BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ว่าด้วย... ติลักขณาทิคาถา ๓


ติลักขณาทิคาถา ๓

สามคาถาแรกในติลักขณาทิคาถานี้ (ดู ว่าด้วย...  ๒ ) อาจสรุปอีกครั้งได้ว่า...

  • การเห็นไตรลักษณ์ด้วยปัญญานั่นแหละ เป็นแนวทางแห่งวิสุทธิ

ลำดับต่อนี้จะขยายความประเด็นซึ่งได้ตั้งไว้ในครั้งก่อน โดยเริ่มจาก การเห็นด้วยปัญญา ....

การเห็นด้วยปัญญา ก็คือการรู้หรือการเข้าใจนี้เอง แต่คำว่า รู้ หรือ เข้าใจ ตามสำนวนไทยนี้ มีหลายระดับ ดังใครคนหนึ่งเคยแยกแยะเป็น รู้จำ รู้จัก รู้แจ้ง ... ประมาณนั้น

ในวรรณคดีบาลีก็เช่นเดียวกัน คำที่แปลว่า รู้ นี้มีหลากหลาย ซึ่งโบราณาจารย์พยายามขยายความเพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น... โดยเฉพาะคำว่า ปัญญา นั้น ในคัมภีร์วิสทธิมรรคได้แสดงไว้ทำนองว่า....

สัญญา วิญญาณ และ ปัญญา มีภาวะว่า รู้ เหมือนกัน... แต่ สัญญา เป็นเพียงการหมายรู้ว่า เขียว เหลือง เป็นต้น ไม่สามารถเพื่อให้เข้าถึงการแทงทะลุลักษณะว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา... ขณะที่ วิญญาณ รู้อารมณ์ว่า เขียว เหลือง เป็นต้น และให้เข้าถึงการแทงทะลุลักษณะด้วย แต่ก็ยังไม่สามารถเพื่อส่งให้ถึงการบรรลุมรรคได้... ส่วน ปัญญา รู้อารมณ์ และย่อมให้ถึงการแทงทะลุลักษณะตามนัยเบื้องต้นแล้ว และยังสามารถส่งให้ถึงมรรคอีกด้วย...

นี้คือความรู้ระดับสัญญา วิญญาณ และปัญญา ที่ท่านอธิบายไว้... และเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น ท่านได้เปรียบเทียบด้วยการมองดูเหรียญเงินของเด็กไร้เดียงสา ชาวบ้านทั่วไป และเจ้าหน้าที่กองกษาปณ์ไว้ว่า....

เด็กไร้เดียงสา ย่อมรู้ลวดลาย สี และทรวดทรงว่า สั้น ยาว สี่เหลี่ยม หรือกลมของเหรียญกษาปณ์ แต่ไม่รู้ว่า สิ่งนี้ถูกสมมุติว่าเป็นแก้วสำหรับใช้สอยของพวกมนุษย์... ชาวบ้านทั่วไป รู้จักเหรียญกษาปณ์อย่างเด็กไร้เดียงสา และก็รู้ว่าเป็นสิ่งสำหรัชใช้สอยซื้อขายสิ่งต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นความรู้เพิ่มขึ้นจากพวกเด็กๆ อีกด้วย... ขณะที่ เจ้าหน้าที่กองกษาปณ์ นอกจากมีความรู้เหมือนเด็กและคนทั่วไปแล้ว ก็ยังรู้เพิ่มขึ้นว่า เหรียญโน้นเลียนแบบ เหรียญนั่นปลอม และเหรียญนี้มีส่วนผสมของเนื้อเิงินกึ่งหนึ่ง หรือเพียงแต่ได้ยินเสียงดังของเหรียญ หยิบจับมาดู เป็นต้น ก็อาจบอกได้ว่า เหรียญรุ่นนี้สร้างที่นั่น สมัยนั้น  ด้วยนายช่างชื่อโน้น... เป็นต้น

ความรู้ทั้ง ๓ ระดับนี้ เทียบได้ดังต่อไปนี้

  • เด็กไร้เดียงสา - สัญญา
  • ชาวบ้านทั่วไป - วิญญาณ
  • เจ้าหน้าที่กองกษาปณ์ - ปัญญา

.............

ท่านยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า... สัญญา และ วิญญาณ นั้น มีอยู่ในขณะใด ไม่จำเป็นว่า ปัญญา จะมีอยู่ด้วยในขณะนั้น... แต่ถ้า ปัญญา มีอยู่ในขณะใดแล้ว สัญญา และ วิญญาณ ก็จะมีอยู่ด้วยเสมอ...

อนึ่ง การจะแยกแยะว่า นี้คือสัญญา วิญญาณ หรือปัญญานั้น เป็นสิ่งละเอียดอ่อนยิ่งนัก มิใช่สิ่งที่จะเห็นหรือเข้าใจได้ง่ายๆ... โดยท่านได้ยกข้อความจากคัมภีร์มิลินทปัญหาตอนหนึ่ง ซึ่งพระนาคเสนเถระแสดงแก่พระเจ้ามิลินทร์ว่า...

  • ถวายพระพรมหาบพิตร ! พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าทรงกระทำสิ่งที่กระทำได้ยาก ในการประมวลธรรมทั้งหลายที่เป็นจิตและเจตสิกซึ่งไม่มีรูปไว้ในอารมณ์เดียว แล้วเรียกว่า นี้ี้คือผัสสะ นี้คือเวทนา นี้คือสัญญา นี้คือเจตนา นี้คือจิต ดังนี้...

......

ตามที่ยกมาจะเห็นได้ว่า การเห็นด้วยปัญญาื คือ ความรู้ระดับสูงสุด ... ถ้าแม้นเรารู้แบบเด็กๆ ก็อาจเป็นแค่เพียงภาพประทับภายในใจ... ถ้าแยกแยะประเด็นออกไปเชื่อมโยงกันไ้ด้ก็อาจเป็นเพียงความรู้ระดับคนทั่วๆ ไป... ถ้ารู้สูงสุดระดับปัญญานั้นก็อาจเป็นความรู้ที่บ่มเพาะขึ้นมาเองจากประสบการณ์ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้และฝึกหัด... ประมาณนั้น

ประเด็นความรู้ ๓ ระดับเหล่านี้ สอดคล้องกับอีกนัยหนึ่งซึ่งว่าด้วยบ่อเกิดความรู้ ๓ ประเภท กล่าวคือ

  • สุตมยปัญญา ความรู้ที่สำเร็จจากการรับรู้จากภายนอก (เด็ก)
  • จินตมยปัญญา ความรู้ที่สำเร็จจากการคิด (คนทั่วไป)
  • ภาวนามยปัญญา ความรู้ที่สำเร็จจากการบ่มเพาะ (เจ้าหน้าที่)

อย่างไรก็ตาม ความรู้ทั้งสามระดับหรือสามประเภทเหล่านี้ เน้นเฉพาะความรู้ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) และธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา... กล่าวคือ การเห็นไตรลักษณ์นั่นเอง....

ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ผู้เขียนจะค่อยว่าในตอนต่อไป....     

หมายเลขบันทึก: 145491เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2007 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

          คอยติดตามอ่านเสมอค่ะ ชอบเกี่ยวกับด้านปฏิบัติธรรมและคำบาลีมากๆค่ะ

 

 

P

อนิศรา

อนุโมทนาที่คุณโยมเข้ามาฝากรอยจารึกไว้....

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท