นวัตกรรมของการประชุมการจัดการความรู้


        ในการประชุมประจำสัปดาห์ของ สคส. วันที่ ๒๐  กรกฎาคม ๒๕๔๘  ได้มีการ AAR  งานเสวนาเรื่องการจัดการความรู้ในสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  โดยการเสวนาในครั้งนี้เป็นการนำเสนองานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ที่เน้นการสร้างความรู้จากปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Modern Science &  Technology)  จาก ๙ กรณีศึกษา ในภาคเกษตรกรรม การแพทย์แผนไทย หัตถกรรม และ  ธุรกิจชุมชนจุลภาค ซึ่ง สคส.จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ณ โรงพยาบาลเปาโล เมมโมเรียล  กรุงเทพฯ
          โดยสมาชิกของ สคส. แต่ละคนได้ให้ข้อคิดเห็นถึงการเสวนาครั้งนี้ตามความรู้สึกของตนเอง  ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่า การเสวนาครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม  เป็นการเสวนาที่มีพลังและคุณภาพมาก มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นอย่างดี ระหว่างเจ้าของผลงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก  คือ  ดร.ยุวนุช  ทินนะลักษณ์,  ผู้ริเริ่มการสร้างความรู้ทั้ง ๙  กรณีศึกษา, ผู้ทรงคุณวุฒิ, ผู้เข้าร่วมที่มาจากหลากหลายกลุ่ม และสื่อมวลชน 
          ซึ่งทาง สคส.  เห็นว่า  บทเรียนจากการเสวนาครั้งนี้สามารถนำมาใช้เป็นมาตรฐานสำหรับการจัดประชุมการจัดการความรู้ครั้งต่อๆ ไป  ได้ดี  จึงขอสรุปปัจจัยสำคัญๆ ของความสำเร็จในการจัดการประชุมครั้งนี้  ดังนี้ คือ
๑.     การคัดเลือกเรื่องที่มีประโยชน์และผลกระทบต่อสังคมไทยในวงกว้าง  ซึ่งในการเสวนาครั้งนี้คือ  การเลือกผลงานวิจัยจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่มีคุณภาพดีของดร.ยุวนุช  ทินนะลักษณ์
๒.    การตั้งหัวข้อหรือชื่อการประชุมเสวนาที่น่าสนใจ
๓.    มีการคัดเลือกหรือการเจาะจงเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มาให้คำแนะนำเสนอแนะข้อคิดเห็นต่างๆ ที่ดีและเหมาะสมกับหัวเรื่องที่พูดคุยเสวนากัน
๔.    มีการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมเสวนาโดยกำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมที่ไม่มากเกินไป  (ซึ่งการเสวนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด ๖๐ คน)  และมีเงื่อนไข คือ  ผู้สมัครเข้าร่วมประชุมจะต้องแจ้งถึงวัตถุประสงค์การเข้าร่วม,  ประเด็นที่จะนำมาร่วมแลกเปลี่ยน  และการจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป  เป็นต้น
๕.    การให้ผู้ที่เป็นเจ้าของผลงาน ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการเองด้วย  เนื่องจาก เป็นผู้ที่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง มองเห็นภาพรวมและสามารถเชื่อมโยงกระบวนการสร้างความรู้ของทั้ง ๙ กรณีศึกษา เพื่อถ่ายทอดให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจและเห็นภาพอย่างชัดเจน  ทำให้เกิดบรรยากาศการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นธรรมชาติ
๖.     สถานที่มีความเหมาะสม  มีการจัดโต๊ะเสวนาแบบ ๒ วง คือ  วงในเป็นเจ้าของผลงานวิจัย, ผู้ริเริ่มการสร้างความรู้ของทั้ง ๙  กรณีศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ  ส่วนวงนอก จะเป็นผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาและสื่อมวลชน  ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมทุกคนสามารถร่วมแลกเปลี่ยนได้อย่างสะดวกและเป็นกันเอง
 
          อย่างไรก็ตามได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า  ควรจะมีการสกัด Knowledge Assets  ของการประชุมการจัดการความรู้ในแต่ละครั้ง และนำเสนอขึ้นจอ Projector เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เห็น ทักท้วง และเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องได้ด้วย  ซึ่งการประชุมวิชาการด้านการจัดการความรู้ครั้งที่ ๑๗  ที่ สคส. จะจัดขึ้นในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๘  ณ  โรงแรมเอเชีย  ก็จะนำบทเรียนหรือนวัตกรรมการประชุมวิชาการจัดการความรู้เหล่านี้ ไปปฏิบัติใช้จริงด้วย 

          ผลจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป  และหากใครจะนำมาตรฐานหรือนวัตกรรมการประชุมวิชาการไปปรับใช้ก็ไม่สงวนสิทธิ์  แต่ถ้าจะให้ดี ขอให้บันทึกผลหรือบทเรียนการนำไปใช้เพื่อให้ทาง สคส. และคนอื่นๆ ได้ร่วมเรียนรู้ด้วย ก็จะดีมากๆ ค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #จัดการความรู้
หมายเลขบันทึก: 1527เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2005 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท