พิพิธภัณฑ์กับการฟื้นคืนมรดกของชุมชนท้องถิ่นให้เกิดผลประโยชน์


รวมกันเราอยู่: ชุมชนท้องถิ่นอยู่ยง พิพิธภัณฑ์ก็คงอยู่ได้

         บังเอิญได้อ่านเจอบทความที่น่าสนใจในเรื่องการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์มีบทบาทที่มากกว่าการเป็นแค่สถานที่เก็บรักษา อนุรักษ์และจัดแสดงมรดกวัตถุ บอกเล่าเรื่องราวของคนและวัฒนธรรมจากอดีตเท่านั้น พิพิธภัณฑ์อยู่ไม่ได้อย่างโดดเดี่ยวแต่ต้องประสานความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นด้วย เรียกว่า ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน  จึงแปลบทความนี้เพื่อเป็นประโยชน์กับคนทำงานพิพิธภัณฑ์ได้ลองศึกษาเรียนรู้ประสบการณ์จากพิพิธภัณฑ์ในครอสตาริก้าเผื่อว่าจะลองนำมาใช้เป็นแนวทางในการทำงานร่วมกันระหว่างพิพิธภัณฑ์กับชุมชน ซึ่งอาจนำไปสู่  "a better for all "

พิพิธภัณฑ์กับการฟื้นคืนมรดกของชุมชนท้องถิ่นให้เกิดผลประโยชน์

           พิพิธภัณฑ์แห่งวัฒนธรรมประชานิยม (The Museum of Popular Culture) ก่อกำเนิดขึ้นในปี 1994 โดยภาควิชาพิพิธภัณฑ์วิทยาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติ (UNA) ในเมืองเฮียเดีย (Heredia) คอสตราริก้า ได้เอื้อเฟื้อให้ความรู้กับชุมชนท้องถิ่นในเรื่องวิธีปฏิบัติแบบโบราณที่ทำให้บรรพชนรุ่นก่อนสามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคงกลมกลืนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนได้คิดพิจารณารูปแบบวิถีชีวิตปัจจุบันด้วยความหวังว่าจะสามารถฟื้นฟูวิธีปฏิบัติแบบดั้งเดิมได้บางส่วนผ่านรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายของพิพิธภัณฑ์

         ในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ผู้วางแผนงานได้ปฏิบัติตามแบบแผนนโยบายของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของสถาบันในการยกระดับการพัฒนาและจัดการในภาคส่วนของสังคมให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เหนืออื่นใดผลงานของพิพิธภัณฑ์ต้องขับเคลื่อนสถาบันให้ศึกษาเกี่ยวกับอดีตประเพณีและมรดกของชุมชนเพื่อเป้าหมายของการอนุรักษ์และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งกล่าวโดยรวมได้ว่า “เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของทุกคน” 

           แต่ละกิจกรรมที่พิพิธภัณฑ์จัดขึ้นล้วนอุทิศให้กับการยืดอายุ แผ่กระจายและฟื้นฟูมรดกของชุมชน โดยพิพิธภัณฑ์ได้ให้คำมั่นว่าจะกระตุ้นการอนุรักษ์ธรรมชาติและมรดกวัฒนธรรม การฟื้นฟูวิธีผลิตดั้งเดิมจะแสดงให้เห็นเชิงคุณค่าและคุณประโยชน์ในใช้สอยแก่คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต

           การฟื้นฟูวิธีผลิตดั้งเดิมจะค่อยซึมฝังเปลี่ยนรากคิดใหม่ให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดความภาคภูมิในมรดกบรรพชนตนเอง ดังนั้น การสร้างกิจกรรมที่ใช้กรรมวิธีแบบโบราณอาจนำกลับมาใช้ในเชิงธุรกิจปัจจุบันได้ และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่หันกลับมานิยมใหม่อีกครั้ง ซึ่งพิพิธภัณฑ์มีส่วนช่วยเหลือชุมชนในการจำแนกแยกแยะ ให้ความหมาย และชี้ชัดถึงสิ่งที่ควรทำอย่างเป็นรูปธรรมผ่านกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ซึ่งผู้สอนจะประยุกต์เทคนิควิธีการแบบโบราณกับทักษะฝีมือเพื่อให้เกิดผลดีต่อการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์จัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการขึ้น 4 รูปแบบเพื่อฟื้นคืนวิธีปฏิบัติทั้งแบบดั้งเดิม และแบบธุรกิจ ได้แก่

1) การก่อสร้างรูปแบบอาคารสถาปัตยกรรมที่ใช้กับที่อยู่อาศัยธรรมดามากกว่าอาคารขนาดใหญ่ในลักษณะเทคนิคการสร้างแบบดั้งเดิม

ผู้แปลขอยกกรณีตัวอย่างในไทยเพิ่มเพื่อความเข้าใจมากขึ้น เช่น การสร้างบ้านดินที่ปัจจุบันกำลังหันมานิยมกันมากในเมืองไทยเพราะเหมาะกับสภาพบ้านเมืองและโลกตอนนี้ที่กำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเจ้าของยังสามารถสร้างได้เองภายในระยะเวลาสั้น แถมใช้ทุนสร้างต่ำกว่าบ้านคอนกรีตหลาย 10 เท่า หรือการหันมาใช้วัสดุธรรมชาติมากขึ้น เป็นต้น

2) การประดิษฐ์ทำของเล่นและเกมการเล่นแบบดั้งเดิม

ตัวอย่างในไทยที่เห็นชัดเจน เช่น การทำของเล่นจากวัสดุธรรมชาติของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ที่พิพิธภัณฑ์เล่นได้ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

3) การแพทย์พื้นบ้าน

4) การทำอาหารแบบโบราณ

          คนในชุมชนต่างได้รับประโยชน์จากกิจกรรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะมาจากต่างชนชั้น สถานะใดหรือมีพื้นหลังทางสังคมอย่างไร ไล่เรียงได้ตั้งแต่สถาปนิก แม่บ้าน นักเรียนจนถึงกรรมกรก่อสร้าง ซึ่งหลังจบกิจกรรมแล้วผู้เข้าร่วมยังกระตือรือร้นนำความรู้ที่ได้รับกลับไปใช้ที่บ้านและที่ทำงานของตนเอง ผลลัพธ์จากกิจกรรมนี้ทำให้พิพิธภัณฑ์มีคนมาเยี่ยมชมมากขึ้นและได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในหมู่นักเรียน

ผลสะท้อนกลับ

  • แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการสงวนมรดกบรรพบุรุษด้วยการฟื้นฟูวิธีการแบบดั้งเดิม

  • การอุทิศให้กับโครงการผลิตเชิงธุรกิจนั้น นอกการสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนแล้วยังสร้างความมั่นใจถึงความอยู่รอดของพิพิธภัณฑ์ด้วยเช่นกัน

  • เกิดความเห็นชอบให้พิพิธภัณฑ์ทำงานร่วมกันกับชุมชนในการอนุรักษ์มรดก

แปลและเรียบเรียงจาก Garfield Donald (ed.). 1998. “The Museum of Popular Culture and the Revival of the Productive Use of Patrimony,” Museums and Sustainable Communities Summit of the Museums of the Americas, pp.19.

หมายเลขบันทึก: 148694เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2007 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท