เศรษฐกิจพม่าในสมัยอาณานิคม


เศรษฐกิจพม่าในสมัยอาณานิคม ๑. สมัยอังกฤษ
เศรษฐกิจพม่าในสมัยอาณานิคม
๑. สมัยอังกฤษ (v8§]bxNg-9N ค.ศ.๑๘๘๖–๑๙๔๑และ๑๙๔๕-๑๙๔๗)
เศรษฐกิจในสมัยอาณานิคมเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แม้ว่าจะเรียกเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็ตาม แต่กลับหาใช่เศรษฐกิจทุนนิยมที่ค่อยๆพัฒนาตามกาลเวลาอย่างในยุโรปที่เรียกว่าระบบเศรษฐกิจขุนนางเจ้าที่ดิน(ge,ia'Nxgmlik=N)ไม่ กล่าวคือเป็นเพียงระบบเศรษฐกิจที่พวกขยายดินแดนชาวอังกฤษกำหนดขึ้นมา ดังนั้นนายทุนท้องถิ่นจึงมีอยู่เพียงน้อยนิดและส่วนมากก็เป็นเพียงแค่นายทุนในอุปถัมภ์(]dNg;-"vi'Ntia'N)เท่านั้น
กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดต่างตกอยู่ในการครอบครองของรัฐบาลนายทุนอาณานิคมและนายทุนต่างชาติ พวกนายทุนต่างชาติสามารถดำเนินธุรกิจการค้าได้ตามใจตนก็ด้วยได้รับการสนับสนุนในด้านต่างๆจากรัฐบาลนายทุน นายทุนชาวจีนและแขกได้โอกาสครอบครองกิจการขนาดเล็กตามที่ได้รับการอุปถัมภ์ ในขณะที่คนท้องถิ่นส่วนใหญ่กลับตกอยู่ในภาวะของการถูกครอบงำสูบเลือด
กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศเมียนมาคือการเพาะปลูกข้าว หลังจากที่อังกฤษยึดประเทศเมียนมาไว้ได้แล้วจึงได้ขยายพื้นที่ปลูกข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณปากแม่น้ำอิรวดีและตามที่ราบลุ่มแม่น้ำสะโตงกับแม่น้ำสาละวิน เหตุที่มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวมากขึ้นนั้นสืบเนื่องมาจากความต้องการข้าวของตลาดยุโรป ก่อนหน้านี้ยุโรปจะนำเข้าข้าวจากทวีปอเมริกาได้ตามต้องการ พอเมื่อมีการขุดคลองสุเอสขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๖๙ จึงได้หันมาพึ่งสินค้าข้าวทางด้านทวีปเอเชียเพราะขนส่งได้สะดวก  จากการที่ชาวนาซึ่งชำนาญการเพาะปลูกในประเทศเมียนมาตอนบนมีการโยกย้ายถิ่นฐานลงมายังประเทศเมียนมาตอนล่างนั้นได้ทำให้พื้นที่เพาะปลูกขยายตัวอย่างรวดเร็ว รัฐบาลอังกฤษยังได้รับเอาพวกแขกชิตตีมายังประเทศเมียนมาถึงปีละ ๒-๔ แสนคนเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยอ้างว่าแรงงานมีไม่พอบ้างและมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานที่ถูกกว่าชาวเมียนมาบ้าง  นอกจากนี้พวกชิตตีที่เป็นนายทุนเงินกู้ก็ตามเข้ามาด้วย ในปี ค.ศ. ๑๙๓๐ มีการปล่อยเงินลงทุนให้ชาวนากู้ยืมถึง ๔๐ ล้านปอนด์สเตอร์ลิง ด้วยเหตุนี้ ผลผลิตจึงเพิ่มขึ้นดุจเดียวกับพื้นที่เพาะปลูกข้าว
ปัจจัยที่เกื้อหนุนการเพาะปลูกข้าว คือ การคมนาคมขนส่งที่สะดวกขึ้น การสร้างทำนบกักเก็บน้ำ และการขุดคลองชลประทาน ด้วยปัจจัยดังกล่าวในปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๙ การเพาะปลูกข้าวซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจเมียนมาจึงได้ขยายตัวจากการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศไปสู่การผลิตเพื่อส่งออก แต่ทว่าในการส่งข้าวสู่ตลาดต่างประเทศนั้นกลับตกอยู่ในมือของนายทุนต่างชาติ
พวกอังกฤษได้ขยายภาคเศรษฐกิจและภาคการผลิตกระจายไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเปิดดำเนินการกิจการป่าไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ในปี ค.ศ. ๑๘๖๒ มีการเพิ่มเที่ยวการเดินเรือของบริษัทเรือกลไฟอิรวดีในปี ค.ศ. ๑๘๖๕ และมีการสร้างทางรถไฟในปี ค.ศ. ๑๘๖๙ 
การถลุงแร่ธาตุและอัญมณีมีการขยายตัวขึ้น นอกเหนือจากข้าวยังได้สนับสนุนให้มีการขยายการเพาะปลูกอ้อย ถั่วลิสง งา ฝ้าย ถั่วนานาชนิด ยาสูบ และข้าวสาลีในพื้นที่แห้งแล้งตอนกลางของประเทศ โดยมิได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการถือครองที่ไร่ที่เป็นอยู่เดิม ด้วยเหตุนี้ทรัพยากรของเมียนมาและแรงงานของชาวเมียนมาจึงถูกผูกขาดโดยต่างชาติ และแล้วระบบทุนนิยมก็ตั้งรากฐานได้อย่างมั่นคง
จากการที่การผลิตเติบโตขึ้นนั้นเศรษฐกิจจึงได้ขยายตัวตาม และนับตั้งแต่มีการเปิดคลองสุเอสจนสิ้นศตวรรษที่ ๑๙ มูลค่าสินค้านำเข้าและส่งออกได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ในบรรดาสินค้าออกที่ส่งไปขายยังต่างประเทศนั้นข้าวมีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดมาจนถึงปี ค.ศ. ๑๙๐๐ ส่วนการส่งออกไม้มีสัดส่วน ๑ ใน ๕ ของสินค้าออกทั้งหมด พอถึงปี ค.ศ. ๑๙๒๓ น้ำมันกลายเป็นสินค้าทุนเพื่อการส่งออกอันสำคัญ ดังนั้นในระยะ ๕๐ ปีอันเป็นช่วงแรกของคริสตศตวรรษที่ ๒๐  นั้นภาวะการลงทุนจากต่างประเทศจึงมีความเด่นชัด ส่วนในภาคการนำเข้านั้นนายทุนต่างชาติได้เข้ามามีบทบาทอันสำคัญด้วยเช่นกัน
หากวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจของสมัยอาณานิคมโดยรวม นับได้ว่าการเกษตร การทำเหมือง และการทำไม้ซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของเมียนมานั้นมีการขยายตัวในด้านกำลังการผลิตสูงกว่าในยุคกษัตริย์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณการผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าอันเนื่องเพราะมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวในเขตเมียนมาตอนล่าง และยังสามารถส่งออกข้าวในปริมาณที่สูงมาก
ในขณะที่การเกษตรมีการเติบโต ชาวไร่ชาวนาเมียนมาจึงมีความจำเป็นด้านเงินทุน แต่ต้องกู้เงินด้วยดอกเบี้ยสูงจากพวกหากินกับเงินกู้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกแขกชิตตี แต่ด้วยเกิดภาวะแทรกซ้อนจากภัยธรรมชาติซึ่งทำให้ชาวนาปลูกข้าวได้น้อย อีกทั้งจำนวนข้าวเท่าที่ผลิตได้ยังถูกกดราคาโดยเหล่านายทุนต่างชาติ ดังนั้นชาวนาจึงไม่อาจใช้หนี้คืนได้จนที่นาถูกยึดในที่สุด
จากการที่ชาวนาสูญที่นาให้หลุดมือไปนั้น ชีวิตจึงผันแปรจากเจ้าของที่นากลายมาเป็นผู้เช่าที่นาแทน ในสภาพของผู้เช่านานั้น ชาวนาไม่อาจจ่ายค่าเช่าที่นาได้มากมายอย่างผู้เช่านาที่มาจากอินเดีย จึงยิ่งประสบกับความทุกข์ยากขึ้นอีกจนชาวนาจำนวนมากได้กลายสภาพจากผู้เช่านามาอยู่ในสภาพของคนรับจ้างทำนาและกรรมกรชั้นต่ำ นอกจากนี้ในสภาพของคนรับจ้างทำนานั้นก็กลับไม่อาจแข่งกับแขกรับจ้างทำนาได้จึงยิ่งประสบกับความยากแค้น ด้วยเหตุนี้การดำรงชีพของชาวไร่ชาวนาเมียนมาจึงขัดสนและยากลำบาก และสถานการณ์ก็เลวร้ายลงเรื่อยมาจนเกิดการต่อต้านของชาวนาในปี ๑๙๓๐ หากจะสอบหาที่มาของปัญหาเช่นนี้ จำเลยสำคัญก็คือพวกนายทุนต่างชาติ พวกนายทุนท้องถิ่น และเหล่าบริวารที่รัฐบาลอังกฤษโยงใยอยู่เบื้องหลัง
มิเพียงแค่เรื่องเกษตรกรรมเท่านั้น การทำเหมืองแร่รวมถึงอัญมณีและน้ำมันก็มีการเพิ่มปริมาณการขุดเจาะด้วยวิทยาการสมัยใหม่ กิจกรรมเหล่านี้พวกบริษัทนายทุนต่างชาติต่างแข่งขันกันในการผูกขาด ส่วนงานหัตถกรรมในสมัยอาณานิคมซึ่งมีสืบมาของชนพื้นเมืองก็ตกต่ำ และในทำนองเดียวกันเศรษฐกิจของพวกเขาก็พลอยตกต่ำไปด้วย
จากการที่การค้าขายขยายตัวนั้น จึงได้มีการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมเพื่อเกื้อหนุนระบบทุนนิยม โดยมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางน้ำภายในประเทศ มีการสร้างทางรถไฟและตัดถนนอย่างกว้างขวาง มีเส้นทางรถไฟสายย่างกุ้ง-แปรในปี ค.ศ. ๑๘๗๗ และสร้างเส้นทางรถไฟสายย่างกุ้ง-ตองอูในปี ค.ศ. ๑๘๘๔ ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๘๖ ได้ขยายเส้นทางรถไฟจากตองอูไปจนถึงมัณฑะเล แล้วขยายไปจนถึงมิตจีนาในปี ค.ศ. ๑๘๙๙ และในปีนั้นได้สร้างสะพานโกะเถะ(869N5bxN)ในรัฐฉานตอนบนจนแล้วเสร็จในปี ค.ศ. ๑๙๐๐ และสร้างทางรถไฟสายมัณฑะเล-ลาโชในปี ค.ศ. ๑๙๐๒ ส่วนในเขตรัฐฉานตอนล่างก็ได้สร้างทางรถไฟขึ้นเช่นกัน ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลก็มีการสร้างทางรถไฟและขยายไปจนถึงพะสิมในปี ค.ศ. ๑๙๐๒ สำหรับทางรถไฟย่างกุ้ง-เมาะตะมะนั้นสร้างในปี ค.ศ. ๑๙๐๗ ต่อจากนั้นจึงขยายเส้นทางรถไฟจากเมาะตะมะไปจนถึงเมืองเย
ส่วนเส้นทางรถยนต์นั้นก็มีการตัดถนนใหม่เช่นกัน ในปี ค.ศ. ๑๘๙๐–๑๘๙๑ มีทางลาดยาง ๑,๑๐๐ ไมล์ ในปี ค.ศ. ๑๙๔๐–๑๙๔๑ มีทางลาดยาง ๖,๘๐๐ ไมล์ ส่วนในการคมนาคมทางน้ำภายในประเทศนั้นบริษัท Irrawaddy Flotilla Co. เป็นผู้ผูกขาด ในระยะแรกเริ่มนั้นบริษัทนี้มีเรือขนส่งเพียง ๑๗ ลำเท่านั้น แต่พอในปี ค.ศ. ๑๙๔๒ กลับมีเรือขนส่งถึง ๖๕๐ ลำ
ในสมัยอาณานิคม นอกจากจะมีการคมนาคมทางน้ำและทางบกแล้ว ยังมีการคมนาคมทางอากาศด้วย เส้นทางการบินภายในประเทศเริ่มเปิดบริการในปี ค.ศ. ๑๙๓๔ มีเที่ยวบินระหว่างย่างกุ้ง-มัณฑะเลเพียงสัปดาห์ละ ๑ เที่ยวบิน ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๔๕ จึงเกิดบริษัทการบิน Imperial Airways ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลกับบริษัทนายทุนต่างชาติ
การขยายการคมนาคมขนส่งให้ได้มากและสะดวกขึ้นนั้น กลับมิใช่เป็นเพื่อประโยชน์ของชาวเมียนมา หากมีเป้าหมายเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมปรากฏเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุดังกล่าว ในสมัยอาณานิคม แม้จะได้ประสบกับความสะดวกสบายแปลกใหม่ในด้านการคมนาคมขนส่งและทางเศรษฐกิจก็ตาม แต่อาชีพพื้นบ้านอย่างเช่น แจวเรือ ขับเกวียน และทอผ้ากลับต้องประสบกับความย่ำแย่
ด้วยเหตุนี้ แม้ในสมัยอาณานิคมสภาพเศรษฐกิจจะเจริญกว่าในสมัยราชวงศ์เป็นอันมากก็ตาม แต่กระนั้น บรรดาชนพื้นเมืองกลับมิได้รับกำไรประโยชน์จากความเจริญทางเศรษฐกิจนั้น มิซ้ำกลับถดถอยร่อยหรอด้วยการถูกกำหนดและถูกรวบหัวตัดคอ(ถูกเอารัดเอาเปรียบ)ทั้งจากพวกนายทุนต่างชาติและจากพวกนายทุนในอุปถัมภ์ของเหล่านายทุนต่างชาติทั้งหลาย
๒. สมัยญี่ปุ่น (8yxoNg-9N ค.ศ.๑๙๔๒–๑๙๔๕)
ในวันที่ ๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ รัฐบาลเมียนมาซึ่งตั้งขึ้นภายใต้การปกครองแบบทหารของญี่ปุ่นได้ดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อฟื้นฟูสภาวการณ์อันเลวร้ายภายในประเทศอันเนื่องด้วยภาวะสงคราม แต่กระนั้นรัฐบาลเมียนมาซึ่งอยู่ใต้อำนาจการปกครองแบบทหารของญี่ปุ่นกลับมิอาจดำเนินการข้ามพ้นนโยบายของบริษัทนายทุนญี่ปุนไปได้ ดังนั้น นโยบายทั้งหลายจึงกลายเป็นเพียงนโยบายเพ้อฝันไปสิ้น
เศรษฐกิจในสมัยญี่ปุ่นนั้น มีการกำหนดแผนการพัฒนาต่างๆ อาทิ การเกษตร การปศุสัตว์ การทำไม้ และขุดเจาะขุดน้ำมันแร่ธาตุ มิเพียงแค่นี้ยังได้มีการวางโครงการด้านต่างๆ อาทิ ธนาคาร สินค้านำเข้า สินค้าส่งออก อุตสาหกรรมหัตถกรรม และการกระจายสินค้า
ในแผนงานด้านการเกษตรนั้นมีการลดค่าเช่าที่ทำกินให้กับชาวนา ในการลดค่าเช่าที่นานั้นก็เพื่อให้ชาวนาหันมาสนใจงานด้านเกษตรกรรมและเพื่อให้มีการขยายพื้นที่การเกษตร ในปี ค.ศ. ๑๙๔๑–๑๙๔๒ กระทรวงเกษตรได้ร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นดำเนินกิจการการจัดซื้อข้าว ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๔๒–๑๙๔๓ ได้ดำเนินการจัดซื้อข้าวได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งเพื่อใช้เป็นเสบียงเพียงพอสำหรับกองทัพต่างๆในประเทศร่วมวงไพบูลย์แห่งเอเชียตะวันออก จึงได้มีการจัดส่งข้าวไปช่วยเหลือมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งกำลังเกิดภาวะขาดแคลนในขณะนั้น
ในแผนงานการผลิตไม้ แม้จะคงเจ้าหน้าที่ป่าไม้ดังก่อนไว้ แต่กลับแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่มีความรอบรู้เกี่ยวกับป่าไม้ให้เข้ามาดูแลป่าไม้อีกด้วย บริษัทญี่ปุ่นในนาม Nippon Burma Timber Union ได้เข้ามาดูแลการทำไม้ และแม้จะได้เกณฑ์เยาวชนให้เข้าร่วมทำไม้ในเขตพะมอก็ตาม แต่ด้วยขาดความชำนาญจึงทำให้ป่าไม้เกิดการเสียหาย นอกจากนี้การสูญเสียป่าไม้ยังเกิดจากการขาดการดูแลรักษาและจากไฟป่า ส่วนไม้สักอันมีค่าและไม้ปีงกะโด(xyfNtd96bt)กลับถูกนำไปใช้ทำสนามเพาะ หมอนรถไฟ และเชื้อเพลิง ในต้นปี ค.ศ. ๑๙๔๒ มีการขนไม้สักเท่าที่จะตัดสะสมไว้ได้เพื่อขนส่งไปยังประเทศญี่ปุ่นโดยทางเรือ
ช่วงที่กองทัพอังกฤษถอยกลับไปนั้น งานขุดเจาะน้ำมันทั้งหมดถูกรื้อทำลายอย่างขุดรากถอนโคน ถึงแม้พวกญี่ปุ่นจะพยายามรื้อฟื้นการทำน้ำมันขึ้นใหม่ก็ตาม แต่ก็ขาดเครื่องจักรและอุปกรณ์ อีกทั้งกองทัพอากาศของอังกฤษได้ทิ้งระเบิดอย่างไม่หยุดหย่อนจึงไม่อาจดำเนินการได้อย่างเต็มที่  และแม้จะมีผู้ประกอบการชาวเมียนมาตั้งเตากลั่นน้ำมันเพื่อการใช้ภายในประเทศก็ตามแต่กลับไม่เพียงพอ  การจุดไฟใช้ในหมู่บ้านเองก็ต้องใช้น้ำมันยาง(dP'NCu)แทนน้ำมัน ในการทำเหมืองแร่ ณ ที่เหมืองนัมมะตูบ่อ(o,Á9^g4kN) เหมืองแร่ที่หม่อชี(g,kN-yut)และที่ทะวาย(5kt;pN)ต่างไม่ประสบผลสำเร็จเพราะขาดแคลนไฟฟ้าและเครื่องมือ บริษัท Mitsui และบริษัทในเครือเข้าผูกขาดการทำเหมืองแร่ และขนส่งแร่เท่าที่ขุดได้ลำเลียงผ่านทางโยดะยาไปยังญี่ปุ่น
ในด้านการธนาคารนั้น ธนาคารโยโกฮามาและธนาคารพัฒนาภาคใต้เพียง ๒ แห่งได้ดำเนินการกุมเศรษฐกิจของเมียนมาทั้งหมด มีการออกธนบัตรญี่ปุ่นโดยไม่มีการรับรองมูลค่าและขาดการควบคุมปริมาณจนก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้นค่าครองชีพจึงสูงขึ้นหลายเท่าตัว นอกจากนี้ยังมีการส่งออกสินค้าที่ผลิตขึ้นในเมียนมาด้วยวิธีไม่ถูกต้องจนเป็นเหตุให้ความเป็นอยู่ฝืดเคืองอย่างหนัก
ในด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรมนั้น ปัญหาเครื่องจักรกล การขาดแคลนน้ำมันและการไม่มีวัตถุดิบได้ส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลนอย่างหนัก แม้แต่สินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลิตได้จากงานหัตถกรรมภายในบ้านก็แทบไม่เพียงพอ ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ การทำสบู่ ก็ทำได้เพียงสบู่ทราย (lcCxNexk) แทนการใช้ก็อสติตโซดา (gdkH090NC6bmj) และต้องหันมาใช้ขี้เถ้าจากไผ่(;jtx6btexk)แทนเกลือเป็นต้น
เกี่ยวกับการกระจายสินค้าตลอดสมัยญี่ปุ่นนั้น มีการกระจายสินค้าโดยกำหนดเป็นสัดส่วนภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการจัดจำหน่ายสินค้าแห่งชาติและคณะดำเนินการศูนย์กลางการซื้อขายซึ่งตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ๆเท่านั้น เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเล เมาะลำไย และพะสิม แต่กระนั้นก็ไม่อาจกระจายสินค้าได้ทั่วถึงแก่สมาชิกทุกคนในครอบครัว และการแจกจ่ายสินค้าก็ไม่เป็นไปตามเวลาที่กำหนด แม้ว่าในภาวะสงครามนั้นจะได้มีการควบคุมราคาสินค้าโดยการกำหนดราคาสินค้าและการควบคุมการซื้อขายหรือการเคลื่อนย้ายสินค้าก็ตาม แต่ผู้บริโภคกลับยังต้องประสบกับความยากลำบากนานา
กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจในสมัยญี่ปุ่น แม้จะมีการวางนโยบายต่างๆไว้ก็ตาม แต่นโยบายเหล่านั้นกลับมิใช่นโยบายที่จักเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเมียนมา ปวงประชาต้องประสบกับสภาวการณ์ทุกข์ยากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้อาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจในสมัยญี่ปุ่นเป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้ประโยชน์เฉพาะกับรัฐบาลฟาสซิสต์และพวกสอพลอญี่ปุ่นเท่านั้น
ข้อมูลจากแบบเรียนประวัติศาสตร์เมียนมา ชั้น ๑๐ : ๒๕๔๔
(วิรัช นิยมธรรม  แปล)
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15516เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท