อยากจะนำแง่คิดมุมมองของน้าประยงค์ รณรงค์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เจ้าของรางวัลแมกไซไซ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ริเริ่มและผลักดันแผนแม่บทชุมชน ผู้สรรค์สร้างศูนย์การเรียนชุมชนไม้เรียงให้ลือเลื่องแห่งอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะที่เป็นแหล่งข้อมูลหลักที่สำคัญอีกแหล่งข้อมูลหนึ่งที่คณะนักวิจัยจาก กศน.ได้มาสัมภาษณ์ เมื่อ 12 .พ.ย.
ต่อประเด็นที่จะให้เครือข่ายมาร่วมจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างไรนั้นเนี่ย ผมสนใจประเด็นที่น้าประยงค์ท่านกล่าวว่า พรบ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่กำลังอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติขณะนี้นั้น เป็น พรบ.ที่ดีมากๆ สอดคล้องกับที่ท่านทำอยู่และเป็นที่ต้องการของสังคมชุมชนอย่างยิ่ง ให้ชุมชน เครือข่ายมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆได้ ท่านอยากเห็นชุมชนที่อ่อนแอแต่สนใจการเรียนรู้หรือชุมชนที่เรียนรู้ได้ดีระดับหนึ่งแล้วได้รับการจูงใจให้เรียนรู้ต่อเนื่องยกระดับขึ้นไปอีก ให้มีเรี่ยวแรงมีพลังในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยมากขึ้น อยากเห็นกองทุนส่งเสริมการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเกิดขึ้นสำหรับชุมชนต่างๆ เป็นเครื่องมือให้ชุมชนต่างๆใช้จัดกิจกรรมเรียนรู้ได้ แต่เงินนี้ต้องไม่ใช่เป็นเงินงบประมาณของทางราชการที่อาศัยกรอบวิธีการใช้จ่ายที่เคร่งครัดจนเป็นอุปสรรคต่อการที่จะส่งเสริมให้ชาวบ้านคิดสร้างสรรค์อะไรๆได้ มีกฏระเบียบอะไรต่างๆออกมากำกับควบคุมมากมายจนชาวบ้านจะทำอะไรไม่คล่องตัว เน้นว่าให้เป็นเงินกองทุนมีที่มาจากแหล่งต่างๆ ไม่ให้มีกฏระเบียบของทางการมาควบคุมกำกับ
ท่านจะเสนอเรื่องนี้ในขั้นแปรญัตติต่อไป ร่างกฏหมายนี้ขณะนี้อยู่ในขั้นของการรับหลักการ
ฟังผู้มีประสบการณ์สูงพูดแล้วผมคิดว่าหากเป็นไปตามนี้ก็จะเป็นการจูงใจเครือข่ายให้มาร่วมจัดได้ไม่น้อยเลย
ผมเข้าใจว่าน้าประยงค์ รณรงค์ คงจะขยายความเรื่องนี้ในการปาฐกถาเรื่องผู้นำการเรียนรู้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ในวันที่ 30 พ.ย.2550 งานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ 4 เชิญท่านทั้งหลายติดตามได้
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ครูนงเมืองคอน ใน ครูนอกโรงเรียน
สวัสดีค่ะครูนง
น่าสนใจมากค่ะ รวมทั้งงานวันที่ 30 ด้วย คิดว่าคงหากำหนดการได้จากทางอินเตอร์เนต
คิดว่าพรรคการเมืองไม่ควรมองแต่การศึกษาในระบบเช่น ให้เรียนฟรี เพราะหลายคนก็มีกำลังจ่าย น่าจะเอางบส่วนนั้นมาสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้มากกว่าค่ะ