หลักสมถะ ภาค อนุสสติ ๑๐ ประการ


เป็นการฝึกที่ยาก เพราะนิมิตไม่เป็นรูปธรรมให้เราเห็น ผิดกับการฝึกบทอื่น ใจของเราไม่มีที่เกาะไม่มีที่ยึด ใจก็จะไม่รวมเป็นหนึ่ง ทำให้เกิดอุคคหนิมิตยาก ! นี่คือปัญหา ! ดังนั้น การฝึกต้องใช้วิธีหลายอย่าง เราจึงจับหลักได้ว่า กสิณ ๑๐ ก็ดี อสุภะ ๑๐ ก็ดี เป็นนิมิตในการฝึกใจ โดยที่ใจมีที่เกาะมีที่ยึด เพราะมีนิมิตเป็นรูปธรรม แต่การฝึกในบทอนุสสติยากออกไป เพราะใจไม่มีนิมิตให้เกาะยึด

ผมก็ขอคัดลอกตำราแนวเดินวิชามรรคผลพิสดาร 2 มาให้อ่านกันอีก ตอนนี้จะพูดถึงเรื่องอนุสติ 10 ประการ เป็นการฝึกโดยใช้หลักวิชาธรรมกายมาอธิบาย เพื่อให้ท่านได้ข้อมูลศึกษามากขึ้น เพราะถ้าไม่มีใครมาอธิบายขยายความ เราก็ไม่เข้าใจ เริ่มกันลยนะครับ 

    “อนุสสติ” แปลว่า “การระลึกถึง” ระลึกถึงอะไร ? ตอบว่าระลึกถึง ๑๐ อย่างจนเกิดอุคคหนิมิต แล้วก็เดินวิชาให้เห็นกายของตัวเอง ๑๘ กาย เหมือนการฝึกบทก่อนๆ ข้อสำคัญ ต้องท่องจำคำบาลีให้ได้ว่า อนุสสติ ๑๐ ประการนั้นมีอะไรบ้าง ?

     เป็นการฝึกที่ยาก เพราะนิมิตไม่เป็นรูปธรรมให้เราเห็น ผิดกับการฝึกบทอื่น ใจของเราไม่มีที่เกาะไม่มีที่ยึด ใจก็จะไม่รวมเป็นหนึ่ง ทำให้เกิดอุคคหนิมิตยาก ! นี่คือปัญหา ! ดังนั้น การฝึกต้องใช้วิธีหลายอย่าง เราจึงจับหลักได้ว่า กสิณ ๑๐ ก็ดี อสุภะ ๑๐ ก็ดี เป็นนิมิตในการฝึกใจ โดยที่ใจมีที่เกาะมีที่ยึด เพราะมีนิมิตเป็นรูปธรรม แต่การฝึกในบทอนุสสติยากออกไป เพราะใจไม่มีนิมิตให้เกาะยึด ดังนั้น การฝึกจึงขอให้ปฏิบัติดังนี้

๑. พุทธานุสสติ-ธัมมานุสสติ-สังฆานุสสติ

     ให้รวม ๓ อย่างนี้มาเป็นอันเดียวกัน นั่นคือ ให้นึกถึงพระพุทธรูปขาวใสเกตุดอกบัวตูมองค์หนึ่ง น้อมเข้าไปตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายของเรา โดยน้อมเข้าตามฐาน ๗ ฐาน ดังที่เคยฝึกมาในบทก่อนๆนั้น จนในที่สุดพระพุทธรูปขาวใสไปตั้งอยู่ในท้องของเรา คือที่ศูนย์กลางกาย ส่งใจมองเข้าไปในท้องของพระพุทธรูป หมายความว่า ส่งใจของเราเข้าไปตามฐาน ๗ ฐานของพระพุทธรูปขาวใสนั้น ในที่สุดใจของเราไปจรดที่ศูนย์กลางกายของพระพุทธรูป ท่องใจว่า หยุดในหยุดๆๆ หมายความว่า ให้สภาพใจของเราไม่คิดไปในเรื่องราวอื่นใด ให้ใจนิ่ง ให้ใจสงบ ให้ใจหยุด ไม่ส่าย แล้วรำพึงในใจดังนี้

     (ก.) พระพุทธรูปขาวใสนี้คือพุทธรัตนะ ขาวใสเป็นแก้ว คือ “รู้จริง”

           ดวงใสใสท้องของพระพุทธรูปคือธรรมรัตนะ คือ “ที่รองรับรู้”

           ใจ-จิต-วิญญาณ ของพระพุทธรูปขาวใสคือสังฆรัตนะ คือ “ผู้รู้จริง”

           แล้วก็ท่องใจ หยุดในหยุด ๆๆ เรื่อยไป

     (ข.) ขั้นตอนต่อมา คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ คือในบทสวดอิติปิโสนั้น ถ้าเราแปลเป็นไทยเพื่อเอาความว่า พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ มีคุณอย่างไร ? จะเกิดการสะดุดทางใจ เพราะเราจะไปกังวลกับคำแปลว่าเราแปลผิดถูกอย่างไร ? แปลว่าอย่างนี้หรือเปล่า ? ทำให้เกิดการสะดุดต่อการฝึก เอาอย่างนี้ ให้เราพูดเป็นภาพรวมออกมาว่า “พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ต่างก็เกื้อกูลกัน มีพระพุทธแล้วก็ต้องมีพระธรรมและต้องมีพระสงฆ์คู่กันไป จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ คุณของพระองค์นั้นไพศาลยิ่งนัก พระองค์เป็นแสงสว่างของโลก กำจัดมืดบอด กำจัดทุกข์ กำจัดภัย และกำจัดโรคให้แก่มนุษย์” แล้วก็ท่องใจ หยุดในหยุดๆๆ แล้วก็รำพึงใจใหม่ว่า “พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต่างก็เกื้อกูลกัน......ฯ” จนกว่าพระพุทธรูปขาวใสซึ่งเป็นนิมิตของเรา แปลงสภาพเป็นดวงอุคคหนิมิต

     (ค.) ขั้นตอนต่อมา เดินดวงธรรม ๓ ดวงจนเกิดกาย ๑๘ กาย เหมือนบทฝึกก่อนๆ

๒. สีลานุสสติ-จาคานุสสติ-เทวตานุสสติ

     ให้รวมทั้ง ๓ อย่างนี้ เข้าเป็นบทฝึกเดียวกัน วิธีทำก็คือ ส่งใจของเราเข้าไปตามฐาน ๗ ฐาน ในที่สุดใจของเราเข้าไปตั้งมั่นที่ศูนย์กลางกายของเรา เราก็ท่องใจว่าหยุดในหยุด ไม่ให้ใจส่ายไหวรัว พอสภาพใจเกิดความนิ่ง เกิดความโล่งโปร่งใส ให้นึกดังนี้

     (ก.) สีลานุสสติ ให้เรานึกดังนี้ “เราเคยรักษาศีลห้า ศีล ๘ และศีล...ฯ คราวหนึ่งศีลของเราบริสุทธิ์ยิ่งนัก ไม่มีด่างมัวเลย เป็นศีลที่บริสุทธิ์แท้ เพราะเราตั้งใจรักษา บริสุทธิ์ขนาดไหนหรือ ? ความบริสุทธิ์นั้น เปรียบแล้วก็เหมือนโคมไฟที่สว่าง ไม่มีด่างมัวเลย” แล้วก็นึกให้เกิดอุคคหนิมิต ก็เกิดได้โดยพลัน คือนึกประคองใจให้ปีติและปราโมทย์เข้าไว้ นี่คือหลักของการนึก

     (ข.) จาคานุสสติ พอเกิดอุคคหนิมิตจากเรื่องสีลานุสสติแล้ว โยงเข้ามาในเรื่องบริจาคทานของเราทันที จะนึกอย่างไร ? เพื่อให้ใจเกิดปีติและเกิดการปราโมทย์ จงนึกไปในทางนั้น ขณะนี้ใจของเรากำลังอยู่กับอุคคหนิมิตอันเกิดจากบทฝึกว่าด้วยสีลานุสสติ เราก็รำพึงใจต่อไปว่า “พูดถึงการบริจาคทาน เราทำอยู่แล้ว เราทำบุญใส่บาตร ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เราทำทุกปี มากน้อยตามฐานะ” นึกให้ดวงอุคคหนิมิตใสยิ่งขึ้น

     (ค.) เทวตานุสสติ แล้วให้รีบโยงเข้าหาเทวตานุสสติทันที ขณะนั้นใจของเรากำลังอยู่กับอุคคหนิมิต จากการฝึกบทสีลานุสสติ และจาคานุสสติผ่านมาแล้ว เราก็นึกนิ่งลงไปที่ดวงอุคคหนิมิตนั้นอีกว่า “ทาน-ศีล-ภาวนา เป็นทางดำเนินชีวิตของมนุษย์ มนุษย์ใดดำเนินชีวิตเช่นนี้ ครั้นตายไปแล้ว ผลบุญนั้นส่งผลให้เป็นเทวดาทันที ผลบุญนั้นส่งให้ไปสุคติทันที ไม่ไปอบายภูมิอีกต่อไป เทวดานั้นก็ไปอยู่สวรรค์ ๖ ชั้นบ้าง ในพรหม ๑๖ ชั้นบ้าง และในอรูปพรหม ๔ ชั้นบ้าง ตามอำนาจแห่งบุญของแต่ละบุคคล” ทำให้ดวงอุคคหนิมิตใสยิ่งขึ้น ครั้นทำปฏิภาคนิมิตก็ทำได้ ไม่มีอะไรติดขัด จากนั้น ให้เดินวิชา ๓ ดวงธรรม จนเกิดกายของเราเอง ๑๘ กาย เหมือนบทอื่นๆที่ผ่านมา

๓. มรณานุสสติ-กายคตานุสสติ

     ทั้ง ๒ อย่างนี้ ฝึกรวมกันไปได้ หลักสำคัญคือต้องเอาใจของเราไปตั้งมั่นที่ศูนย์กลางกายของเราก่อน แล้วจึงเริ่มฝึก ตามวิธี ที่กล่าวมาแล้ว ฝึกกายคตานุสสติก่อน คือดูร่างกายของเรา ให้เกิดความเบื่อหน่ายก่อน คือนึกขึ้นแก่ใจว่า “เราเกิดมาแล้ว มีร่างกายแล้ว คือตัวเรานี้ มองไปตรงไหนไม่มีอะไรงาม ! ไม่อาบน้ำวันเดียว ร่างกายของเราดูไม่ได้แล้ว ! เลอะเทอะไปหมด นึกดูภายในกายก็มีแต่ของเน่าของเสีย เป็นอุจจาระปัสสาวะ เป็นเสมหะและเสลด น้ำเหลืองหนอง แม้เราตั้งใจทำความสะอาด ก็สะอาดได้แค่ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น แล้วมันก็สกปรกอีก ขี้มูกขี้ตาเกรอะกรังอีก ในที่สุดเห็นว่าร่างกาย โสโครกทั้งนั้น” แล้วเกิดอุคคหนิมิต แล้วโยงเข้าเรื่องมรณานุสสติทันที “ตัดเรานี้แก่แล้ว เจ็บแล้ว คือเป็นโรคมาแล้ว อยู่แต่ว่าจะตายวันใดเท่านั้น ความแก่และความเจ็บ เป็นตัวบ่งบอกว่าเราต้องตายแน่ๆ ไม่มีใครอยู่รอดเลยแม้แต่คนเดียว เกิดมาเท่าไร ? ตายจนหมด” พอเกิดความสลดใจ ทำให้เกิดอุคคหนิมิตใสยิ่งขึ้น ลองทำปฏิภาคนิมิตดู แล้วก็เดินวิชา ๓ ดวงธรรมจนเกิดกาย ๑๘ กายเช่นเดียวกับบทฝึกอื่นๆ

๔. อานาปานุสสติ

     คือการตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ปกติเราก็หายใจอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้กำหนดใจดู วันนี้เราจะฝึกดู ก่อนอื่นต้องเอาใจไปตั้งมั่นที่ศูนย์กลางกายก่อน ตามวิธีการที่กล่าวมาแล้ว จากนั้น ให้ดูว่าลมหายใจเข้ามาสิ้นสุดตรงไหน ? และลมที่เข้ามาแล้ว เวลาจะออกจากร่างกาย ลมเริ่มออกจากตรงไหน ? อย่าเอาใจมารับลมที่ปลายจมูกเป็นอันขาด วิธีฝึกก็คือ นึกเอาใจดูลมเข้า ว่ามาสิ้นสุดตรงไหน ? และลมเวลาจะออกจากร่างกายนั้น มันออกจากตรงไหน ? เราจะพบว่า ลมเข้ามาสิ้นสุดที่ศูนย์กลางกายนั่นเอง และลมออกก็ออกที่ศูนย์กลางกายเช่นเดียวกัน พอลมเข้ากับลมออกเท่ากัน อุคคหนิมิตจะเกิดทันที พอทำปฏิภาคนิมิตได้แล้ว ให้รีบเดินวิชา ๓ ดวงธรรม เกิดกาย ๑๘ กาย ดังเช่นการฝึกในบทก่อนๆ

๕. อุปสมานุสสติ

     คือการระลึกถึงธรรมอันเป็นที่สงบระงับ หมายถึงการระลึกถึงอายตนะนิพพานอันเป็นที่สงบยิ่ง เป็นที่ประทับอยู่ของพระพุทธเจ้าและผู้ได้มรรคผลนิพพาน ให้รำพึงใจว่า “การที่เราสร้างบารมีกันมากๆ จุดหมายปลายทางของเราก็คือเข้าไปอยู่ในอายตนะนิพพานนั่นเอง พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ แปลว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ถ้าเราจะเร่งเข้าอายตนะนิพพาน ก็ต้องรีบฝึกให้เห็นกายธรรมตั้งแต่ชาตินี้ เนื้อนาบุญอยู่ที่การฝึกให้เห็นกายธรรมให้จงได้ เมื่อเข้าถึงกายธรรมแล้ว กายธรรมของเราก็พาเราไปหาพระพุทธองค์ได้ พาเราเข้าอายตนะนิพพานได้” รำพึงในใจเช่นนี้ จนกว่าจะเกิดดวงอุคคหนิมิต แล้วรีบทำปฏิภาคนิมิต ทำได้แล้วรีบเดินวิชาเห็นดวงธรรม ๓ ดวงจนเกิดกาย ๑๘ กาย ดังที่ฝึกในบทอื่นๆ

หมายเลขบันทึก: 150290เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2007 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท