laissez faire


ถ้าเราเก่งจริง เราต้องกลัวด้วยหรือครับ

สวัสดีครับ

ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณหลายๆท่านที่ได้กรุณาห่วงใยหลังจากที่หายไปนานครับ

วันนี้ลองนั่งอ่านบันทึกตัวเองเก่าๆดู ลองอ่านความเห็นของท่านอื่นๆ แล้วก็ลองดูบันทึกของท่านอื่นๆด้วย

มีความรู้สึกหนึ่งว่า คนไทยกำลังกลัวคำว่า การค้าเสรี มากกันเกินไปหรือเปล่า

ผมเองก็ตอบไม่ได้นะครับว่า การค้าเสรีนั้นดีหรือไม่ดี คือจริงๆมันก็มีทั้งดีและไม่ดีในตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะว่าก็คงไม่มีอะไรในโลกที่มันจะมีแต่ดีทั้งหมดใช่ไหมครับ

เอาล่ะ ผมไม่แน่ใจว่าเรานิยามคำว่าการค้าเสรีกันว่ายังไง ผมให้นิยามของผมแบบนี้ล่ะกันนะครับ

การค้าเสรี คือการค้าโดยที่ใครจะทำอะไรก็ทำ อยากทำอะไรก็ทำ อยากขายอะไรก็ขาย ดังนั้นกลไกตลาด (invisible hand ของ Adam Smith) จึงเป็นตัวกำหนดราคา ปริมาณ และอื่นๆอีกมามาย

โดยหลักการแล้วการค้าเสรี ก็ไม่น่าจะมีอะไรแย่ใช่ไหมครับ แต่ทำไมบางคนถึงรู้สึกว่าการค้าเสรีเป็นสิ่งที่น่ากลัว

เป็นไปได้ไหมว่า เพราะว่าเราอยากเห็นความเท่าเทียมกันของสังคม

เป็นไปได้ไหมว่า เราเห็นความน่ากลัวของสินค้าจีนที่เข้ามากระหน่ำซ้ำเติมสินค้าไทย ด้วยราคาที่ถูกหยังเขียด และคำว่าการค้าเสรีที่ไม่มีภาษีใดๆมาขวางกั้น

หรือเป็นไปได้ไหมว่า เรากลัวการเปลี่ยนแปลง

หรือเป็นไปได้ไหมว่า เรากลัวว่าเราไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับคนอื่น

ผมคงไม่มีคำตอบที่แน่ชัดนะครับว่าทำไมเราถึงอาจจะกลัว หรืออาจจะไม่ได้กลัว แต่เกรงๆ คำว่าการค้าเสรี ก็ได้

หรือเพราะว่าพอคิดถึงคำว่าการค้าเสรี คำที่ลอยมาอีกคำก็คือคำว่า ทุนนิยม ซึ่งอาจจะติดอยู่ในเบื้องลึกของจิตใจว่าทุนนิยมเป็นเหตุผลหลักของฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ แล้วพอฟองสบู่มันแตกออกมา ทุกอย่างมันดูแย่ไปหมด

ขอออกตัวก่อนนะครับว่า ผมไม่ได้สนับสนุนแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งเป็นพิเศษ พอๆกับคัดค้านแนวคิดใดแบบหัวชนฝา

ผมมองว่าและผมเชื่อว่าเราทุกคนอยากเห็นสังคมที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น แต่การค้าเสรีและทุนนิยม ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นนับวันยิ่งห่างมากขึ้นทุกทีๆทุกที นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เรามองว่าระบบนี้นั้นอาจจะไม่ได้ผลมากนัก

แต่ด้วยความเคารพครับ สิ่งที่ทำให้สังคมนั้นไม่เท่าเทียมกัน มาจากการขาดโอกาสทั้งทางด้านการศึกษา และเศรษฐกิจ ทำให้สังคมส่วนหนึ่งนั้นไม่สามารถถีบตัวเองให้มีความสามารถในด้านการแข่งขัน เมื่อเทียบกับคนอื่นในสังคม จะว่าว่ามันเป็นเรื่องการค้าเสรีหรือทุนนิยมก็คงอาาจะไม่ถูกซะทีเดียวนัก เพราะมันมีมิติมากกว่านั้น

มาถึงส่วนที่สอง นั่นก็คือสินค้าจากเมืองจีนที่เข้ามากระหน่ำตลาดเมืองไทย ซึ่งเมืองจีนนั้นถือเอาความได้เปรียบทางด้านค่าแรง ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากหลัก supply demand ง่ายๆ 

เรื่องนี้ถ้าจะมองจริงๆ มันมีสองส่วนครับ

ส่วนแรกก็คือส่วนของผู้บริโภค และส่วนที่สองคือส่วนของผู้ผลิต

แน่นอนครับในส่วนของผู้บริโภคนั้น ถ้าสินค้าดีมีคุณภาพ แถมได้ราคาที่ถูกลง ก็ต้องถือว่าเป็นกำไรของผู้บริโภคถูกไหมครับ

แต่ส่วนของผู้ผลิต ถ้าผู้บริโภคนั้นค่อนข้างอ่อนไหวต่อราคา (price sensitive) ก็คงจะไม่แปลกที่จะโวยวาย เพราะอาจจะขายสินค้าไม่ได้กำไรเท่าเมื่อก่อน หรืออาจจะขายไม่ได้เลย เมื่อเทียบกับตอนที่มีกำหนดภาษีนำเข้า หรือการกำหนดโควต้าของสินค้าที่เข้ามา

ซึ่งส่วนนี้คงนำมาถึงความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวของบริษัท ที่อาจจะต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ รวมไปถึงอาจจะมีแรงต้านภายในของพนักงานบริษัทเอง ทำให้การปรับตัวเป็นไปด้วยความยากลำบาก

แต่ที่ผมสนใจมากที่สุด ก็คือว่า สาเหตุหลักๆของการเกรงๆต่อคำว่าการค้าเสรีนั้น เพราะว่าเรากลัวว่าเราไม่มีความสามารถในการแข่งขันหรือเปล่า

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ จะมีคำคำหนึ่งที่เรียกว่า comparative advantage ที่บอกว่าต่อให้คุณแย่ขนาดไหน คุณก็สมควรต้องผลิตต่อไป เพราะว่าตามหลัก comparative advantage แล้วมันทำให้ผลผลิตของโลกมันเพิ่มขึ้น

แต่หลายคนอาจจะแย้งว่า แต่การค้าเสรีมันก็ไม่ได้รับประกันว่าสินค้าที่ผมขายมันจะขายสู้สินค้าจากเมืองจีนได้(นี่หว่า)  ซึ่งก็จริงครับ ผมไม่เถียงครับ แต่มันไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถพัฒนาความสามารถการแข่งขันได้นี่ครับ ด้วยความเคารพครับ โดยความรู้สึกส่วนตัวของผม บางทีผมคิดว่า เราบ่นถึงการค้าเสรี และทุนนิยม เพราะเราอาจจะเกรงว่าเราไม่สามารถพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันให้เท่ากับประเทศอื่นๆหรือเปล่า

ตอนนี้ผมคิดว่าเมืองไทยหันไปไหนไม่ถูก เพราะว่าเราไม่ได้มีความสามารถในการผลิตสินค้า hi-end แต่ในขณะเดียวกันสินค้าแบบ low-end เราก็สู้เขาไม่ได้ เพราะว่าราคาเราสู้เขาไม่ได้ มันก็เลยกัักๆ ไม่รู้จะขยับไปทางไหนดี (คือจริงๆ มันขยับลงไม่ได้นะครับ มีแต่ต้องขยับขึ้น)

คำถามที่สำคัญก็คือว่า เราพร้อมที่พัฒนาศํกยภาพการแข่งขันแล้วหรือยัง ผมดีใจนะครับที่เห็นคนไทยหันมาให้ความสำคัญของการวิจัย และการพัฒนามากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่ามันจะทำให้เราสามารถที่จะหายเกร็ง และหายเกรงกับคำว่าการค้าเสรี และพร้อมที่จะหาประโยชน์และใช้ประโยชน์จากการค้าเสรีให้ได้มากที่สุด

ท้ายที่สุดครับ การค้าเสรีกับทุนนิยม อาจจะดูเหมือนแพ็คเกจที่มาด้วยกัน แต่ผมกลับคิดว่ามันไม่ใช่แบบนั้นครับ เพราะการค้าเสรีคือการที่เราอยากค้าอะไรแล้วก็ค้า ขายอะไรก็ขายได้ ซึ่งถ้าเราสามารถหา niche market ได้ โอกาสที่เราจะสามารถทำเงินตรงนั้นได้ก็มีอยู่แล้วครับ แต่ที่เราค่อนข้างเชื่อมคำว่าทุนนิยมกับตลาดเสรี เพราะภาพลักษณ์ที่เราเห็นกับคาร์ฟู โลตัส มากกว่า ที่มองว่าบริษัทที่มีทุนหนากว่า ก็ทำลายร้านโชว์ห่วย ที่มีทุนน้อยกว่าจนแทบจะสูญพันธุ์ไปเลย

โดยส่วนตัวครับ ผมว่าการค้าเสรีนั้นมันติดอยู่กับประเทศไทยมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคพ่อขุนรามคำแหงด้วยซ้ำ เพราะในศิลาจารึกยังมีคำว่า ใครใคร่ค้าช้างค้า ใครใคร่ค้าม้าค้า หรือว่าเรื่องเรียน เรื่องสมัครงาน ซึ่งถ้าเราไม่ได้อยู่ในโลกการค้าเสรี เราอาจจะไม่ได้ทำอะไรอย่างที่ใจชอบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการทำอะไรตามใจชอบไม่ต้องมีการแข่งขัน นักเรียนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็หลักการค้าเสรี เพราะเราจะเลือกคณะอะไรก็ได้ แต่ถ้าเราไม่เก่งจริง เราก็คงจะไม่ได้เรียนคณะที่เราอยากเรียน แต่ถ้าเราเก่งจริง เราต้องกลัวด้วยหรือครับ

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 148222เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2007 17:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

หายไปนานเลย คิดถึงค่ะ ชอบอ่านบันทึกของคุณ ให้อะไรเยอะดี

ประเทศด้อยพัฒนาจะมีความเสียเปรียบประเทศที่พัฒนาแล้วภายหลังการเปิดการค้าเสรี เนื่องจากประเทศเหล่านี้ไม่มีประสบการณ์ในการผลิตสินค้าที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ---แต่ก็ไม่ใช่ทุกอย่างนะคะ ---บางอย่างก็แข่งได้----แต่มูลค่าเพิ่มอาจจะไม่มากนัก

 การเปิดการค้าเสรี จะทำให้ผู้คนที่มีอาชีพดั้งเดิมเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าบางอย่างที่ประเทศขาย  สู้ประเทศอื่นไม่ได้ จะต้องตกงานไป

 อุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากการค้าเสรี ก็ไม่สามารถดูดซับแรงงานเหล่านี้เข้าไปทำงานได้ในทันที  เพราะต้องใช้เวลาในการพัฒนาทักษะฝีมือที่เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมใหม่นี้

ดังนั้น แรงงานด้อยทักษะและผู้คนที่ยากจน จึงจะลำบากหน่อย 

ดิฉันว่า ประเทศไทย ยังไม่ค่อยพร้อมสำหรับนโยบายการค้าเสรีเท่าไรค่ะ

แรงงานของเราไม่ค่อยพร้อมในการแข่งขัน

แต่ดิฉันว่า รัฐบาล ผู้หลักผู้ใหญ่ เขาก็รู้อยู่แล้ว และคงกำลังคิดแก้ไขค่ะ

แต่สิ่งที่สู้ได้แน่ๆคือ อะไรที่เกี่ยวกับ Human Touch สู้ได้แน่ๆ

ปัจจุบันธุรกิจแทบทุกชนิด จะมีการบริการแฝงอยู่ด้วย ไม่ว่าจะจำหน่ายสินค้าหรือทำธุรกิจอะไรก็ตาม เรื่องการบริการที่ถึงพร้อมด้วยน้ำจิต น้ำใจ เรามีมากกว่า ประเทศส่วนใหญ๋

เพียงแต่เราต้องปรับมาตรฐานให้เป็นสากลมากขึ้น  เรามีสินค้าหลายอย่าง ที่นำเสนอพร้อมบริการที่น่าประทับใจ

เหตุผลสนับสนุนที่ดิฉันกล่าวข้างบนเท่าที่นึกได้   เพราะคนไทย.......

1.มีจิตใจรักงานบริการชอบติดต่อผู้คน เป็นคนที่มีอัธยาศัยไมตรีดี   กิริยาสุภาพ มารยาทงดงาม วาจาสุภาพ  กระตือรือร้น  รวมทั้งเป็นคนที่มีทัศนคติที่ดีในงานบริการ

2.มีความอ่อนน้อม ไม่แข็งกระด้าง  ต้องยอมรับว่าในงานบริการมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้  แต่คนไทย เป็นคนค่อนข้างหัวอ่อน  การยอมรับผิดกับลูกค้า/ ผู้ใช้บริการ ไม่ใช่สิ่งยากเย็นสำหรับเรา

3.เนื่องจากงานบริการ เป็นงานที่จะต้องสัมผัสกับผู้คน (Human Touch) ดังนั้น คุณภาพของคนที่จะให้บริการนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก มากกว่าเทคโนโลยี  ที่เราเก่งสู้ประเทศอื่นไม่ค่อยได้(โดยภาพรวม)

เรามามุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพคน ให้รับกับต้นทุน ทางอัธยาศัยใจคอที่น่ารักของเรา ก็ไม่เหนื่อยมากค่ะ

เพราะถ้าจะไปเอาดี ทางเทคโนโลยี่ อาจเหนื่อย เพราะปัญหาเรื่องการศึกษาโดยภาพรวม

วันนี้คุยยาวหน่อย พอดีว่างช่วงเวลานี้ และมีความรู้สึกอยากแลกเปลี่ยนความเห็นกับคุณค่ะ

  • ผมมองว่า การค้าเสรี ไม่ต่างนักกับการวิวัฒนาการเมื่อระบบนิเวศเปลี่ยนไป
  • เวลาผมยกอุปมา กรุณาอย่าได้เข้าใจว่าผมใช้ตัวอย่างที่ประชดใคร ไม่ได้มีเจตนาแบบนั้นครับ ต้องออกตัวไว้ก่อน
  • เหมือนกรณีที่ฝูงสัตว์ถูกบีบให้อพยพจากสิ่งแวดล้อมเดิมที่เป็นป่าทึบ ให้ออกไปอยู่ในที่โล่งเช่นป่าซาวันนาห์ เช่น ถูกรุกป่า
  • ช่วงแรก ๆ นี่ แน่นอนว่า จะเปราะบางต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นชินมาก เห็นสมาชิกฝูงถูกจับกินกันต่อหน้าต่อตาราวไม่มีความสามารถรับมือใด ๆ
  • แต่ผ่านไปนานพอ จะเริ่มเกิดการปรับตัวได้ เช่น เริ่มมีทักษะวิ่งหนี หรือต่อสู้ หรือหาอาหาร
  • เพราะถ้าปรับตัวไม่ได้ ก็คือ ตาย
  • ดังนั้น ในสถานการณ์นี้ คงไม่เกี่ยวว่า เราอยาก หรือเราไม่อยาก เราพร้อม หรือเราไม่พร้อม
  • แต่เป็นว่า เราจะหัดวิ่งแล้วหรือยัง ?

สวัสดีครับคุณพี่sasinanda

ขออนุญาตเรียกคุณพี่นะครับ

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับที่คุณพี่บอกว่า เมืองไทยนั้นมีโอกาสขายสินค้าแบบ Human Touch เพราะว่าคนไทยนั้นมีน้ำใจในการบริการดีกว่าชาติอื่น ซึ่งนี่ก็คงจะเป็น niche market ที่เราจำเป็นที่จะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ด้วยความเคารพครับคุณพี่ ผมไม่คิดว่าประเทศด้อยพัฒนาจะเสียเปรียบประเทศที่พัฒนาแล้วหลักจากการเปิดการค้าเสรีเท่าไรนัก โดยสมมติฐานที่ว่ารัฐบาลประเทศนั้น ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาตินะครับ เหตุผลที่ผมไม่คิดว่าจะเสียเปรียบมาก

  1. การค้าเสรีทำให้เกิดการค้าครับ เมื่อเกิดการค้า ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน การแลกเปลื่ยนทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้น เมื่อเกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาเพิ่มขึ้น
  2. ถ้ามีการลงทุนด้านโรงงานในประเทศด้อยพัฒนา เราก็คงจะทราบดีว่า เราสามารถเรียนรู้เทคโนโลยี ได้เงินทุนเข้ามาจากคำว่าการค้าเสรีด้วย
  3. การค้าเสรีทำให้เกิดการแข่งขันครับ อย่างที่ Joseph Schumpeter บอกนั้นแหละครับ การค้าเสรีทำให้เกิด creative destruction ของเก่าที่ไร้ประสิทธิภาพสมควรที่จะถูกกำจัดไป โดยเอาของใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเข้ามาแทน

ผมเดาว่าคำว่าประสิทธิภาพคงจะเป็นอะไรที่หลายๆท่านคงจะแย้งว่า ก็นี่ไงทำให้เราไม่รู้จักรักษาขนบธรรมเนียม เอาแต่ของตะวันตก เพราะว่ามัน(น่าจะ)ดีกว่า

แต่ถ้าจะนิยามคำว่าประสิทธิภาพในทางเศรษฐศาสตร์จริงๆนะครับ economically efficient นั้นหมายความว่า ทำให้คนอีกหนึ่งคนได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยที่คนอื่นๆทุกคนที่ได้รับประโยชน์อยู่แล้วไม่ได้เสียประโยชน์เลย ดังนั้นการที่บางท่านมองว่าการสูญเสียรากเหง้า เป็นการเสียประโยชน์ นั้นก็หมายความว่าสิ่งที่จะทำมันสิ่งนั้น มันไร้ประสิทธิภาพครับ

แต่ผมไม่ได้หมายความว่า ประเทศด้อยพัฒนาจะได้เปรียบเรื่อยๆนะครับ เพราะว่าตามกฏของ diminishing return ความได้เปรียบของประเทศด้อยพัฒนาจะหมดไป หรือ marginal benefit ที่ประเทศด้อยพัฒนาได้จากประเทศที่พัฒนาแล้วจากการค้าเสรีนั้นจะลดลงเรื่อยๆครับ ตราบเท่าที่เราไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆได้อีกแล้ว

แต่เราสามารถแปลงตรงนี้มาเป็นความได้เปรียบได้ครับ นั่นก็คือการสร้างมูลค่าเพิ่มเข้าไปจากสิ่งที่เราเรียนรู้มาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว มันเหมือนโมเดลของประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์  และจีนครับ

ผมคิดว่าประเทศไทยจะพร้อมไม่พร้อมก็ต้องพร้อมครับ แล้วก็ต้องอย่ากลัวที่จะแข่งขัน ผมคิดว่าผมอาจจะสรุปง่ายๆว่า เราอย่ากลัวที่จะก็อปปี้ของดีมาทำใหม่ครับ 

ด้วยความเคารพครับ การบริการเป็น niche ที่เราสามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่เราไม่สามารถทิ้งภาคการผลิตได้ครับ เหตุผลที่เราไม่สามารถทิ้งภาคการผลิตได้ เพราะว่า ภาคการบริการยังใช้คนไม่เยอะเท่าภาคการผลิตครับ ดังนั้นถ้าเราทิ้งภาคการผลิตไปเลย เราจะเหมือนอินเดียครับที่ความห่างระหว่างรายได้ของประชากรนั้นทิ้งกันไปเรื่อยๆครับ

กราบขอบพระคุณคุณพี่มากครับสำหรับความคิดเห็น

ต้น  

 

 

 

 

สวัสดีครับอาจารย์วิบูล

ผมว่ามุมมองอาจารย์แหลมคมมากและใช้อุปมาได้อย่างแยบยลที่สุดครับ ผมคิดว่าอาจารย์กล่าวได้อย่างถูกต้องที่สุดว่า มันไม่เกี่ยวกับว่าเราอยากไม่อยาก หรือพร้อมหรือไม่พร้อม แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราหัดวิ่งแล้วหรือยัง

“It is not the strongest of the species that survives, nor the most intelligent that survives. It is the one that is the most adaptable to change"

Charles Dawin

ผมคิดว่าคำนี้คงจะเป็นอะไรที่สรุปได้ดีที่สุดสำหรับความเห็นของอาจารย์นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท