สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๒๐. ประวัติศาสตร์กับการศึกษาวรรณคดีไทย (๑๙)


4.3 วรรณคดีไทยกับการสะท้อนภาพสังคมและวัฒนธรรมไทย
         ผมเชื่อว่า การศึกษาวรรณคดีไทยโดยสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ และจากมุมมองอื่นที่นอกเหนือไปจากเรื่องของสุนทรียรสและฉันทลักษณ์ จะทำให้วรรณคดีเก่าของไทยอยู่ในความทรงจำของคนไทยได้ดีขึ้น วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระอภัยมณีและ ขุนช้างขุนแผน อยู่ใกล้ตัวเข้ามามากกว่าวรรณกรรมเก่าที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างและอ่านเข้าใจได้ง่ายกว่า วรรณคดีเหล่านี้สะท้อนภาพของสังคมไทยได้ดี

         โลกของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่สะท้อนในหนังสือ นางนพมาศ เป็นโลกที่เปลี่ยนไปจากที่คนไทยเคยรู้จัก เพราะเป็นโลกที่มีพ่อค้าอเมริกันเข้ามาค้าขายแล้ว ชมพูทวีปกำ ลังเปิดทางให้แก่สกลทวีป (ซึ่งเป็นโลกทางภูมิศาสตร์) ตะเลงพากย์เป็นภาษาฝรั่ง (ผู้ปกครองแผ่นดินมอญตอนใต้ของพม่ากลายเป็นฝรั่งอังกฤษมาตั้งแต่พม่าแพ้สงครามต่ออังกฤษและต้องทำสนธิสัญญายันดาโบในพ.ศ. 2369) เก้าในสิบของดินแดนที่คนไทยเคยรู้จัก  เคยเป็นพุทธ ขณะนี้เหลือเพียง 1 ใน 10 แผ่นดินส่วนใหญ่ตกเป็นของมิจฉาทิฐิ อินเดีย ลังกาและส่วนหนึ่งของพม่าตกเป็นของพวกนอกศาสนาพุทธ ชวาตกเป็นของดัตช์มานานแล้ว ญวนซึ่งไม่ใช่พุทธก็กำลังคุกคามกัมพูชาอยู่

         ลองมาพิจารณาดู พระอภัยมณี กันบ้าง วรรณคดีเรื่องนี้ประสบความสำเร็จเพราะวรรณศิลป์อันเลอเลิศของพระศรีสุนทรโวหาร (ภู่) ส่วนหนึ่ง และความสามารถอย่างยอดเยี่ยมในการนำเสนอเรื่องราวที่แปลกใหม่แตกต่างไปจากเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ที่คนเคยคุ้นเคยกันมา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า พระศรีสุนทรโวหาร (ภู่) ได้นำเค้าเรื่องและตัวละครของจีนที่คนไทยรู้จักดีมาแต่งตัวใหม่เป็นพระอภัยมณีและศรีสมุทร ผมกลับมองว่า ท่านผู้แต่งคงจะได้เก็บบรรยากาศในสมัยของท่านไว้ในวรรณคดีที่ท่านแต่ง และผมมองเห็นภาพของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระเกียรติยศเป็นที่ชื่นชมว่าสง่างาม และทรงสนพระทัยดนตรีลาวจนต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกระแนะกระแหน และพระศรีสุนทรโวหาร (ภู่) ยังได้พึ่งพระบารมีพระองค์ท่านด้วย นางละเวงเจ้าเมืองลังกาก็มิใช่อื่นใด ได้แก่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ในช่วงเวลาที่อังกฤษเข้าครอบครองเกาะนั้นต่อจากพวกวิลันดา ในสมัยรัชกาลที่ 3  คณะสมณทูตไทยได้ถูกส่งไปลังกาและก็ย่อมได้รับทราบสถานการณ์ของเกาะนั้นดี พระศรีสุนทรโวหาร (ภู่) ได้บันทึกเรื่องราวร่วมสมัยและแสดงความคุ้นเคยกับการเข้ามาของพวกหมอสอนศาสนา และสิ่งประดิษฐ์จากจักรกลสมัยใหม่ เช่น หีบเพลง และสิ่งอื่นๆ ของตะวันตก และท่านคงเข้าใจถึงท่าทีที่การคุกคามของอังกฤษทั้งในด้านกำลังและวัฒนธรรม แต่ท่านมีความมั่นใจในความเข้มแข็งของวัฒนธรรมไทย ความสัมพันธ์ระหว่างพระ อภัยมณีกับนางละเวงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นการปะทะกันในทางวัฒนธรรม ระหว่างพระอภัยมณี ผู้ซึ่งมีไสยาคมจากปี่เป็นอาวุธกับนางละเวงหรือฝรั่งอังกฤษซึ่งมีเทคโนโลยีแบบใหม่เป็นอาวุธ ถ้าเราอ่าน พระอภัยมณีด้วยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์อย่างนี้ เราจะสนใจศึกษาวรรณคดีไทยมากขึ้น

วิจารณ์ พานิช
๑๙ ต.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 146384เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2007 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท