ความรู้พื้นฐานทางภาษาไทย ความรู้ที่คนไทยควรรู้


บันทึกค่อนข้างจะเป็นวิชาการมากๆ เพราะต้องการให้รู้ว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเรียนรู้และตระหนัก

ความรู้พื้นฐานทางภาษาไทย

ความรู้ที่คนไทยควรรู้   

            

 เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้  ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ   อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้อง ชัดเจน  อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยคนับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...

          พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕

            ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

               ผมขออัญเชิญพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาไว้เป็นเครื่องเตือนใจคนไทยให้รู้จักใช้ภาษาไทย คงไม่ต้องแปลหรือตีความอะไร เพราะมีความชัดเจนอยู่แล้ว          

           ภาษาไทย เป็นภาษาประจำชาติที่ใช้สื่อสารระหว่างคนในชาติ  การใช้ภาษาที่ดีต้องรู้จักคิดและใช้ให้ถูกต้องตามหน้าที่และระดับของภาษา  มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาในการสื่อสาร คือเกิดความไม่เข้าใจกัน หรือสื่อความหมายผิดไปจากวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีผลทำให้ภาษาไทยเปลี่ยนแปลงไปจนไม่อาจรักษาเอกลักษณ์ของภาษาไทยไว้ได้  

 

        หน้าที่ของคนไทยต้องรักษาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของตนไว้ แต่หากไม่รู้ ไม่ทราบถึงที่มาที่ไป หรือความสำคัญของการใช้ภาษาไทยก็อาจไม่ตระหนักในคุณค่าที่ตนมีอยู่ บันทึกนี้จึงขอนำข้อเท็จจริง ความรู้มาไว้เพื่อให้เราได้ตะหนักในสิ่งดังกล่าวนี้

  

คุณค่าภาษาไทย

  

       คุณค่าภาษาไทยสรุปไว้  3 ด้าน คือ

 

            1. คุณค่าด้านการสื่อสาร   ภาษาไทยเป็นเครื่องมือสื่อสาร ประสานความเข้าใจของคนในชาติ  ช่วยรักษาความเป็นกลุ่มชนชาติเดียวกันไว้มิให้แตกสลายเสื่อมสูญไป

 

            2. คุณค่าด้านวัฒนธรรม   ภาษาไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นภูมิปัญญาที่บรรพชนสร้างไว้และถ่ายทอดสืบสานมาจนถึงชั้นลูกหลาน การศึกษาภาษาไทยทำให้เราเข้าใจกำเนิดของชนชาติของตน และเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านภาษาไทยที่พัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาจนปัจจุบันและยังสามารถดำรงวัฒนธรรมอันดีงามของตนไว้ได้ยืนนานสืบไป

 

            3. คุณค่าทางด้านศาสตร์และศิลปะ   ภาษาไทยมีความงาม ประณีตไพเราะ ซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์ของคนไทย   บทกวี  วรรณคดีไทย  คือกระจกสะท้อนความงามของภาษาไทย  ช่วยกล่อมเกลาจิตใจคนไทยให้ละเมียดละไม อ่อนโยน  การใช้ภาษาไทยเพื่อสื่อสารระหว่างกันย่อมอาศัยศิลปะเพื่อสื่อสารให้เกิดความรู้ที่งอกงาม เกิดความเข้าใจอันดี เป็นมิตรต่อกัน  และจรรโลงอารมณ์ให้เกิดความซาบซึ้ง  นอกจากนี้ภาษาเป็นศาสตร์ที่มีระเบียบ กฎเกณฑ์  ที่คนไทยต้องเรียนรู้และใช้ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้น  จึงจะสามารถรักษาภาษาไทยไว้ได้ยาวนาน

  ภาษาย่อมสัมพันธ์กับกระบวนการสื่อสาร  

    

           เพราะภาษาเป็นพาหะนำสาร  ซึ่ง สาร หรือ ข้อมูลต่างๆ ที่มีความหมายก็คือเครื่องมือสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารนั่นเอง  ในกระบวนการสื่อสาร มีปัจจัยเกี่ยวข้องอย่างน้อย 5 ปัจจัย  คือ    ผู้ส่งสาร (senders) จะส่งสาร (Messages)  ผ่านสื่อหรือช่องทาง (Channels)  ไปยังผู้รับสาร (Receivers)  และอาจเกิดปฏิกิริยาตอบกลับ(Feedback)  เป็นวงจรการสื่อสารที่สมบูรณ์ (Two Way Communication) 

 

 

           การพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างใน Go to Know นี้ก็อยู่ในกระบวนการนี้เช่นกัน  สิ่งสำคัญคือเราต้องมี Feedback ต่อกันด้วย เพราะปฏิกิริยาตอบกลับนี้จะมีทั้งการแสดงความคิดเห็น ความรู้สึก ความห่วงใย และเกิดความผูกพันขึ้นมา

  

          ภาษาที่เราใช้สื่อสารระหว่างกันนั้นแยกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ อวัจนภาษา  คือภาษาที่ใช้ถ้อยคำเป็นเสียงพูดหรือลายลักษณ์อักษรที่มีความหมาย กับอวัจนภาษา คือ ภาษาที่เป็นกิริยาท่าทางการแสดงออกของผู้ใช้ภาษา ตลอดรวมถึงสัญลักษณ์ต่างๆ จากภายนอกที่สามารถสื่อสารความหมายกันได้ รูปภาพ แสง สี เสียง วัตถุ ตราสัญลักษณ์ สัญญาณต่างๆ เป็นต้น

  

ภาษาย่อมสัมพันธ์กับความคิด  

      

        การพูดจาหรือเขียนเพื่อสื่อสารกันนั้น ผู้ส่งสารและผู้รับสารต้องรู้จักคิด  เพราะการคิดจะช่วยทำให้สารนั้น ชัดเจน ถูกต้อง และเหมาะสม ไม่เกิดปัญหาความเข้าใจระหว่างกัน 

        การคิด ไม่ว่าจะคิดก่อนที่จะพูดหรือเขียน หรือคิดหลังจากการฟัง การอ่าน ต้องคิดให้ดี  การคิดดี มี 4 ลักษณะ ด้วยกันดังนี้

 

       

 

                                    1.คิดให้ตรงประเด็น หมายความว่าคิดได้ตรงจุดประสงค์ของสารภายนอกที่รับเข้ามาจากการฟัง ดู อ่าน  สามารถจับความคิดหลัก ความคิดย่อยของสารได้ ไม่คิดฟุ้งซ่านออกไปจนเบลอ

 

                  2.คิดอย่างมีระเบียบ  หมายความว่า สามารถจัดลำดับเรื่องราวได้อย่างมีระบบระเบียบ เช่นจัดลำดับตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหลัง  จัดลำดับตามเหตุและผลที่สัมพันธ์กันจัดลำดับตามสถานที่ที่เกิดเรื่องราว  จัดลำดับจากส่วนใหญ่ไปหาส่วนย่อยหรือจากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่ เป็นต้น  

 

                 3. คิดอย่างมีเหตุผล  หมายความว่า การหาเหตุผลมาพิจารณาสารที่รับเข้ามาว่ามีจุดมุ่งหมาย ที่มาอย่างไร เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น สารนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ และมีข้อมูลหรือทฤษฎีอะไรสนับสนุนหรือขัดแย้ง การคิดประกอบด้วยเหตุผลเช่นนี้จะช่วยให้เข้าใจสารได้อย่างชัดแจ้ง ไม่หลงเชื่อโดยง่าย

 

                 4.คิดอย่างถูกต้อง  หมายความว่า สามารถบอกได้ว่าสารภายนอกนั้นถูกต้องตามหลักแห่งความเป็นจริงตามธรรมชาติหรือไม่ เป็นไปตามหลักการ ทฤษฎี  ทางวิชาการหรือศีลธรรมจรรยาหรือไม่อย่างไร  ไม่ใช่คิดโดยมีอคติ หรือยึดอารมณ์ความพึงพอใจส่วนตัวเป็นหลัก การคิดอย่างถูกต้องยังรวมการคิดอย่างละเอียด รอบคอบ ทุกแง่มุมเอาไว้ด้วย

  

มีคำกล่าวหนึ่งที่น่าคิดว่า  ก่อนพูดเราเป็นนายคำพูด  เมื่อพูดแล้วคำพูดนั้นเป็นนายเรา  น่าจะทำให้เราได้ตระหนักในเรื่องการคิดกับการใช้ภาษาได้

  

 

ภาษาย่อมมีหน้าที่และระดับ

  

         ภาษามีหน้าที่สำคัญเหมือนกันทุกภาษาในโลก นั่นคือ 

1. ถ่ายทอดความรู้ต่างๆ หรือภูมิปัญญาไปยังบุคคลอื่น

 

2. ถ่ายทอดความคิดต่างๆ  เพื่อให้บุคคลอื่นได้ทราบและเข้าใจ

 

3. ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก เพื่อบอกความต้องการ  หรือสร้างความเข้าใจระหว่างกัน

      4. เพื่ออบรมสั่งสอน ชี้แนะแนวทางปฏิบัติ เพื่อสืบทอด ความรู้ ภูมิปัญญาวัฒนธรรมของชนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง

 

5. เพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี  ตำราสำหรับการศึกษาเรียนรู้ของคนในสังคมและของอนุชน

     6. เพื่อเป็นเครื่องถ่ายทอดความบันเทิงเริงรมย์  สร้างความสุขของคนในสังคม ในรูปวรรณกรรม หรือสื่อบันเทิงต่างๆ

         

        ส่วนระดับของภาษานั้น หากพิจารณาจากภาษาไทยจะพบว่า ภาษาไทยมีระดับการใช้ไปตามโอกาส และฐานะของบุคคล  เราไม่ได้แบ่งชนชั้นด้วยภาษา แต่หากเกิดจากความเหมาะสมในการใช้ตามวัฒนธรรมที่เรามีมาแต่ครั้งโบราณ เรามีสถาบันกษัตริย์ เราย่อมใช้ภาษายกย่อง เทิดพระเกียรติท่านในฐานะทรงเป็นศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ เรานับถือผู้ใหญ่ ผู้ที่มีคุณวุฒิ ชาติวุฒิที่สูงกว่า เช่น พระภิกษุสงฆ์ เราย่อมมีภาษาที่เหมาะสมกับฐานะนั้นๆ นอกจากนี้ เรายังใช้ภาษาในโอกาสต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการ หรือภาษาราชการ   ภาษาระดับกึ่งทางการและภาษาระดับที่ไม่เป็นทางการ  ภาษาที่ใช้จึงมีลักษณะแตกต่างกันตามโอกาสนั้นๆ ด้วย

         

         อย่างไรก็ตาม  การใช้ภาษาควรคำนึงถึงความเป็นสุภาพชน เพราะแม้เราจะมีภาษาระดับต่ำ หรือภาษาปากที่หยาบคาย รุนแรง ใช้สื่อสารในขณะแสดงอารมณ์ที่ไม่พึงพอใจ เราก็ไม่ควรใช้  เพราะการใช้ภาษาที่ก่อให้เกิดความรังเกียจเคียดแค้น ไม่ใช่วัฒนธรรมอันดีงามนัก หากจะต้องทะเลาะวิวาท ด่าทอ โต้ตอบเสียดสีกันด้วยคำหยาบคาย และทำให้ถึงขั้นแตกความสามัคคี ย่อมส่งผลเสียหายแก่สังคมโดยรวมครับ

  

    อุปสรรคในการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร

  

            การสื่อสารภาษาย่อมเกิดอุปสรรค ปัญหา เสมอๆ  ไม่ว่าจะเกิดจากปัจจัยใดๆ ในกระบวนการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งสาร ผู้รับสาร สื่อ หรือตัวสาร  ความบกพร่องที่เกิดขึ้นเช่น ผู้ส่งสาร ผู้รับสาร มีฐานะแตกต่างกันมาก  มีความบกพร่องในอวัยวะที่ใช้ในการสื่อสาร เช่น หูพิการ ตาพิการ สมองพิการ ปากพิการ หรือสื่อที่ใช้นำสารไม่มีประสิทธิภาพ  ไปจนถึงตัวสาร(ภาษา)ที่อาจไม่มีความชัดเจน กำกวม ออกเสียงไม่ถูกต้อง เรียงลำดับสับสน หรือเป็นภาษาที่หยาบคาย ส่อเสียด ก่อความรังเกียจเคียดแค้น ชิงชัง เป็นต้น  อุปสรรคเหล่านี้ต้องได้รับกาแก้ไข ต้องศึกษาเรียนรู้วิธีการใช้ภาษา ได้แก่ อักขรวิธี (วิธีพูด วิธีเขียน)  การรู้จักอ่าน รู้จักฟัง มารยาทการใช้ภาษาที่เหมาะสมกับวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติ ลงความว่า การใช้ภาษาไทยที่ดี ไม่เกิดอุปสรรคในการสื่อสารมี 5 ประการคือ

 

          1. ใช้ภาษาถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางภาษา

 

      2. ใช้ภาษาถูกกาลเทศะและบุคคล

 

          3. ใช้ภาษาให้ประณีต ไพเราะ

 

      4. ใช้ภาษาไม่บิดเบือนสารเพื่อประโยชน์ตนในทางไม่ชอบ

 

          5. ใช้ภาษาถูกต้องตามกฎหมาย และเหมาะสมกับวัฒนธรรมขนบประเพณีอันดีงาม

  วันนี้ผมเขียนบันทึกค่อนข้างจะเป็นวิชาการมากๆ เพราะต้องการให้รู้ว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเรียนรู้และตระหนัก

หมายเลขบันทึก: 145629เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2007 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • แวะมาทบทวนวิชาภาษาไทยคะอาจารย์
  • เด็กรุ่นใหม่มีปัญหาเรื่องการเขียนนะคะ
  • นอกจากปัญหาลายมือแล้ว
  • สำนวนภาษา..และตัวสะกดของเขาอ่านแล้วมึนมากคะ

ผมว่าตัวอย่างที่ดีก็มีผลต่อการใช้ภาษาของคนไทยนะครับ ผมเห็นว่าทำไมชุมชนภาษาที่มีวงสังคมที่เล็กกว่าทำไมถึงรักษาภาษาของตัวเองได้ ผมว่าถึงเวลาที่จะปลูกฝังความรู้รักษาให้กับเด็กไทย ถึงแม้ภาษาเราจะไม่ใช่ภาษาสากล แต่อย่าลืมว่านั่นคือภาษาบรรพบุรุษที่มีการสืบทอดและใช้กันมานานกว่า 1000 ปี

สวัสดีค่ะพี่กรเพชร

ด้วยความระลึกถึงอย่างสูงเลยค่ะ  พี่กรเพชรคงเปิดเทอมแล้วเหมือนกัน  งานยุ่งมากไหมคะ

บันทึกของพี่ดีจังเลยค่ะ   สมเป็นอาจารย์ภาษาไทยเลย  อ่านแล้วรู้สึกตระหนักในคุณค่าของภาษาไทยได้จริงๆ 

และทำให้แอมแปร์เกิดแรงบันดาลใจ อยากออกแบบแบบฝึกหัดเอาไว้ฝึกเด็กๆ  ว่าแล้วก็ลงมือเลยดีกว่า  เขียนเสร็จแล้วจะส่งอีเมลไปให้พี่กรเพชรอ่านยามว่าง  (คือถ้าพี่ยังพอมียามว่างเหลืออยู่ )   : ) เผื่อว่าพี่จะมีคำแนะนำดีๆนะคะ

ขอบพระคุณด้วยความระลึกถึงอย่างสูงอีกครั้งค่ะ

สวัสดีครับอ.กรเพชร

อ่านแล้วรู้สึกรักภาษาไทยมากครับ สมัยผมจบชั้น ป.๔ หนังสือที่มีอยู่เล่มเดียวคือวิชาภาษาไทยครับ ยิ่งมาทำงานเป็นอัยการยังนึกขอบคุณวิชาย่อความและอ่านเอาเรื่อง ครับ ถ้าไม่ได้ ๒ วิชานี้ทำงานยากมากกับเอกสารบางครั้งเป็นลังๆ ผมเคยทำคดีที่มีเอกสาร ๖ ลังแม่โขง มีเวลาทำงาน ๑ อาทิตย์ ผมทำได้ครับและเข้าใจเรื่องราวของคดีทั้งหมด คดีนี้สู้กันตั้งแต่ผมอยู่ภูเก็ต ย้ายไปกระบี่ กลับมาทำคดีนี้อีกครั้ง จนกระทั่งสู้กันถึงศาลฎีกา ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงกับปัญหาข้อกฎหมาย ในที่สุดผมชนะคดี ถ้าไม่ใช่วิชาเหล่านี้ผมแย่แน่ครับ

สวัสดีครับP

       เด็กรุ่นใหม่มีปัญหาใช้ภาษาไทยหลายเรื่องครับ ตั้งแต่  อ่านน้อย  สรุปความไม่ค่อยเป็น  ลายมือ  เขียนไม่ค่อยรู้เรื่อง พูดไม่ค่อยจะเป็น สำนวนภาษาแบบฝรั่ง เสียงเพี้ยน ฯลฯ  ผมได้พยายามแก้ไข ก็ได้ระดับหนึ่งครับ  ความจริงต้องปลูกฝังและฝึกฝนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว  คิดแล้วก็อยากลงไปสอนเด็กเล็กๆ ชั้นประถม มัธยมเลยทีเดียวครับ

สวัสดีครับP

        ขอบคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมเยียนพูดคุยกัน เห็นด้วยนะครับว่า การปลูกฝัง และ แบบอย่าง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก  เสียดายว่า สังคมไทยอ่อนด้อยทั้งสองเรื่องค่อนข้างมาก  อาจารย์ภาษาไทยอย่างผมฝ่ายเดียวสู้รบปรบมือไม่ไหวครับ  สื่อมวลชนท่านไม่สนใจเรื่องพวกนี้ ท่านจะเอามันท่าเดียวครับ

สวัสดีครับน้องแอมแปร์P

          หายไปพักหนึ่งไม่ได้มาคุยกันเลย  ส่งเมล์มาเลยพี่ยินดีตอบและพูดคุยได้ทุกเรื่อง  ว่างเสมอสำหรับน้องสาวคนนี้ครับ

สวัสดีครับP

       ผมสนับสนุนคำพูดของท่านครับ เพราะภาษาไทย ทำให้ผมชนะคดี   ผมเองนั้นเคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีความในฐานะโจทย์  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยมีความผิด แต่รอลงอาญา  ผมเห็นแย้งจึงขอเป็นโจทย์ร่วม ขออุทธรณ์โดยข้อกฎหมายและเสนอข้อเท็จจริง โดยผมเขียนคำอุทธรณ์เอง สำนวนภาษาไม่เป็นปัญหาครับ ผมอ่าน ภาษากฎหมาย ของอาจารย์ธาณินทร์  กรัยวิเชียร ประกอบ กับความสามารถที่มี   ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับให้จำเลยมีความผิดโดยไม่รอลงอาญา  จำเลยฎีกา  ผมแก้ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน  นี่คือตัวอย่างที่ผมคิดว่า  ผู้พิพากษา ทนายความและอัยการต้องเก่งภาษาไทยมากๆ ครับ 

ในหัวข้อเรื่อง ภาษาย่อมสัมพันธ์กับกระบวนการสื่อสาร ย่อหน้าที่3 อาจารย์ใช้คำว่า อวัจนภาษาซ้ำครับ

ช่วยส่งงานเขียนที่แสดงให้เห็นความสำคัญของภาษาในฐานะที่เป็นเครื่องมือสื่อสารต่อไปนี้

1 . ภาษาไทยเป็นเครื่องมือสื่อสารวัฒนธรรมของชาติ

2.ภาษาไทยเป็นเครื่องมือสื่อสารความสามัคคีของคนในชาติ

3.ภาษาไทยเป็นเครื่องมือสื่อสารในการพัฒนามุนษย์

ดีมากเลยครับทำให้เข้าใจภาษาไทยมากยิ่งขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท