ร่วมอยู่ในความเบิกบาน : ถอดประสบการณ์อบรมภาวนา (3)


ความรู้สึกว่าตัวเราเชื่อมโยงและเป็นส่วนหนึ่งของบรรพบุรุษของเรานั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการปฏิบัติธรรม เพราะถ้าหากเราไม่สร้าง "สัมมาทิษฐิ" ตรงนี้ให้เกิดขึ้นแล้ว เราจะเป็นคน "ไร้ราก" ที่ไม่รู้ที่มาที่ไป ได้แต่ลอยล่องไป และจะเข้าสู่ความหลงได้ง่าย
"นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่ากิ่งก้านสาขาของต้นไม้ที่เราเห็นนั้น จะมีรากของมันแผ่ขยายออกไปราวกับเป็นภาพเงาสะท้อนของกันและกัน..."

เสียงเนิบช้าของหลวงพี่ "ธรรมสมุทร" ดังขึ้น ในขณะที่บรรดาญาติธรรมทั้งหลายนั่งขัดสมาธิอยู่บนเสื่อนิ่งฟังอย่างสงบ วันนี้หลวงพี่จะเป็นผู้ขึ้นแสดงธรรม "Dharma Talk" ในช่วงบ่ายของวันแรกของการปฏิบัติภาวนา

"...และถ้าหากเราตัดกิ่งไม้บริเวณใดออก รากของมันที่อยู่ใต้ดินบริเวณนั้นก็จะไม่แผ่ขยายออกไปอีก ตรงนี้ก็ล้ายกับจิตใจของมนุษย์ จิตสำนึกที่เรารับรู้อยู่ก็เปรียบเหมือนกิ่งไม้ ใบไม้ ที่เรามองเห็นได้ สัมผัสได้ แต่จิตใต้สำนึกก็คือรากที่แผ่สาขาอยู่ในดิน ซึ่งถึงแม้ว่าเรามองไม่เห็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีอยู่ตรงนั้น"

เสียงเคาะระฆังดังขึ้นเมื่อหลวงพี่ทิ้งจังหวะ พระหมู่บ้านพลัมที่นั่งอยู่ด้านล่างเวทีจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมารับหน้าที่ในการ "เชิญระฆัง" ระหว่างที่มีการบรรยายธรรมเป็นระยะๆตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อครั้งใดที่พวกเราได้ยินเสียงดังกล่าวเราก็จะหยุดเพื่อกลับมา "ตามลมหายใจเข้าออก" และแม้แต่หลวงพี่ธรรมสมุทรเองก็หยุดนิ่งเพื่อตามลมหายใจเช่นเดียวกัน สิ่งนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ย้ำเตือนให้พวกเราไม่ลืมที่จะกลับมามีสติ ตระหนักรู้กับความเป็นไปภายในตัวของเรา แรกสำหรับผู้ที่มาใหม่ๆอาจจะรู้สึกไม่คุ้น แต่พอปฏิบัติไปเรื่อยๆก็จะสามารถทำได้เป็นธรรมชาติ


 "เคยสงสัยมั้ยว่าต้นไม้เมืองหนาวที่มันต้องผลัดใบจนโกร๋น มันเสียดายใบของมันหรือไม่ที่ต้องร่วงหล่นลงสู่พื้น" หลวงพี่ธรรมสมุทรกล่าวต่อไป
 
 "แต่ถ้าเราลองใช้การดูอย่างลึกซึ้ง จะพบว่าถ้าหากต้นไม้นั้นไม่ยอมผลัดใบในหน้าหนาว ต้นไม้เองก็จะตายและไม่สามารถที่จะอยู่รอดเพื่อที่จะเติบโตขึ้น ในฤดูใบไม้ผลิที่จะมาถึง ต้นไม้เองจึงยอมที่จะผลัดใบ แล้วใบไม้ที่ผลัดออกไปก็ไม่ได้ออกไปไหนไกล เมื่อร่วงหล่นลงสู่พื้นดินก็จะเน่าสลายกลายไปเป็นปุ๋ยให้พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้รากของมันได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการแผ่กิ่งก้านสาขา และเติบโตงดงามขึ้นต่อไป..." หลวงพี่ธรรมสมุทร แสดงธรรมอย่างมีสตินิ่งสงบ ไม่เคยปรากฏว่ามีครั้งใดที่ท่านแสดงอาการไม่แน่ใจในสิ่งที่พูด หรือพูดผิดจนต้องกลับมาแก้คำพูดของตัวเองเลย คำว่าเอ่อ อ่า ยิ่งไม่มีให้ได้ยิน ผมคิดไปว่าถ้าให้ท่านลองเทศน์ด้วยภาษาที่ผมไม่เข้าใจ ความศรัทธาในตัวผมที่มีต่อท่านก็คงจะไม่ได้ลดลง
 
 ท่านหันไปพูดเรื่องของการนั่งสมาธิ ท่านบอกว่าพวกเราทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่นั้น หลายคนไม่ได้ "อยู่ที่นี่" แต่มีจิตใจที่ล่องลอยไปคิดถึงเรื่องอื่นๆ บ้างก็คิดถึงเรื่องงานการที่คั่งค้างยังไม่ได้สะสาง บ้างก็คิดถึงญาติ หรือคนรัก การปล่อยจิตใจให้คิดเรื่องต่างๆนั้นทำให้มนุษย์เรามิได้ใช้ชีวิตอยู่ ณ ปัจจุบันอย่างแท้จริง แต่บางครั้งสำหรับผู้ที่ฝึกหัดใหม่ๆ เมื่อลองนั่งสมาธิดูแล้วจะพบว่ามีเรื่องให้คิดมาก ฟุ้งซ่านรำคาญ เลยพาลไปคิดว่านี่เป็นผลมาจากการนั่งสมาธิ แล้วบางคนก็เลยเลิกนั่งไปเลย แต่แท้จริงแล้วหลวงพี่อธิบายว่าการที่เราพบว่ามีเรื่องมากมายเข้ามารบกวนจิตใจ เวลานั่งสมาธินั้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะจิตของเราเมื่อสงบลงจะเกิดพลัง พลังตัวนี้จะส่งผลให้เราสามารถมองเห็นกลไกการทำงานของจิตได้อย่างแจ่มชัดขึ้น จากเดิมที่เราไม่เคยเห็นมันมาก่อนก็อาจจะนึกไปว่าเราไม่คิดอะไร ไม่ได้ฟุ้งซ่าน แต่แท้จริงแล้วเรามีเรื่องเป็นร้อยเป็นพันเรื่องผ่านเข้ามาในจิตของเราตลอดเวลาทุกๆนาที หลวงพี่เปรียบพลังตัวนี้ว่าเป็นเสมือนไฟฉาย แต่ก่อนที่เราไม่ได้ฝึกฝนอบรมจิตให้เป็นสมาธิ เราก็เหมือนคนที่ถือไฟฉายส่องกระดาษจากระยะทางไกล ซึ่งแสงจากไฟฉายย่อมจะสาดกระจายไปทั่วไม่ได้ต้องถูกที่กระดาษแผ่นนั้นเพียงแผ่นเดียว ครั้งเมื่อฝึกจิตให้เป็นสมาธิแล้วก็เหมือนกับการนำไฟฉายเคลื่อนเข้าไปใกล้กับกระดาษ ซึ่งลำแสงจะคมชัดขึ้นและแจ่มจ้ามากขึ้น
 
 หลวงพี่พูดต่อไปถึงเรื่องการ "กราบสัมผัสพื้นดิน" ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการของหมู่บ้านพลัม ที่สอนให้พวกเราได้เจริญ "เมตตาธรรม" ได้เป็นอย่างดี ไอ้เจ้าความเมตตาที่ว่านี้ ด้วยความที่เป็นคนไทยเราอาจจะเรียนรู้ธรรมในแบบไทยๆ เช่นว่าถ้าหากเป็นเรื่อง  "พรมวิหารสี่" ท่องจำเอาว่าคืออะไร พอใครถามตอบถูก พอทำข้อสอบทำได้ แต่เราไม่เคยคิดที่จะนำสิ่งเหล่านั้นไปปฏิบัติ หมู่บ้านพลัมนั้นให้ความสำคัญกับการเจริญเมตตาธรรมซึ่งเป็นพื้นฐานของ "พระโพธิสัตว์" และวิธีการที่หลวงปู่ นัท ฮันห์ คิดค้นขึ้นมาใหม่ที่ผมคิดว่าได้ผลมากก็คือการ "กราบสัมผัสพื้นดิน"
 
 การ "กราบ" นี้ทุกคนที่เกิดเป็นชาวพุทธย่อมต้องเคยทำมาไม่มากก็น้อย เวลาเรากราบไหว้พระพุทธรูป หรือพระสงฆ์ เราก็สามารถที่จะทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดของพวกเรา แต่ไถ่ได้สร้างสรรค์วิธีการใหม่ก็คือให้เราสามารถนำการกราบนี้ไปใช้กับบุคคลใกล้ตัวของเราเช่น "บรรพบุรุษ" ของเราได้ด้วย เพราะไถ่ได้สั่งสอนว่ามนุษย์เราทุกคนนั้นแท้จริงแล้วมีความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกัน และเราแต่ละคนนั้น "มีที่มา" จากบรรพบุรุษของเรา เรารับเอาคุณสมบัติของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ของเรามาไว้ในร่างกายของเรา เช่น สีของตา สีผม สีผิว แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นที่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ตระหนักก็คือ เราแต่ละคนยังรับเอาลักษณะพื้นฐานของจิตใจ นิสัยใจคอ ความชอบ ความไม่ชอบในเรื่องต่างๆมาจากบรรพบุรุษของเราด้วย คุณลักาณะพื้นฐานทางจิตนี้อาจจะเป็นไปได้ทั้งในทางบวกและลบ เช่นเราอาจจะมีนิสัยหงุดหงิดหุนหันพลันแล่น ชอบใช้อารมณ์โกรธ แต่ในขณะเดียวกันเราก็อาจจะเป็นผู้ที่ได้รับค่านิยมในเรื่องของความซื่อสัตย์ และจริงใจ มาจากครอบครัวของเรา
 
    ท่านธรรมสมุทร เล่าเรื่องฝาแฝดสอง กับคุณตา ซึ่งฝาแฝดคู่นี้ถูกแยกไปเลี้ยงตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก และไม่ได้เจอกันอีกเลยจนกระทั่งทั้งคู่โตเป็นผู้ใหญ่ ทั้งคู่นั้นมีคุณตาซึ่งก็ไม่เคยได้พบเจอกันอีกอยู่อีกคนหนึ่ง เรื่องที่น่าสนใจก็คือ คุณตาของพวกเธอนั้นชอบที่จะทานแซนด์วิชที่คนทางใต้ของสหรัฐอเมริกาเรียกว่า "แซนด์วิชเกลือ" ซึ่งทุกครั้งที่คุณตาทานของโปรดนี้นั้นจะชอบเขย่าขา แล้วใช้เท้าข้างขวาเคาะพื้นเป็นจังหวะ เมื่อฝาแฝดทั้งสองได้มาพบกันอีกครั้งเมื่อตอนทั้งคู่โตเป็นผู้ใหญ่อายุ 28 ปี ทุกคนต้องประหลาดใจเมื่อพบว่าทั้งคู่นั้นชอบทานของเค็มๆ และโดยเฉพาะแซนวิชเกลือซึ่งเป็นของโปรดของทั้งคู่ และเวลาที่ทานก็จะใช้เท้าข้างขวาเคาะพื้นเป็นจังหวะเช่นเดียวกับคุณตาของพวกเธอที่ล่วงลับไปแล้ว

    ท่านยังเล่าเรื่องของหญิงสาวชาวฝรั่งเศษ เธอเป็นลูกกำพร้าพ่อแม่ไม่เคยเห็นหน้าพ่อแม่ของเธอเลย เมื่อมาที่หมู่บ้านพลัม เธอจะร้องให้สะอึกสะอื้นมากมายทุกครั้งที่เธอทำการกราบสัมผัสพื้นดิน เธอบอกว่าเธอนึกหน้าพ่อแม่ของเธอไม่ออก เธอจึงมีความเศร้าโศกเสียใจมาก แต่ทุกๆวันเธอก็ยังคงมีความเพียรที่จะกราบสัมผัสพื้นดินและนึกถึงบรรพบุรุษของเธอทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งในขณะที่เธอกำลังเดินเล่นพักผ่อนอยู่ในสวน เธอหยิบผลไม้ออกมาทานและฉับพลันนั้นเธอเกิดการตระหนักรู้ขึ้นมาทันทีว่า แท้จริงแล้วเธอไม่มีเรื่องให้เศร้าโศก เพราะผลไม้ที่เธอกำลังทานอยู่นี้แท้จริงแล้วก็คือเลือดเนื้อและชีวิตของบรรพบุรุษชาวฝรั่งเศษของเธอ ซึ่งอยู่อาศัยใช้ชีวิตบนแผ่นดินนี้ ทั้งมีความสุขและทนทุกข์ แต่ทั้งหมดนั้นเคยใช้ชีวิตอยู่บนพื้นแผ่นดินที่เธอกำลังเดินอยู่ และเมื่อพวกเขาเหล่านั้นตายลงก็ได้กลับกลายมาเป็นปุ๋ย เป็นแร่ธาตุซึ่งสร้างความอุดมสมบูรณ์และกลับมาโอบกอดเธออีกครั้งด้วยผลไม้รสชาติแสนวิเศษ ด้วยสายลมบริสุทธิ์ที่เปรียบเสมือนลมหายใจของบรรพบุรุษของเธอทุกๆคน รวมทั้งพ่อแม่ที่เธอไม่เคยพบหน้า เธอจึงได้ค้นพบความสงบของจิตใจอีกครั้ง
    
    ความรู้สึกว่าตัวเราเชื่อมโยงและเป็นส่วนหนึ่งของบรรพบุรุษของเรานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการปฏิบัติธรรม เพราะถ้าหากเราไม่สร้าง "สัมมาทิษฐิ" ตรงนี้ให้เกิดขึ้นแล้ว เราจะเป็นคน "ไร้ราก" ที่ไม่รู้ที่มาที่ไป ได้แต่ลอยล่องไป และจะเข้าสู่ความหลงได้ง่าย เช่นหลงว่าโลกนี้ไม่มีความดี ความชั่ว เกิดหนเดียวตายหนเดียว ทุกคนควรจะกอบโกยและทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนตัว คำสอนเรื่องนี้ของไถ่มีความลึกซึ้ง และที่สำคัญมีวิธีปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจน แนวคิดเรื่องของการเชื่อมโยงทางจิตวิญญานนี้แท้จริงแล้วนักวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่หลายคนก็ได้พูดถึง และยืนยันว่ามิใช่เรื่องเหลวไหลเพ้อเจ้อ ความคิดในเรื่องของ Non-Locality ที่มีที่มาจากควอนตัมฟิสิกส์ ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้เราเห็นมุมมองที่วิทยาศาสตร์กระแสหลักปฏิเสธไม่รับรู้ ความสัมพันธ์ของคุณตา กับหลานฝาแฝดนั้น อธิบายได้โดยผ่านหลักการของ Collective Unconciousness หรือจิตใต้สำนึกรวมหมู่ ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าอนุภาคโปรตอนสองตัวที่นำมาอยู่ใกล้กันแล้ว เมื่อนำออกห่างไปจากกันสักเท่าใดก็ตาม อนุภาคทั้งคู่นี้ก็ยังสามารถมีพฤติกรรมที่เหมือนกัน ราวกับว่าทั้งคู่สามารถสื่อสารกันได้โดยสนามพลังที่มองไม่เห็น
    
    แล้วการ "กราบสัมผัสพื้นดิน" นี้ต้องทำอย่างไร จริงแล้วก็ไม่มีอะไรมากเพราะกระบวนการที่เห็นภายนอกก็คือการก้มลง กราบที่พื้น หรือใครจะนอนลงไปที่พื้นเลยก็ได้ และพูดถ้อยคำจากใจของเราเพื่อสื่อความหมายไปถึงครอบครัว บรรพบุรุษ หรือใครก็ได้ที่เราต้องการจะสื่อสารด้วย ซึ่งการกล่าวคำเหล่านี้ค่อนข้างจะยาวหลายบรรทัด แต่ใจความก็คือเรื่องของการตระหนักรู้ในความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับบรรพบุรุษทางจิตวิญญาน และยอมรับถึงคุณสมบัติทั้งส่วนที่ดี และเป็นจุดอ่อนของพ่อแม่ของเรา และการยอมรับในตัวตนของเราที่ไม่ได้แยกออกมาอย่างเดี่ยวโดด และนี่คือกระบวนการที่เห็นภายนอก ส่วนกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในจะมีความลึกซึ้งแค่ไหนอย่างไร แต่ละคนก็จะควรจะต้องไปปฏิบัติและเกิดประสบการณ์ด้วยตัวเอง ซึ่งหลวงพี่บอกว่าบางวันก็ไม่เกิดอะไรขึ้นเลย แต่บางวันก็อาจจะเกิดอะไรบางอย่างซึ่งก็ย่อมแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล และการเปิดรับของตัวเราอง
    
    การกราบสัมผัสพื้นนี้นอกจากจะสามารถทำกับบรรพบุรุษของเราแล้ว ก็ยังสามารถทำกับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ, พื้นแผ่นดิน, เพื่อนผู้สนับสนุนเรา หรือแม้แต่จะสื่อสารกับพระพุทธเจ้าโดยตรงก็ได้ ส่วนที่หลวงพี่ว่าจะทำใจได้ยากที่สุดก็คือการกราบสัมผัสพื้นดิน กับผู้ที่เป็นศัตรูของเรา หรือคนที่ทำร้ายเราให้เราเสียใจ ซึ่งถ้าเราสามารถทำได้ก็จะเป็นการเริ่มต้นใหม่ และปลดปล่อยให้ตัวเราเป็นอิสระได้อย่างแท้จริง เปรียบเสมือนการผลัดใบไม้ของต้นไม้ ซึ่งทำให้เราลดการยึดมั่นถือมั่น ลดอัตตาของตนเพื่อที่จะเติบโตขึ้น ส่วนการพูดในระหว่างที่สัมผัสพื้นดินนี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องยึดถือตามที่เขียนไว้ในคู่มือ หรือถ้อยความที่มีการกำหนดมาล่วงหน้าอย่างเคร่งครัด เราอาจจะดัดแปลงถ้อยคำต่างๆให้เข้ากับตัวเราเอง และหลวงพี่ก็แนะนำให้ทำอย่างนั้น
    
    ผมคิดว่าการกราบสัมผัสพื้นดินเป็นการคืน "ความหมาย" ให้กลับมาสู่สิ่งที่เป็น "พิธีกรรม" เป็นการทบทวนความหมายของกิริยาอาการที่เราทำโดยความคุ้นชินให้กลับมาสู่ความลึกซึ้ง ด้วยการใคร่ครวญอย่างมีสติ
หมายเลขบันทึก: 146341เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2007 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท