ความสัมพันธ์ไทย-พม่า


พม่ามีพื้นที่ ๖๗๖,๕๗๗ ตาราง กม. หรือ ๑.๒ เท่าของประเทศไทย
ความสัมพันธ์ไทย-พม่า

 

๑. สถานภาพของพม่าในปัจจุบัน

 

พม่ามีพื้นที่ ๖๗๖,๕๗๗ ตาราง กม. หรือ ๑.๒ เท่าของประเทศไทย มีประชากร ๔๘.๓ ล้านคน ได้เอกราชจากอังกฤษเมื่อ ๔ มกราคม ๒๔๙๑ พม่าแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๗ รัฐ (STATE) กับอีก ๗ ภาค (REGION) พม่ามีป่าไม้และแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ซึ่งยังไม่ได้พัฒนาและนำมาใช้ประโยชน์มากนัก ตะกั่วซึ่งมีมากเป็นอันดับ ๖ ของโลกมีมากในรัฐฉาน น้ำมันมีมากทางตอนกลางของประเทศ พื้นที่ป่าไม้มีประมาณ ๕๕% ของประเทศ

 

เศรษฐกิจของพม่าในปัจจุบันอยู่ในสภาพไม่เข้มแข็ง ผลิตผลรวม ๓๕ พันล้านดอลลาร์ (ไทย ๔๕๔ พันล้านดอลลาร์) ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยคนละ ๘๙๐ ดอลลาร์ต่อปี (ไทย ๒,๗๙๐ ดอลลาร์) อัตราเพิ่มประชากร ๒.๑% อัตราผู้รู้หนังสือ ๘๒% ประชากรอยู่ในเมือง ๒๖% ภาคเกษตรมีสัดส่วน ๓๘.๓% ส่วนภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วน ๘.๙% เศรษฐกิจของพม่าอยู่ในมือรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ คือ ๕๒.๖% ประเทศคู่ค้าสำคัญด้านการส่งออก คือ สิงคโปร์ จีน ไทย ญี่ปุ่น และฮ่องกง ตลาดนำเข้าได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจสาขาหนึ่งที่รัฐบาลพม่าให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในด้านการ ลงทุนจากต่างประเทศ พม่าอนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้าไปลงทุนได้เกือบทุกชนิด และรัฐบาลให้ประกันว่ากิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจะไม่ถูกโอนกิจการเป็นของรัฐ

 

ในทางการเมือง กล่าวโดยสรุปได้ว่าพม่าในปัจจุบันอยู่ในยุคที่ ๓ คือ ยุคคณะกรรมการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย (STATE LAW AND ORDER RESTORATION COUNCIL) โดยยุคแรกระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๕๐๕ รวม ๑๔ ปี เป็นยุคของอูนุ ซึ่งรับช่วงอำนาจมาจากอูอองซาน ในยุคนั้น ในทางการเมืองระหว่างประเทศ พม่าวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้ากับทั้งฝ่ายโลกเสรีและฝ่ายคอมมิวนิสต์ ส่วนทางด้านภายใน อำนาจเป็นของกลุ่มทหารและพลเรือนที่ภักดีต่ออูนุ ในยุคที่สอง ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๓๑ เป็นยุคของพลเอกเนวิน ซึ่งทำรัฐประหารล้มรัฐบาลอูนุ เป็นการสิ้นสุดของประชาธิปไตยระบอบรัฐสภาที่ดำเนินมาหลังจากได้เอกราชรวม ๑๔ ปี เนวินให้คำมั่นว่าจะสถาปนาระบอบสังคมนิยมแบบพม่าขึ้น แต่ผลปรากฏว่าเศรษฐกิจของประเทศทรุดโทรมลงมาก ในยุคของเนวินนี้เองพม่าปฏิเสธคำเชิญชวนของอาเซียน สำหรับไทยนั้นมีความสัมพันธ์ทางการทูตปกติกับพม่าตลอดมานับตั้งแต่พม่าได้เอกราชเมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านมา

 

๒. ความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ

 

๒.๑ ด้านการเมือง เมื่อพม่ามีรัฐบาลทหารในปี ๒๕๓๑ แล้ว ความสัมพันธ์ไทย-พม่า ดำเนินไปด้วยดีและขยายการติดต่อออกไปทุกด้าน ไทยใช้นโยบายที่เรียกว่า "ความเกี่ยวพันเชิงสร้างสรรค์" (CONSTRUCTIVE ENGAGEMENT) และต่อมาประเทศกลุ่มอาเซียนก็ใช้นโยบายในลักษณะนี้ด้วย ความมุ่งหมายก็เพื่อสร้างสะพานเชื่อมระหว่างพม่ากับประเทศภายนอก ไม่ต้องการให้พม่าอยู่อย่างโดดเดี่ยว ต้องการให้พม่าได้รับรู้ด้วยตนเองว่าโลกภายนอกเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ขณะเดียวกันโลกภายนอกที่ต้องรับรู้ถึงสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ภายในพม่าด้วย

 

พม่าอยู่ในฐานะต้องพึ่งพาไทยทางการเมือง แต่ก็ยังคงหวาดระแวงไทยในปัญหาการสนับสนุนชนกลุ่มน้อยและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่า ความสัมพันธ์เริ่มมีปัญหาเมื่อผู้นำชนกลุ่มน้อยลักลอบเดินทางผ่านไทยไปประเทศตะวันตก และการที่ผู้ได้รับรางวัลสันติภาพเดินทางเข้ามาในไทยและไปพบปะกับชนกลุ่ม-น้อยบริเวณชายแดน รัฐบาลพม่าตอบโต้รัฐบาลไทยด้วยการประกาศเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ ยุติการให้สัมปทานเอกชนไทยทำไม้ชายแดนพม่า ระงับการแลกเปลี่ยนการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมทั้งเข้มงวดการจับกุมเรือและลงโทษลูกเรือประมงไทยอย่างรุนแรง

 

ความสัมพันธ์กระเตื้องขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ของไทยเดินทางไปเยือนพม่าอย่างต่อเนื่องจนสามารถจัดประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-พม่าครั้งที่ ๑ ขึ้น ที่กรุงย่างกุ้ง ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๘ กันยายน ๒๕๓๖ ในโอกาสนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้พบปะกับประธานสลอร์ก (SLORC) และรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า ทำให้พม่าผ่อนปรนเรื่องการประมงและการทำไม้ ต่อมามีการเยือนระดับรัฐมนตรีและนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีกหลายครั้ง กลางปี ๒๕๔๐ นายกรัฐมนตรีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็เดินทางไปเยือนพม่า

 

ทางการพม่าพอใจในการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่าได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อ ๒๒-๒๓ กรกฎาคม ๒๕๓๗ ที่กรุงเทพ ฯ และพอใจมากที่ไทยช่วยให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีฉันทามติในเรื่องนี้ และการที่ไทยยืนหยัดต่อการกดดันของประเทศตะวันตก การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญต่อพม่าในแง่ที่ว่าเป็นครั้งแรกที่พม่าประชุมเป็นทางการกับอาเซียน เป็นการวางรากฐานให้พม่าได้เข้าองค์การความร่วมมือในภูมิภาค

 

๒.๒ ด้านเศรษฐกิจ ไทยกับพม่ามีโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ดังนี้

 

๒.๒.๑ การพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ โครงการที่จัดทำแล้ว ๒ โครงการ คือ (๑) โครงการคลองกระบุรี อำเภอเมือง จังหวัดระนอง และ (๒) โครงการน้ำรวก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และได้กำหนดแผน ที่จะหารือกันต่อไปเพื่อจัดทำโครงการแม่น้ำสาละวิน โครงการแม่น้ำเมย และโครงการแม่น้ำกก

 

๒.๒.๒ การทำไม้ ประมง และเหมืองแร่ ขณะนี้บริษัทเอกชนไทยรวม ๔๐ บริษัทรับสัมปทานทำไม้ ๕๒ สัมปทานตั้งแต่ปลายปี ๒๕๓๑ เป็นต้นมา มีการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อนำไม้เข้าไทยไม่น้อยกว่า ๓ ล้านลบ.ม. ตั้งแต่สิ้นปี ๒๕๓๖ เป็นต้นมา พม่ายกเลิกสัมปทานไม้ทั้งหมด ส่วนด้านการประมง พม่าให้สัมปทานประมงแก่เอกชนไทยหลายราย แต่ต่อมาก็ระงับเสีย โดยอ้างว่าผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ในด้านเหมืองแร่ พม่าให้สัมปทานดูดแร่ดีบุกในพื้นที่ ๒๐๐,๐๐๐ ไร่ ที่เมืองมะริด

 

๒.๒.๓ การก่อสร้างสะพานมิตรภาพ เมื่อ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๓๗ ไทยและพม่าได้ลงนามในความตกลงที่จะก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าขึ้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับอำเภอ เมียวดี จังหวัดผาอัน ต่อมาได้วางศิลาฤกษ์เมื่อ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๗ และการก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ระหว่างการก่อสร้างมีปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะพม่าขอให้ระงับการก่อสร้างหลายครั้ง แม้เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ยังไม่สามารถเปิดใช้ได้ เพราะตกลงกันไม่ได้ในเรื่องอธิปไตยเหนือสะพาน แล้ว จะได้กำหนดวันเปิดต่อไป (ปัจจุบันได้ทำพิธิเปิดสะพานแล้ว เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๐) สะพานนี้จะช่วยให้การเดินทางและการค้าขายระหว่างสองประเทศสะดวกขึ้นมาก

 

สะพานซึ่งสร้างด้วยเงินไทยทั้งสิ้นแห่งนี้ นอกจากจะทำให้การคมนาคมระหว่างตากกับเมืองใหญ่ ๆ ในพม่าเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วแล้ว จะทำให้สามารถเดินทางจากพม่า ผ่านตาก ผ่านพิษณุโลก ตัดไปทางตะวันออก ผ่านมุกดาหาร เข้าลาวแล้วออกทะเลที่เวียดนามได้ ขณะเดียวกันก็มีเส้นทางจากสิงคโปร์ ผ่าน มาเลเซีย ผ่านไทย ผ่านลาว แล้วไปสิ้นสุดที่ยูนนานของจีน เส้นทางสองสายนี้จะตัดกันที่พิษณุโลก ทำให้ "พิษณุโลก" เป็น "สี่แยกอินโดจีน" โดยแท้จริง

 

๒.๒.๔ การซื้อขายก๊าซธรรมชาติ เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ ผู้แทนไทยและพม่าลงนามในข้อตกลงซื้อขายก๊าซธรรม-ชาติของพม่าจากแหล่งยาดานา ในอ่าวเมาะตะมะเป็นเวลา ๓๐ ปี (๒๕๔๑-๒๕๗๑) ในปริมาณวันละ ๕๒๕ ล้านลบ.ฟุต มูลค่าปีละ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท พม่าจะเริ่มส่งก๊าซให้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๑ ในการนี้พม่าจะวางท่อจากแหล่งก๊าซขึ้นฝั่งในเขตพม่าระยะทาง ๓๕๐ กม. แล้ววางท่อทางบกอีก ๖๓ กม. ถึงจุดส่งก๊าซให้ไทยที่บ้านอีต่อง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ส่วนไทยจะวางท่อจากจุดนั้นไปยังโรงไฟฟ้าที่จังหวัดราชบุรี เป็นระยะทาง ๒๖๐ กม. การวางท่อของฝ่ายไทยในความรับผิดชอบของปตท. ซึ่งใช้งบประมาณ ๑๖,๕๐๐ ล้านบาทจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในกำหนด (กรกฎาคม ๒๕๔๑) มิฉะนั้นจะถูกพม่าปรับเป็นเงินก้อนใหญ่ในอัตราก้าวหน้า คือล่าช้า ๒ เดือนปรับ ๑๒๕ ล้านบาท ล่าช้า ๕ เดือนปรับ ๑,๕๖๗ ล้านบาท นอกจากนั้นแล้ว ในปี ๒๕๔๓ ไทยจะรับซื้อก๊าซจากพม่าเพิ่มขึ้นอีกวันละ ๒๐๐ ล้าน ลบ.ฟุต จากแหล่งเยตากุนในอ่าวเมาะตะมะ ซึ่งปริมาณสำรองอยู่ ๑.๑ ล้านล้าน (ทริลเลี่ยน) ลบ.ฟุต ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับแหล่งยาดานา ห่างฝั่งน้อยกว่า คือ ๒๑๐ กม. จุดส่งก๊าซจากแห่งใหม่ใช้ที่เดิมคือบ้านอีต่อง การส่งก๊าซจากทั้งสองแหล่งที่บ้านอีต่องนี้เป็นสิ่งที่พม่ากำหนด เช่น การส่งตรงไปยังราชบุรี เป็นต้น การเจรจากับพม่าใช้เวลา ๒ ปี

 

การวางท่อก๊าซจากชายแดนติดพม่าไปยังโรงไฟฟ้านั้น ได้มีการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว และจะผ่านพื้นที่หลายลักษณะ คือ แนวถนนขนแร่เก่า เหมืองร้าง พื้นที่โล่ง และแนวสันเขา ส่วนที่ผ่านป่าสมบูรณ์มีระยะทาง ๖ กม. ประชาชนในจังหวัดกาญจนบุรีจำนวนหนึ่ง ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ได้เคลื่อนไหวคัดค้านและเรียกร้องให้เปลี่ยนเส้นทางโดยอ้างว่าจะเป็นการทำลายลุ่มน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ และทรัพยากรสัตว์ป่า เรื่องนี้ทาง ปตท. ยืนยันว่าจะไม่เป็นการสูญเสียมากดังที่กล่าวอ้าง หรือเป็นอันตรายแต่อย่างใด ทั้งจะได้ฟื้นฟูและชดเชยด้วย และเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๐ นี้ คณะกำนันและผู้ใหญ่บ้านในอำเภอพื้นที่ก็เดินทางมาเรียกร้องให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป

 

ในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต การนำก๊าซจากพม่ามาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้นปีละ ๑,๔๐๐ เมกะวัตต์ หรือกว่า ๗% การใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตกระแสไฟฟ้าสามารถทำได้โดยมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

ขณะนี้การวางท่อก๊าซเริ่มขึ้นแล้ว ก้าวหน้าไป ๑๒% คาดหมายว่าจะแล้วเสร็จทันตามกำหนด ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๑ ก็จะมีการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซจากพม่า

 

๒.๓ ด้านสังคมจิตวิทยา มีการร่วมมือกันดังนี้

 

๒.๓.๑ การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม รัฐบาลพม่าส่ง นาฏศิลป์ และเจ้าหน้าที่ด้านศิลปวัฒนธรรมมาแสดงในไทย ฝ่ายไทยเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างไทย-พม่า ซึ่งฝ่ายพม่ารับไว้พิจารณา

 

๒.๓.๒ การส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบจัดให้มีโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ และเมืองตองยีของพม่า

 

๒.๓.๓ การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทั้งสองฝ่าย ตกลงจะร่วมมือกันในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และแลกเปลี่ยนข่าวสารเกี่ยวกับยาเสพติดบริเวณชายแดน นอกจากนั้นไทยให้ทุนเจ้าหน้าที่ฝ่ายพม่ามาฝึกอบรม ศึกษา และดูงานในประเทศไทย

 

๒.๔ ด้านการทหาร นับตั้งแต่รัฐบาลทหารของพม่าชุดปัจจุบันเข้าบริหารประเทศเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระดับผู้ใหญ่ของกองทัพไทยและพม่าดำเนินไปด้วยดี มีการแลกเปลี่ยนการเยือนกันอย่างต่อเนื่อง การเจรจาแก้ปัญหาระหว่างกันคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะใน 2 เรื่องต่อไปนี้

 

๒.๔.๑ การปราบปรามการลักลอบค้าอาวุธ ฝ่ายไทยได้ช่วยสกัดกั้นการลักลอบค้าอาวุธที่จะเข้าไปให้กลุ่มต่อต้านในพม่า ส่วนหนึ่งของอาวุธออกมาจากกัมพูชา ผ่านไทยทางพรมแดนไทย-กัมพูชา

 

๒.๔.๒ ทหารพม่าจะเปิดดินแดน ฝ่ายพม่าเคยให้คำมั่นว่าจะไม่รุกล้ำเข้ามาในเขตไทย จะป้องกันไม่ให้กระสุนตกในไทย ขณะเดียวกันฝ่ายไทยก็จะไม่ยินยอมให้กองกำลังของกลุ่มต่อต้านใช้ดินแดนไทยเป็นฐานปฏิบัติการเพื่อสู้รบกับทางการพม่า อย่างไรก็ตาม ก็เคยมีที่ฝ่ายพม่ามิได้ปฏิบัติตามที่เคยตกลงไว้ ไทยเคยยิงโต้ตอบพม่า แต่ก็เคยปลดอาวุธกองกำลังกะเหรี่ยงที่ถืออาวุธหนีเข้ามาในไทย เมื่อปลดอาวุธแล้วก็ส่งตัวกลับออกไป มิได้ส่งตัวให้ทางการพม่า

 

๓. ปัญหาเส้นเขตแดน ไทยมีพรมแดนติดต่อกับพม่าทั้งทางบกและทางน้ำยาวถึง ๒,๔๐๑ กม. นับว่ายาวกว่าประเทศรอบบ้านอื่น ๆ (ลาว ๑,๘๑๐ กม., กัมพูชา ๗๘๙ กม. และมาเลเซีย ๖๔๖.๕ กม.) จังหวัดที่มีแนวพรมแดนติดต่อกับพม่ารวม ๑๐ จังหวัด เริ่มตั้งแต่เชียงรายจนถึงระนอง สนธิสัญญาเกี่ยวกับเส้นเขตแดนที่ใช้อยู่เป็นสนธิสัญญาที่ไทยทำกับอังกฤษรวม ๗ ฉบับ พม่าสืบสิทธิตามสนธิสัญญาเมื่อได้เอกราชในปี ๒๔๙๑ สาเหตุที่ทำให้เส้นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่ามีปัญหาก็เพราะ (๑) แนวพรมแดนที่เป็นแม่น้ำเปลี่ยนแปลงตามสภาพตามธรรมชาติ (๒) การกำหนดเส้นเขตแดน โดยใช้สันเขาหรือสันปันน้ำโดยไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ (๓) กำหนดแนวพรมแดนไว้คลุมเครือ (๔) ตีความสนธิสัญญาหรือใช้สนธิสัญญาแตกต่างกัน (๕) แผนที่ต่อท้ายสัญญาไม่ชัดเจนหรืออ่านแผนที่แตกต่างกัน และ (๖) มีการดัดแปลงแนวพรมแดนให้ผิดจากแนวธรรมชาติ เกี่ยวกับปัญหาเส้นเขตแดนนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 3 เรื่อง ดังต่อไปนี้

 

๓.๑ เส้นเขตแดนที่ตกลงกันได้แล้ว มีอยู่ ๑ จุด คือ แม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก ยาวทั้งสิ้น ๓๘ กม. อยู่ในอำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย เส้นเขตแดนตามสนธิสัญญา คือ ร่องน้ำลึก แต่ปรากฏกระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน บางตอนเข้ามาในเขตไทย และบางตอนเข้าไปในเขตพม่า แต่โดยรวมแล้วเข้าไปในพม่ามากกว่า (คือ ไทยได้ดินแดนเพิ่ม) ทำให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งระหว่างราษฎรในพื้นที่บ่อยครั้ง ทั้งสองฝ่ายเจรจาแก้ปัญหากันตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ และสามารถตกลงกันได้ โดยใช้หลักการเส้นเขตแดนคงที่ (FIXED BOUNDARY) และลงนามในบันทึกช่วยจำเมื่อ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๓๔ และมีผลเมื่อรัฐสภาให้สัตยาบันตามรัฐธรรมนูญเมื่อ ๑๒ มีนาคม ๒๕๓๕ หลักการที่ทำความตกลงกับพม่าในเรื่องเส้นเขตแดนคงที่ก็คือ กำหนดให้กึ่งกลางลำน้ำเป็นเส้นเขตแดนตามสนธิสัญญาเดิม แต่กำหนดแนวไว้แน่นอนด้วยหลักอ้างอิงที่ปักไว้บนสองฝั่ง ไม่ว่าลำน้ำจะเปลี่ยนไปอย่างใด เส้นเขตแดนก็จะยังอยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ

 

ดังนั้น ในการทำความตกลง จึงได้กำหนด ๔ เรื่องต่อไปนี้ไว้ด้วยคือ (๑) สิทธิในการเดินเรือ (๒) การใช้น้ำอย่างเป็นธรรม (๓) การบำรุงรักษา และการอนุรักษ์ทางเดินปัจจุบันของแม่น้ำ และ (๔) การบำรุงรักษาหลักอ้างอิงเขตแดน ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือ กระแสน้ำที่รุนแรงในฤดูน้ำหลากทำให้หลักอ้างอิงเขตแดนซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น ๔๙๒ หลักสูญหายไป ๓๑๐ หลัก เหลืออยู่เพียง ๑๘๒ ในปี ๒๕๓๗ และบัดนี้เหลืออยู่ไม่ถึง ๑๐๐ หลัก ไทยได้เรียกร้องให้แต่ละฝ่ายจัดทำหลักอ้างอิงเขตแดนขึ้นใหม่เป็นการทดแทนโดยให้อีกฝ่ายหนึ่งตรวจสอบความถูกต้อง แต่ฝ่ายพม่ายังไม่ตอบสนอง อย่างไรก็ตาม ก็กล่าวได้ว่าแนวเส้นเขตแดน ณ จุดนี้ สามารถทำความตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย ปัญหาที่มีอยู่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ

 

๓.๒ เส้นเขตแดนที่ยังเป็นปัญหา มีอยู่ ๖ จุด ดังนี้คือ

 

๓.๒.๑ ดอยลาง จ.เชียงใหม่ พื้นที่ขัดแย้ง ๓๐ ตร.กม. ปัญหา คือ เส้นแบ่งเขตแดนที่ถูกต้องอยู่แนวใด ไทยเห็นว่าเส้นเขตแดนควรเป็นไปตามสันดอยห้วยฮะ ซึ่งลึกเข้าไปในเขตพม่า

 

๓.๒.๒ ดอยถ้ำผาจม จ.เชียงราย หลักหมุดเขตแดนที่เคยปักไว้สูญหายไป ทำให้ต่างฝ่ายต่างถือแผนที่ต่างฉบับกันอ้างเขตแดนต่างแนวกัน เป็นพื้นที่เหลื่อมกันอยู่ ๑ ตร.กม. พม่าเคยเข้ามาสร้างวัดในพื้นที่ที่อ้างเมื่อปี ๒๕๓๖ ทำให้ต่างก็ส่งกำลังเข้าไปตรึงกัน แต่ในที่สุดตกลงถอนทหารออกไป

 

๓.๒.๓ เจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี หาจุดอ้างอิงที่กำหนดไว้ตามสนธิสัญญาเมื่อ ๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๖๘ ยังไม่ได้ พม่าเคยใช้กำลังเข้ามาในเขตที่ไทยถือว่าเป็นของไทย โดยอ้างว่าเป็นการกวาดล้างกะเหรี่ยง และมอญอิสระเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗

 

๓.๒.๔ แม่น้ำปากจั่น จ.ระนอง สนธิสัญญาที่ทำกันไว้ไม่ได้บอกพิกัดทางภูมิศาสตร์ ตำบล และชื่อเกาะซึ่งมีขนาดเล็กไว้ ต่างฝ่ายต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์ใน ๓ เกาะ คือ เกาะหลาม (๑๕๐ ไร่) เกาะคัน (๔ ไร่) และเกาะขี้นก (๑ ไร่)

 

๓.๒.๕ เนิน ๔๙๑ จ.ชุมพร เนินนี้อยู่บนสันปันน้ำ ต่างอ้างว่าอยู่ในเขตของตน พม่าเคยส่งกำลังเข้ามายึดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามกองกำลังของกะเหรี่ยง แต่หลังจากเจรจากันแล้ว พม่ายอมถอนทหารออกไป

 

๓.๒.๖ บริเวณแม่น้ำเมย อ.แม่สอด จ.ตาก แม่น้ำเมยยาว ๓๙๐ กม. อยู่ระหว่างอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยงของพม่า ตามสนธิสัญญาปี ค.ศ. ๑๘๖๘ ระหว่างไทยกับอังกฤษ กำหนดให้เส้นเขตแดนสิ้นสุดลงแค่ฝั่งของแต่ละฝ่ายเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงสิทธิเหนือลำน้ำ เมื่อครั้งไทยลงนามทำความ ตกลงเรื่องเส้นเขตแดนคงที่ที่แม่น้ำสาย-แม่น้ำรวกเมื่อปี ๒๕๓๔ ไทยเคยเสนอให้ทำความตกลงเสียใหม่ ใช้ร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน ฝ่ายพม่าขอให้ศึกษาและสำรวจตลอดลำน้ำเสียก่อน ปัญหาจึงค้างคาอยู่ นับแต่ปี ๒๕๒๐ เป็นต้นมา ทั้งไทยและพม่า สนใจกรณีตลิ่งพังมากขึ้น ทำให้เกิดกรณีขัดแย้งกันขึ้น ตัวอย่างความขัดแย้ง คือ
(๑) การสร้างหลักรอ เมื่อปี ๒๕๒๔ พม่าสร้างหลักรอขึ้นทางฝั่งพม่า ทำให้กระแสน้ำเซาะตลิ่งฝั่งไทย เสียเนื้อที่ไป ๑๘๗.๕ ไร่ ฝ่ายไทยจึงสร้างหลักรอในบริเวณนั้นบ้าง ในที่สุดทั้งสองฝ่ายยุติการสร้างหลักรอ ตามผลของการประชุมกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคเมื่อปี ๒๕๓๔
(๒) การถมหินบริเวณตอม่อสะพานมิตรภาพ เมื่อปี ๒๕๓๘ ฝ่ายไทยนำหินไปถมบริเวณตอม่อสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง และปลูกอาคารร้านค้าขึ้น พม่าเกรงว่าจะทำให้กระแสน้ำเปลี่ยน จนเกาะอยู่ติดกับแผ่นดินฝั่งไทย จึงเรียกร้องให้รื้อถอนหินและร้านค้า พร้อมกับขอให้ระงับการก่อสร้างสะพานด้วย
(๓) กระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน ทำให้แผ่นดินที่เคยอยู่ฝั่งหนึ่งเปลี่ยนไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๓ ครั้งหนึ่ง ในครั้งนั้นพม่าอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนที่เป็นของไทย ๕๐ ไร่ ไทยไม่ยินยอม เพราะครั้งนั้นกระแสน้ำเปลี่ยนกะทันหัน เป็นข้อยกเว้นตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เรื่องยังไม่เป็นที่ ตกลงกัน อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๗ แต่กรณีกลับกัน คือ แผ่นดินเนื้อที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ กลับมาอยู่ติดกับฝั่งไทย เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๐ นี้ ฝ่ายพม่านำรถเข้ามาเพื่อจะขุดร่องน้ำเพื่อให้น้ำซึ่งเปลี่ยนทางเดินไปแล้ว กลับมาไหลในร่องที่ขุดใหม่ ฝ่ายไทยไม่ยินยอม ถึงขั้นส่งกำลังทหารเข้าเผชิญหน้ากัน แต่ในที่สุดสามารถระงับปัญหากันได้ โดยจะมีการตรวจสอบทางเทคนิคกันต่อไป

 

๓.๓ กลไกการแก้ไขปัญหาเส้นเขตแดน ขณะนี้มีเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเส้นเขตแดนอยู่ ๓ กลุ่ม คือ
๓.๓.๑ นโยบายระดับชาติ มีคณะกรรมการเขตแดนของสภาความมั่นคงแห่งชาติ รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายเป็นการ ทั่วไป นโยบายที่กำหนดขึ้นนี้ ครม. ให้ความเห็นชอบด้วย และมีการปรับปรุงเป็นระยะ ๆ
๓.๓.๒ คณะกรรมการร่วมไทย - พม่า รัฐบาลของทั้งสองประเทศทำความตกลงจัดตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้น เพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน มี ๓ ระดับ คือ (๑) คณะกรรมการร่วมไทย-พม่า มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง ๒ ฝ่าย เป็นประธาน (๒) คณะกรรมการพิจารณาปัญหาเขตแดนไทย - พม่า มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน (๓) คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค มีแม่ทัพ กองทัพภาคที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ แล้วแต่กรณี และผู้บังคับบัญชาทหารในพม่าในพื้นที่ตรงข้ามเป็นประธาน
๓.๓.๓ คณะกรรมการอำนวยการปฏิบัตินโยบายชายแดนไทย - พม่า เป็นกรรมการของฝ่ายไทย รับผิดชอบในการปฏิบัติตามนโยบายที่กรรมการต่าง ๆ ที่กล่าวแล้วกำหนดขึ้น ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้อำนวยการ

 

๓.๔ นโยบายการแก้ไขปัญหาเส้นเขตแดน ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเส้นเขตแดนนั้น ทางราชการได้กำหนดนโยบายขึ้นไว้ เพื่อเป็นกรอบและทิศทางในการปฏิบัติให้ประสานสอดคล้องกับทุกส่วนราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน และใช้กับทุกประเทศที่มีปัญหาเส้นเขตแดนกับไทย แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ วัตถุประสงค์ส่วนหนึ่ง และนโยบายอีกส่วนหนึ่ง มีสาระสำคัญ ดังนี้
๓.๔.๑ วัตถุประสงค์ มี ๓ ประการ คือ (๑) เจรจากันโดยสันติวิธี (๒) ดำเนินการโดยมีเอกภาพและ (๓) ป้องกันรักษาเส้นเขตแดน และสิทธิประโยชน์ของราษฎร
๓.๔.๒ นโยบาย คือ วิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น กำหนดไว้ ๘ ประการ ดังนี้
(๑) มีการเจรจาโดยสันติวิธีในกรณีมีปัญหาขัดแย้ง หลีกเลี่ยงการใช้กำลัง (๒) ในขั้นแรก ใช้กลไกระดับท้องถิ่น ในกรณีไม่สามารถหาข้อยุติได้ในระดับท้องถิ่นให้ยกระดับการเจรจาขึ้นเป็นระดับชาติ (๓) เร่งเจรจาแก้ไขปัญหาในระหว่างที่มีความสัมพันธ์อันดี (๔) ศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานไว้ล่วงหน้าเพื่อใช้ประกอบการเจรจา (๕) กำหนดท่าทีเกี่ยวกับการอ้างอิงหลักฐานให้เป็นหลักการเดียวกัน (๖) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการประชา-สัมพันธ์ และชี้แจงข้อเท็จจริงไปในทิศทางเดียวกัน (๗) ให้จังหวัดที่มีแม่น้ำเป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศศึกษาตรวจสอบ และป้องกันตลิ่งพัง และการเปลี่ยนทางเดินของลำน้ำ (๘) รักษาสิทธิประโยชน์ของราษฎรในพื้นที่ไว้ในกรณีที่ราษฎรเข้าทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ที่เป็นปัญหาข้อพิพาท

 

๔. ปัญหาสถานการณ์บริเวณชายแดน นอกจากปัญหาเส้นเขตแดนตามที่กล่าวในข้อ ๓ แล้ว ยังมีสถานการณ์ที่เป็นปัญหาระหว่างไทย-พม่า อีก ๕ เรื่อง ดังนี้

 

๔.๑ ปัญหาชนกลุ่มน้อยสัญชาติพม่า ตลอดแนวพรมแดนไทย-พม่า ตั้งแต่เชียงรายจดระนอง มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่หลายกลุ่ม ที่สำคัญได้แก่ กะเหรี่ยง มอญ คะยา และไทยใหญ่ ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ต้องการแยกเป็นอิสระ และต่างก็ปฏิบัติการเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลพม่าอย่างรุนแรง จึงเกิดการสู้รบขึ้นกับทหาร รัฐบาลพม่าอยู่เสมอ

 

ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดน หรือที่หลบหนีการปราบปรามของทหารพม่าเข้ามาในเขตไทย ก่อปัญหาแก่ไทย ๔ ประการ คือ (๑) รัฐบาลพม่าระแวงว่าไทยให้การสนับสนุน ทำให้บรรยากาศของความสัมพันธ์ไม่สู้ราบรื่น (๒) ละเมิดอธิปไตยเพราะชนกลุ่มน้อยมีลักษณะเป็นกองกำลังถืออาวุธ หลบหนีเข้ามาอยู่ในเขตไทย ในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยไม่สามารถเข้าถึงได้ ()ก่อปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย บางครั้งชนกลุ่มน้อยถืออาวุธเหล่านั้นต่อสู้กันเอง เพราะขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์กัน ทำให้ทรัพย์สินบ้านเรือนของราษฎรไทยเสียหาย หรือในกรณีที่ทหารพม่ากับกองกำลังของชนกลุ่มน้อยสู้รบกันก็ทำความเสียหายแก่บ้านเรือน และทรัพย์สินของคนไทยเช่นเดียวกัน และ (๔) ลักลอบค้ายาเสพติด บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ นอกเขตไทยเป็นแหล่งปลูกฝิ่น ผลิตมอร์ฟีน และเฮโรอีน กับเป็นทางผ่านยาเสพติดเข้ามายังไทย ทั้งมีการย้ายแหล่งผลิตไปมาในเขตแดนไทย-พม่าเสมอ

 

๔.๒ ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ประกอบด้วยบุคคล ๔ กลุ่ม คือ (๑) ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า คือผู้ที่เข้ามาก่อน ๙ มีนาคม ๒๕๑๙ ()ผู้หลบหนีจากการสู้รบในพม่าในช่วงปี ๒๕๒๗-๒๕๓๕ ซึ่งมีประมาณ ๕๕,๐๐๐ คน (๓) ผู้ลักลอบเข้ามาทำงาน จำนวนไม่แน่นอน อาจถึง ๕๖๐,๐๐๐ คน และ (๔) นักศึกษาพม่า ซึ่งหลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลทหารพม่า

 

สำหรับผู้ลักลอบเข้ามาหางานทำนั้น ขณะนี้กระจายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ เกือบทั่วประเทศ ทางราชการได้ผ่อนปรนให้ทำงานได้ ๔ ประเภท คือ งานขนส่ง งานก่อสร้าง งานเกษตร และ งานบ้าน แต่ต้องจดทะเบียนเป็นหลักฐาน ปรากฏว่าเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ปฏิบัติตามระเบียบ ส่วนนักศึกษามีการเคลื่อนไหวเป็นปฏิปักษ์ต่อทางการพม่าอย่างเปิดเผย เช่น การประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชฑูตพม่า ทางราชการจึงต้องกำหนดสถานที่ให้เข้าไปอยู่ คือ ศูนย์นักศึกษาพม่าที่บ้านมณีลอย แต่ก็เข้าไปอยู่เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น และมักก่อปัญหาอยู่เสมอ

 

๔.๓ ปัญหาการลักลอบค้า สินค้าไทยที่มีการลักลอบนำไปขายในเขตพม่า ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องเวชภัณฑ์ และเสื้อผ้า ส่วนสินค้าที่ลักลอบนำเข้ามาขายในเขตไทย ได้แก่ อัญมณี แร่ และปศุสัตว์ พ่อค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าจากฝั่งไทย และข้ามเข้าไปในเขตพม่าจะถูกกองกำลังของชนกลุ่มน้อยสัญชาติพม่าเรียกเก็บภาษี ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่พอใจโดยกล่าวหาว่าไทยจัดตั้งชุมชนขึ้นในเขตไทยเป็นการช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยสัญชาติพม่า

 

๔.๔ ปัญหาการทำไม้ในพม่า ในช่วงก่อนปี ๒๕๓๖ รัฐบาลพม่าให้สัมปทานทำไม้แก่
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15521เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอข้อมูลเพิ่มเติมอีกได้มั้ยคะ พอดีทำวิทยานิพนธ์เรื่องการค้าชายแดนไทยพม่า น่ะค่ะ ส่งเข้าเมลก็ได้นะคะ ขอบคุนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท