พอเพียงจะไปถึงอยู่เหลือไหมหนอ?


ผู้เขียนเข้าใจว่าตนเองได้รับการให้จากชุมชนด้วยซ้ำ นี่คือบุญคุณแผ่นดินไทย ที่ผู้เขียนในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ก็เพิ่งตระหนัก และมหัศจรรย์ใจกับความเป็นจริงนี้

       ผู้เขียนลาหยุดงานหนึ่งวัน เพื่อไปทำฟัน  วันนี้จึงมีโอกาสได้นั่งอยู่หน้าจอบันทึก   ผู้เขียนกำลังสนใจเรื่องวิถีชีวิตของตนเอง ณ โรงงานนครปฐม ในระยะเวลา ประมาณ 8 เดือนนี้ จึงทบทวนด้วยการเขียนระบายในประเด็น  พอเพียงจะไปถึงอยู่เหลือไหมหนอ?... ซึ่งอาจจะไปสอดคล้องกับข่าวคราวในปัจจุบันบ้าง

       ผู้เขียนพักที่กรุงเทพฯ และเดินทางไปทำงานที่โรงงานนครปฐม 6วัน/สัปดาห์  ด้วยรถยนต์เพื่อนร่วมงาน ท่านเป็นผู้จัดการฝ่ายติดตั้ง  ซึ่งมีบ้านพักอยู่ที่มหาชัย ไม่ต้องเดาว่า รถคันนี้ เต็มไปด้วยสมาชิกชาวช่าง  เป็นผู้ชาย จำนวน4-5 คน มีผู้เขียนเป็นผู้หญิงคนเดียว  ผู้เขียนได้ช่วยค่าน้ำมันผู้ขับ เป็นรายเดือน วันไหนผู้ขับติดธุระปะปัง  สมาชิกทั้งหมดจะไม่ทิ้งผู้เขียน  อาจต้องนั่งรถโดยสารประจำทางกลับ ก็ช่วยค่าเดินทางกันตามอัตภาพแบบลงขัน   ผู้เขียนดีใจที่ได้ร่วมกิจกรรม Car poolนี้  สิ่งที่เป็นมูลค่าเพิ่ม คือ น้ำใจไมตรี ที่ไม่น่าเชื่อว่า ภาพภายนอก แบบผู้เขียนจะไปกันได้กับ ช่างติดตั้ง แต่ก็เป็นไปแล้ว  ผู้เขียนจำได้ว่า เมื่อต้องเดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกสถานที่กับทีมงาน สคส. ทุกครั้ง เราจัดคนนั่งกันเต็มคันรถ

       ผู้เขียนมีกระปุกสำหรับหยอดเหรียญแทบทุกวัน  เนื่องจาก ผู้เขียนได้ไปกราบนมัสการ หลวงพ่อพระภิกษุที่วัดในละแวกโรงงาน เมื่อท่านทราบว่า เรามาทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่โรงงานกระดาษแห่งใหม่นี้  ก็เทศน์สั่งสอนให้ ซื่อสัตย์  ช่วยดูแลรักษาทรัพย์สิน อุปกรณ์ ให้เจ้าของ  "เมื่อมองเจ้าของสูงก็สูง  เมื่อมองเขาต่ำก็ต่ำ"  นี่คือ ปริศนาธรรม ที่ท่านสอน  สำหรับตัวผู้เขียนเอง ท่านสอนให้ออมทรัพย์ และรักษาสุขภาพ ท่านยกตัวอย่างว่าท่านสร้างวัด ด้วยเงินออมเริ่มต้น เพียง 20 บาท  ผู้เขียนได้ทำในสิ่งที่ท่านสอน... และรู้สึกสบายใจปลอดโปร่งที่ได้กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าอาวาส 3 ครั้ง  ในรอบ 8 เดือนนี้

       ผู้เขียนรู้สึกว่าความนึกคิดของตนเองเปลี่ยนแปลงไปอีกแล้ว  เมื่อต้องทำงานในภาวะที่มีทรัพยากรจำกัด โดยเฉพาะเงินทุน  ผู้เขียนไปเก็บดอกกระเจี๊ยบซึ่งหาได้ง่ายในโรงงาน  มาต้มน้ำ โดยได้รับความอนุเคราะห์หม้อต้ม และทัพพีจากแม่บ้านที่มีบ้านพักติดกับโรงงาน    น้ำกระเจี๊ยบช่วยรักษาสุขภาพได้  และคลายกระหายให้เหล่าพนักงานกว่า 40 ชีวิตในโรงงานของเรา    ผู้เขียนได้ทำแยมกระเจี๊ยบจากกากส่วนที่เหลือ   โดยซื้อขนมปังปอนด์ไปจากกรุงเทพฯ เป็นที่ติดอกติดใจของผู้ได้ชิมทีเดียว   ผู้เขียนดีใจที่พนักงานบัญชี  ซึ่งกำลังจะคลอดบุตร ในช่วงปีใหม่นี้บอกว่า เขาจะทำขนมแบบนี้ให้ลูกกินบ้าง  เพราะผู้เขียนทำไป ก็เล่าไปว่า แม่ เลี้ยงและสอนผู้เขียนแบบนี้  ให้กินขนมที่ทำจากผลหมากรากไม้ในบ้าน มากกว่าซื้อภายนอก  ไม่น่าเชื่อว่าคนขับรถของเจ้านายจากกรุงเทพฯ ก็ประทับใจ กับอาหารแบบนี้  พนักงานที่เคยเรียกร้องน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มสำเร็จรูป  เมื่อร้อนมากจริงๆ ในวันที่ทำงานกลางลาน ก็ต้องนึกถึงน้ำกระเจี๊ยบ หรือน้ำตระไคร้ที่ผู้เขียนได้ลงมือทำแล้วจากตระไคร้ที่ปลูกในพื้นที่โรงงาน

       ผู้เขียนชอบที่จะแบ่งซื้อพืชผลทางเกษตรท้องถิ่นจากพนักงาน ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง   ไข่ไก่บ้าน หรืออื่นๆที่เป็นไปได้  ซึ่งมีราคาถูกกว่าท้องตลาดแน่นอนที่สำคัญไม่ฉีดยา ด้วยความใจดี ของชาวบ้าน และน้ำใจที่เขาอยากแบ่งให้เรากินด้วย   เจ้านายของผู้เขียนก็จะแบ่งซื้อหน่อไม้ฝรั่งกลับกรุงเทพฯ เช่นกัน  ผู้เขียนดีใจที่คนเมืองเอาเงินมาแลกอาหารสด ไม่ฉีดยา ราคาไม่แพง นำไปให้ลูกหลานได้กิน  ชาวบ้านก็ได้เงินมาใช้จ่าย โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง (ซึ่งจริงๆบังคับห้ามขายปลีก)  

       ผู้เขียนจะเลือกสั่งอาหารที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น  เพราะจะเป็นอาหารที่สดอร่อย และมีประโยชน์ ราคาถูก     ช่วงที่ผู้เขียนพักบ้านพนักงาน ได้ช่วยค่าใช้จ่ายต่อเดือนกับครอบครัวเขา กินข้าวและนั่งคุยกับแม่ของเขา ซึ่งก่อนหน้ามักจะนั่งทานข้าวเย็นคนเดียวเมื่อกลับจากไร่ข้าวโพด ผู้เขียนเคยถามคนมารับส่งข้าวโพดว่าเขาได้รับประทานข้าวโพดเกรดดีๆบ้างหรือไม่  ทำไมเราส่งเข้าโรงงานหรือส่งออก ทั้งหมด   เขาหัวเราะก๊าก กับคำถามของผู้เขียน แล้วพูดว่า "จริงสินะ..."   หลังจากนั้น ผู้เขียนได้กินข้าวโพดอ่อนชุบแป้งทอด  ข้าวโพดอ่อนจิ้มนำพริก แบบไม่ฉีดยา  ขอบอกว่า อร่อยที่สุด!

       ผู้เขียนแวะไปทานก๋วยเตี๋ยวในวันหนึ่ง ไม่ไกลจากที่ทำงานนักเห็นดอกหงอนไก่บานสวยงามมาก  จึงเอ่ยปากขอแบ่งดอกและเมล็ดกับ เจ้าของร้าน  ซึ่งเขาก็ยินดีแบ่งปันให้ผู้เขียน  ตอนนี้  ผู้เขียนเพาะต้นกล้า โตได้พอควรแล้ว  ด้วยความร่วมมือของพนักงาน รอวันที่จะลงแปลงและเห็นดอกที่สวยงามเช่นกัน  วันนั้นผู้เขียนคงต้องกลับไปกิน ก๋วยเตี๋ยวอีกครั้ง...

       เสน่ห์ของที่ทำงานผู้เขียน คืออะไร?  ผู้เขียนกำลังถามตนเอง  เพราะผู้เขียน เจอผู้หญิงทำงาน ที่ไปจากกรุงเทพฯ  เขามักจะถามว่า  คุณ...อยู่ได้อย่างไร?  ถ้าเป็นผู้หญิงที่ทำงานในแวดวงโรงงานกระดาษในฐานะSupplier เขาจะถามผู้เขียนว่า คุณไม่ใช่คนพื้นที่ใช่ไหมคะ ? แล้วพักอยู่ที่ไหน? อยู่ได้อย่างไร? 

       วันนี้ผู้เขียนมีคำตอบเบื้องต้นว่า...ประทับใจ กับการใช้ชีวิตเชิงชนบทผสมผสานกับในเมือง เพราะผู้เขียนได้รับน้ำใจ แบ่งปัน ได้พัฒนาความนึกคิด  ได้สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติ ได้ใช้วิธีการทำงาน หรือวิถีเมืองบางอย่าง  ความรู้บางอย่าง ถ่ายทอด ซึมซับให้กับพนักงาน ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นนั้น หรือท้องถิ่นอื่น    ผู้เขียนเข้าใจว่าตนเองได้รับการให้จากชุมชนด้วยซ้ำ  นี่คือบุญคุณแผ่นดินไทย  ที่ผู้เขียนในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ก็เพิ่งตระหนัก และมหัศจรรย์ใจกับความเป็นจริงนี้

        สิ่งที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมานี้ เพียงเสี้ยวหนึ่งของการเกิดขึ้นจริง และการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นต่อไป ตราบเท่าที่พอเพียงจะไปถึงอยู่เหลือ

หมายเลขบันทึก: 146388เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2007 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ คุณกรวีร์

  • หายไปเสียนานเลยนะครับ
  • ขอแสดงความยินดีด้วยนะครับที่ได้มีโอกาสกินอาหารที่สด ปลอดสารพิษ แถมราคากันเองเช่นนี้
  • ไม่ทราบว่าที่นครปฐม มีโรงงานกระดาษกี่โรงครับ
  • ถ้ามีโรงเดียว น่าจะเป็นเรื่องที่เพื่อนผมคนหนึ่ง ต้องมานั่งโศรกเศร้าเสียใจอยู่ทุกวันนี้
  • เคยเป็นวิศวกรโรงงานกระดาษอยู่แถวปากน้ำ ลาออกมาเป็นเซลล์แมนขายคอมพิวเตอร์ควบคุมการผลิตของบริษัทฝรั่งอยู่แถวถนนรัชดา แต่ต้องมาเสียท่าคู่แข่งจนได้อุตส่าห์ตามงานมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี เพราะความซื่อจนเซ่อของเพื่อนผมคนนี้
  • อ้าว !!++ ต้องขอโทษทีมานั่งนินทาเพื่อนให้คุณฟังเสียแล้วนี่ เพราะสงสารเพื่อนนะครับ

สวัสดีครับ คุณลิขิต

P

 

 

 

 

 

  • เขียนเรื่องเกี่ยวกับการใช้ชีวิต และแนวทางการพัฒนาในชุมชน ดีครับผม เป็นการบูรณาการณ์ตัวเอง กับการพัฒนาตนเองเพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
  • ขอบคุณครับผม
  • ขอบคุณค่ะ สำหรับกำลังใจ
  • ขอตอบคำถามว่าบริเวณที่ทำงาน(นครปฐมนี้) มีหนึ่งเดียวค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท