ความสำคัญของสารชีวภาพเพื่อการเกษตร


สารชีวภาพเพื่อการเกษตร

                สารชีวภาพเพื่อการเกษตรมีความสำคัญกับระบบเกษตรกรรมในยุคปัจจุบันนี้   เพื่อนำมาใช้ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร     เป็นการทำการเกษตรกรรมทางเลือกอย่างหนึ่งที่ประยุกต์ใช้กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทางการเกษตรมาใช้  ทำให้สามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัยกับผู้บริโภค และช่วยฟื้นฟู  บำรุง  รักษา  ระบบสิ่งแวดล้อม ให้คงอยู่ในสภาพที่สมดุลตลอดไป  ซึ่งสามารถสรุปความสำคัญได้ดังนี้

                4.1 ความสำคัญต่อระบบสิ่งแวดล้อม

                     1) ช่วยหมุนเวียนธาตุอาหารในดิน  สารชีวภาพทางการเกษตรเป็นการนำกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีประโยชน์นำมาใช้ในการผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะการผลิตพืช ซึ่งจัดว่าพืชเป็นผู้ผลิตในระบบนิเวศที่สำคัญ ที่ต้องอาศัยดินเป็นที่เกาะยึด  เป็นแหล่งอาหาร  แหล่งน้ำ  และแหล่งอากาศ โดยเฉพาะธาตุอาหารพืชนั้น  ในสภาพธรรมชาติจะถูกปลดปล่อยออกมาจากดินในรูปของสารอนินทรีย์  และถูกปลดปล่อยออกมาจากชิ้นส่วนของพืช  สัตว์และจุลินทรีย์ที่ตาย ในรูปของสารอินทรีย์  ให้พืชดูดไปใช้    ซึ่งจุลินทรีย์ดินจัดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตในดินที่มีบทบาทต่อการย่อยสลายสารอินทรีย์เหล่านั้น  ทำให้เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหารในวัฏจักรคาร์บอน  วัฏจักรไนโตรเจน   วัฏจักรฟอสฟอรัส และวัฏจักรกำมะถัน    ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ธาตุอาหารพืชดังกล่าวออกมาเป็นประโยชน์กับพืช    ดังนั้นหากดินมีสารพิษตกค้างจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรก็ย่อมทำให้จุลินทรีย์ดินที่มีประโยชน์ในวัฏจักรต่าง ๆ ลดจำนวนลงหรือไม่มี ก็ย่อมทำให้การหมุนเวียนธาตุอาหารในดินที่เป็นประโยชน์กับพืชหยุดชะงัก  พืชก็ย่อมไม่เจริญเติบโตตามวงจรชีวิต  จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีในการเพิ่มธาตุอาหารซึ่งหากใช้ติดต่อกันย่อมทำให้ดินเสื่อมโทรมในที่สุด

    2)  ทำให้ดินมีชีวิต  การใช้สารชีวภาพทางการเกษตรในดินที่มีคุณสมบัติทางชีวภาพ ที่ดี กล่าวคือดินที่มีสิ่งมีชีวิตในดินจำนวนมากทั้งชนิดและปริมาณ ก็ย่อมไม่มีผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเพราะสารชีวภาพไม่มีผลตกค้างในสิ่งแวดล้อม  แต่ทำให้สิ่งมีชีวิตในดินเพิ่มจำนวนตามธรรมชาติได้มากขึ้น เพราะมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์  ส่วนการใช้สารชีวภาพทางการเกษตรในดินที่เสื่อมโทรมร่วมกับการใส่อินทรีย์วัตถุ   ก็ย่อมช่วยฟื้นฟูดินให้มีสิ่งมีชีวิตในดินเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการช่วยหมุนเวียนธาตุอาหารพืชในที่สุด ทำให้ดินบริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ตามสภาพธรรมชาติ

   3) ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำการเกษตร   การปลูกพืช   การเลี้ยงสัตว์ และการประมง ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นจากการเลี้ยงสัตว์    น้ำเน่าเสียจากการประมง  ดังนั้นหากนำสารชีวภาพทางการเกษตรที่มีคุณสมบัติในการช่วยลดกลิ่น และช่วยบำบัดน้ำเสีย  ก็ย่อมทำให้ลดผลกระทบจากสาเหตุดังกล่าวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ปัญหาสารพิษตกค้างในดินและน้ำก็ลดน้อยลงเช่นเดียวกัน

                4.2 ความสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจ

    1) ลดต้นทุนในการผลิต   การใช้สารชีวภาพทางการเกษตร  สามารถใช้ทดแทนสารเคมีทางการเกษตรในระยะยาวได้เป็นอย่างดี  หากผู้ใช้เข้าใจหลักการผลิตและการใช้ที่ถูกต้อง   ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีทางการเกษตรที่มีราคาแพงมาใช้  ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่ลดลง ลดความเสี่ยงต่อการขาดทุน จากราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอนได้เป็นอย่างดี

    2) สร้างอาชีพการผลิตสารชีวภาพเชิงธุรกิจ    ในสภาพปัจจุบันนี้การใช้สารชีวภาพทางการเกษตร  เป็นทางเลือกหนึ่งของการทำการเกษตรอินทรีย์  หรือเกษตรผสมผสาน หรือเกษตรทฤษฎีใหม่   ที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผลผลิตเป็นสำคัญ  ทดแทนการทำการเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ใช้สารเคมีทางการเกษตรในกระบวนการผลิต ทำให้ผลผลิตอาจมีสารพิษตกค้าง  ดังนั้นผู้ผลิตสารชีวภาพทางการเกษตรจึงสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด  เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ให้กับครัวเรือน หรือชุมชน อีกทางเลือกหนึ่ง

    3) เป็นพื้นฐานในการสร้างเศรษฐกิจแบบพอเพียง     พระราชดำรัสเกี่ยวกับแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่ดำริถึงการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล  การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ   นั้น หากประชาชนชาวไทยนำมาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพทางการเกษตร ก็ต้องพิจารณาแนวทางการผลิต  ที่ต้องผลิตแบบพึ่งพาตนเอง  ผลิตไว้ใช้ในครัวเรือน  หากมีเหลือก็แจกจ่ายหรือขาย   ส่วนการพิจารณาปัจจัยการผลิต ก็เช่นเดียวกัน  คือต้องเป็นปัจจัยที่พึ่งตนเอง  ดังนั้นการนำสารสารชีวภาพทางการเกษตรมาใช้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการพึ่งตนเอง 

                4.3 ความสำคัญต่อสภาพทางสังคม

                    1) สร้างภูมิคุ้มกันสุขภาพอนามัยให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภค    การใช้สารชีวภาพทางการเกษตรเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันสุขภาพอนามัยให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ เพราะสารชีวภาพทางการเกษตรไม่มีสารพิษ หรือเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุทำให้มนุษย์เจ็บป่วย  ดังนั้นผู้ผลิตจึงมีความปลอดภัยในการใช้  ส่วนผู้บริโภคก็ได้อาหารที่ปลอดภัยบริโภค   ทำให้ภาระในการดูแลผู้ป่วยลดน้อยลง

    2) สร้างความเข้มแข็งให้ครัวเรือนและชุมชน     การใช้สารชีวภาพทางการเกษตรในการเพาะปลูกพืชเลี้ยงสัตว์  และการประมง ย่อมต้องอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยเฉพาะการใช้สารชีวภาพเพื่อป้องกันศัตรูพืชและสัตว์    ที่ต้องใช้พืชสมุนไพรในท้องถิ่นมาใช้ในการผลิต  การหาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ    ดังนั้นสังคมไทยจึงควรหันกลับมามองต้นทุนทางทรัพยากร  ทางสังคม และวัฒนธรรม ที่สั่งสมมาในชุมชนแต่ละชุมชน   เพื่อการผลิตแบบพึ่งตนเอง  สิ่งเหล่านี้หากมีกระบวนการขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนก็ย่อมทำให้ครัวเรือนและชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น    สามารถลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกได้

หมายเลขบันทึก: 153221เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2007 03:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สารชีวภาพมีความสำคัญต่อด้านใดบ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท