ร่วมอยู่ในความเบิกบาน : ถอดประสบการณ์อบรมภาวนา (1)


ครูผู้สอนจะนั่งอยู่ข้างๆคอยบอกให้เราเหยียบคลัชท์ เข้าเกียร์ เหยียบคันเร่ง คืนวงเลี้ยว เป็นต้น แน่นอนว่าสำหรับผู้ที่ขับรถเป็นแล้วก็จะมองว่าเสียงสอนสั่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

เขียนจากประสบการณ์การอบรม 


กิจกรรมภาวนา “ศิลปะแห่งการอยู่ร่วมกัน” (The Art of Living Together)
วันที่ 10-14 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ณ ไร่หวานสนิทรีสอร์ท อ.แก่งคอย จ.สระบุรี



"รู้สึกมั้ยว่ามันเป็นการสะกดจิตหมู่ ไม่ใช่การตื่นรู้อย่างแท้จริง"

แม่ชีรีบรุดมาคุยกับผมหลังจากการนั่งสมาธิแบบมีเสียงนำ (Guided Meditations) ผมยิ้มเล็กน้อยเพราะไม่รู้ว่าจะตอบว่าอะไรดี ึนึกในใจว่าการอบรมภาวนาครั้งนี้คงมีเรื่องน่าสนุกแน่ๆ เพราะเพียงวันแรกก็ได้เรื่องแล้ว

ในขณะที่ผมนึกว่าจะหาคำตอบอย่างไรให้เหมาะควรกับจริตของแม่ชี เธอก็ชิงพูดออกมาเองว่า

"เออๆ เดี๋ยวดูไปอีกสักวันสองวันก่อนแล้วกัน ว่าจะเป็นอย่างไร"

พูดจบเธอก็เดินจากไป ผมรู้สึกถอนหายใจโล่งอกเพราะไม่ต้องเป็นผู้ที่จะต้องตอบคำถามนั้นของเธอ และช่วงนี้ตามกำหนดของการอบรมแล้วเป็นการเชื้อเชิญให้แต่ละคนอยู่กับความเงียบอันเบิกบาน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ สามทุ่ม ไปจนถึงหลังอาหารเช้าพรุ่งนี้ ในความเงียบอันเบิกบานนี้ก็คือการที่แต่ละคนจะไม่พูดคุยกัน จะกลับมาพิจารณาลมหายใจ และอยู่กับความสงบเงียบ ลองนึกภาพของหมู่คนจำนวนมากที่เดินออกจากหอภาวนาอย่างเงียบๆ และแยกย้ายกันกลับไปยังที่พักของตัวเองอย่างสงบ เป็นบรรยากาศที่น่าประทับใจ และให้ความหวังว่ามนุษย์คงมีศักยภาพที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ และสันติ

แม้จะเดินกลับมายังที่พักแล้ว ถ้อยคำของแม่ชีก็ยังดังก้องอยู่ในใจผม ผมได้แต่คิดว่าอะไรหนอที่ทำให้แม่ชีได้มาถึงข้อสรุปเช่นนั้น หรือนี่จะเป็นสิ่งที่ทางภาษาธรรมะเรียกว่า การเห็นผิด หรือ "มิจฉาทิฏฐิ" ได้หรือไม่ ซึ่งผู้รู้น้อยอย่างผมก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้

'ความเห็นที่ผิด' นี้เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรก็ตาม เพราะใจมันไม่อยากจะรับรู้ แถมยังตั้งกำแพงมาขวางกั้น ถ้าเป็นแบบนี้แล้วจะเรียนรู้อะไรกันได้สักกี่มากน้อย ใจมันก็คอยผลุบเข้าในเขาวงกต ไม่มีความกล้าหาญที่จะออกมาสัมผัสกับดินแดนแห่งความไม่รู้ ไม่คุ้นชิน เมล็ดพันธ์แห่งการเรียนรู้นั้นคงจะเฉาตายเพราะไม่ได้รับการดูแลรดน้ำ

การนั่งสมาธิหมู่แบบมีเสียงนำนั้น เป็นวิธีการหนึ่งของหมู่บ้านพลัมที่ใช้เพื่อเป็นการแนะนำการนั่งสมาธิสำหรับผู้หัดใหม่ เปรียบเสมือนการสอนให้หัดขับรถนั่นเอง ครูผู้สอนจะนั่งอยู่ข้างๆคอยบอกให้เราเหยียบคลัชท์ เข้าเกียร์ เหยียบคันเร่ง คืนวงเลี้ยว เป็นต้น แน่นอนว่าสำหรับผู้ที่ขับรถเป็นแล้วก็จะมองว่าเสียงสอนสั่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป หรือออกจะหงุดหงิดรำคาญเสียด้วยถ้าหากมีใครมาพูดกำกับเราเช่นนี้เวลาขับรถ

"หายใจเข้า ฉันรู้สึกตัวว่าฉันกำลังนั่งอยู่ที่นี่ตรงนี้ หายใจออก ฉันยิ้มน้อยๆด้วยความเบิกบาน" เสียงหลวงพี่นิรามิสา ภิกษุณีหญิงคนไทยคนแรกของหมู่บ้านพลัม กล่าวนำนั่งสมาธิด้วยน้ำเสียงสงบเยือกเย็น เสียงระฆังดังขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อเตือนให้เหล่านักปฏิบัติ ได้กลับมาอยู่กับลมหายใจของตนเอง

"ฟังสิๆ เสียงระฆังอันประเสริฐ นำฉันมาสู่บ้านที่แท้จริง"

เป็นคำเทศนาที่ หลวงปู่ ติช นัท ฮันท์ มักจะพูดให้พวกเราฟังเสมอๆ อันที่จริงแล้วในระหว่างที่หลวงปู่ หรือที่เราเรียกท่านว่า "ไถ่" นั้นกำลังนั่งปาฐกถาธรรมนั้น ลูกศิษย์ของท่านจะคอยเคาะระฆังเสียงดังกังวานอยู่เป็นระยะๆ และเมื่อครั้งใดที่ท่านได้ยินเสียงระฆังท่านจะหยุดบรรยายธรรม หลับตาลงแล้วกลับไปอยู่กับลมหายใจของท่าน แล้วฉับพลันภายในห้องจะรู้สึกถึงคลื่นพลังแห่งความสงบเย็นฉานฉายไปทั่ว เมื่อท่านลืมตาขึ้นบรรยายธรรมอีกครั้ง ท่านก็จะมีความสดชื่นเบิกบาน เหมือนได้เติมพลัง หรือชารจ์แบต จึงไม่แปลกใจเลยที่ท่านจะดูอ่อนกว่าวัยมาก นั่งคงเป็นเพราะท่านได้เข้าถึง 'ทาง' แห่งความสงบเย็นนี้นี่เอง


ค่ำคืนนั้นผมผลอยหลับไปด้วยความเหนื่อยอ่อน
 

 

หมายเลขบันทึก: 146338เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2007 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท