020 : ที่มาของคำว่า ‘ในหลวง’ จากหนังสือ สาส์นสมเด็จ


  

ในหนังสือ สาส์นสมเด็จ ซึ่งเป็นเอกสารที่ผู้รู้และนักวิชาการทั้งหลายยกย่องถือว่าเป็นคลังแห่งความรู้หลากหลาย บรรจุเรื่องราวต่างๆ ที่น่ารู้ มีทั้งตำนาน ประวัติศาสตร์ โบราณคดี อักษรศาสตร์และศิลปศาสตร์นั้น

 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ประทานพระอธิบายที่มาของคำว่า ในหลวงไว้ในเล่ม 12 หน้า 163-167

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 
 

เนื่องจากหนังสือเล่มนี้หาอ่านได้ยากสักหน่อย

ผมจึงได้ไปค้นคว้าที่หอสมุดแห่งชาติ พบว่าหนังสืออยู่ที่ชั้น 3

 

หอสมุดแห่งชาติ (วันที่ไปค้นคว้า กำลังซ่อมชั้นล่าง)

เมื่อได้สำเนามาแล้ว ผมรู้สึกยินดีเหลือประมาณ

จึงได้คัดลอกเนื้อความไปนำเสนอในหนังสือพิมพ์

เพื่อให้ความรู้เข้าถึงได้ง่าย & กว้างยิ่งขึ้น

(คอลัมน์ ท่องเวลา-ผ่าอารยธรรม เซ็คชั่นจุดประกายเสาร์สวัสดี นสพ. กรุงเทพธุรกิจ)


.

ผมสัญญาตัวเองไว้ว่า หนังสือพิมพ์นำลงแล้วเมื่อไร

จะนำมาเสนอผ่านบล็อกใน GotoKnow จะได้เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ  อีกทั้งยังเป็นสิริมงคลแก่บล็อก พลังแห่งแผ่นดิน อีกโสดหนึ่งด้วย

 

ภาพปกใน หนังสือ สาส์นสมเด็จ เล่ม 12 

(เล่มนี้ยังไม่มีการพิมพ์ซ้ำ)


ในการคัดลอกเนื้อความ ผมได้จัดย่อหน้าเพิ่ม
 และเน้นตัวหนาคำสำคัญบางคำ เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น

ขอเชิญอ่านพระอธิบายได้ ณ บัดนี้



คำถามที่ 4 คำว่า ในหลวงกับคำ ในกรมหมายความว่าอย่างไร

ตอบคำถามที่ 4 ว่า คำ ใน นั้น หมายความตรงข้ามกับคำ นอก  คำว่า หลวงนั้น โดยลำพังคำชั้นเดิมหมายความว่า ใหญ่โตดูเหมือนคำภาษาอังกฤษว่า Great เป็นคุณศัพท์ Adjective สำหรับประกอบกับคำที่เป็นนามศัพท์ ยกตัวอย่างดัง เขาหลวงหมายความว่าภูเขาที่ใหญ่กว่าเพื่อน บางหลวงหมายความว่าคลองต้นที่ใหญ่ยาวยิ่งกว่าเพื่อน เมืองหลวงหมายความว่าเมืองใหญ่ที่เป็นราชธานี วังหลวงหมายความว่าวังที่เป็นใหญ่ (อันเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน)

คำ กรม นั้น หมายความคนหมู่หนึ่งซึ่งจัดให้มีผู้บังคับบัญชาต่างหาก เช่น กรมมหาดเล็ก” “กรมช่างสิบหมู่และ กรมอาลักษณ์เป็นต้น คล้ายกับคำ Department หรือ Regiment ในภาษาอังกฤษ แต่ไทยเรียกว่า กรมทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ถึงกระทรวงเสนาบดี แต่โบราณก็เรียกว่า กรม เช่น กรมเมือง” “กรมวัง” “กรมคลังและ กรมนาเพิ่งเรียกว่า กระทรวงในรัชกาลที่ 5

แต่ที่เอาคำหลวง ประกอบกับคำในเป็นนามศัพท์ เรียก พระเจ้าแผ่นดินและเอาคำ กรมประกอบกับคำ ในเป็นนามศัพท์เรียก เจ้านายซึ่งมียศเป็นเจ้ากรมต่างหาก เคยเห็นแต่ในหนังสือแต่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้

มูลที่เกิดคำ ในหลวงและ ในกรมมีเงื่อนอยู่ในพงศาวดารพอจะคิดวินิจฉัยได้บ้าง

จะกล่าวอธิบายคำ ในหลวง ก่อน

ดูเหมือนมูลจะมาแต่วิธีปกครองของไทยตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เอาสกุล Family เป็นหน่วย เรียกว่า ครัวอันเป็นที่ทำอาหารมาเรียก ก็พอคิดเห็นได้ คงเป็นเพราะแต่ละสกุลมากบ้างน้อยบ้างเอาเป็นกำหนดยาก แต่สกุล 1 คงต้องมีเรือนครัวไฟหลังหนึ่งสำหรับทำอาหารกินด้วยกัน จึงเอาครัวเป็นหน่วยด้วยประการฉะนี้ ก็การปกครองสกุลหรือครัว พ่อย่อมปกครองเป็นธรรมดา จึงเรียกผู้ปกครองขั้นต้นว่า พ่อครัว (คนภายหลังเอาคำพ่อครัวไปเรียกหัวหน้าพนักงานทำอาหาร Cook นั้นเป็นด้วยเข้าใจผิด)

ต่อมาถึงขั้นที่ 2 อาศัยเหตุที่สกุลต่างๆ อันตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องที่อันเดียวกัน มักเป็นญาติพี่น้องเกี่ยวดองกัน จึงให้พ่อครัวคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปกครองสกุลทั้งหลาย รวมกันเรียกว่า พ่อบ้าน

ต่อมาอีกขั้น 1 หลายบ้านเช่นนั้นรวมกันเป็น เมืองมีกำหนดที่แผ่นดินเป็นอาณาเขตปกครองคั่นต้น (ในเอกสารต้นฉบับสะกดตามที่ให้ไว้ว่า คั่นต้น) เรียกผู้ปกครองว่า พ่อเมือง คงเป็นคนเกิดในเมืองนั้นเอง

แต่เมืองชั้นนี้เป็นเมืองน้อย ต้องขึ้นต่อเมืองใหญ่ต่อขึ้นไป จึงเรียกกันว่า เมืองขึ้นต่อไปอีกขั้น 1 ถึงเมืองใหญ่ จะเรียกว่า เมืองออกหรืออย่างไรไม่ทราบแน่ แต่พระเจ้าแผ่นดินให้มีผู้มาอยู่ปกครอง ผู้ปกครองนั้นเรียกว่า ขุน เช่น ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ได้บังคับบัญชาเหล่าเมืองน้อยที่เป็นเมืองขึ้นอย่างประเทศราชขึ้นต่อเมืองหลวง

ต่อขึ้นไปก็ถึงเมืองหลวงที่พระเจ้าแผ่นดินปกครอง เดิมเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า พ่อขุน เช่น พ่อขุนรามคำแหง

แต่สังเกตในศิลาจารึกสุโขทัย เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่าพ่อขุน เพียงรัชกาลพระเจ้ารามคำแหง รัชกาลต่อมาจารึกเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า พระญา หรือคำอื่น หาเรียกว่าพ่อขุนไม่

เหตุใดจึงเลิกใช้คำว่าพ่อขุน ก็ดูเหมือนจะพอคิดได้ ด้วยคำว่า พ่อขุน หมายความว่า เป็นใหญ่ในสกุลหรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งเป็นแต่ไทยด้วยกัน เมื่อขยายราชอาณาเขตออกไปปกครองถึงบ้านเมืองของชนชาติอื่นๆ มีพระเกียรติยศสูงกว่าพ่อขุน น่าสันนิษฐานว่าจะใช้คำ ขุนหลวง หมายความเป็นขุนใหญ่กว่าขุนอื่นทุกชาติทุกภาษา คือ ราชาธิราช ก็เป็นได้

แต่ไม่พบใช้คำ ขุนหลวงในจารึกสุโขทัย ก็ไม่กล้ายืนยันว่าคำนี้ จะเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย เพราะเหตุนั้นแต่เมื่อถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา คำที่คนพูดกันเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า ขุนหลวงถ้าคำนั้นเกิดขึ้นสมัยสุโขทัย อาจจะเอาใช้ในกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อรวมเมืองเหนือกับเมืองใต้เข้าเป็นอันเดียวกันก็เป็นได้

แต่อย่างไรก็ตาม ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า ขุนหลวงกันแพร่หลายมาจนตลอดสมัย เรียกพระเจ้าแผ่นดินที่ยังเสวยราชย์อยู่ว่า ขุนหลวง เรียกพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยเอาคำอื่นประกอบเข้าข้างท้ายให้รู้ว่าองค์ไหน เช่น เรียกว่า ขุนหลวงเสือ” “ขุนหลวงท้ายสระ” “ขุนหลวงบรมโกศ” “ขุนหลวงหาวัดและ ขุนหลวงพระที่นั่งสุริยามรินทรแม้พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เรียกกันว่าขุนหลวงตากเป็นที่สุด

คำว่าขุนหลวงนี้เป็นมูลที่ตัดเอาคำ หลวงข้างท้ายไปประกอบ ใช้หมายความว่า เนื่องด้วยพระเจ้าแผ่นดิน  เช่นว่า คนหลวง” “ช้างหลวง” “เรือหลวงหมายความว่า คน ช้างและเรือ อันเป็นของขุนหลวง แล้วพูดลดคำ ขุนให้คงเหลือเพียง 2 พยางค์โดยสะดวกปาก เลยเกิดคำ ของหลวง หมายความสรรพสิ่งบรรดาซึ่งเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน แล้วใช้เลยไปโดยไม่สังเกตความ ถึงเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า ของหลวง

คำนี้มีอยู่ในตำรากระบวนเสด็จประพาส ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ประชุมข้าราชการครั้งกรุงศรีอยุธยา 20 คน ประชุมกันแต่งขึ้น (หอพระสมุดฯ พิมพ์ไว้ในหนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ 19) ในตำรานั้นเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า ของหลวงเช่นว่า ปลูกพลับพลารับเสด็จของหลวงดังนี้ เห็นจะใช้เรียกกันมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว

คำว่า ในหลวง ก็อยู่ในคำพวกเดียวกัน เห็นจะมาแต่ ในวังขุนหลวง หรือ ในกิจการของขุนหลวง แล้วก็เลยเรียกหมายความต่อไปถึงพระองค์พระเจ้าแผ่นดินตามสะดวกปากว่า ในหลวงอย่างเดียวกับคำว่า ของหลวง

แต่สังเกตเห็นในหนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ 19” ซึ่งกล่าวมาแล้วอย่างหนึ่ง ที่ใช้คำเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า ของหลวง มีแต่ในตำราที่แต่งครั้งกรุงธนบุรี ถึงตำราที่แต่งในรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ ใช้คำว่า ในหลวงทั้งนั้น หาใช้คำของหลวงไม่ อาจจะเป็นเพราะสั่งให้เลิกใช้คำ ของหลวงและใช้คำ ในหลวงแทนเมื่อสมัยนั้นก็เป็นได้

(จบพระอธิบายคำว่า ในหลวงในหน้า 167

ข้อความต่อจากนี้ไปจนถึงหน้า 169 เป็นการอธิบายคำว่า ในกรม

ซึ่งโดยสรุปแล้วมาจากคำว่า เสด็จในกรม นั่นเอง) 


ขุมทรัพย์ทางปัญญา


หมายเลขบันทึก: 153002เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2007 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • เป็นความรู้ที่เด็กๆอยากรู้ ถามผมมาหลายคน
  • ผมก็ตอบไปแบบสันนิษฐาน
  • เพิ่งจะได้ หลักฐานชัดเจนวันนี้เอง
  • บันทึกนี้เป็นบันทึกที่ มีคุณค่าจริงๆครับ

สวัสดีครับ อาจารย์พิสูจน์

        รู้สึกดีใจที่บทความมีประโยชน์ครับ

        อาจารย์สามารถนำไปสอน หรือมอบให้กับอาจารย์ท่านอื่นๆ ได้ตามความสนใจครับ

  น้องของหนูก็เคยถามว่า ทำไมถึงเรียกว่าในหลวง

หนูก็ตอบไม่ได้ค่ะ มาวันนี้ รีบกลับไปตอบน้องเลย^^

มีประโยชน์มากๆค่ะ ขอบคุณค่า

ดีครับ น่าจะมีคนสงสัยเยอะเหมือนกันนะเนี่ย ;-)

เจริญพร โยมอ.บัญชา

ในกรมกับทรงกรม เหมือนกันหรือต่างกัน

ที่ใต้มีวัดแห่งหนึ่ง "วัดในวัง"นักโบราณคดีท่านว่า ที่สร้างวัดในวังนี้ เคยเป็นที่วังมาก่อน

เจริญพร

กราบนมัสการหลวงพี่ครับ

        ขอลองไปค้นดูก่อนนะครับ ไม่เคยได้ยินคำว่า "ทรงกลม" มาก่อนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท