ร่วมอยู่ในความเบิกบาน : ถอดประสบการณ์อบรมภาวนา (5)


"การภาวนานั้นเกิดจากการยินยอมอนุญาต มิใช่ใช้กำลังบังคับ" (Meditation is not forcing but allowing.)
<5>

    อาจารย์ธรรมสมุทรพูดถึงเรื่องความแตกต่างของการภาวนา (Meditation) กับ การเพ่งคิด (Concentration) ว่ามีความแตกต่างกัน จากตัวอย่างไฟฉายในตอนที่แล้วที่ท่านบอกว่าหากตัวเราถือไฟฉายอยู่ห่างๆกระดาษมากๆ แสงที่ตกต้องกระดาษแผ่นนั้นก็จะเจือจางไม่ชัดเจน ควมไม่คมชัดขาดโฟกัสนี้เองที่ท่านบอกว่าพวกเราจะต้องฝึกการภาวนา คำว่าภาวนา (Meditaion) นั้นผมเองเคยสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงเรียกเช่นนี้ เพราะรู้สึกราวกับว่าเป็นการคุกเข่าลงสวดอ้อนวอนในศาสนาคริสต์ แต่ในความเข้าใจในปัจจุบันของตนนั้นคิดว่าการทำภาวนานั้นมีความหมายกว้างกว่าการนั่งสมาธิ เพราะกินความหมายกว้างไปถึงการปฏิบัติระลึกรู้อยู่ในทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน นั่ง ยืน รับประทาน และอริยาบทอื่นๆในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการทำงาน สำหรับผมการทำสมาธินั้นให้ภาพของการนั่งปฏิบัติ หลับตา จึงยินดีที่จะรับคำว่าภาวนามาใช้แทนความเข้าใจเดิม    สำหรับการเพ่งคิด เพ่งจ้อง หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่จากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Concentration นั้น ท่านธรรมสมุทรอธิบายว่ามันคือ "ความสามารถที่จะอยู่กับวัตถุใดวัตถุหนึ่งในขณะเวลานั้นๆ" ซึ่งผมเข้าใจเพิ่มเติมเมื่ออ่านงานของท่าน กฤษณะมูรติ ว่าการเพ่งจ้องนั้นจะทำให้เราเห็นเพียงเสี้ยวส่วน ท่านให้ใช้คำว่า ใส่ใจ (Pay Attention) เช่นการใส่ใจชมต้นไม้ ดอกไม้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเพ่งจ้องเฉพาะที่เกษรดอกไม้ เพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้เราไม่สามารถชื่นชมความงามของต้นไม้นั้นทั้งต้น ได้เท่ากับความใส่ใจ
    
    ในความใส่ใจนี้เองผมคิดว่าสามารถมาเชื่อมโยงกับคำว่า Mindfulness ซึ่งหลวงพี่ธรรมสมุทรให้ความหมายของคำนี้ว่าเป็นการ ใส่ใจอย่างเหมาะสม (Appropriate Attention) หรือตรงกับการเลือกรดน้ำเมล็ดพันธ์ในจิตใต้สำนึกของเรานั่นเอง ผมคิดว่านี่น่าจะใกล้เคียงกับความหมายของการมี "สติ" อยู่ในปัจจุบันขณะ ซึ่งในความเข้าใจของผมอันอาจจะไม่ตรงกับใครเลย หรือแม้แต่ของท่านพุทธทาสที่เปรียบเทียบการทำสมาธิกับการไกวเปลเด็ก ผมมองว่าจิตก็คือเด็ก แต่เปลและเชือกนั้นก็คือสมาธิ ส่วนผู้ที่ไกวเปลนั้นคือสติ เวลาเด็กร้องโยเยเรามีสติเป็นผู้ไกว แต่ถ้าหากสมาธิซึ่งก็คือเชือกที่ไกวเปลนั้นเส้นเล็กเกินไป ก็คือไม่เคยหมั่นเพียรฝึกฝน ผู้ไกวต้องการให้เด็กหยุดร้องก็ทำไม่ได้ การเจริญภาวนาก็คือการฝึกให้สมาธิของเรางอกงาม เป็นการรดน้ำเมล็ดพันธ์แห่งสติให้มีความสดชื่น แข็งแรง หลวงพี่ทิ้งประโยคหนึ่งไว้ก้องในความทรงจำของผมก็คือ
    
    "เราจะต้องใส่ใจกับสิ่งที่เราใส่ใจ" (We have to pay attention to what we pay attention.)
    
    ก่อนจะจบการเทศนาในวันนี้หลวงพี่ได้แบ่งปัน "ความลับ" กับเรา ไม่ใช่ความลับแบบในหนังสือชื่อดังที่เต็มไปด้วยปรัชญาตัดแปะ และการโหมประโคมการขายในแบบฮาร์ดเซล แต่เป็นเคล็ดแห่งการอัญเชิญพรประเสริฐ 3 ประการ (Secret Method for Invited Blessing) ซึ่งท่านบอกว่าเป็นคำถามเพียง 3 ข้อ ที่ทิ้งไว้ให้พวกเราใคร่ครวญกับตัวเองในกาละ เทศะต่างๆ ไม่ว่าจะทำตลอดทั้งวัน หรือเลือกทำเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือเลือกทำเมื่อได้ไปพบปะกับใคร หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งเสร็จสิ้นลงก็ได้ ท่านบอกว่าถ้าหากปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอจะเป็นการให้พรอันประเสริฐแห่งตัวเองได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
    
    ท่านเกริ่นให้ฟังว่าในชีวิตประจำวันของเรานั้น มนุษย์เรามักจะหลีกไม่พ้นการตีความในเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์กับใครในที่เรียน ที่ทำงาน เรา "ตีความ" ประสบการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราตลอดเวลา ไม่ว่าจะตีความเป็นกุศล หรืออกุศลก็ตามที แต่การตีความดังกล่าวนี้ถ้าหากเกิดขึ้นในทุกขณะจิต เราก็จะไม่ได้ใช้ชีวิตของเราอยู่ในปัจจุบัน การถามคำถามที่ลึกซึ้งเหล่านี้จะช่วยให้เราได้หันกลับมาทบทวน พฤติกรรมและความคิดของเรา ทำให้เราเป็นผู้ที่มีความละเอียด ละเมียดละไมมากขึ้น
    
    คำถามที่ 1 : "อะไรคือสิ่งที่ฉันได้รับจาก คนอื่น/คนรัก/การปฏิสัมพันธ์/การประชุม ฯลฯ ในวันนี้?" เป็นคำถามที่ง่ายแต่ซับซ้อนมาก เป็นคำถามที่จะทะลุทะลวง "วัตนธรรมแห่งการอ้างสิทธิอันควรได้" (Culture of Entitlement) เช่น อาจารย์มีหน้าที่มาสอนเพราะฉันจ่ายเงินค่าเทอม, แม่บ้านมีหน้าที่ชงกาแฟให้ฉันเพราะฉันเป็นผู้จัดการ, ร้านก๋วยเตี๋ยวต้องมาเสริฟบะหมี่ให้ฉันเร็วๆเพราะฉันเป็นลูกค้าที่เอาเงินมาจ่าย, รัฐบาลจะต้องให้ฉันกู้เงินเพราะถ้าบริษัทฉันล้มไปพนักงาน 5000 คนจะตกงาน, รัฐบาลต้องไม่แปรรูปรถไฟเพราะเป็นมรดกของชาติ, พระสงฆ์จะต้องได้รับการเชิดชูเกียรติห้ามศิลปินวาดภาพหมิ่นพุทธศาสนา ฯลฯ ทุกคนมองแต่สิทธิที่จะได้รับ และสิ่งนี้เองทำให้คำถามข้อแรกนี้เป็นสิ่งที่ยากมากในการสะท้อนกับตัวของเราอย่างจริงใจ ท่านให้มองในเรื่องใกล้ตัว ยกตัวอย่างเช่น ใครย้อนกลับไปคำนึงถึงผู้ที่ชงกาแฟให้เราได้ดื่มในวันนี้ จริงอยู่เราอาจจะเดินเข้าร้านกาแฟและจ่ายเงินค่ากาแฟถ้วยนั้น แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้เราเพิกเฉยต่อการที่ใครสักคนหนึ่งได้ตั้งอกตั้งใจ และใส่ใจกับชงกาแฟ "ให้เรา" เป็นกาแฟถ้วยพิเศษที่เกิดจากทักษะ และความชำนาญของมนุษย์คนหนึ่งส่งตรงมาให้กับเรา และเราเพียงผู้เดียวเท่านั้น!!!
    
    หลวงพี่ให้เราสามารถเขียนบรรยายสิ่งที่เราได้รับจากผู้อื่นลงมาเป็นรายการหนึ่ง สอง สาม สี่ ... เลยก็ได้ การเขียนบรรยายในลักษณะนี้จะช่วยให้เราได้คำนึงถึงสิ่งดีที่ผู้อื่นได้ปฏิบัติต่อเรา แทนความคุ้นชินเดิมๆที่เรามักจะคิดถึงประสบการณ์ของเราในแง่ลบ ว่าใครไม่ได้ทำอะไรให้กับเราอย่างที่เราควรจะได้บ้าง จนเราได้มองข้ามสิ่งดีๆที่มีผู้ทำให้กับเรา ถ้าหากทำได้บ่อยๆเราจะสร้างเสริมนิสัยของการลด ละ ปล่อยวาง ความคาดหวังที่มีต่อผู้อื่น ที่มักจะเป็นเสมือนม่านหมอกในดวงตาของเราที่ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นคุณงามความดี และน้ำจิตน้ำใจของผู้คน และสิ่งนี้จะทำให้เรากลับไปมีจิตวิญญานเยี่ยงเด็กน้อยที่มักจะตื่นเต้นเสมอเมื่อมีใครทำอะไรดีๆให้กับเขา
    
    คำถามที่ 2 : "ฉันได้ให้อะไรกับใครบ้างในวันนี้?"
    
    เราอาจจะพบว่ารายการในคำถามที่สองนั้นมันสั้นกว่าคำถามแรกมากมายนัก มองดูด้วยใจใคร่ครวญว่ามันเป็นเพราะอะไร? รับรู้ถึงสิ่งที่กระทบความรู้สึกของเราในขณะที่เปรียบเทียบรายการสองรายการนี้ ใช่หรือไม่ที่เรารับมามากกว่าให้คนอื่น แต่หลวงพี่บอกว่านี่อาจจะเป็นเพียงกลอุบายของการ "ตีความ" (Interpretation) ที่กำลังเล่นตลกกับเรา ท่านบอกว่าสิ่งที่เราให้กับคนอื่นนั้นไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเป็นสิ่งของ หรือวัตถุ เพียงแค่รอยยิ้มที่ส่งให้กับผู้อื่นอย่างจริงใจ หรือแม้แต่เรื่องง่ายๆที่สุดก็คือการอยู่ตรงนั้นกับใครสักคนด้วยความใส่ใจ ก็อาจจะเป็นการให้ที่ประเสริฐที่สุดก็ได้ ตรงนี้ทำให้นึกถึงคำสอนของ โซเกียล รินโปเช ที่พูดถึงการปฏิบัติตัวเมื่ออยูข้างๆคนที่กำลังจะตาย ท่านบอกว่า "อย่าพยายามทำตัวเฉลียวฉลาดเกินไป อย่าพยายามสรรหาถ้อยคำอันลึกซึ้งมาพูดกับเขา คูณไม่จำเป็นจะต้องทำหรือพูดเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น เพียงแต่อยู่กับเขาอย่างเป็นตัวคุณเองเท่าที่จะทำได้"
    
    คำถามที่ 3 : มีสองเวอร์ชัน เวอร์ชันปกติ "ฉันได้สร้างปัญหา หรือความยุ่งยากให้กับใครบ้างในวันนี้?" แต่ถ้าเป็นเวอร์ชันสมัยใหม่ขึ้นมาหน่อยจะเป็น " สิ่งใดที่ฉันละเลยและยังไม่ได้พูด หรือลงมือทำบ้างในวันนี้?" หรือ "ในวันนี้มีเหตุการณ์ใดที่ทำให้ฉันไม่เปิดใจเต็มที่ หรือปิดใจปิดการรับรู้บ้าง?"
    
    คำถามทั้งสามนั้นผมคิดว่าเป็นการดีไม่น้อยถ้าหากจะลองพิมพ์ออกไปแปะไว้ที่ข้างฝา พกพาไว้ในกระเป๋าสตางค์ หรือจะตั้งเตือนในโทรศัพท์มือถือก็น่าจะได้
        
    สุดท้ายหลวงพี่ได้พูดถึงการรดน้ำเมล็ดพันธ์แห่งสติอีกครั้งหนึ่ง โดยชี้ให้เห็นว่าการมีสติที่เราพูดถึงนี้จะแสดงตัวเองออกมาแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ดังนั้นจึงไม่ควรจะนำความมีสติของอีกคนหนึ่ง ไปเปรียบเทียบกับอีกคนหนึ่ง นอกจากนั้นแล้วเราก็ไม่ควรที่จะไปเร่งเร้าให้มันเกิดขึ้น สตินั้นจะเกิดขึ้นได้เองเมื่อปัจจัยต่างๆมีความหมาะสม เปรียบเสมือนดอกบัวในสระนั้นจะบานตอนเช้ามืด และจะหุบตอนสายๆ และเมื่อมันหุบลงแล้วต่อให้เราร้องให้คร่ำครวญอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้มันผลิบานได้ แต่ขอเพียงรอถึงตอนรุ่งสาง ดอกบัวทั้งสระก็จะเบ่งบานให้เราได้ชื่นชมมันอีกครั้ง

    "การภาวนานั้นเกิดจากการยินยอมอนุญาต มิใช่ใช้กำลังบังคับ" (Meditation is not forcing but allowing.)
    
    ท่านสรุปสั้นๆก่อนจะหมดเวลา
หมายเลขบันทึก: 146343เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2007 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท