มาตราฐานโลกของนักวิชาการในการ "คิดค้นสิ่งใหม่"


วันนี้ผมจะมาเล่าสิ่งที่หลายคนยังไม่ทราบ นั่นคือนักวิชาการนั้นมีระเบียบวิธีและแนวทางในการทำงาน "เหมือนกันทั่วโลก" ครับ เราไม่มีวิธีการหลากหลายแบบชนิดที่ว่า แบบนี้นิยมที่นี่แต่ไม่นิยมที่โน่น เนื่องจากในโลกนี้นั้นวงการวิชาการเป็นวงเล็กเมื่อเทียบกับวงการอื่นๆ อาทิเช่น วงการธุรกิจ เป็นต้น นอกจากนี้เราอยู่บนพื้นฐานของความ "ต้องเชื่อถือได้" ดังนั้นระเบียบการคิดจึงต้องเหมือนกันทั่วโลกครับ

** "คิดค้นสิ่งใหม่" อย่างนักวิชาการ **

เรื่องการ "คิดค้นสิ่งใหม่" (innovation) นั้นนักวิชาการเขามีระเบียบวิธีและแนวทางในการประกาศและยอมรับของการ "คิดค้นสิ่งใหม่" ดังที่ผมจะเขียนเล่าในบันทึกนี้ครับ

สำหรับนักวิชาการแล้ว หากใครคิดค้นวิจัยจนคิดว่า "พบสิ่งใหม่" (ไม่ว่า "สิ่งใหม่" นั้นจะเป็นในสาขาอะไร) บุคคลนั้นจะต้องเขียน "บทความทางวิชาการ" ซึ่งเราเรียกกันสั้นๆ ว่า "paper" เพื่อรายงานสิ่งนั้นแก่วงการวิชาการครับ

ซึ่งวิธีการเขียนบทความทางวิชาการนั้น ไม่ใช่ว่าจะเขียนอย่างไรก็เขียนได้นะครับ มีหลักการและวิธีการในการเขียนที่เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการอยู่ ใครเขียนสุ่มสี่สุ่มห้าไม่เรียกว่าเป็นบทความทางวิชาการครับ

บทความทางวิชาการที่เขียน เมื่อเขียนเสร็จแล้วก็จะส่งไปตีพิมพ์ยัง "วารสารทางวิชาการ" หรือที่เรียกกันในวงการสั้นๆ ว่า "journal" ครับ

สิ่งที่เรียกว่าเป็น "วารสารทางวิชาการ" นี้ก็ไม่ใช่หนังสือแมกกาซีน หรือหนังสือพิมพ์ หรือหนังสือรายวันรายเดือนอะไรก็แล้วแต่ที่คนทั่วไปอ่านกันอยู่นะครับ แต่เป็นสิ่งพิมพ์ที่มีความพิเศษของตัวมันเองครับ

"วารสารทางวิชาการ" เป็นวารสารที่จัดพิมพ์โดยสมาคมทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับในวงการวิชาการ ซึ่งโดยส่วนใหญ่วารสารเหล่านี้ไม่ได้ทำในเชิงธุรกิจ แต่ทำเพื่อผลประโยชน์ทางวิชาการมากกว่าครับ

อาทิเช่นในด้าน วิทยาการคอมพิวเตอร์หรือวิทยาการสารสนเทศ วารสารทางวิชาการได้แก่ วารสารที่ตีพิมพ์โดย Institute of Electrical and Electronics Engineers, Inc. (IEEE) หรือ Association for Computer Machinery (ACM) เป็นต้นครับ

ในการจะเขียนบทความทางวิชาการตีพิมพ์ลงในวารสารทางวิชาการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ จะรวยอย่างไรจ่ายเงินเท่าไหร่ก็ไม่ได้ตีพิมพ์ครับ เพราะเขามีระบบคัดกรองที่เข้มข้นเพื่อคุณภาพทางวิชาการที่แท้จริง

เริ่มจากนักวิชาการจะส่งบทความที่ต้องการตีพิมพ์ไปยังกองบรรณาธิการ (ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับในสาขานั้นๆ) ก่อน แล้วกองบรรณาธิการจึงส่งบทความนั้นไปยัง "ผู้ประเมิน" (reviewer) ซึ่งจะมีหลายท่านด้วยกัน และแต่ละท่านนั้นก็คือผู้ที่ทรงคุณวุฒิในเรื่องที่เกี่ยวกับบทความนั้น

ผู้ประเมินเหล่านี้คือบุคคลที่เคยตีพิมพ์ในวารสารเหล่านี้และได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีในคุณภาพการประเมินครับ เมื่อผู้ประเมินคือนักวิชาการเช่นกัน เราจึงเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็น "peer" ดังนั้นวารสารทางวิชาการจึงเรียกกันอีกชื่อว่า "peer-reviewed journal" นั่นเองครับ

เมื่อผู้ประเมินได้รับบทความแล้ว ก็จะทำการประเมินว่าบทความนั้นมีคุณค่าทางวิชาการเพียงพอที่จะตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการนั้นหรือไม่ โดยการประเมินนี้จะกระทำโดยไม่มีการบอกชื่อ กล่าวคือ ผู้ประเมินก็จะไม่รู้ว่าตนเองกำลังประเมินบทความของใคร และผู้ถูกประเมินก็ไม่รู้ว่าใครประเมินบทความของตนเอง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเล่นพรรคพวกนั่นเองครับ

หากผลการประเมินนั้นผ่าน บทความนั้นก็จะถูกตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการนั้น และการ "คิดค้นใหม่" นั้นก็จะได้รับการยอมรับว่าเป็น "การคิดค้น" และเป็น "สิ่งใหม่" ที่แท้จริงครับ

หากไม่ผ่านกระบวนการนี้แล้ว เหล่านักวิชาการจะไม่ยอมรับว่าสิ่งนั้นเป็นการคิดค้นและเป็นสิ่งใหม่ครับ ไม่ว่าจะโฆษณาครึกโครมแค่ไหนก็ตาม ดังนั้นต้องระวังไว้ให้ดีเวลาฝรั่งมาหลอกว่าตัวเองเป็นนักวิชาการ เพราะตอนนี้เราก็รู้แล้วว่านักวิชาการตัวจริงกับตัวปลอมต่างกันอย่างไรครับ

** ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนั้นยากแค่ไหน **

การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนั้นยากครับ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เพราะหมายถึงนักวิชาการต้องมีงานวิจัยที่มีค่ามีความหมายเพียงพอที่เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการได้จริงครับ

บทความทางวิชาการโดยส่วนใหญ่จะหนาไม่มาก อย่างเก่งที่สุดก็ไม่เกินสิบหน้า แต่สิบหน้านั้นคือผลงานที่ทำงานวิจัยกันมาเป็นปีๆ ครับ

มหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกาจะบังคับให้อาจารย์ตีพิมพ์บทความทางวิชาการให้ได้โดยเฉลี่ยหนึ่งปีสองปีครั้งครับ มหาวิทยาลัยชั้นรองลงไปก็จะเป็นสองสามปีครั้งก็พอไหว

ส่วนในประเทศไทยนั้น หากนักวิชาการคนใดเคยตีพิมพ์บทความทางวิชาการสักหนึ่งบทความในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ก็สามารถขอทุนพัฒนานักวิจัยระดับ "เมธีวิจัย" จาก สกว. ได้เลยทีเดียว โดยแต่ละปี สกว. จะให้ทุนนี้เพียงประมาณ 20 ทุนเท่านั้น

ดังนั้นลองประเมินดูนะครับ ว่าการตีพิมพ์บทความทางวิชาการในวารสารทางวิชาการนั้นยากแค่ไหน

** Impact Factor **

เมื่อวารสารวิชาการชั้นนำตีพิมพ์ยากมาก วารสารระดับรองลงมาก็ย่อมมีอยู่ครับ และวารสารวิชาการในโลกนี้มีเยอะมาก โดยแต่ละวารสารก็มีความน่าเชื่อถือและได้ยอมรับในวงการวิชาการแตกต่างกันไปครับ

วิธีการที่นักวิชาการจะบอกได้ว่าวารสารทางวิชาการไหนดีไม่ดีได้รับการยอมรับแค่ไหนในวงการนั้น เราจะดูจาก "Impact Factor" ครับ

โดย Impact Factor คือตัวเลขการวัดว่าบทความจากวารสารนั้นได้ถูกนำไปอ้างอิงในบทความอื่นๆ มากน้อยเพียงไหน โดย Impact Factor มีวิธีการคิดที่ซับซ้อนไม่น้อยทีเดียว ใครสนใจในรายละเอียดอ่าน The Thomson Scientific Impact Factor และ Impact Factor ที่ Wikipedia ครับ

Impact Factor เป็นมาตราฐานในการวัดที่ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลาย สำหรับในประเทศไทยฝ่ายวิชาการ สกว. ก็ได้ใช้ตัวเลขนี้ในการประเมินผลงานการทำงานของนักวิชาการผู้รับทุนครับ

ดังนั้นอยู่ๆ ใครจะมาสร้างวารสารทางวิชาการขึ้นมาง่ายๆ ไม่ได้ครับ พวกฝรั่งที่มาหลอกหากินกับโลกที่สามชอบมั่วนิ่มเรื่องนี้ครับ แต่เดี๋ยวนี้คนไทยเรามีความรู้มากพอที่จะไม่ถูกหลอกได้แล้วครับ

** การเขียนหนังสือถือว่าเป็นการ "คิดค้นทางวิชาการ" ได้หรือไม่ **

หลายคนสงสัยว่าการเขียนหนังสือนั้น จะถือว่าเป็นการคิดค้นทางวิชาการได้หรือไม่ครับ เพราะฝรั่งตาน้ำข้าวที่มาทำธุรกิจในประเทศไทยชอบเอาข้อนี้มาอ้าง ทำให้คนไทยเข้าใจผิดกันไปเยอะ

สำหรับคำถามนี้ คำตอบคือ "การเขียนหนังสือไม่ถือว่าเป็นการคิดค้นทางวิชาการ" ครับ

การเขียนหนังสือนั้นคือการ "เรียบเรียงความรู้" ไม่ใช่ "รายงานการคิดค้นความรู้" ครับ

ผู้เขียนหนังสือนำความรู้ที่มีผู้อื่นคิดค้นแล้ว มาเรียบเรียงอธิบายให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย หนังสือจึงสามารถใช้อ้างอิงได้ในฐานะของ "การเรียบเรียง" ไม่ใช่ "การคิดค้น" ครับ

หนังสือดีจะได้รับการยกย่องว่ามีความสามารถใน "การเรียบเรียง" ที่ดี ไม่ใช่ "การคิดค้น" ครับ

นักวิชาการที่เขียนหนังสือก็จะได้รับการยกย่องในความสามารถใน "การเรียบเรียง" ซึ่งเป็นการยกย่องในวงการวิชาการแบบหนึ่ง แต่ไม่่ใช่ยกย่องว่า "การคิดค้น" ครับ

ตัวอย่างเช่น Thomas H. Cormen ผู้เขียนหนังสือ Introduction to Algorithms ซึ่งเป็นหนังสือเรียนมาตราฐานที่ใช้ในการสอน algorithms ทั่วโลก เพราะผู้เขียนเรียบเรียงได้ดีมาก ไม่เคยอ้างเลยว่าตัวเองคิดค้น algorithms ที่เขียนในหนังสือครับ

นักวิชาการที่เป็นนักคิดค้นเขาจะต้องตีพิมพ์บทความในวารสารทางวิชาการก่อนเพื่อประกาศการคิดค้นต่อวงการวิชาการ หลังจากนั้นหากเขามีเวลาและมีใจรักในการเรียบเรียง เขาถึงจะรวบรวมสิ่งที่เขาคิดค้นรวมทั้งการคิดค้นของคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นหนังสือครับ

ตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกาไม่บังคับให้อาจารย์ต้องเขียนหนังสือ แต่บังคับให้อาจารย์ต้องมีบทความทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอ ที่เขาบังคับเช่นนี้ เพราะการเขียนหนังสือเป็นความชอบในการเรียบเรียงส่วนตัว แต่บทความทางวิชาการหมายถึงความก้าวหน้าทางการวิจัยของอาจารย์ครับ

สาเหตุที่หนังสือใช้พิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้นั้นเป็นผู้คิดค้นเรื่องที่เขียนในหนังสือหรือไม่ เพราะสิ่งที่เขียนในหนังสือไม่ได้รับการพิสูจน์จากนักวิชาการด้วยกันว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องครับ

ทั้งนี้เพราะหนังสือจะถูกพิสูจน์ว่า "ขายได้" จากสำนักพิมพ์และกองบรรณาธิการ แต่ไม่ได้พิสูจน์จากนักวิชาการว่า "ถูกต้อง" ครับ อย่างมากที่สุดสำนักพิมพ์ก็จะส่งให้กับนักวิชาการ (ที่รับทำงานพิเศษให้แก่สำนักพิมพ์ในการอ่านหนังสือก่อนพิมพ์) อ่านเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถตีพิมพ์ได้และมีคนซื้อรวมทั้งไม่ทำให้สำนักพิมพ์ขายหน้าเท่านั้นเอง

อาจารย์ที่ปรึกษาผมที่อเมริการับงานอ่านหนังสือก่อนพิมพ์เหล่านี้อยู่เหมือนกัน ดังนั้นผมเคยได้อ่านหนังสือที่ถูกโยนทิ้งถังขยะเพราะมีแววขายไม่ออกอยู่หลายเล่มครับ

ดังนั้นต้องบอกให้เป็นที่รู้กันครับ ว่าใครจะเขียนหนังสืออย่างไรก็ได้ ขอให้ขายได้ก็ได้ตีพิมพ์แล้ว เรื่องความถูกต้องนั้นไม่ใช่ประเด็นหลักของหนังสือ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รู้กันดีในวงการวิชาการครับ ให้นักวิชาการคนไหนมาพูดก็จะพูดเหมือนกันหมด

แต่ฝรั่งที่ชอบมาหากินในโลกที่สามมักเอาหนังสือที่ตัวเองเขียนมาหลอกว่าฉันคิดค้นสิ่งโน้นสิ่งนี้ คนไทยบางคนก็หลงเชื่อไป จ่ายเงินให้ฝรั่งกินไปสบายๆ ทีเดียว

ดังนั้นเรื่องนี้ต้องเข้าใจกันไว้ให้ดี มิฉะนั้นจะถูกฝรั่งหลอกได้ง่ายๆ ครับ ประเทศเรามีทรัพยากรจำกัด หากสังคมไทยถูกฝรั่งหลอกอยู่ทุกวันแล้ว เราจะเอาทรัพยากรที่ไหนไปพัฒนาประเทศครับ

** ทำไมต้องเขียนบันทึกนี้ **

ดังนั้นบันทึกนี้ต้องเขียนครับ เพราะมีนักธุรกิจต่างชาติที่แอบอ้างตนเป็นนักวิชาการมาหากินกับคนไทยอยู่ไม่น้อย ถ้านักวิชาการไทยไม่ช่วยกันให้ข้อมูลที่ผมเขียนในบันทึกนี้ให้เผยแพร่ออกไปในวงกว้างแล้ว ประเทศไทยเราจะสูญเสียทั้งเงินทั้งเวลาให้แก่นักธุรกิจที่แฝงมาในคราบวิชาการจอมปลอมเหล่านั้นมากมาย และนั่นคือความสูญเสียของสังคมไทยที่จะยอมไม่ได้ครับ

ดังนั้นช่วยกันบอกต่อๆ ไปนะครับ อย่าหลงเชื่อนักธุรกิจที่มาในคราบนักวิชาการจากต่างชาติ เราต้องประกาศว่าคนไทยไม่ได้ไร้ซึ่งความรู้จนหลงเชื่อฝรั่งได้อย่างที่เขาหวัง บอกไปเลยครับ ว่าคนไทยไม่ใช่หมู จะมาล้วงตับล้วงไตเรากินก็เจอกันหน่อย เราไม่ใช่ประเทศเต่าตุ่นสุดขอบโลกที่ไหน เรามีนักวิชาการที่ "คิดค้นสิ่งใหม่" ระดับโลกได้ไม่น้อยกว่าประเทศไหนเลย วงการวิชาการของไทยเดี๋ยวนี้เข้มแข็งมาก ในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก นักศึกษาไทยเดินกันขวักไขว่ คนไทยไม่ใช่หมูที่หลอกยังไงก็เชื่อแล้วครับ

ฝรั่งเอ๋ยจำไว้ เราไม่ใช่หมูครับ คิดจะกินคนไทย เดี๋ยวคนไทยจะกินกลับให้ไม่เหลือแม้เศษสตางค์ ระวังไว้ให้ดี!!

หมายเลขบันทึก: 145019เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2007 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • เป็นข้อแนะนำที่ดีมากคะอาจารย์
  • เพราะปัจจุบันนักวิชาการต่างชาติเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากบ้านเราเพิ่มมากขึ้น
  • ที่สำคัญความรู้บางอย่างที่เราลงทุนซื้อกับใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่า
  • หากเราสามารถสร้างองค์ความรู้ต่างๆได้เองโดยพึ่งพาต่างชาติให้น้อยลงคงจะดีกว่าที่เป็นอยู่นะคะ
  • ดีมาก ๆ เลยครับ อาจารย์
  • ผมขออนุญาต ส่งต่อให้เพื่อน ๆ ผม นะครับ
  • ปัจจุบัน เรามี "นักวิชาเกิน" มากกว่า "นักวิชาการ" ครับ
  • ขอบคุณครับ

ดีจังเลยที่อาจารย์เสนอเรื่องนี้อย่างละเอียด

ทำให้เห็นว่า การที่จะค้นหาความจริงในระดับมาตรฐานโลกนั้นไม่ง่ายหรอก แต่ละเรื่องเลือดตาแทบกระเด็นทั้งนั้น นักสู้ นักกล้า อย่างหัวเด็ดเท่านั้นที่จะฝ่าไปได้

แต่นักวิจัย นักวิชาการ ที่ใจและมือไม่ถึงมักจะเข้าใจว่ามันไม่เท่าไหร่

เมื่อไม่เป็นนักวิชาการใจอาชีพ จึงหาทางออกผิดๆง่ายๆ ประจวบกับมีนักธุรกิจกำมะลอจากต่างแดนมาหลอก มาหากินกับพวกนี้ ทราบว่าจ่ายค่าโง่กันไปนักต่อนักแล้ว

เมื่อสภาพการณ์ในบ้านเราเป็นอย่างนี้ ไม่ทราบว่าอีกกี่ร้อยปีเราถึงจะสามารถพิมพ์งานวิชาการของเราในบ้านเราเอง ที่นานาชาติยอมรับได้ เพราะสิ่งนี้คือการประเมินความก้าวหน้าของความรู้ฉบับThailnnd

อ่านเรื่องที่อาจารย์เขียน เหมือนได้ไปนั่งเรียนลัดเป็นไหนๆ อิอิ

พึ่งถึงบางอ้อ

 

ขอบคุณยิ่งสำหรับความรู้ประดับหัวคนที่ไม่มีปัญญาได้ผ่านพบประสบการณ์ด็อกเตอร์ครับ ท่านอาจารย์เหน่

 

อนึ่ง

นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ควรรวมโลกนะเนี่ย ... ถ้ารวมกันแล้วภูมิปัญญา + นวัตกรรมทั้งหลาย ก็เป็นของชาวโลกโดยรวม ซึ่งง่ายต่อการตรวจสอบ ประยุกต์ใช้ และแบ่งปัน เป็นอย่างยิ่งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท