มะเร็งเต้านม


นมใครก็นมใคร

                   มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดอันหนึ่งในผู้หญิง  และเป็นสาเหตุการตาย ที่สำคัญของผู้หญิง อัตราเฉลี่ยของผู้หญิงที่เป็น  พบประมาณ 1 ใน 9 ของผู้หญิงทั้งหมด

สาเหตุของมะเร็งเต้านม

 

มีหลายปัจจัยทีเชื่อว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งเต้านม คือ

  1. พันธุกรรม เชื่อว่า มะเร็งเต้านม ประมาณ 30% มีการสัมพันธ์กับ ประวัติครอบครัว หรือ ยีน
  2. อาหาร พบว่า การทานอาหารที่ไขมันสูง อาหารทอด อาจเพิ่มอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งเต้านมได้ (รายงานของ National Cancer Institute)
  3. Hormone พบว่า การใช้ Hormoneใน เพศหญิงเช่นการทานยาคุมกำเนิดตั้งแต่อายุยังน้อย ทานเป็นเวลานานๆ อาจเพิ่มอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งเต้านม การให้Hormone ทดแทน ในหญิงวัยทอง ก็สามารถเพิ่มอุบัติการณ์การเป็นมะเร็งเต้านมเล็กน้อยเช่นเดียวกัน
  4. ความอ้วน พบว่า ผู้หญิงที่อ้วน โดยเฉพาะในช่วงหลังหมดประจำเดือน เพิ่มอุบัติการณ์ การเป็นมะเร็งเต้านม 1.5-2.0 เท่า
  5. การให้นมลูก สมัยก่อนเคยมีรายงานว่าผู้หญิงที่เคยให้นมลูกมากกว่า 36 เดือนทั้งชีวิต จะลดการเป็นมะเร็งเต้านม แต่ปัจจุบันไม่เชื่อทฤษฎีนี้แล้ว
  6. การเข้าสู่ระยะหมดประจำเดือน พบว่าการเข้าสู้ระยะหมดประจำเดือนเร็ว เช่นประจำเดือนหมด ตั้งแต่อายุก่อน 45 ปี โอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมจะน้อยกว่าคนที่ประจำเดือน หมดช้า เช่น ประจำเดือนหมดอายุ 55 ปี ถึง 2เท่า
  7. การมีบุตร พบว่าในคนที่ไม่มีบุตร มีอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งมากกว่าคนมีบุตร 30-70% ยิ่งมีบุตรคนแรกอายุน้อยอุบัติการณ์จะยิ่งลดลง แต่ถ้ามีบุตรคนแรกอายุมากกว่า 30 ปี โอกาสเป็นมะเร็ง ก็จะสูงขึ้น
  8. มีเนื้องอกที่อื่น พวกนี้มักมีเรื่องของพันธุกรรมมาเกี่ยวข้อง โอกาสที่มีมะเร็งเต้านมก็จะสูงขึ้น
  9. กัมมันตรังสี โดนรังสีมากๆ อุบัติการณ์สูงขึ้น ตอนนั้นพบว่าคนที่อยู่ที่ญี่ปุ่นใกล้เมือง ที่โดนระเบิดปรมาณู เป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น แต่สำหรับ การฉาย X-ray พบอุบัติการณ์ที่จะเป็นมะเร็งน้อยกว่า 1% ดังนั้นคงไม่ต้องกลัวนะคะ

ลักษณะของก้อนที่เป็นมะเร็งเต้านม

โดยทั่วไปมักมาโรงพยาบาลด้วยก้อนในเต้านม ก้อนในเต้านมที่มีลักษณะบ่งชี้  ไปในทางไม่ดีจะมีลักษณะดังนี้

    1. โตเร็ว
    2. แข็งขอบไม่ชัด
    3. ติดแน่นกับเนื้อเยื่อรอบข้าง
    4. ที่ใกล้เต้านมบริเวณดังกล่าวบุ๋มลงไป หรือผิวหนังมีลักษณะคล้ายผิวส้ม
    5. มีหัวนมบุ๋มลงไป
    6. มีเลือดออกทางหัวนม
    7. มีต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้โตร่วมด้วย

นอกจากนี้อาจมาโรงพยาบาลด้วย มีน้ำคล้ายเลือดไหลออกทางหัวนม   แต่พบน้อยกว่า

    - การตรวจที่ดีที่สุดคือ ตรวจด้วยตัวเอง โดยอาจทำขณะอาบน้ำหรือก่อนนอน
    โดยยกแขนข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจขึ้น เอามือไว้หลังท้ายทอย
    ใช้มือฝั่งตรงข้าม โดยใช้ฝ่ามือค่อยๆคลึงเบาๆไปให้รอบเต้านม ไม่ใช่บีบ
    เต้านม สังเกตหน้ากระจกว่า เต้านม 2 ข้างยังเท่ากันดีหรือเปล่า
    - เมื่ออายุประมาณ 35 ปี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย รวมทั้งทำ
    mammogram เป็นการ x-ray เพื่อ check เต้านม ทำปีละครั้ง
    ไปเรื่อยๆทุกปี แค่นี้ก็พอแล้วครับ
    - ถ้ามีอะไรที่สงสัยว่าผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ทันที

 

การรักษา

 

ปัจจุบัน เชื่อว่า มะเร็งเต้านม ไม่ใช่โรคที่เป็นเฉพาะที่ แต่เชื่อว่าเป็นโรคทั้งระบบของร่างกาย (Systemic Disease) ดังนั้น ในการรักษา การผ่าตัดอาจไม่เพียงพอ อาจต้องมีการให้ เคมีบำบัด หรือ การใช้ Hormone ช่วยในการรักษา

การผ่าตัดปัจจุบันที่ทำกันบ่อยๆ มี 2 ชนิด คือ

  1. ตัดเต้านมออกทั้งหมด คือจะตัดเต้านมข้างที่เป็นมะเร็งออกทั้งหมดรวมทั้งเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกไปด้วย เป็นการผ่าตัดมาตรฐานที่ทำกันอยู่
  2. ตัดเต้านมออกบางส่วน
    จุดประสงค์ก็คือ ต้องการเก็บเต้านมไว้เพื่อความสวยงาม โดยอาจตัดออกไปกว้างขึ้น บริเวณที่ก้อนเนื้องอกอยู่ แต่ว่าการผ่าตัดชนิดนี้ ไม่สามารถทำได้ใน ผู้ป่วยทุกคน จะสามารถทำได้ในกรณีที่
  • ก้อนไม่ใหญ่มาก
  • ยังคลำไม่พบต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
  • ก้อนไม่ได้อยู่ตรงกลางหรือใกล้หัวนม
  • ผ่าแล้วเต้านมที่เหลือต้องดูสวย เพราะจุดประสงค์ใหญ่คือ ความสวยงาม ด้วย นั่นคือ ถ้า เอาเนื้องอกออกแล้ว เต้านมผิดรูปมาก ไม่สวย ไม่ควรทำวิธีนี้

หลังจากผ่าตัดแบบไม่ตัดเต้านมออกทั้งหมด ผู้ป่วยจะต้องได้รับการฉายแสงที่บริเวณเต้านมที่เหลือ

ส่วนเรื่อง เคมีบำบัด การใช้ Hormone คงต้องดูระยะของโรค ชนิดของ Cell ซึ่งการผ่าตัดทั้ง 2 ชนิด ก็ยังต้องรับการรักษาต่อเหมือนกัน

สรุป        ถ้า เอาเต้านมออกหมด ไม่ต้องฉายแสง แต่ถ้า เก็บเต้านม ต้องฉายแสง

การป้องกัน

 

การป้องกันที่สำคัญที่สุด คือ การค้นหาโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการเพื่อจะได้รีบรักษาก่อนที่จะลุกลาม

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

 

ช่วงไหนที่เหมาะ
ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการตรวจเต้านมด้วยตนเอง จริงๆแล้วสามารถตรวจได้ทุกวัน แต่พบว่าช่วง 7 วันหลังมีประจำเดือน ช่วงนี้เต้านมจะไม่ตึงจนเกินไป จะทำให้ตรวจง่าย

เริ่มเมื่อไหร่ดี?
จริงๆ เราสามารถคลำได้ทุกวันที่มีโอกาส เริ่มตั้งแต่อายุ 20 ปีเลยก็ได้ครับ ส่วนเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป(หรือ 30ปี ขึ้นไปในคนไข้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ก็ ไปทำ Mammogram ปีละครั้ง ไปเรื่อยๆครับ; )
การตรวจเต้านมด้วยตนเองมี 3 วิธี
1.ยืนหน้ากระจก
-
ปล่อยแนบข้างลำตัวตามสบาย เปรียบเทียบเต้านมทั้ง 2 ข้างว่ามีการบิดเบี้ยวของหัวนม ความสูงต่ำ ของหัวนม หรือ สิ่งผิดปกติอื่นๆหรือไม่
-
ประสานมือทั้ง 2 ข้างเหนือศรีษะแล้วกลับมาอยู่ในท่าท้าวสะเอว พร้อมทั้งดูสิ่งที่ผิด ปกติ
-
ให้โค้งตัวมาข้างหน้าโดยใช้มือทั้ง 2 ข้าง วางบนเข่า ในท่านี้เต้านมจะห้อยลงไปตรง อาจมองเห็นความผิดปกติได้ชัดมากขึ้น
2.นอนราบ
-
นอนในท่าที่สบายแล้วสอดหมอน หรือม้วนใต้ผ้าใต้ไหล่ซ้าย
-
ยกแขนด้านเดียวกับเต้านมที่จะตรวจเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมด้านนั้นแผ่ราบซึ่งจะ ทำให้ คลำพบ ก้อนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะส่วนบนด้านนอก ซึ่งมีเนื้อนมหนามากที่สุด และเกิดมะเร็งบ่อยกว่าส่วนอื่น
-
ให้ใช้ 3 นิ้ว คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และ นิ้วนาง คลำทั่วทั้งเต้านมและรักแร้ ที่สำคัญคือ ห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกว่ามีก้อน ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่
3.ขณะอาบน้ำ
-
สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็ก
ให้วางมือข้างเดียวกับเต้านม ที่ต้องการตรวจบนศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างคลำ ในทิศทางเดียวกับที่คลำในท่านอน
-
สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้มือข้างนั้นประคองและตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างให้คลำจากด้านบน
วิธีการคลำมีดังนี้
การคลำในแนวก้นหอย
-
โดยเริ่มจากส่วนบนไปตามแนวก้นหอย จนกระทั่งถึงฐานเต้านมบริเวณรักแร้
การคลำในแนวขึ้นลง
-
เริ่มจากใต้เต้านมถึงรักแร้แล้วขยับนิ้วทั้ง 3 คลำในแนวขึ้นและลงสลับกันไปเรื่อยๆจนทั่วทั้งเต้านม
การคลำในแนวรูปลิ่ม
-
เริ่มจากส่วนบนของเต้านมจนถึงฐานแล้วกลับสู่ยอดอย่างนี้ไปเรื่อยๆให้ทั่วทั้งเต้านม
คำสำคัญ (Tags): #รพ.คูเมือง
หมายเลขบันทึก: 153215เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2007 01:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท