นกแอ่นกินรัง บันทึกหน้าที่ 9
ตามtrend กันหน่อย ฉลองเดือนแห่งความรัก.. กุมภาพันธ์
เรื่องรักๆ ของนกแอ่นกินรัง
คุณเคยสงสัยอย่างนี้ไหมล่ะ?
"นกแอ่นมีลักษณะการมีคู่ผัวเดียวเมียเดียวหรือป่าวคับ คือตลอดชีวิตจะมีแค่คู่เดียวหากคู่ตาย ก็จะไม่มีอีกเลย ช่วยตอบหน่อยครับ" (ลอกข้อความที่สงสัย--จากแสดงความคิดเห็นไว้ในบันทึกหน้าก่อน มาเลยนะเนี่ย)
ขอเปิดประเด็นอีกหน
(แฮะ..ความเดิม--เรื่องนกกินน้ำ--ยังไม่ได้สรุปเลยนะน่ะ เอ้ารอไปก่อนเถอะประเด็นนั้น)
ก็เดือนนี้หวานแหววสีชมพู ก็เลยให้ท่านที่รู้จักนกชนิดนี้ หรือกำลังทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับมัน แฉเรื่องรักๆ ของมันหน่อยเถอะนะ
ตั้งแต่เคยเปิดประเด็นไว้ ก็ได้เพื่อนใหม่กลับมาอีก และคิดว่าท่านที่เข้ามาอ่านและแลกเปลี่ยนความรู้กันไว้ ก็จะได้ประโยชน์จากการนี้ด้วยแหละ จริงไหม
แม้ว่าบางเรื่องที่เรารู้มาจะเป็นตำนาน หรือเป็นเรื่องเล่า หรือเห็นกับตาที่นอนยันได้ หรือเห็นกับตาเพราะจากการทำวิจัยที่เชื่อถือได้ เขียนกำกับไว้สักหน่อยนะคะ
ข้อสำคัญ
จุดยืนของการสร้างบล๊อคนี้ขึ้นมา เพื่อการเป็นวิชาการที่เป็นวิทยาทาน และเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กัน และทุกท่านสามารถนำไปอ้างอิงได้ค่ะ ขออย่างเดียวอ้างถึงกันหน่อยเท่านั้น อย่าเป็นนกโจรสลัดนะ
สำหรับผู้เขียน เห็นว่า ถ้าไม่มีท่านผู้อยากรู้ แล้วฝากคำถามไว้ เราอาจจนแต้มที่จะเปิดประเด็นhot ไม่รู้จะเอาเรื่องไหนขึ้นมาก่อนดี(ข่าวร้อนประเด็นฮอตมันมีตลอดเวลาแหละเรื่องของคุณนกแอ่นกินรังเนี่ย..บางประเด็นก็ยังปิดแฟ้มกันไม่มิดด้วยซ้ำ)
วันนี้เลยขอเปิดประเด็นทิ้งไว้ ให้เวลาทุกท่านฝากสิ่งที่ท่านรู้ ท่านเห็น (หรือบางคนอยากจะคาดเดาไว้ก็ไม่ว่ากัน) เขียนมาเลยค่ะ
แล้วเราจะกลับมาเขียนบันทึกหน้าที่เก้าใหม่ ในยามที่กลีบกุหลาบยังไม่โรยรา...
23 ก.พ.กลับมาขยายความต่อค่ะ
ประเด็นเรื่องรักๆ ของนกแอ่นกินรังก็มีมากมายหลายตอนอยู่ ตั้งแต่ว่ามันจับคู่กันอย่างไร ผัวเดียวเมียเดียวหรือไม่ หรือว่ามันมีการเปลี่ยน"บ้าน"นอน ("บ้าน"คือ รังอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ หรือไกลๆจากรังของคู่มันนั่นแหละ) แวะเวียนบ้านนั้นบ้านนี้กันเรื่อยไปในแต่ละคืนหรือเปล่า? จนถึงข้อสงสัยที่ว่า แม้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด่วนลาโลกไปก่อน อีกฝ่ายจะอยู่อย่างไร?
ทำไมมนุษย์ถึงอยากรู้...? เราคิดว่า ก็เพราะมันนำไปสู่การคาดประมาณได้ว่าในบ้านหนึ่งหลังสามารถให้นกอาศัยได้กี่คู่ และให้ผลผลิตเพิ่มจำนวนประชากรได้เท่าไรต่อปี (ถ้ามันมั่วกันมากๆ ตัวผู้ตัวเดียวมีหลายบ้านอย่างไก่แจ้ ผลผลิตที่เป็นลูกเล็กที่จะเติบโตมาแทนกันจะเป็นเท่าไร..เมื่อเปรียบเทียบกับการเป็นผัวเดียวเมียเดียว ไม่มั่วน่ะ)...หรือบางทีบางคำถามก็..แค่อยากรู้นิ
ถ้าเราติดเครื่องหมายนกไว้ และติดกล้องโทรทัศน์วงจรปิด(ที่เปิดเครื่องบันทึกภาพไว้ด้วย) เราก็ตอบคำถามเหล่านี้ได้หมด
เพียงแต่ว่าเครื่องหมายต้องติดทนนาน เครื่องหมายต้องแยกแยะนกได้ว่า ไผเป็นไผ และ "กล้องแอบถ่าย (!)" ก็ยังทำงานอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา
มีไอเดียอย่างนี้ มีบ้านรังนกบ้านไหนจะทำวิจัยก็ได้ค่ะ
หรือมีบ้านไหนจะให้เราทำวิจัยเพิ่มเติมบ้างเอ่ย ยกมือขึ้น...รับรองเรามีมือจับนกที่จับได้อย่างนิ่มนวลไม่กระโตกกระตาก และนกไม่ตกใจตาย ไม่กระทบกระเทือนนกสักแอะ--รับรองได้ด้วยจรรยาบรรณของนักวิจัย-- ประกอบกับเรามีวิธีทำเครื่องหมายชั้นยอดที่ถูกที่สุดในโลก (แต่ถ้าคิดค่าเสียเวลาทำ ค่าเดินทางไปทำ และค่าเอาสิ่งที่แอบถ่ายมาวิเคราะห์แล้ว ก็ต้องจัดว่ามีค่าใช้จ่ายอยู่พอสมควร) เครื่องหมายนี้ไม่ทำให้นกบาดเจ็บหรือตาย ก็เรียกว่าเล่นจนจบงานวิจัยปีกว่าๆ ได้แหละ
แล้วจะกลับมาอีกครั้ง มาคุยตอนแรกของเรื่องรักๆ ของนกแอ่นกินรัง..เรื่องการจับคู่ของนก ผัวเดียวเมียเดียวหรือเปล่า
14 มีนาคม 49 เวลาดีที่จะพูดถึงเรื่องคู่รักของนกแอ่นกินรัง หรือนกอีแอ่นกันอีกครั้ง (ห้ามเอาคำว่า "นาง" ไปใส่ในชื่อเจ้าหล่อนเด็ดขาด เพราะมันต่างพันธุ์กัน และมีนกนางแอ่นบ้านเป็นเจ้าของชื่ออยู่แล้ว ชื่อภาษาไทยนี่มักสับสนเนอะ)
ความที่นกอีแอ่นมีสีเหมือนกันทั้งหมด ดูไปทางไหนก็ดำหมด ยิ่งพวกมันอยู่อาศัยในบ้านหรือในถ้ำที่มืดๆ แล้ว พ่อแกกะแม่ฉัน มันก็หน้าเดียวกันนั่นแล ทำให้เราไม่รู้เลยว่ามันจับคู่แบบผัวเดียวเมียเดียวกันหรือเปล่า หรือว่ามันมีกิกด้วย
ในความมืดนั้นคงดูยากมากว่าไผเป็นไผ แต่ถ้ามีอุปกรณ์ทันสมัยแอบถ่าย และมีเครื่องหมายรายตัวด้วยแล้ว จะจับไต๋ได้ว่านกดำเนินชีวิตอย่างไร อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น
ดังนั้นเราจึงติดตามพวกคู่ใหม่ปลามันทั้งหลายด้วยวิธีติดเครื่องหมายที่ตัวมัน งดงามเบาบางไม่เกะกะและนกยังคงดำเนินชีวิตไปตามปกติ
ผู้วิจัยก็แฮปปี เพราะยืนดู-นั่งดูตอนกลางวันสะดวกที่ซู้ด ก็ในวิหารสว่างโล่ง ไม่ต้องเปิดไฟให้ตกกะใจอย่างในถ้ำ หรือในบ้านมืดๆ ที่นกและความมืดกลืนกันไปสนิทเชียว
เมื่อไม่ตกใจ ไม่รบกวน นกก็ไม่รู้ไม่ชี้ กระหนุงกระหนิงกันไป เราก็นั่งดูสบายได้ข้อมูลมา
ที่สมุทรสาคร นกจำนวนหนึ่งได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนของ"การแอบดู"ครั้งนี้
เราจึงพบความจริง
เราพบว่าเมื่อมีการจับคู่กันแล้ว ตัวเมียหนึ่ง ตัวผู้หนึ่ง โลกนี้มีเพียงเราสองตัว ไม่เคยออก
นอกลู่นอกทาง ยิ่งในช่วงสร้างรัง วางไข กกไข่และกำลังเลี้ยงลูกอยู่ด้วยแล้ว ออกไปหา
กินตรงเวลา กลับมาถูกบ้าน ตรงเผง ไม่แวะเวียนไปบ้านตัวอื่นใดก่อนเลย เป็นอย่างนี้ จน
ปีกว่าๆ อย่างนี้จะเรียกว่ารักแท้นิรันดร หรือสองเรานิรันดร ได้หรือเปล่า?
ถ้าคิดว่า"ปีกว่าๆ" สั้นจัง! นั้นซินะ แต่เราคงนำมาเทียบกับคนคงไม่ได้ เวลาเพียงปีกว่าๆ ของนกอาจจะยาวนานกว่าคนมาก เพราะเรากับเขามีอายุขัยต่างกัน
เอาเป็นว่าข้อมูลนี้เป็นงานวิจัยที่เราทำเพื่อเขียนในวิทยานิพนธ์ที่จบไปแล้ว และกำลังเขียนเป็นหนังสืออ่านสบายๆ สำหรับคนอยากรู้เรื่องชีววิทยาและนิเวศวิทยาของมันอยู่
จากการนั่งดูปีกว่าๆ นี้ให้ข้อมูลเยอะเชียว เรารู้ว่าพวกเขาสนุกสนานที่จะเลี้ยงลูกตลอดปีตลอดชาติ เมื่อลูกพ้นอกไปแล้ว นึกหรือว่าเธอและเขาจะหยุดกิจกรรมอันอุตสาหะในการเลี้ยงลูก
(สำหรับคนที่เลี้ยงลูกอ่อน คงเหนื่อยน่าดู ยิ่งลูกเลี้ยงยาก สงสัยต้องหยุดไปนาน คนจึงมีการเว้นระยะตั้งครรภ์ เช่นสามปีสองคนก็ถือว่าถี่แล้ว)
สำหรับนก--และสิ่งมีชีวิตทุกชนิด --การได้แพร่พันธุ์และเลี้ยงลูกจนโต ให้มากที่สุด นับว่าทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว นกอีแอ่นจึงไม่เคยว่างเว้นการวางไข่ และเลี้ยงลูก คิดง่ายๆ รอบหนึ่งพวกเขาใช้เวลาประมาณ 4เดือน ปีหนึ่งก็สามครอก ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน
แย่จัง! กลุ่มนกที่มีเครื่องหมายเหล่านี้ ไม่มีใครลาโลกไปก่อนเวลาอันสมควรเลย
เชื่อหรือไม่ว่าระหว่างทำวิจัยนั้น ทุกครั้งใกล้ค่ำ เราจะหวั่นใจว่า ..ถ้าบังเอิญมีนกตัวไหนไม่กลับมา.... !?..แต่ก็ไม่มีใครไม่กลับ! กลับมาครบทุกตัว.เราจึงไม่มีข้อมูลที่พวกเราก็อยากรู้กันว่า เมื่อคู่ของมันตายแล้ว อีกตัวจะทำอย่างไร
บันทึกหน้านี้คงปิดลงอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้ง
ประเด็นหน้า ขอเป็นเรื่องนกเซ่อซ่า เคยบินชนอะไรในที่มืดหรือเปล่าน้า? (ก็คำถามที่วางไว้ว่า"นกมีหูเรดาร์อย่างค้างคาวหรือไม่นั่นเอง)
แล้วเจอกันค่ะ
ครูเล็ก