือว่าเป็นนิมิตดี ผลผลิตจะอุดมสมบูรณ์ หากทรงนาค ฝนฟ้าจะชุก แต่หากทรงครุฑจะเกิดลมแปรปรวนและเรื่องยุ่งเหยิง อาทิ วันสงกรานต์ในปี ๒๕๔๐ นั้น พระอินทร์ทรงนาคหรืองูใหญ่ พระหัตถ์ขวาถือหอก และพระหัตถ์ซ้ายถือขอช้าง ทำนายว่าฝนจะดี แต่จะเกิดเรื่องวิวาทหรือโรคร้าย นับว่าพม่าให้ความสำคัญต่อพระอินทร์เป็นเทพสงกรานต์ ซึ่งเรียกว่า ตะจังมีง (lEdoN,'Nt) ต่างไปจากฝ่ายไทยที่ให้ความสำคัญกับนางสงกรานต์ประจำปี

 

ในช่วงสงกรานต์จะมีดอกไม้ประจำ ๗ ชนิด เรียกรวมว่าดอกสงกรานต์ หรือ ตะจังป้าง (lEdoNxoNt) ที่พบเห็นได้ง่ายคือ ดอกคูน ('6;j) และดอกประดู่ พม่าเรียกดอกประดู่คล้ายไทยว่า ปะเด้าก์ (xgmjdN) ดอกประดู่จะบานหลังฝนเปลี่ยนฤดูที่พม่านิยมเรียกว่า "ฝนสงกรานต์" หรือ ตะจังโม (lEdoN,6bt) ในช่วงสงกรานต์ชาวบ้านจะนำดอกประดู่มาบูชาพระและนำมาแซมผม และก่อนฝนสงกรานต์จะตกชะลงมา ชาวบ้านที่มีหัวการค้าจะคอยจ้องจองต้นประดู่เพื่อรอตัดดอกขาย ประดูจึงเป็นดอกไม้แห่งเทศกาลสงกรานต์ ช่วยเติมสีสันให้กับชีวิตในช่วงต้นฤดูร้อน ส่วนขนมประจำสงกรานต์ ที่พบบ่อย คือ ขนมต้ม พม่าเรียก "ลูกขนมลอยน้ำ" หรือ ม่งโลงเหย่บ่อ (,6oNh]6"tgigxK) ชาวพม่านิยมทำขนมต้มเพื่อแจกกันในหมู่ญาติมิตร ส่วนคนที่มีเชื้อสายมอญจะทำข้าวแช่ ที่เรียกว่า ตะจังถะมีง (lEdoN5,'Nt) แปลว่า "ข้าวสงกรานต์"

 

การเล่นน้ำสงกรานต์ในพม่ามีระดับความนุ่มนวลมากน้อยต่างกันตามวิสัย สุภาพที่สุดจะใช้ใบหว้าจุ่มน้ำจากขันเงินแล้วประพรมที่ไหล่ ใบหว้าถือเป็นไม้นามมงคล พม่าเรียกว่า อ่องตะปเหย่ (gvk'Nlgex) แฝงนัยว่า "สัมฤทธิ์" ชาวพม่านิยมบูชาพระด้วยใบหว้า แล้วอาจนำมาประดับบ้าน ร้านค้า และพาหนะ หรือพกติดตัวเป็นมงคล การรดน้ำอีกวิธีหนึ่งที่ยังดูสุภาพคือการรินรดน้ำที่ไหล่ ส่วนการเล่นน้ำที่เน้นความสนุกสนานมีทั้งสาดใส่กัน และฉีดด้วยสายยาง ที่ใช้ถุงปาใส่กันก็เคยมี ภายหลังทางการพม่าสั่งห้ามเด็ดขาด โดยประกาศทางวิทยุและโทรทัศน์ กำหนดโทษหนักถึงจำคุก กล่าวคือ หากถูกจับได้ว่ามีถุงน้ำในครอบครอง จำคุก ๑ ปี หากปาใส่ผู้อื่นจะถูกจำคุก ๓ ปี และหากเป็นผู้จำหน่ายมีโทษจำถึง ๕ ปี เคยพบว่ามีผู้ละเมิดถูกประจานทางหนังสือพิมพ์ บอกชัดจนถึงชื่อพ่อแม่ของผู้กระทำผิดให้รับรู้กันทั่วประเทศ (พม่าไม่ใช้นามสกุลจึงต้องระบุนามบิดามารดาหรือบ้านเกิด) การเล่นน้ำฝ่าฝืนประเพณีจึงนับว่ามีโทษรุนแรงมากกว่าขายหวยใต้ดินถึง ๑๐ เท่า (ขายหวยมีโทษจำคุก ๖ เดือน)

 

บรรยากาศสงกรานต์ในพม่า ดูจะสนุกสนานกันเต็มที่ โดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเล ตามถนนจะมีปะรำสำหรับการแสดงดนตรี ร้องรำ และเล่นสาดน้ำ ในย่างกุ้งแต่ละกระทรวงจะสร้างปะรำเพื่อให้ประชาชนเล่นน้ำและดูการแสดง โทรทัศน์จะแพร่ภาพ และเพลงสงกรานต์จะดังครึกครื้นตลอดวัน ปะรำบันเทิงมักจะมีอยู่ทุกเส้นทาง และทุกปะรำจะเดินสายยางฉีดน้ำพวยพุ่งราดรดผู้คนที่ผ่านไปมา ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นวิ่งรถไปเป็นหมู่คณะ พอถึงปะรำก็จะเต้นดิ้นกันหลากหลายลีลา ที่ฉีดน้ำก็เลือกรุมฉีดตามชอบ ที่ทนแรงน้ำไม่ไหวก็จะนำผ้าเช็ดตัวมาคอยคลุมหัวเพื่อกันไม่ให้น้ำเข้าหูเข้าตา ส่วนการแสดงบนเวทีจะมีนักร้องและดาราภาพยนตร์หมุนเวียนมาร้องเพลงไปตามปะรำ ส่วนใหญ่เป็นเพลงแนวสตริงที่มีจังหวะเร่าร้อน สลับด้วยการรำฟ้อนของหมู่สาวๆที่แต่งตัวสวมเสื้อนุ่งซิ่นมีสีสัน วัยรุ่นส่วนใหญ่จะละจากผ้าถุงและโสร่ง หันไปนุ่งกางเกง นุ่งยีนส์ สวมเสื้อเชิ้ต และใส่เรย์แบนแว่นดำ อย่างไรก็ตาม แม้พม่าจะนิยมเล่นน้ำสงกรานต์กันรุนแรง บางทีออกจะเล่นกันเกินขอบเขต แต่ก็เว้นที่จะไม่สาดน้ำพระสงฆ์ ชี โยคี และผู้ถืออุโบสถศีล

 

พอพ้นจากวันเล่นน้ำ ๓ วัน ก็จะเป็นวันขึ้นปีใหม่ ชาวพม่าจะไปถวายดอกไม้ บูชาประทีป สรงน้ำ และขอพรกับพุทธรูปและพุทธเจดีย์ ฟังสวดมงคลสูตรที่โรงธรรมกลางบ้าน และถวายอาหารแด่พระสงฆ์ มีการจัดงานคารวะครูอาจารย์ สระผมและตัดเล็บให้ผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งที่บ้านและที่พักคนชรา พร้อมกับมอบเครื่องนุ่งห่มใหม่ให้กับผู้ใหญ่ที่ตนเคารพ อีกทั้งทำทานไว้ชีวิตวัวควาย ปล่อยนก ปล่อยปลา เจดีย์และวัดสำคัญจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนนับแต่เช้าจรดค่ำ โดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้ง ผู้คนจะนิยมไปไหว้พระขอพรกัน ณ เจดีย์ชเวดากอง มหาวิชยเจดีย์ เจดีย์กะบาเอ้ เจดีย์สุเหร่ พระเช่าก์ทัตจี พระงาทัตจี พระโกทัตจี และวัดแมละมุ

 

สินค้าที่ขายดีในช่วงสงกรานต์มักจะเป็นผ้าเช็ดตัว สำหรับเช็ดตัวและใช้ป้องกันน้ำที่ฉีดมาแรง ส่วนเสื้อผ้าที่ขายดีจะเป็นเสื้อเชิ้ตมีลายและกางเกงขายาวจากนอก โดยเฉพาะจากไทย จีน และสิงคโปร์ สำหรับชุดสตรี เห็นว่านิยมผ้าที่ทอจากเมืองอมรปุระ โดยเฉพาะสีเหลืองจะขายดีกว่าสีอื่น ของที่ขายดีในช่วงนี้ยังได้แก่ อุปกรณ์เล่นน้ำที่ทำด้วยพลาสติก อาทิ กระบอกฉีดน้ำ ปืนฉีดน้ำ ขัน และแว่นตา อีกทั้งเทปเพลงสงกรานต์นับว่าขายดีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเพลงตูโปะ (9^tx6bh) และเพลงโหญ่มยะ (Pb7e,) ถือเป็นเพลงสงกรานต์ยอดนิยมของชาวพม่า ส่วนสินค้าบริโภคที่ขายดีจนแทบขาดตลาดคือ เครื่องดื่มประเภทเบียร์ น้ำอัดลม และน้ำหวาน ราคาเครื่องดื่มจะสูงขึ้นกว่าปกติราว ๕๐-๑๐๐ เปอร์เซนต์ อาทิ น้ำอัดลม หากซื้อที่ต้นซอยจะราคาราว ๒๕ จั๊ต แต่ถ้าหากซื้อที่ท้ายซอยจะตกราว ๓๐-๓๕ จั๊ต ขณะที่ราคาปกติจะตกขวดละ ๑๗ จั๊ต (ตามราคาเมื่อ ๔ ปีก่อน) นอกจากนี้ ข้าว น้ำมัน เกลือ และสบู่ จะขายดิบขายดี บ้างถึงกับต้องซื้อตุนไว้ก่อนถึงวันสงกรานต์ ๔ - ๕ วัน ด้วยเกรงว่าจะขาดตลาด

 

แม้งานบุญสงกรานต์จะยังคงเป็นประเพณีสำคัญต่อวิถีชีวิตชาวพุทธพม่าอยู่ก็ตาม แต่คุณค่าเดิมที่มุ่งเน้นบุญกุศล ความกตัญญู ตลอดจนการชำระสิ่งชั่วร้ายในช่วงเทศกาล ดูจะถูกท้าทายด้วยค่านิยมเน้นการบริโภคที่ดึงคนรุ่นใหม่ไปสู่การปลดปล่อยอารมณ์อย่างเสรี ความเชื่อที่ว่าพระอินทร์จะลงมาตรวจสอบพฤติกรรมมนุษย์ดูจะไม่มีอิทธิพลมากเท่ากฎระเบียบของรัฐ หนำซ้ำพระอินทร์มักถูกล้อเลียนว่าลงมาร่วมสนุกกับมนุษย์และเมามายเหาะซวนเซกลับสู่สวรรค์ หรือไม่ก็ลงมารับสินบนจากคนบาป จนบกพร่องในหน้าที่ อีกทั้งงานรื่นเริงในช่วงสงกรานต์ยังสะท้อนให้เห็นความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่แสวงหาทางเลือกของตนนอกกรอบจารีตประเพณี จึงปรุงแต่งให้สงกรานต์ในพม่าเป็นเทศกาลที่มีสีสันและเสรีมากกว่างานบุญสงกรานต์ในอดีต

 

วิรัช นิยมธรรม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15558เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท