การรื้อฟื้น "พลังท้องถิ่น" ของชาวบ้านพระบาท ซึ่งมีความภาคภูมิใจวิถีชีวิตชุมชนในอดีต ทำให้สามารถร่วมกันสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านได้สำเร็จ อันมีจุดเริ่มต้นจากเวทีรวบรวมความรู้เกี่ยวกับป่าชุมชนและทรัพยากรในท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านเห็นความสัมพันธ์ของคนกับทรัพยากร และมองเห็นว่าชุมชนที่มีทรัพยากรหลากหลายก็จะมีระบบความรู้ที่หลกหลาย สอดคล้องกับทรัพยากรที่คนในชุมชนนั้นพึ่งพิงและเชื่อมโยงไปถึงระบบคุณค่าและความเชื่อที่แสดงออกมาในวัฒนธรรมประเพณีและพิธีกรรม ที่แสดงถึงความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ จากการจัดการเวทีหลายครั้งทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญของความรู้ที่ตนเองมีอยู่ จึงอยากจัดเก็บ และเผยแพร่ให้สืบทอดต่อไป ถึงลูกหลาน เพื่อให้เห็นรูปธรรมของการจัดการความรู้ในด้านนี้ ได้มีการศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก ทำให้ชาวบ้านได้เห็นแนวคิดและวิธีการที่จะนำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตของตนเองที่น่าจะถ่ายทอดให้กับลูกหลานได้
ชาวบ้านได้กลับมาพูดคุยและออกแบบพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของตนเอง เริ่มด้วยการรวบรวมรายชื่อเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ รวบรวมความรู้ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของตนเอง รวมทั้งการจัดหาสถานที่เก็บความรู้และรับบริจาคสิ่งของเรื่อยมา วางแผนเปิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอย่างไม่เป็นทางการในช่วงสงกรานต์ เพื่อให้ลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัดได้กลับมาเห็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในช่วงสงกรานต์ กิจกรรมที่ร่วมกันทำได้แก่ การก่อสร้างสถานที่ โดยการสร้างบ้านจากไม้ไผ่ทั้งหลัง เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภูมิปัญญาเดิมของชาวบ้าน เยาวชนได้ร่วมมือกันเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้ และเครื่องมือทำมาหากินที่จะนำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์
สิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องคือ การรื้อฟื้นบุญประเพณีบางอย่างที่ชุมชนหยุดทำมานานแล้ว ได้แก่ บุญบั้งไฟ การรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ในวันสงกรานต์ บุญประเพณีที่เกี่ยวกับข้าว เช่น บุญคูนลาน บุญประทายข้าวเปลือก บุญกุ้มข้าวใหญ่ ฯลฯ จากความร่วมมือกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านได้สำเร็จ ทำให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกันในชุมชน นำไปสู่การรื้อฟื้นกิจกรรมที่ชาวบ้านเคยทำล้มเหลวในอดีต เช่น กลุ่มออมทรัพย์ ถึงแม้จะมีผู้พยายามรื้อฟื้นมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งหลังจากการทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านร่วมกัน ชาวบ้านพระบาทสามารถรื้อฟื้นกิจกรรมกลุ่มออมทรัพยืกลับคืนมาได้ อีกทั้งกิจกรรมนี้ทำให้เยาวชนมีทักษะในการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เป็นการเปิดพื้นที่ของเยาวชนในการทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ ซึ่งแต่เดิมเคยมองว่าเด็กเยาวชนทำแต่เรื่องไร้สาระ ทำให้ผู้ใหญ่ได้เห็นความสามารถและความรับผิดชอบของเยาวชน และไว้วางใจให้เยาวชนมาร่วมเป็นกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ด้วย
การทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ทำให้ทุกคนได้เห็นพลังท้องถิ่นที่เป็นระบบความรู้ เครือข่ายทางสังคม ระบบคุณค่าและความเชื่อ ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างสอดคล้องกับฐานทรัพยากร ซึ่งในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ถึงแม้สภาพป่าจะเปลี่ยนแปลงไปหลังจากการสร้างเขื่อน แต่ชาวบ้านก็ยังสามารถฟื้นฟูสภาพป่าให้มีลักษณะเป็นป่าชุมชน ทำให้เราได้เห็นพลังท้องถิ่นที่ยังเคลื่อนไหวอยู่อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญทำให้เราได้เห็น "จุดคานงัดทางสังคม" ของบ้านพระบาทได้ชัดเจน คือ ความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้เฒ่าผู้แก่ ภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ เปิงบ้านที่เด็ก เคารพผู้อาวุโส ซึ่งการรื้อฟื้นพลังท้องถิ่นได้ไปผลักดันจุดคานงัดทางสังคมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชุมชนบ้านพระบาทได้
เรียบเรียงและบันทึกโดย คุณวราภรณ์ หลวงมณี