เศรษฐกิจพม่าต้องอยู่ในมือของชาติและประชาชน


สหภาพพม่าในยุคอาณานิคม ไม่เพียงแต่สูญเสียเอกราชทางการปกครองแก่อังกฤษ หากชาวพม่ายังสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชนต่างชาติไปเกือบสิ้น
เศรษฐกิจพม่าต้องอยู่ในมือของชาติและประชาชน
สหภาพพม่าในยุคอาณานิคม ไม่เพียงแต่สูญเสียเอกราชทางการปกครองแก่อังกฤษ หากชาวพม่ายังสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชนต่างชาติไปเกือบสิ้น พม่าจึงรู้ซึ้งถึงผลร้ายดังกล่าว และจดจำสภาพที่ถูกกอบโกยผลประโยชน์ในแผ่นดินตนโดยชนต่างชาติ พอถึงยุคปัจจุบัน แม้พม่าจะยอมรับระบบการค้าการลงทุนแบบกลไกตลาดแทนระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดแล้วก็ตาม แต่ความกลัวว่าชาวพม่าจะสูญเสียเอกราชทางเศรษฐกิจอีกครั้งกลับยังคงอยู่ และมองว่าต่างชาติอาจใช้แนวทางการค้าเสรีลวงชาติเล็กๆให้ตกเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจในที่สุด ความกังวลดังกล่าวของรัฐบาลพม่าน่าจะมีอยู่จริง ดังที่ โกงลีงจ่อ นักเขียนในสายรัฐบาล เขียนวิจารณ์เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมพม่า ไว้ในหนังสือปกเขียว เรื่อง 0boNe,i"e-pN ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๙๙๖
โกงลีงจ่อ เป็นนายทหารผู้หนึ่งของกองทัพพม่า และเคยปฏิบัติงานในพื้นที่ชนบทมานาน เขาเริ่มชีวิตนักเขียนตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนนายทหารที่มหาวิทยาลัยการศึก โดยเริ่มงานเขียนตั้งแต่ ปี ค.ศ. ๑๙๗๖ ด้วยความสามารถทางการเขียนของเขาที่เน้นความรักชาติและสนับสนุนการพัฒนาประเทศด้วยระบบการปกครองแบบทหาร เขาจึงได้รับรางวัลดีเด่นของวรรณกรรมเมียวดี และรางวัลวรรณกรรมสำหรับวันกองทัพพม่า ประจำปี ค.ศ. ๑๙๙๑ แนวการเขียนของโกงลีงจ่อจะเป็นเรื่องหน้าที่พลเมืองและเทิดเกียรติกองทัพ  อีกทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในแนวทางของรัฐบาลทหาร พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนเห็นพ้องและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างมิต้องกังขา
โกงลีงจ่อกล่าวว่า การที่สหภาพพม่าจะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้นั้น ชนทุกเผ่าพันธุ์ในสหภาพพม่าอันได้แก่ กะฉิ่น กะยา กะเหรี่ยง พม่า มอญ ยะไข่ ฉาน ปะโอ ปะหล่อง ว้า ฯลฯ ควรจะลงรอยกันในทัศนะและนิสัย ดุจสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน และรักแผ่นดินเมียนมาอย่างจริงใจ อีกทั้งชนทุกเผ่าพันธุ์จะต้องไม่บิดบังความเป็นเมียนมา หากต้องภาคภูมิใจที่จะประกาศตนต่อชาวโลกว่า “ข้าคือเมียนมา” โกงลีงจ่อยังได้ยกคำกล่าวของนายพลอองซาน บิดาแห่งเอกราชของพม่า ที่กล่าวถึงการปรองดองของชนชาติต่างๆในสหภาพพม่าไว้ว่า
“ชนชาติต่างๆนั้น ต่างย่อมร่วมรู้สุขและทุกข์ และหากยิ่งเอื้อประโยชน์ต่อกันอย่างใกล้ชิด นานไปก็ย่อมกลายเป็นชนกลุ่มเดียวที่มีจิตใจเป็นหนึ่ง ศาสนาที่ต่างนับถือกันมาตามพงศ์พันธุ์ และภาษาที่พูดต่างกันนั้น แม้จะต้องให้ความสำคัญอยู่ก็ตาม แต่ที่จริงแล้ว ทุกคนต่างจะต้องอยู่ร่วมร้อนร่วมหนาว (gvtv9^x^v,Y) และรู้สึกร่วมทั้งดีและร้าย (gdk'Ntv9^C6btzdN) หากยึดฉันทะนี้โดยสืบเนื่อง ก็จะสร้างสำนึกร่วมต่อความรักชาติ (;"lkO6idb¢9) ขึ้นได้ ”
โกงลีงจ่อยังปรารถนาให้ชาวเมียนมาทุกคนมีความผูกพันต่อเจดีย์ขาวที่เด่นสง่าบนเขาเขียว สายน้ำอิระวดีที่ไหลเอื่อยและใสสะอาด พอใจเกี่ยวกายด้วยโสร่งกับผ้าซิ่น และไม่ทอดทิ้งกะปิปลาร้า ตลอดจนหวนถวิลกลิ่นรวงข้าวปลายเคียว ทั้งมิลืมกลิ่นไอดินกับรสสะเดา ดังนั้นประชาชนเมียนมาทุกเชื้อชาติจะต้องยึดมั่นในเอกลักษณ์แห่งความเป็นสหภาพร่วมกัน โดยทุกคนต้องมี “จิตใจแห่งสหภาพ” และ “ผูกพันในแผ่นดินเมียนมา”
โกงลีงจ่อยังขอให้ชาวพม่ายึดคติชาตินิยมดังที่เคยใช้เป็นพลังต่อต้านอิทธิพลต่างชาติ เขากล่าวว่า ชาวเมียนมาจะต้องระวังรักษาสัจจะต่อเผ่าพันธุ์ เพราะคติพม่าที่ว่า “ไม่ปนสายเลือดกับชนต่างชาติ” กำลังถูกละเลยโดยคนรุ่นใหม่ ในอดีตแทบไม่ได้ยินข่าวเรื่องผู้หญิงพม่าแต่งงานกับชาวต่างชาติ แต่พอปัจจุบันกลับเริ่มมีการประกาศแต่งงานกับชนต่างชาติทางหนังสือพิมพ์กันบ้างแล้ว โกงลีงจ่ออ้างว่าเคยพบหมู่บ้านที่สูญเผ่าพันธุ์เพราะแต่งงานกับชนชาติอื่น ซึ่งน่าจะเป็นในพื้นที่ที่ติดกับบังคลาเทศ อินเดีย และจีน โกงลีงจ่อกลัวราวกับว่าเมื่อชาวพม่าถูกกลืนทางสายเลือด ทรัพยากรในชาติก็จะถูกกลืนตาม เขาได้ยกเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่แต่งเพื่อต่อต้านกองทัพฟาสซิสต์ญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ ว่า  “เอาทองไป เอาคนไป แล้วก็สูญเผ่าพันธุ์  น่าหวั่นกลัว…” เนื้อเพลงยังสอดคล้องกับคำกล่าวของคนรุ่นก่อน ที่ว่า “กลืนแผ่นดิน ยังไม่สิ้นชาติ แต่สูญชาติ เพราะกลืนคน” หรือคำกล่าวของอูเผ่หม่องตี่ง(Ftgzg,k'N9'N)นักวิชาการ ทางภาษาและวรรณคดีพม่าในยุคอาณานิคมที่ว่า“หากขาดวรรณศิลป์ ก็สิ้นชาติ หากสูญชนชาติ ก็สิ้นแผ่นดิน” โกงลีงจ่อพยายามยกถ้อยคำเก่าๆมาสะกิดใจให้ชาวพม่ามี “จิตใจรักเผ่าพันธุ์” และหวงแหนสายเลือดเพื่อความอยู่รอดของชาติ เขาคาดหวังว่าจิตใจแห่งเอกภาพ รวมถึงความรักในเผ่าพันธุ์และแผ่นดินของชาวเมียนมาโดยรวม จะมีความหมายต่อการรักษาเศรษฐกิจในระบบตลาดเปิดไว้ในมือของคนร่วมชาติ
เพื่อระลึกถึงคราวที่คนพม่าเคยเสียเปรียบชนชาติอื่น โกงลีงจ่อจึงได้ย้อนถึงบทเรียนในอดีตที่ชาวพม่าท้องถิ่นสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนต่างด้าว เขากล่าวเปรียบเทียบคนพม่ากับคนต่างด้าวที่มาอยู่ในพม่าโดยเฉพาะแขกและจีนว่า แขกกับจีนเข้ามาอาศัยในแผ่นดินพม่าในยุคอาณานิคม โดยมีเพียงผ้าโจงกระเบน (m6b9u) หรือกางเกง (g4k'Nt4u) ติดตัวมาคนละผืน แต่กลับหากินจากการเก็บดอกผลในแผ่นดินพม่าจนร่ำรวย ผิดกับคนพม่าที่ลงดาบทำกินในแผ่นดินนี้มาเนิ่นนาน แต่ส่วนใหญ่กลับยังยากจน ในปัจจุบันคนต่างด้าวสามารถครอบครองธุรกิจการค้าสำคัญหลายประเภท อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ร้านอาหาร ร้านทอง ร้านขายส่งสินค้า สภาพเช่นนี้พบเห็นได้ตั้งแต่ในพื้นที่ชนบทเรื่อยมาจนถึงเมืองย่างกุ้ง ส่วนคนพม่านั้นดูต่ำต้อยและทำงานเป็นเพียงลูกจ้างหรือคนใช้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องเพราะ ในขณะที่พวกแขกทำมาค้าขายจิปาถะ อาทิ ขายหมาก ค้าเศษเหล็ก เก็บถุงพลาสติกเก่าขายนั้น คนท้องถิ่นกลับมัวรังเกียจงานดังกล่าว โกงลีงจ่อเสนอว่าชาวพม่าควรต้องเอาแบบอย่างการทำมาหากินเยี่ยงคนต่างด้าว มิเช่นนั้นคนท้องถิ่นก็ไม่อาจมีโอกาสได้เปรียบทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามเขากล่าวเตือนไว้ว่า การต่อสู้กันทางเศรษฐกิจนั้นไม่จำเป็นต้องปลุกระดมให้ชาวพม่าท้องถิ่นประหัตประหารผู้อื่นที่ไม่ใช่คนพื้นเมือง เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นในยุคสมัยของนายพลเนวินเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน  โดยฝ่ายรัฐได้ยึดกิจการของคนต่างด้าวทั้งหมดมาเป็นของรัฐ พร้อมกับขับต่างชาติออกนอกประเทศ
แต่เมื่อพิจารณาจากวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวพม่า โกงลีงจ่อได้ตำหนิชาวพม่าไว้มากว่า ชาวพม่าง่ายที่จะตื่นตัวแค่ราวไฟไหม้ฟาง แต่ขาดวิริยะ และชอบทำตัวเกียจคร้าน หากเปรียบกับครอบครัวของคนต่างด้าวแล้ว ทุกคนในครอบครัวชอบที่จะช่วยเหลือกันทำมาหากิน ระหว่างญาติก็จุนเจือด้วยการให้กู้ยืมกันแล้วใช้คืน ส่วนชาวพม่านั้น มีไม่น้อยที่คนเพียงคนเดียวต้องหาเลี้ยงคนทั้งครอบครัว และส่วนใหญ่ยังทำงานแบบหาเช้ากินค่ำ และไม่เพียงแค่นั้น ชาวพม่ายังนิยมชมชอบสินค้าต่างชาติ แม้แต่พุทรากวน ก็ชอบชนิดที่ติดยี่ห้อโยดะยา(ไทย) ทั้งที่พุทราเหล่านั้นก็ปลูกกันในพม่า! โกงลีงจ่อเสนอว่าชาวพม่าอาจต้องเอาอย่างเกาหลีในความรักชาติด้วยการรวมพลังต่อต้านสินค้าต่างชาติ เขากล่าวว่าคนเกาหลีไม่กล้าขับรถที่ผลิตจากนอก เพราะกลัวถูกผู้รักชาติทุบกระจก เจาะยาง หรือขูดข่วนรถ หรือกรณีชาวอินเดียและบังคลาเทศที่ออกไปหากินที่ต่างประเทศ มักจะเก็บเงินสะสมไว้ แล้วส่งกลับประเทศตน โกงลีงจ่อยุให้ชาวพม่ามองหาแบบอย่างการทำมาหากินจากคนต่างด้าว คือ แขกกับจีน ที่สามารถยึดครองธุรกิจสำคัญของพม่าไว้ได้ และยังชี้ให้เห็นแบบอย่างความรักชาติอย่างเกาหลี อินเดีย และบังคลาเทศ อีกด้วย
ในส่วนการดำเนินงานของภาครัฐนั้น โกงลีงจ่อกล่าวยกย่องรัฐบาลทหารของพม่าไว้ว่า รัฐบาลได้แสดงเจตจำนงไว้ชัดเจนต่อโอกาสทางเศรษฐกิจของประชาชน โดยประกาศนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจไว้ข้อหนึ่ง คือ “อำนาจทางเศรษฐกิจทั้งปวงในประเทศ จะต้องตกอยู่ในมือของชาติและประชาชน” อีกทั้งยังได้สร้างคำขวัญชี้ชวนให้คนพม่า “อุดหนุนสินค้าในประเทศ” (exPN9:'Ntez0Nd6bvktgxtxj) นอกจากนี้รัฐบาลพม่ายังได้เร่งสร้างถนน สะพาน เขื่อน และฝาย เพิ่มขึ้นอย่างมากมายในระยะสิบปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ โกงลีงจ่อกล่าวว่าการพัฒนาประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อชาติกลับถูกให้ร้ายจากฝ่ายต่อต้านว่าใช้แรงงานประชาชนอย่างกดขี่ ที่จริงฝ่ายรัฐมองว่าประชาชนคือ “ข้าแผ่นดิน” มิใช่ “สมุนรับใช้ต่างชาติ” โกงลีงจ่อยังเตือนว่า แม้ประเทศจะมีเอกราชก็ตาม หากเศรษฐกิจของชาติยังต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดนั้น พม่าก็ไม่อาจงอกเงยเปรียบเหมือน “ถั่วลิสงที่เมล็ดลีบ” ชาวพม่าก็จะเป็น “คนท้องหิวที่ยากบำเพ็ญธรรม” หรือ อาจ “เสียสัจด้วยขัดสน”
โกงลีงจ่อ เป็นนายทหารผู้รักชาติ เขาพยายามชี้จุดอ่อนของชาวพม่า และหาทางออกด้วยการเรียกร้องให้ชาวพม่าได้ฉุกคิดถึงสภาพที่เป็นอยู่ โกงลีงจ่อหวังว่าประเทศสหภาพพม่า ซึ่งเคยต่อสู้เพื่อเอกราชมาด้วยพลังแห่งกองทัพและประชาชน จะไม่ตกเป็นทาสทางเศรษฐกิจของต่างชาติ จนต้องเสียอธิปไตยเหมือนครั้งอดีต
วิรัช  นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15514เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท