ร่วมอยู่ในความเบิกบาน : ถอดประสบการณ์อบรมภาวนา (4)


กลไกการรับฟังของเราซึ่งได้เคยสูญเสียความเป็นธรรมชาติ กลับมาทำหน้าที่ของมันได้อย่างเป็นธรรมชาติอีกครั้ง โดยเป็นอิสระจากกระบวนการอันบิดเบี้ยวของการรับรู้ และการกลั่นกรองด้วยกรอบความคิด ชุดความเชื่อ หรือเรียกง่ายๆว่าเราได้ฟังอย่างลึกซึ้ง ปราศจากอคติ หรือที่เรียกว่าการ "ตั้งการ์ด" ป้องกันตัว
<4>

    วันต่อมาหลวงพี่ธรรมสมุทรขอให้พวกเด็กๆนั่งเป็นวงกลมใหญ่ที่พื้นเสื่อ และขอร้องให้ผู้ใหญ่นั่งรออยู่ด้านหลัง เพราะช่วงนี้เป็นการบรรยายธรรมให้กับเด็กๆเท่านั้น หลวงพี่นั่งอยู่ในวงรอให้เด็กๆ จัดวงของตัวเองซึ่งตอนนี้กลายเป็นวงใหญ่น่าดู เพราะงานนี้ครอบครัวพาลูกๆมาเข้าร่วมกันมากเกือบสามสิบคน เด็กๆมีทีท่าตื่นเต้นและสนุกที่ได้นั่งเป็นวงของตัวเอง โดยมีพ่อแม่ให้กำลังใจอยู่นอกวง
    
    หลวงพี่เชิญระฆังแล้วเริ่มถามคำถามกับเด็กๆว่า
    
    "เมื่อได้ยินเสียงระฆังนี้แล้วพวกเราจะต้องทำอะไร"
    
    เด็กๆนั่งมองหน้ากันหัวเราะคิกคัก เพราะเขินไม่รู้ว่าใครจะตอบหลวงพี่ สักพักหนึ่งหนุ่มน้อยหน้าตาสดใสอายุราวๆสักสิบสาม สิบสี่ ตอบหลวงพี่เป็นภาษาอังกฤษฉะฉานที่เดียวว่าต้องกลับมาที่ลมหายใจของเรา หลวงพี่พยักหน้าน้อยๆอย่างพอใจ แล้วถามต่อว่า
    
    "มีใครบอกหลวงพี่ได้มั้ย ว่าทำไมเราจะต้องทำแบบนั้น(กลับมาที่ลมหายใจ)"
    
    มีเสียงพึมพำฟังไม่ได้ศัพท์ คำถามนี้คงจะยากสำหรับเด็กๆที่จะเรียบเรียง ผมอยู่ห่างไกลออกมาจึงไม่ทันฟังว่าเด็กๆเขาตอบว่าอย่างไรกันบ้าง สุดท้ายหลวงพี่ให้เด็กๆทุกคนลองเอามีมาสัมผัสที่ท้องน้อยของตัวเองแล้วให้ลองหายใจเข้า หลวงพี่บอกว่าเมื่อหายใจเข้าท้องของเราก็จะป่องออกมา และหายใจออกท้องของเราก็จะยุบ เรื่องท้องป่องและยุบนี่ผมเคยสอนนักศึกษาชั้นปีสามของผม และพบว่านักศึกษาของผมหายใจไม่ถูกต้องกันหลายคน ก็คือเวลาหายใจเข้าท้องจะยุบ และไปยกไหล่ขึ้น เป็นการหายใจตื้นๆเข้าไปที่ปอด ไม่หายใจให้ลึกเพียงพอที่กระบังลมจะทำงาน ท้องจึงแฟ่บลง เวลาผมสอนเรื่องนี้ในวิชา "ภาวะผู้นำ" นักศึกษาหลายคนทำหน้างงระคนสงสัยว่าทำไมวิชานี้ต้องเรียนรู้เรื่องการหายใจ แต่ก็พบว่าตนเองต้องพบกับความประหลาดใจ ที่ได้ค้นพบว่าตั้งแต่เด็กจนโตเป็นวัยรุ่นพวกเขาไม่เคยสังเกตุ (aware) กับการหายใจของเขามาก่อน เมื่อได้รู้ว่าการหายใจที่เป็นธรรมชาตินั้นเวลาหายใจเข้าท้องจะป่องออก และหายใจออกท้องจะยุบ จึงเป็นเรื่องที่แปลกใหม่สำหรับเขา หลายคนกลับไปฝึกฝนและทำได้ หลายคนก็ยังไม่สามารถที่จะเอาชนะความเคยชินของตัวเองได้
    
    การฝึกให้เด็กนักศึกษาของผมหันมาตระหนักรู้เกี่ยวกับลมหายใจนั้นเป็นการเชื้อเชิญให้พวกเขาเข้ามาพิจารณาเรื่อง "ร่างกาย" เพราะการตระหนักรู้ร่างกายนั้นเป็นวิธีการในการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างกาย และจิต ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทางจิตวิญญานที่ได้รับการยอมรับจากตะวันออก และตะวันตก รวมทั้งความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งหันมาให้ความสำคัญเพราะได้ค้นพบแล้วว่าร่างกาย และจิตใจนั้นมีความสัมพันธ์กันมากกว่าที่เราเคยคาดคิด และความเชื่อมโยงนี้เองจะเป็นกุญแจสำคัญให้มนุษย์แต่ละคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่
    
     กลับมาที่ห้องโถงอีกครั้ง หลวงพี่ธรรมสมุทรให้เด็กนำภาพที่แต่ละคนวาดเอาไว้เมื่อวันก่อนมาแบ่งปันให้เพื่อนๆ และพวกเราชื่นชม การได้เห็นภาพที่เด็กๆวาดทำให้ผู้ใหญ่อย่างพวกเรายิ้มแก้มปริ มันเป็นความแช่มชื่นในจิตใจที่รู้ว่าโลกของเรานั้นยังมีด้านที่งดงาม เปราะบาง และน่าทะนุถนอม ภาพวาดอันไร้เดียงสาของเด็กๆทำให้ผู้ใหญ่อย่างพวกเราตระหนักถึงการใช้ชีวิตของพวกเราว่าเราไม่อาจจะใช้ชีวิตในแบบ "ช่างมันฉันไม่แคร์" ซึ่งเป็นค่านิยมในสังคมไทยยุคทุนนิยมสุดโต่งแบบทุกวันนี้ ในทางกลับกันเราคงต้องบอกตัวเองให้มีชีวิตที่ต้อง "ดูแล" กันให้มากขึ้น เรียนรู้ที่จะมองคนอื่นให้มากขึ้น โอบกอดความแตกต่างให้ได้มากขึ้น
    
     หลวงพี่เชิญระฆังและอนุญาตให้เด็กๆออกไป "เล่นข้างนอก" ได้ ผู้ใหญ่ทุกคนเมื่อได้ยินคำว่า "ออกไปเล่นข้างนอก" ทุกคนจะอดอมยิ้มไม่ได้ ถึงแม้ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ผมได้ยินถ้อยคำนี้ ผมก็อดยิ้มไม่ได้อีกเช่นกัน ผมมาใคร่ครวญดูพบว่า การออกไปเล่นข้างนอกนั้นเป็นความกรุณาอย่างหนึ่ง เพราะเด็กคงไม่สามารถที่จะนั่งฟังการบรรยายธรรมที่ยาวนานถึงสองชั่วโมงได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการกระทำที่เปี่ยมไปด้วยความรัก เพราะการปล่อยวางผู้ที่เรารักให้ออกไปมีความสนุกสนานกับเพื่อนวัยเดียวกันกับเขานั้น เป็นการให้อิสรภาพ ให้โอกาสในการเติบโต ให้พื้นที่และวาระที่เป็นของพวกเขา และสำหรับผมความรักที่ไม่กักขังหน่วงเหนี่ยวนี้น่าจะเป็นความรักที่แท้จริง และสิ่งนี้เองนำมาซึ่งรอยยิ้มที่มีความสุขที่เปื้อนใบหน้าของทุกคนเมื่อได้ยินคำว่า "ออกไปเล่นข้างนอก"
    
     เมื่อเด็กๆออกไปเล่นข้างนอกกันแล้ว หลวงพี่ได้ตั้งข้อสังเกตให้พวกเราลองพิจารณาดูว่า เมื่อสักครู่ที่หลวงพี่ได้สั่งสอนเด็กๆด้วยธรรมเทศนาที่เป็น "เวอร์ชัน" ของเด็กนั้น ผู้ใหญ่หลายคนได้เปิดรับและทำความเข้าใจ และได้เรียนรู้ร่วมกันไปกับเด็กๆโดยไม่รู้ตัว และนี่เองเป็นผลมาจากที่พวกเราผู้ใหญ่นั้น "ลดการ์ด" ลง เราจึงได้เรียนรู้อะไรได้มาก และบางครั้งมากกว่าการฟังธรรมในช่วงที่จัดให้กับผู้ใหญ่เสียอีก นี่เป็นเพราะพวกเราไม่ได้ไปคิดว่าเรากำลังนั่งฟังเทศน์ ฟังธรรม เรากำลังนั่งชื่นชมเด็กๆลูกๆหลานๆของเรา ทำให้กลไกการรับฟังของเราซึ่งได้เคยสูญเสียความเป็นธรรมชาติ กลับมาทำหน้าที่ของมันได้อย่างเป็นธรรมชาติอีกครั้ง โดยเป็นอิสระจากกระบวนการอันบิดเบี้ยวของการรับรู้ และการกลั่นกรองด้วยกรอบความคิด ชุดความเชื่อ หรือเรียกง่ายๆว่าเราได้ฟังอย่างลึกซึ้ง ปราศจากอคติ หรือที่เรียกว่าการ "ตั้งการ์ด" ป้องกันตัว
    
     หลวงพี่บรรยายธรรมเรื่องจิตสำนึก และความคิดปรุงแต่งให้พวกเราฟังอีก โดยวาดรูปวงกลมเช่นเคย ราวกับจะบอกว่านี่เป็นหัวใจของคำสอนที่นักปฏิบัติควรให้ความสำคัญ ครั้งนี้ท่านได้ลงรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องเมล็ดพันธ์ ท่านบอกว่าอันตัวของเมล็ดพันธ์ที่อยู่ในจิตใต้สำนึก (Store Consciousness) นี้นั้น ภาษาอังกฤษเรียกเป็นสองแบบคือแบบ Negative กับ Positive ซึ่งมีความหมายโดยนัยถึงด้านลบ และด้านบวก ซึ่งโดยแท้จริงแล้วพระพุทธเจ้ามิได้สอนเช่นนั้น อันความคิดแบบสุดโต่งก็คือการมองเห็นสิ่งใดเป็นดำ หรือขาวนั้นเป็นความคิดแบ่งแยกแบบทวิลักษณ์ ซึ่งถ้าเราเข้าใจไปเช่นนั้นขอให้เข้าใจเสียใหม่ เพราะพระองค์ใช้คำว่า "กุศล" กับ "อกุศล" ดังนั้นเมล็ดพันธ์ที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของเราจึงแบ่งได้เป็น เมล็ดพันธ์แห่งกุศล กับ เมล็ดพันธ์แห่งอกุศล ซึ่งทั้งสองนี้ไม่ได้มีความหมายโดยนัยที่จะชี้ชวนไปถึงความดี หรือความชั่ว หรือบวก หรือลบ แต่อย่างใด แต่เป็นการแบ่งแยกให้เห็นเท่านั้น ( แท้จริงแล้วถ้ามองในแง่ของการไม่แบ่งเป็นสอง หรือ Non-Dual ก็จะพบว่าทั้งสองนี้ต่างอิงอาศัยกันอยู่ แต่นั่นคงจะเป็นการลงลึกเกินความจำเป็นของบทความนี้--ผู้เขียน)
    
     เมล็ดพันธ์ที่กล่าวถึงนั้นสามารถที่จะถูกกระตุ้นให้ปรากฏขึ้นในจิตสำนึก (Mind Consciuosness) ของเราซึ่ง ณ จุดนี้เราจะไม่เรียกมันว่าเมล็ดพันธ์อีกต่อไปแต่เราจะเรียกมันว่าเป็น "จิตปรุงแต่ง" หรือ Mental Formations ซึ่งมันสามารถที่จะปรากฏขึ้นมาเพียงแว่บเดียว หรือใช้เวลาหลายวันก็ได้แล้วแต่ความเข้มแข็งของเมล็ดพันธ์นั้นๆ ท่านมักจะยกตัวอย่างเรื่องเมล็ดพันธ์แห่งความโกรธ เพราะส่วนใหญ่เราจะสามารถเข้าใจได้ง่าย แต่เมล็ดพันธ์อื่นๆเช่น ความอิจฉาริษยา ความโลภหลง หรืออื่นๆ ก็มีสิทธิที่จะปรากฏเป็น จิตปรุงแต่งได้ทั้งนั้น การที่เรามีอาการโกรธ ที่เรามักจะเรียกว่า โกรธจนหน้าชา โกรธจนหูแดงเถือก โกรธจนลมออกหู อาการเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการที่ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาตอบสนองกับอารมณ์เหล่านั้น แล้วยังคิดว่าร่างกายของเราเป็นอิสระจากจิตใจอีกหรือ?
    
     ท่านธรรมสมุทธให้ข้อคิดว่าการเกิดขึ้นของจิตปรุงแต่งนี้เป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถประสบพบได้ และเป็นเรื่องปกติธรรมดา  แต่ที่เราต้องให้ความสำคัญให้หนักก็คือวิธีการที่เราจัดการกับอารมณ์ของเรา เช่น อารมณ์โกรธ นี้เมื่อเกิดขึ้นมาเราจะดูแลมันได้อย่างไร ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงครั้งที่ไถ่สอนเรื่องความโกรธ ไถ่บอกว่าชาวตะวันตกมักจะมีความเชื่อว่าเมื่อเรามีอารมณ์โกรธนั้นให้เราแสดงออกมา อย่าไปเก็บกดไว้ แต่แท้จริงแล้วนี่ถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะการแสดงความโกรธตามความเชื่อของการบำบัดจิตแบบตกวันตกนั้น ไปสร้างความซับซ้อนให้กับอาการดังกล่าว เช่นแนะนำให้ไปตะโกนที่ทะเล ต่อยหมอน หรือเขียนชื่อใครไว้ที่แก้วแล้วปาให้แตก สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นการช่วยให้เรารับมือกับความโกรธได้อย่างมีสุขภาพจิตดี แต่เป็นการไปผู้ปมปัญหาให้ซับซ้อนและยุ่งยาก เป็นการนำเอาเมล็ดพันธ์แห่งพยาบาท หรือนำเอาความรุนแรงเข้าไปโหมเข้าใส่ความโกรธนั้น ในระยะสั้นๆอาจจะดูเหมือนว่าเกิดความสงบลง เยียวยาได้ แต่หารู้ไม่ว่าเรากำลังรดน้ำให้กับความโกรธให้เติบโต แปรเปลี่ยนไปรวมกับพยาธิสภาพอื่นๆที่เป็นอกุศลจิตไม่แพ้กัน และมันจะเฝ้ารอวันปะทุใหม่อีกครั้งด้วยความรุนแรงยิ่งกว่าเดิม
    
     ตรงกันข้ามการดูแลความโกรธนั้น เราควรจะเลือกรดน้ำกุศลจิตที่เป็นเมล็ดพันธ์แห่งสติ ให้ขึ้นมา "โอบกอด" ความโกรธ หรืออกุศลจิตอื่นๆที่จิตกำลังปรุงแต่งอยู่ การโอบกอดนี้ต่างจากการ "เก็บกด" เพราะการเก็บกดคือการไม่รับรู้ การหลอกตัวเองว่าความโกรธที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นของเรา (Disown) ซึ่งนี่เป็นการหมักหมมปัญหาอีกวิธีหนึ่ง และซ้ำร้ายสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมายิ่งน่ากลัว เพราะการปฏิเสธความโกรธจะนำไปสู่การสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ตัวตนอันซ่อนเร้น" (Disowned Self) หรือ "เงามืด" (Shadow) ที่จะติดตามตัวเราไปตลอด
    
     เรื่องนี้ได้ถูกพูดถึงในวงสนทนากลุ่มย่อยเพื่อสอบถามหลวงพี่เด่นธรรม มีคนสงสัยว่าคนเราจะโอบกอดความโกรธได้อย่างไร เพราะในขณะที่ความโกรธโมโหนั้นเกิดขึ้นกับจิตของเรา ร่างกายของเราก็มีอาการสั่นเทิ้ม หน้าแดงก่ำ เปรียบเสมือนไฟกำลังแผดเผาตัวเรา เราจะไปโอบกอดไฟที่กำลังลุกโชนได้อย่างไร? ถึงตอนนี้หลวงพี่ไม่ได้ตอบอะไร เพียงแต่โยนคำถามนี้ลงในวงสนทนา หลวงพี่คงอยากให้พวกเราแสดงความคิดเห็นจากมุมมองของแต่ละบุคคลซึ่งจะนำมาสู่การสนทนาที่มีชีวิต (Dialogue) คำตอบ และความเห็นของพวกเราสองสามคนที่ยังไม่คุ้นกับการสนทนาแบบนี้ ดูเหมือนยังไม่ได้สร้างให้เกิดความกระจ่างมากน้อยเพียงใด สำหรับผมนั้นได้เรียนรู้กับตัวเองว่าเมล็ดพันธ์แห่งความโกรธนั้นถ้ามันแสดงอาการอย่างรุนแรง เปล่าประโยชน์จริงๆที่เราจะไปพยายาม "ควบคุม" ความโน้มเอียงของคนเราที่ต้องการจะ "ควบคุม" อะไรต่อมิอะไรนั้นมันมากมายจริงๆ ตรงนี้ก็เปรียบเสมือนความพยายามที่เราจะหยุด "เทปม้วนเก่า" โดยไปตะโกนบอกมันให้หยุด เพราะเราไม่เข้าใจว่าเรื่องบางเรื่องนั้นเราไม่สามารถจะเข้าไปควบคุมบงการมันได้ คงต้องยอมรับว่ามันกำลังเกิดขึ้น และปลุกเมล็ดพันธ์แห่งสติ ซึ่งสำหรับหลายๆคนแล้วไม่เคยได้ฝึกสติ ฝึกสมาธิ เมล็ดพันธ์นี้ก็จะอ่อนแอ ไม่มีพลังที่จะไปต่อกรอะไรกับความโกรธที่กำลังปะทุ สำแดงฤทธิ์เดช ฟาดงวง ฟาดงาของมันอยู่ คำตอบจึงน่าจะอยู่ที่การบ่มเพาะ รดน้ำให้กับเมล็ดพันธ์แห่งสติ และไม่ไปรดน้ำให้กับเมล็ดพันธ์แห่งความโกรธ โดยหวังว่าสักวันหนึ่ง เมล็ดพันธ์แห่งสติจะงอกงาม และมีพลังที่จะไปโอบกอดความโกรธ หรือความขุ่นเคืองอื่นๆ ของเราได้
    
     การ "เลือกรดน้ำ" หรือ Selective Watering นี้เองจึงเป็นหัวข้อที่หลวงพี่ธรรมสมุทรได้พูดถึงในเวลาต่อมา หลวงพี่อธิบายว่าถ้าเราเลือกรดน้ำเมล็ดพันธ์แห่งสติจนมันสามารถเติบโต งอกงามเพียงพอแล้ว ตัว "สติ" นี้จะมองเห็นการผุดอุบัติของอารมณ์ และเมล็ดพันธ์แห่งอกุศลจิต เมื่อมองเห็นแล้วเมล็ดพันธ์เหล่านั้นก็จะ "รู้ตัว" และกลับไปยังที่ๆมันจากมาก็คือกลับไปสู่ จิตใต้สำนึก หรืออาลัยวิญญาน แต่เคล็ดลับอยู่ตรงที่ว่าถ้าหากเรามองเห็นมันด้วยเมล็ดพันธ์แห่งสติ เมล็ดพันธ์แห่งอกุศลจิตเหล่านั้นเมื่อกลับไป "นอนเนื่อง" ในจิตใต้สำนึกแล้ว จะสูญเสียพลังของตัวมันเองไปส่วนหนึ่ง พูดง่ายๆก็คือมันจะ "แห้งเหี่ยว" ลงไปนิดหนึ่ง และครั้งต่อมาที่มันจะโผล่ปรากฏอีกครั้ง มันจะไม่สำแดงฤทธิ์เดชมากมายเหมือนที่เคยทำมาก่อน ยูเรกา!!
    
     ถ้าถามต่อไปว่าแล้วจะฝึกสติ หรือรดน้ำเมล็ดพันธ์แห่งสติได้อย่างไร ที่หมู่บ้านพลัมก็มีวิธีการหลากหลาย เลือกปฏิบัติได้ตามจริตของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิแบบอานาปานสติ ตามลมหายใจเข้าออก หรือใช้จินตนาการในแบบของ สมาธิก้อนกรวด ซึ่งจินตนาการว่าเราเป็นดอกไม้ ภูเขา ทะเลสาบ หรือความว่างเปล่า หรือจะใช้การเดินวิถีแห่งสติ แม้กระทั่งการล้างจาน หรือทำงานบ้าน เพราะหลักของที่นี่ถือว่า "สติ" นั้นจะต้องฝึกฝนในชีวิตประจำวัน การฝึกฝนให้ "ตระหนักรู้" ตัวเองไม่จำเป็นต้องไปนั่งในห้องมืดๆคนเดียว เราสามารถใช้ทุกโอกาสในชีวิตของเราเพื่อฝึกฝนได้ ถึงตรงนี้บางคนอาจจะมองว่าหมู่บ้านพลัม "ไม่เคร่ง" ทำไมการนั่งสมาธิจึงต้องใช้จินตนาการ เพราะโดยพื้นฐานของความเป็นพุทธวิถีไทย การสร้างจินตนาการถึงเรื่องสวยงาม เช่น ดอกไม้ ทะเล นั้นดูเป็นการทำให้เราฟุ้งซ่านเกินไปหรือเปล่า และนี่เองผมคิดว่าเป็นที่มาของความสับสน และความลังเลสงสัยในแนวทางของหมู่บ้านพลัม หลวงพี่ธรรมสมุทธกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องความแตกต่างระหว่างคำว่า Serious กับ Solemn เพราะคำแรกนั้นมีความหมายไปในทาง "จริงจังอย่างจริงใจ" แต่ความหมายที่สองนั้นเป็นการ "จริงจังอย่างเคร่งเครียด" ดังนั้นความจริงจังของหมู่บ้านพลัมจึงไม่สามารถใช้มาตรวัด แบบเดียวกับศาสนาพุทธแบบในประเทศของเรา เป็นต้นว่า พระหมู่บ้านพลัมสามารถที่จะพูดเรื่อง Joke หรือร้องเพลงได้ แต่เราคงไม่สามารถไปตัดสินได้ว่าพระเหล่านั้นจะมีความรู้ทางธรรมมาก หรือน้อยกว่าพระของเรา
    
     สำหรับเรื่องการสร้างจินตนาการที่หลายคนมองว่าเป็นการ "สะกดจิตหมู่" นั้น ผมเองก็มีความสงสัยในเรื่องนี้ แต่ก็ได้คลายความสงสัยลงเพราะได้ถามคำถามนี้กับหลวงพี่เด่นธรรม ว่าเพราะเหตุใดที่หมู่บ้านพลัมจึงสอนให้ใช้จินตนาการในการนั่งสมาธิ ท่านบอกว่าการภาวนาก้อนกรวด นั้นเป็นวิธีการที่เราเลือกใช้เพื่อสร้างความสดชื่น เบิกบาน และมีไว้เพื่อเติมพลังของเรา เมื่อเรารู้สึกว่าจิตใจเราไม่แช่มชื่น อ่อนล้า ไม่จำเป็นจะต้องใช้ตลอดเวลา มันเป็นวิธีการหนึ่งที่เราสามารถหยิบใช้ได้ตามความต้องการ หรือถ้าใครมีวิธีการอื่นๆก็ใช้วิธีการอื่นๆที่ถูกจริตของตน เช่นบางคนอาจจะใช้การออกไปเดินเล่น ชมนก ชมไม้ ก็ให้ผลเป็นความเบิกบานเหมือนกัน มาตรงนี้ผมคิดว่าผมถึงบางอ้อ เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่สงสัยในเรื่องการนั่งสมาธิ เพราะแต่ก่อนเมื่อนั่งเงียบๆ จะฟุ้งมาก ต้องอาศัยเปิดเพลงเบาๆคลอไป จะรู้สึกเบิกบานเวลานั่ง แต่พอผมกลับมาจากการภาวนาครั้งนั้น ก็พบว่าจริตตัวเองเปลี่ยนไป และไม่ต้องอาศัยเพลงเข้ามาช่วย สามารถนั่งในห้องเงียบๆได้โดยไม่ฟุ้งซ่านเหมือนเมื่อก่อน ผมชอบแนวความคิดเรื่องการไม่ต้องยึดติดกับวิธีการ เปรียบเสมือนการขึ้นภูเขา อาจจะมีทางขึ้นได้หลายทาง ไม่จำเป็นต้องใช้ทางเดิมเสมอไป
    
     เรื่องการสร้างจินตนาการก็มาผูกโยงกับเรื่องคลื่นสมองได้แบบเหมาะเจาะ เพราะการสร้างจินตนาการเป็นการกล่อมเกลาจิตของเราให้เข้าสู่คลื่นสมองแบบ อัลฟา การนึกถึงดอกไม้หนึ่งพันกลีบก็ดี กลิ่นของดอกกุหลาบก็ดี การรู้สึกถึงสายลมเย็นที่พัดมากระทบตัวของเราในจินตนาการก็ดี เป็นการบ่มเพาะคลื่นอัลฟาให้เกิดขึ้น เป็นการเข้าสู่ความ "ช้าลง" และใคร่ครวญมากขึ้น เป็นการเปิดประตูเพื่อเชื่อมต่อลงไปสู่ เธตา หรือภาวะของจิตใต้สำนึกของเรา ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรเป็น อาลัยวิญญานที่อยู่เบื้องล่าง เป็นดินแดนแห่งเมล็ดพันธ์ หรือพีช 51 รูปแบบที่นอนเนื่องอยู่ เป็นคลังแสงแห่งตัวตนของเราที่เก็บทุกอย่างราวกับเป็นไดรโว่ ทั้งหลับและตื่นไม่มีวันพักผ่อน การบ่มเพาะคลื่นอัลฟานั้นผมเห็นว่าคงเป็นการ เพื่มพลังให้กับการ "ดักรอ" การผุดอุบัติขึ้นของเมล็ดพันธ์ต่างๆ เป็นการกดปุ่มสโลว์โมชัน ไม่ให้อะไรมันเกิดขึ้นแบบ "เดี๋ยวผลุบ เดี๋ยวโผล่" โดยเราไม่ทันรู้ตัว เพราะเมื่อ "รู้ตัว" อีกที เรามักจะเสียดาย หรือเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆไม่ใช่หรือ?
หมายเลขบันทึก: 146342เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2007 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท