สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๓๓. ชายคาภาษาไทย (๑๒)


โคตร

         คำว่า “โคตร” เป็นคำที่เรารู้จักกันดี บางทีก็ใช้คู่กับ “ตระกูล” เป็น “โคตรตระกูล” ทั้งสองคำนี้เป็นคำต่างชาติ ศาสตราจารย์วิสุทธ์ บุษยกุลและดร. จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ได้อธิบายว่า สิ่งที่แสดงถึงการร่วมตระกูลกันในอินเดียโบราณโดยเฉพาะพวกที่นับถือศาสนาฮินดูก็คือ สปิณฺฑ หรือ การเป็นผู้ร่วมบิณฑ์ ซึ่งก็คือ ก้อนข้าวในพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ ผู้ร่วมบิณฑ์มีเจ็ดชั่วโคตร ตัวเรานั้นเป็นชั่วหนึ่ง นับขึ้นไปสามชั่ว คือ พ่อ/แม่ ปู่/ย่าและตายาย และทวด กับนับลงไปข้างล่างอีกสามชั่ว นั่นคือ ลูก หลาน เหลน ถือว่า เป็นเจ็ดชั่วในโคตรของเรา คำว่า ตระกูล คงมีความหมายกว้างขวางออกไปมากกว่าคือ รวมสาขญาติเข้าไว้ด้วย หนังสือ พระบาฬีลิปิก๎รม ให้ความหมายว่า ร่วมชาติกัน นอกจากนี้ ยังมีคำว่า วงศ์ ซึ่งมาจาก วส ในภาษาบาลี หรือ วศ ในภาษาสันสกฤต คำนี้มีความหมายถึงการสืบโคตรสืบตระกูลกันมาจากบรรพบุรุษต้นวงศ์เดียวกัน

         ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่า คนไทยเรามีคำเก่าที่มีความหมายเหมือนคำว่า โคตร อยู่แล้ว คือ คำว่า “ด้ำ” คือ นับลูกชายต่อกัน 7 ชั่วคนเป็นหนึ่งด้ำ ในสมัยโบราณ คนไทยให้ความสำคัญแก่เรื่องด้ำ เช่น ในจารึกโบราณมีกล่าวถึง “นายสามด้ำขวาน” แปลว่า นายสามเป็นลูกคนที่สามของนายขวาน คำว่า “ด้ำ” จึงทำหน้าที่เดียวกับคำว่า ibn (อิบน์) สำหรับชนมุสลิม แต่ของเรามีความหมายว่า “เป็นโคตรของ” หรือ “ร่วมโคตร” คำว่า “ด้ำ” จึงมีความหมายอย่างกว้างๆ ว่า บรรพบุรุษ สำหรับบรรพบุรุษครั้นตายไปแล้วก็นับถือเป็น “ผีด้ำ” ผีด้ำนั้นย่อมต้องปกป้องคุ้มภัยผู้สืบตระกูล เวลาาสาบานกัน อย่างเช่นในกรณีราชวงศ์เมืองน่าน (หรือ ราชวงศ์กาว) กับราชวงศ์เมืองสุโขทัย (หรือ ราชวงศ์ไทเลิง จารึกหลักที่ 45 [ปู่-หลานสบถกัน] ใช้คำว่า ผู้ดีผีไทเลิง/ไทยเลือง) กระทำสัจสาบานว่าจะเป็นไมตรีกัน ได้เชิญผี ด้ำมาร่วมเป็นพยาน และให้ลงโทษผู้ผิดสาบาน

         ปัจจุบันนี้ คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักคำนี้เสียแล้ว ผู้เขียนเคยได้ยินพิธีกรโทรทัศน์ช่อง 5 ท่านหนึ่ง อุตส่าห์เรียนจบปริญญาเอกมาแต่ไม่รู้จักสำนวน “ผีซ้ำด้ำพลอย” ไปปล่อยไก่อ่านว่า “ผีซ้ำด้ามพลอย” กลายเป็นผีซ้ำเติมด้วยไม้ ด้ามประดับพลอยไป ความหมายเดิมของเขาก็คือ โชคร้ายหนัก ขนาดที่ว่าผีบรรพบุรุษหรือผีรักษาเรือนไม่เพียงแต่ไม่ช่วย หากพลอยซ้ำเติมเสียอีก

         ยังมีคำเก่าอีกคำหนึ่งในภาษาไทยซึ่งแทบไม่มีใครรู้จักแล้ว นั่นคือ คำว่า งาน ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า โคตร ในพระไอยการลักษณะมรดก ประมวลกฎหมายตราสามดวง มีตัวอย่างให้เห็นอยู่น้อยแห่ง เช่น  “ลุงป้าอาวอาผู้มรณ งานเดียวกันได้ทรัพย 2 ส่วนได้รับราชการได้ทรัพย 2 ส่วนกึ่ง ลูกลุงป้าน้าอาวอาผู้มรณะได้ทรัพยส่วนกึ่ง” หมายความว่า ลุงป้าอาว (อาผู้ชาย) อา ซึ่งร่วมโคตรกับผู้ตายได้รับทรัพย์ผู้ตาย 2 ส่วนครึ่ง”

         ขอกลับมายังเรื่องโคตรอีกครั้งให้สมที่ขึ้นป้ายไว้ คำว่า โคตร หมายถึงมีเจ็ดชั่วคน เวลาพูดอย่างเช่นในสำนวน “ประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตร” ก็หมายถึง “สิ้นทั้งโคตรที่เป็นสายตรง” ผมและผู้เชี่ยวชาญในโครงการวิจัยฯ เคยคิดตรงกันว่า เจ็ดชั่วในหนึ่งโคตรควรนับเอาตัวเราอยู่ตรงกลาง นับขึ้นมีชั่ว พ่อ/แม่ ขึ้นไปอีกเป็น ปู่า/ย่า/ตา/ยาย และสุดที่ชั่วทวด ทางข้างล่างนับลงไปได้แก่ลูก หลาน และเหลน ตามลำดับ รวมเป็นเจ็ดชั่ว แต่ต้องเปลี่ยนความคิดว่า แนวคิดที่กล่าวนั้นเป็นแนวคิดทางวัฒนธรรม แต่ยังมีแนวคิดด้านกฎหมายซึ่งแตกต่างออกไป เพราะการกำหนดเรื่องเจ็ดชั่วในหนึ่งโคตรนั้น มีกล่าวอยู่ในพระไอยการลักษณะรับฟ้องอย่างชัดเจน ดังความที่ว่า
     7 มาตราหนึ่ง ฝ่ายแม่ตายายลูกหลานเหลนหลี้โคตหนึ่งแก้ตางกันได้ พ้นหลี้ลงมาได้ชื่อว่าสาขญาต แก้ตางกันมิได้สิ้น 32 ชั่วไช่ญาติเปนสาขาสิ้นแผ่นดินสิ้นญาติ แลฝ่ายพ่อปู่ญ่าหลานหลี้โคดหนึ่ง ลูกปู่ญ่า ลุง  แก้ตางกันได้พ้นนั้นลงมาเปนสาขาพ้นสาขาเปนฉันผู้อื่น 
ผู้เขียนขอเรียงวรรคตอนของข้อความข้างต้นให้ถูกต้องตามอักขรวิธีปัจจุบันใหม่เพื่อความสะดวกของคนรุ่นใหม่ดังนี้
     7 มาตราหนึ่ง, ฝ่ายแม่, ตายายลูกหลานเหลนลื่อ[เป็น] โคตรหนึ่ง, แก้ตางกันได้. พ้นลื่อลงมาได้ชื่อว่า สาขญาติ แก้ตางกันมิได้. สิ้น 32 ชั่วใช่ญาติ, เปนสาขาสิ้นแผ่นดินสิ้นญาติ. แลฝ่ายพ่อปู่ญ่า[ลูก]หลานหลี้[เป็น]โคตรหนึ่ง. ลูกปู่ย่าลุงแก้ตางกันได้. พ้นนั้นลงมาเปนสาขา, พ้นสาขาเปนฉันผู้อื่น

         ในการร้องฟ้องกันสำหรับคดีอื่นใดที่ไม่ใช่คดีอุทลุมแล้ว คู่ความฝ่ายจำเลยสามารถใช้ญาติพี่น้องเป็นนายประกันว่าต่างแก้ต่างแทนได้ แต่ผุ้ที่แก้ต่างกันได้ต้องอยู่ในโคตรเดียวกัน ซึ่งตามความข้างต้น หมายถึง นับจากชั่วปัจจุบันขึ้นไปสูงสุดเพียงชั้นปู่ย่า/ตายาย ไม่ไปถึงทวด แต่น่าสนใจว่า ส่วนที่นับลงข้างล่างกลับลงไปถึงลื่อ (ลูกของเหลน) พวกเราทั้งหมดเห็นพ้องกันว่า การนิยามเช่นนี้เป็นเรื่องผูกพันกับความมั่นคงของรัฐ โทษกระบถต่อแผ่นดินนั้นกำหนดให้ประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตร หมายถึง ถอนภัยทั้งยวง วิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังคือ ชั่วทวดที่จะลาโลก (หรือจริงๆ แล้ว ลาโลกไปแล้ว ไม่ได้มีโอกาสให้ถูกฟันคอริบเรือน) ไม่อาจเป็นภัยที่สำคัญแก่แผ่นดิน ต่างจากผู้สืบทอดตระกูลซึ่งจะเติบโตเป็นภัยต่อไปข้างหน้าได้ (โดยอาจคิดแก้แค้นที่พระเจ้าแผ่นดินทรงกระทำต่อตระกูลตน)


         เมื่อเป็นดังอธิบายมานี้จึงสรุปได้ว่า โคตร มีความหมายในทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นแนวความคิดที่เป็นธรรมชาติวิสัยของมนุษย์ และมีความหมายในทางกฎหมายอีกอย่างหนึ่ง
 -------------------------------------------------------------------------
  ข้อความเติมเข้าไปเพื่อให้อ่านเข้าใจง่าย ไม่มีในต้นฉบับ

 

หมายเลขบันทึก: 151225เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2007 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท