เก็บมาเล่า : มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๔ (๔)


ผมไม่มีความรู้มากพอ แต่สามารถจัดการความรู้ได้ ไม่เคยหยุดที่จะทำเรื่องกระบวนการเรียนรู้ อยากรู้อะไร สามารถทำให้รู้ได้ทุกเรื่อง

วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๐
เวลา ๑๔.๐๐-๑๕.๐๐ น. มีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ผู้นำการเรียนรู้ในสถานการณ์ปัจจุบัน” โดยคุณประยงค์ รณรงค์ สมาชิกสภานิติบัญญัติ ที่เล่าเรื่องการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างดียิ่ง ทำให้เราได้รู้ว่า “บุคคลเรียนรู้” ตัวจริงมีวิธีคิดและวิธีปฏิบัติอย่างไร

 

 คุณประยงค์ รณรงค์

จุดเริ่มต้นคุณประยงค์บอกว่าตนเองเรียนหนังสือมาน้อยแต่ต้องการสอนการบ้านลูก จึงเรียนพร้อมกับลูก ในที่สุดก็มีความรู้ แต่ตนเองไม่ได้รู้ทุกอย่าง ไม่อยู่ในฐานะที่จะสอนชาวบ้านได้ จึงต้องหากิจกรรมให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ จะทำให้เขาสนใจก็ต้องเอาเรื่องที่เป็นปัญหาของเขา เช่น ชาวสวนยางพารามีหนี้สิน ก็ชวนชาวบ้านมาศึกษาหาสาเหตุ จนรู้ต้นทุนการผลิต รู้ว่าจนก็เพราะขายยางได้ราคาต่ำกว่าต้นทุน คิดละเอียดตั้งแต่ปลูกจนถึงโค่นต้นขาย หาแนวทางแก้ปัญหาตรงนี้จึงทำให้มีความรู้

พอได้ความรู้มาก็พบว่าชาวบ้านต้องการความรู้ในหลายด้าน เช่น สุขภาพ ที่ผ่านมาเรานั่งรอ อบต. ผู้แทน ไม่ได้คิดถึงว่าการเริ่มต้นต้องเริ่มจากฐานของชุมชน

คุณประยงค์เล่าเรื่องการทำแผนแม่บทชุมชนว่าเป็นการทำข้อมูลให้คนรู้จักตัวเอง รู้จักชุมชนและสังคมที่เราเกี่ยวข้อง วางแนวทางในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แนวทางอนาคต ไม่เหมือนแผนที่ทำมาจากภายนอก

ได้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาขึ้น มีช่วงหนึ่งเกิดความขัดแย้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะความคิดไม่ตรงกัน (ไม่ตรงกับแผนงานของรัฐ) จนครั้งหนึ่งนึกท้อแท้ เพราะคิดว่าจะทำในสิ่งที่ชาวบ้านจะพึ่งตัวเองได้ แต่ไปขัดกับรัฐจนถูกมองว่าเป็นคนไปยุยงชาวบ้าน แต่พอรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ออกมา ก็สามารถเอามาอ้างให้ทำงานได้

ช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ที่อื่นเดือดร้อน ที่ชุมชนของคุณประยงค์ไม่เดือดร้อน เพราะรู้ตัวล่วงหน้าแล้วถอยหลังไปตั้งหลักใหม่ เป็นจุดเริ่มต้นที่ได้ขยายแนวคิด ที่จริงทำมาไม่สำเร็จก็เยอะ ทดลองเองก่อน อะไรที่ไม่สำเร็จก็เก็บไว้ อะไรที่สำเร็จก็เอามาขยายผล จึงเกิดความร่วมมือ

การทำแผนแม่บท เห็นว่าปัญหาต่างๆ เกิดจากคน จึงต้องเริ่มจากคน ทุกฝ่ายแก้ปัญหาตนเองก่อน เวลาที่เหลือจึงไปแก้ปัญหาของชุมชน งานที่ทำได้เอาไปขยายผลในหลายพื้นที่ ก็ได้ผลเช่นกัน

แผนแม่บทฯ เป็นเครื่องมือการเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนา

การทำให้คนเรียนรู้ ทำให้เขาสามารถวางแผนในการป้องกันปัญหาได้ ไม่ใช่แค่แก้ปัญหา ชาวบ้านในชนบทครอบครองทรัพยากรเยอะมาก แต่ขาดความรู้ไม่สามารถจัดการทรัพยากรได้ ต้องอาศัยคนภายนอก คนภายนอกจึงใช้เจ้าของทรัพยากรเป็นเครื่องมือสร้างความร่ำรวยให้ตนเอง

การทำเรื่องกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน ยังไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน เคยไปดูงานที่ญี่ปุ่น เขาใช้วิธีพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถ ใช้เวลาเป็น ๒๐ กว่าปี แก้ปัญหาความยากจนความเดือดร้อนของตนเองได้ ทั้งๆ ที่เขาอยู่บนหิน เราไปเลียนแบบเขา เอาแบบช่วงปลายของเขามา (OTOP) ถ้าเราทำเหมือนเขาตอนปลาย ไปไม่รอด ชาวบ้านกลายเป็นเครื่องมือทางธุรกิจ เพราะไม่ได้พัฒนาเขาก่อน

คนควรเรียนรู้ให้ลึกถึงการจัดการทรัพยากร

ชุมชนคนชนบทและชุมชนเมืองต้องประสานความร่วมมือกันให้มากกว่านี้ ยกตัวอย่างเช่นผลผลิตที่มีสารอันตราย ผู้ผลิต-ผู้บริโภคต้องสร้างเครือข่ายร่วมมือกันให้มากขึ้น จะได้สิ่งที่เป็นอาหารปลอดภัย

ความรู้ในสถาบันการศึกษามีเยอะ แต่ไม่ลงไปถึงชุมชน พยายามไปประสานตรงนี้ มีกิจกรรมร่วมกัน เช่น ทำวิจัยเรื่องเกี่ยวกับชุมชน ที่ชุมชนต้องการ ผลเอามาใช้ประโยชน์ได้ทันที เป็นการเรียนรู้อีกวิธีหนึ่ง

คุณประยงค์บอกว่าตนเองจบ ป.๔ ได้ปริญญากิตติมศักดิ์ ๑๐ กว่าสถาบัน “เอาไปอวดเด็กได้ แต่ใช้ประโยชน์ไม่ได้” อยากได้ของจริงที่เอาไปใช้ประโยชน์ได้ “ผมไม่มีความรู้มากพอ แต่สามารถจัดการความรู้ได้ ไม่เคยหยุดที่จะทำเรื่องกระบวนการเรียนรู้ อยากรู้อะไร สามารถทำให้รู้ได้ทุกเรื่อง” การจัดการความรู้ ต้องจัดการทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ทำเรื่องเดียวไม่พอ

หน่วยงานไม่สามารถบูรณาการกันได้ แต่ชาวบ้านเป็นผู้บูรณาการหน่วยงาน เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง ถ้าไม่เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง คนมาทำงานได้ผลงานไปเลื่อน ซี ชาวบ้านไม่ได้อะไร บางทีคนใหม่มาไม่เอาอีก ต้องเอาชาวบ้านเป็นแกนหลักในการพัฒนา หน่วยงานเป็นส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วม แนวคิดนี้สวนกระแส มีคนว่าเป็นคอมมิวนิสต์พันธุ์ใหม่

จะทำอะไรแต่ละเรื่องต้องประสานความร่วมมือ ส่วนใดที่ชาวบ้านจะได้ประโยชน์ ส่วนไหนที่หน่วยงานจะได้ผลงาน

คุณประยงค์พูดทิ้งท้ายว่าตนเอง “ไม่มีวิชาการ แต่มีประสบการณ์”

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 153607เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2007 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอบคุณอ.วัลลา ที่เก็บเรื่องดีๆมาเล่า
  • มีประโยชน์ต่อคนทำงานชุมชนมากเลยค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท