ความท้าทายเกี่ยวกับสังคมวัยวุฒิ


ผมรู้สึกว่าสังคมไทยยังมีวิธีคิดเกี่ยวกับผู้สูงอายุไม่ถูกต้อง คือมองเป็นภาระ เป็นผู้เสพ ไม่มองเป็นสินทรัพย์ทางปัญญา (Intellectual Capital) ของสังคม หรือเป็นผู้สร้าง

ความท้าทายเกี่ยวกับสังคมวัยวุฒิ

       คุณหมอวิพุธ พูลเจริญ ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย เอาเอกสาร รายงานความก้าวหน้าการศึกษาทบทวนความท้าทายอุบัติใหม่ : กรณีสังคมวัยวุฒิ”    มาให้ผมออกความเห็น     โดยงานนี้ทำให้แก่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ     และเมื่อวันที่ ๙ ต.ค. ๕๐  และ ๑๕ พ.ย. ๕๐ สวทช. ก็ได้จัดประชุมระดมความคิดไป ๒ ครั้ง      ผมได้รับเชิญแต่ไม่ว่างไปร่วม    

        ผมดีใจที่มีการจับประเด็นสังคมวัยวุฒิ หรือเรื่องผู้สูงอายุมาศึกษาเชิงอนาคต     โดยเฉพาะอย่างยิ่งศึกษาแบบหาวิธีคิดใหม่ทำใหม่     เพราะผมรู้สึกว่าสังคมไทยยังมีวิธีคิดเกี่ยวกับผู้สูงอายุไม่ถูกต้อง     คือมองเป็นภาระ เป็นผู้เสพ  ไม่มองเป็นสินทรัพย์ทางปัญญา (Intellectual Capital) ของสังคม หรือเป็นผู้สร้าง     ทั้งๆ ที่ในวิชา Human Development เขาไม่มีช่วงอายุที่เรียกว่า old age  แต่เรียกว่า late adult age     เพราะคำว่า old หรือแก่ มีความหมายไปทางหมดคุณค่า  ทำอะไรๆ ไม่ได้     เป็นภาระให้ลูกหลานเลี้ยง     แต่ในแนวคิดใหม่ ผู้มีวัยวุฒิมีความรู้ที่อยู่ในประสบการณ์ และมีเครือข่ายทางสังคม (social network)  มากมาย     ที่ถ้ารู้จักเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่าเอาส่วนที่เป็นโทษมา ก็จะเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่ง      

       สังคมไทยไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากมองคนแก่เป็นผู้มีวัยวุฒิ และสร้างระบบที่ใช้คุณค่าของวัยวุฒินั้นให้เกิดประโยชน์ที่สุด    หาทางให้คนสูงอายุใช้ชีวิตที่มีคุณค่า ทำประโยชน์ให้นานที่สุด     รักษาสุขภาพให้ช่วยตัวเองและทำประโยชน์ได้นานที่สุด     ลดช่วงเวลาที่ต้องมีคนดูแลช่วยเหลือ คือช่วงก่อนตาย ให้สั้นที่สุด เป็นภาระน้อยที่สุด 

       เอกสารนี้มี ๓๒ หน้า     บอกกรอบการศึกษา ๕ ข้อ    ประกอบด้วย ๕ บท     คือ บทที่ ๑ บทนำ   บทที่ ๒ ทบทวนวรรณกรรม   บทที่ ๓ ผลการรับฟังความคิดเห็นในกลุ่ม   บทที่ ๔ สรุปข้อเสนอแนะ   บทที่ ๕  แผนงานขั้นต่อไป   

      ผมชอบกรอบวิธีทำงานของโครงการ ที่ระบุดังนี้ กระบวนการสร้างภาพอนาคตร่วมกันของสังคมไทย  ที่มุ่งหวังให้เกิดสังคมที่ให้โอกาสกับสังคมได้เรียนรู้ เสริมสร้างสมรรถนะ และสุขภาพ  จนทุกวัยสามารถยังประโยชน์ให้กับสังคม ได้ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล     และขอย้ำว่านโยบาย สังคมวัยวุฒินี้     เป้าหมายจริงๆ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์เฉพาะของผู้สูงอายุ     แต่เพื่อประโยชน์ของทั้งสังคม หรือของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนหนุ่มคนสาว 

ข้อสังเกตเกี่ยวกับบทนำ

  1. ผมไม่ชอบคำว่า วัยแรงงาน เพราะเป็นคำเก่าสำหรับยุคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม    เวลานี้เราเข้าสู่ยุคความรู้ ควรใช้คำว่า วัยทำงาน    เพราะงานที่ทำต้องมีลักษณะเน้นทำด้วยความรู้หรือปัญญามากกว่าออกแรง     การออกแรงต้องเอาไปให้เครื่องจักรทำ     ให้คนทำงานความรู้ เป็น knowledge worker     วิธีคิดแบบนี้จะช่วยให้เราคิดใหม่ และออกแบบสังคมให้ผู้สูงอายุเป็นผู้มีวัยวุฒิ มีคุณค่า ได้จริง
  2. สิ่งท้าทายอุบัติใหม่ที่ยังไม่ได้ระบุในเอกสาร คือความสามารถของสังคมไทย ในการทำความเข้าใจแนวคิดและเทคโนโลยีทางสังคม ทางการเรียนรู้ ที่เป็นเทคโนโลยีราคาถูกแต่ทรงพลังยิ่ง     คือ การจัดการความรู้ (Knowledge Management)     ที่เป็นเครื่องมือนำพาสังคมสู่สังคมความรู้ (Knowledge Based Society)     ซึ่งจะทำให้ผู้มีวัยวุฒิเป็นคนสูงอายุที่เต็มไปด้วยความรู้ที่มีคุณค่า     และมีวิธีใช้ประโยชน์ความรู้เหล่านั้นให้เกิดคุณค่า ไม่เกิดผลเสีย    เป็นความท้าทายในแง่ของความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่  หยิบฉวยเอาพลังของสิ่งใหม่ที่เป็นเครื่องมือใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม 
  3. สิ่งท้าทายอุบัติใหม่ของสังคมไทยอีกประการหนึ่ง คือการมองโลก มองสังคม แบบ positive sum game    การรวมพลังกันสร้างสรรค์ให้แก่สังคม    แทนที่จะขัดแย้งต่อสู้ทำลายล้างกันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน    เวลานี้สภาพที่ส่อหายนะของทั้งสังคมคือการแตกแยกกันในสังคม     เพราะมีมุมมองแบบ zero sum game
  4. ผมชอบวิธีทำงานของผู้วิจัย ที่เน้นการวิจัยเชิงอนาคต โดยเน้นทำกระบวนการเพื่อสร้างการเรียนรู้  เน้นการมองสังคมวัยวุฒิในฐานะส่วนหนึ่งของพลวัตที่หลากหลายในสังคม  นำไปสู่การประยุกต์ใช้เชิงนโยบายในหลากหลายบริบท หลากหลายระดับขององค์กรในสังคม     ผมชอบการเน้นกระบวนการมากกว่าเอกสารรายงาน  

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการทบทวนวรรณกรรม

  1. ผมชอบแนวคิดเน้น Governance (การจัดการโดยสังคม) มากกว่า Government (การจัดการโดยรัฐบาล)     ซึ่งจริงๆ แล้ว คือสมดุลระหว่าง ๒ แนวนี้
  2. การทบทวนวรรณกรรมนี้ เป็นการทบทวนเรื่องเทคนิคการกำหนดภาพอนาคตเป็นส่วนใหญ่และทำได้ดี    ไม่มีการทบทวนวรรณกรรมว่าด้วยการจัดการสังคมวัยวุฒิในประเทศอื่นๆ     ซึ่งผมไม่มองว่าเป็นจุดอ่อนที่ไม่ได้ทบทวน     เราไม่จำเป็นต้องลอกเลียนสังคมอื่น    แต่คิดอีกที เรียนรู้ไว้ก็มีประโยชน์เหมือนกัน  

ข้อสังเกตเกี่ยวกับผลการรับฟังความคิดเห็นในกลุ่ม

  1. บทนี้เป็นบันทึกสรุปความคิดเห็นที่สะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคม     ว่าผู้คนในสังคมที่มาระดมความคิด มีมุมมองต่อเรื่องการกำหนดภาพอนาคต และเรื่องสังคมวัยวุฒิ อย่างไร   
  2. ผมชื่นชมที่ในแต่ละครั้งของการประชุม มีการกำหนดประเด็นในการระดมความคิดไว้อย่างชัดเจน     ผมไม่ได้อยู่ร่วมกระบวนการ จึงไม่ทราบว่าการประชุมมีคุณภาพแค่ไหน    ตามประสบการณ์ของผม องค์ประกอบและคุณภาพของผู้เข้าร่วมประชุม บรรยากาศของที่ประชุม และความสามารถในการดำเนินการประชุม เป็นตัวกำหนดคุณภาพของผลการระดมความคิด     สำหรับข้อหลัง ผมไม่สงสัยความสามารถของคุณหมอวิพุธ     แต่เอกสารไม่ได้ระบุปัจจัย ๒ ข้อแรกไว้
  3. ผลการรับฟังความคิดเห็นเป็นอย่างไร ไม่สำคัญเท่ากับการนำผลดังกล่าวมาวิเคราะห์และกำหนดกระบวนการที่จะดำเนินการต่อ และที่สำคัญคือกลุ่มบุคคลที่จะเชิญมาร่วมต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์และมุมมองแหลมคม มีมุมมองแตกต่างหลากหลายรอบด้าน    รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบที่หลากหลาย  ในทุกกลุ่มอายุ (ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ)  ทุกกลุ่มอาชีพ และสถานะทางสังคม  ผ่านหลายช่องทาง    โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางอินเทอร์เน็ต และทางสื่อมวลชน
  4. ผมเห็นด้วยกับแนวความคิดว่า การมองโครงสร้างเชิงระบบเพียง ๔ ด้าน (สุขภาพ  การศึกษา   การจัดงาน  และการจัดการทางสังคม) ไม่เพียงพอ     น่าจะเป็นโครงสร้างปลายเปิด    เปิดโอกาสให้เพิ่มโครงสร้างเชิงระบบเพิ่มขึ้น     เพราะในความเป็นจริงแล้วระบบสังคมเป็น Complex Adaptive Systems     นอกจากนั้น คำว่า การศึกษา อาจสื่อความหมายที่แคบ  น่าจะใช้ การเรียนรู้ มากกว่า     และในบทที่ ๔ ได้ใช้คำว่า ระบบการเรียนรู้ แล้ว
  5. คนที่ทำงานในองค์กร โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านแผน มักไม่เข้าใจวิธีมองสังคมแบบ Complex Adaptive Systems    มักมีมุมมองแบบ Simple System     จึงไม่แปลกที่ท่านเหล่านี้จะไม่เชื่อในวิธีการ foresight
  6. เห็นด้วยในการเชื่อมโยง สังคมวัยวุฒิ กับสังคมความรู้  

ข้อสังเกตต่อสรุปข้อเสนอแนะ

  1. ผมเข้าใจว่า การวิจัยสร้างภาพอนาคตนี้ ไม่ได้มีเป้าหมายสร้างภาพ หรือข้อเสนอแบบสำเร็จรูป ให้หน่วยงานหรือผู้กำหนดนโยบาย นำไปใช้แบบสำเร็จรูป     ผู้ใช้ผลงานนี้ต้องนำผลการวิจัยนี้ไปปรับให้เข้ากับสถานการณ์จำเพาะของตนเองหรือของหน่วยงาน    ดังนั้นผลงาน foresight จึงมีประโยชน์ต่อการวางแผนระยะปานกลางอย่างแน่นอน แต่ไม่ใช่ในฐานะข้อเสนอสำเร็จรูป
  2. เห็นด้วย ว่ากิจกรรม foresight มุ่งผลจากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นหลัก     ตัวเอกสารรายงานเป็นผลผลิตรอง หรือส่วนประกอบ
  3. คุณูปการของโครงการ foresight คือการชักชวนให้ผู้เกี่ยวข้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จากมองแยกส่วนเป็นมององค์รวมหรือเชื่อมโยงบูรณาการ     เปลี่ยนจากมองภาพเปลี่ยนแปลงเชิงเส้นตรงและเปลี่ยนแปลงทีละน้อยๆ    เป็นภาพที่เปลี่ยน ภพภูมิ (new order) อย่างไม่คาดคิดว่าจะเป็นไปได้     เปลี่ยนจากมองการเปลี่ยนแปลงจากฐานปัจจุบันสู่อนาคต เป็นคาดการณ์ภาพอนาคต แล้วโยงมาหาปัจจุบัน ว่าปัจจัยอะไรบ้างที่จะนำพาไปสู่ภาพอนาคตแบบนั้น
  4. ในบทนี้ได้ลองเสนอทางเลือก 4 ทาง คือ A, B, C, D จากการกำหนด 2 ทางเลือกในแต่ละระบบของ 4 ระบบ     แต่ระบบสุขภาพแบ่งเป็น 2 อนุระบบ คืออนุระบบการเงินการคลัง กับอนุระบบการจัดบริการ     รวมทั้งสิ้นจึงมี 5 ระบบ ระบบละ 2 ทางเลือก     ผู้วิจัยได้ฉายภาพอนาคตคร่าวๆ สำหรับแต่ละทางเลือก    ที่น่าจะมีประเด็นแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นได้มากมาย และน่าจะเป็นประโยชน์ยิ่ง 

ข้อคิดเห็นต่อแผนงานขั้นต่อไป

  1. เมื่ออ่านมาถึงบทนี้ จึงเข้าใจว่างานวิจัยชิ้นนี้ยังอยู่ในขั้นทำความเข้าใจขอบเขตและความหมายของการวิจัยแนว foresight เท่านั้น     ยังไม่ได้เข้าไปสู่กระบวนการจริง
  2. ข้อสรุปที่ได้ คือ ในเบื้องต้นผู้มีส่วนร่วมไม่เห็นคุณค่าของการวิจัยมองภาพอนาคตระยะยาวเช่นนี้    แต่เมื่อผ่านการประชุมครั้งที่ 2 ก็เริ่มเข้าใจคุณค่า     ดังนั้นการวิจัยนี้หากจะมีการดำเนินการต่อในระยะที่ 1, 2, 3 ตามที่เสนอในรายงานหน้า 31 ควรจะต้องระบุเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจคุณค่าและวิธีการวิจัยเชิงอนาคตระยะยาวในสังคมไทยด้วย    นอกเหนือจากเป้าหมายภาพอนาคตที่ให้คุณค่าต่อประชากรทุกช่วงอายุ และใช้พลัง (ที่ต่างแบบ) ของประชากรทุกช่วงอายุ  ในภาพรวม

          ผมชอบรายงานนี้ ที่มีเนื้อล้วนๆ     ไม่มีไขมันและน้ำเลย     รายงานส่วนใหญ่ที่ผมพบเห็น มักเต็มไปด้วยน้ำ

วิจารณ์ พานิช

๒๘ พ.ย. ๕๐

                  

                             

หมายเลขบันทึก: 149995เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2007 19:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท