ประมงพื้นบ้าน


ประมงพื้นบ้านกู้ปลาโป๊ะเชือก

ประมงพื้นบ้าน "กู้ปลาโป๊ะเชือก" หนึ่งเดียวของไทย
« เมื่อ: มกราคม 11, 2006, 09:13:17 am »

ประมงพื้นบ้าน "กู้ปลาโป๊ะเชือก" หนึ่งเดียวของไทย สัมผัสได้ที่น่านน้ำหาดแม่รำพึง จ.ระยอง
นับเป็นความประทับใจอีกครั้งในชีวิต ที่ทีมงานท่องเที่ยวได้มีโอกาสสัมผัสถึงวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดระยอง ที่ใช้ชีวิตอยู่แต่ในท้องทะเล ตื่นตี 3 ตี 4 เพื่อออกเรือไปจับสัตว์น้ำ ปลา ปู กุ้ง หอย ปลาหมึก ฯลฯ ซึ่งแล้วแต่ละครอบครัวว่าใครจะหยิบเครื่องมือชนิดไหนมาใช้จับสัตว์น้ำอะไรไปขาย เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่ยึดอาชีพ "พรานทะเล" สืบทอดกันมาถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน บางครอบครัวก็มีรายได้แค่พอมีพอกิน การจับสัตว์น้ำของชาวประมงพื้นบ้านยังคงเป็นอาชีพที่เป็นแบบหาเช้ากินค่ำ

จนวันหนึ่งก็เกิด
"โครงการโป๊ะเชือกระยอง" ซึ่งทางกรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง ร่วมกับศูนย์พัฒนาการประมงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) และกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคลองกระเฌอ ชุมชนบาง-กระเฌอ ป่าคั่น หินขาว หินดำ หัวรถช่น และก้นอ่าว ได้ทำการศึกษาทดลองใช้โป๊ะเชือกเพื่อการจัดการการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้ชาวประมงพื้นบ้านได้จับปลากันแบบอนุรักษ์และไม่ทำลายพันธุ์ปลา 

ลุงมาโนช ปัสเสนะ ประธานกลุ่มโป๊ะ เล่าให้ฟังว่า
"การประมงโป๊ะเชือกถือเป็นทางเลือกใหม่ของพวกตน ที่ยึดอาชีพประมงมานาน ทุกวันต้องนำเรือออกหาปลากันตั้งแต่เช้ายันค่ำ การจับปลาก็แล้วแต่ว่าจะได้มากน้อยแค่ไหน บางวันรายได้อาจจะไม่คุ้มทุน ค่าน้ำมันแพง นับว่าโชคดีที่ได้นำโป๊ะเชือกมาใช้ เป็นการประมงที่อยู่กับที่ ไม่ต้องออกเรือไปตระเวนหาปลา ทางกรมประมงก็ได้ให้การช่วยเหลือนำเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมาใช้ ให้ทางเรารวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ ประมาณ 11 คน ทดลองกู้ปลาด้วยโป๊ะเชือก นำปลาไปขาย ทำให้เรามีรายได้ต่อวันเป็นค่าตอบแทนและแบ่งเงินปันผลกันตอนปลายปี ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ในยุคน้ำมันแพง การกู้ปลาแต่ละครั้งก็ใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียว" 

ในวันที่ทีมงานท่องเที่ยวได้ไปชมการจับปลาด้วยโป๊ะเชือก ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย ก็ได้เดินทางออกจากท่าเรือนวลทิพย์กันในช่วงเช้า เวลา
08.00 น. พร้อมกับสื่อมวลชนท่านอื่นๆ และคณะของ คุณไพรัตน์ อรุณเวสสะเศรษฐ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านเพ เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก โดยมี คุณธีรยุทธ ศรีคุ้ม นักวิชาการประมง 6 เป็นผู้ให้ความรู้และข้อมูลแก่ทีมงานท่องเที่ยว และ คุณสกล แสงจันทร์ นายเรือ 3 เป็นผู้นำทาง พาเรือของสื่อมวลชนและคณะไปสู่ที่หมาย ซึ่งห่างจากท่าเรือแถวบ้านเพประมาณ 5 กิโลเมตร การเดินทางใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ เราก็ได้เห็นกลุ่มของชาวประมงพื้นบ้านกำลังกู้ปลาด้วยโป๊ะเชือกขนาดกลาง ที่ชาวประมงเลือกนำมาวางอยู่นอกฝั่งบ้านหินขาว ประมาณ 5,000 เมตร ระดับน้ำลึก 13 เมตร ที่หาดแม่รำพึง ตำบลเพ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ที่ถือว่าเป็นแหล่งมีปลาอยู่ชุกชุม

โป๊ะเชือกเป็นโป๊ะที่ใช้อวนทำเป็นตัวและปีกโป๊ะ ชาวประมงจะประกอบในทะเลมีการทิ้งสมอขึงให้อวนกางเป็นรูปโป๊ะและลอยทุ่นให้เนื้ออวนไม่จมน้ำ ใช้ปีกโป๊ะเป็นเครื่องล่อปลา โดยปลาจะว่ายมากินแพลงตอนที่ติดอยู่กับปีกโป๊ะ และว่ายวนมาตรงปากอวนรูปหัวใจ พอเข้ามาแล้วทำให้ปลาออกไม่ได้ จึงทำให้ปลาติดอยู่ในอวน พอถึงเวลาชาวประมงก็มากู้โป๊ะ โดยใช้เรือเพียง
4 ลำ ในการออกหาปลา ชาวประมงค่อยๆ ดึงอวนให้เรือมาบรรจบกันตรงกลาง ในช่วงอึดใจเราก็ได้เห็นปลาน้อยใหญ่เต้นอยู่ในอวนเป็นจำนวนมาก ทำให้คณะที่ไปชมต่างเพลิดเพลินไปกับการกู้โป๊ะของชาวประมง วันนั้นปลาที่จับได้มีทั้งปลาจะละเม็ด ปลาหมึก ปลาหลังเขียว ปลาลูกกล้วย ปลากระทุงเหวแบน ปลาสลิดหิน ฯลฯ จากนั้นก็ใช้กระชอนตักปลาออกจากอวน นำลงเรือเอาไปขายที่หาดขายปลาส่วนตัวแถวบริเวณบ้านก้นอ่าว หาดแม่รำพึง เป็นปลาที่สดจากทะเลจริงๆ และชาวประมงยังใจดี แบ่งปลาที่จับมาได้ให้กับคณะที่เดินทางไปชม นำติดไม้ติดมือมาปรุงอาหารรับประทานกันที่บ้านอีกครับ

คุณธีรยุทธ ได้ให้ข้อมูลกับเราว่า
"ทางศูนย์ได้ให้กลุ่มชาวประมงจัดตั้งเป็นสหกรณ์ดำเนินการเองโดยศูนย์มีหน้าที่คอยเป็นพี่เลี้ยง และมีสมาคมประมงโป๊ะเชือกเมืองฮิมิ ประเทศญี่ปุ่น ให้การสนับสนุนด้านวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการประมงโป๊ะเชือกต่างๆ พร้อมกับสนับสนุนให้ชาวประมงและเจ้าหน้าที่ของศูนย์เข้ารับการอบรมและดูงานโป๊ะเชือกที่เมืองฮิมิ โดยในอนาคตคงมีการพัฒนาโป๊ะเชือกจาก 1 ลูก เป็น 2 ลูก เพื่อสามารถจับปลาได้ในปริมาณที่มากขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบันชาวประมงกู้โป๊ะเพียง 1 ลูก และไม่ได้ทำการกู้ทุกวัน และทางศูนย์ยังคาดหวังที่จะพัฒนา "โครงการโป๊ะเชือกระยอง" ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสถึงวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน ชมการจัดทำโป๊ะเชือก การรุกโป๊ะเชือก การซ่อมโป๊ะ ฯลฯ

โดยปัจจุบันโครงการนี้ยังได้รับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์น้อยมาก มีเพียงสถานีวิทยุกรมประมง
100.75 MHz ที่ออกอากาศแถวน่านน้ำบริเวณชายฝั่งเท่านั้น เมื่อได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนเพิ่มขึ้น ก็คิดว่า "โครงการโป๊ะเชือกระยอง" คงได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการประมงมากขึ้น หากนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชมเป็นกรุ๊ป ก็สามารถติดต่อได้กับทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง โทร. (038) 651-764

3 4 "SEAFDEC) 7   "11   08.00 6 3 5 1 5,000 13 4 "1 2 1 "100.75 MHz "038) 651-764

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้าน

แหล่งที่มา:
http://www.nicaonline.com/webboard/index.php?board=4;action=display;threadid=3655

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14809เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2006 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท