ลปรร. การออกข้อสอบอัตนัย (๑)


การใช้ข้อสอบแบบอัตนัย อาจารย์สามารถเรียนรู้จากนักศึกษาได้

ช่วงเช้าวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ผศ.อัญชลี ชยานุวัชร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และส่วนส่งเสริมวิชาการได้จัดกิจกรรมส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนให้อาจารย์ใหม่ อาจารย์ที่สนใจ และผู้ช่วยสอน ได้เรียนรู้เรื่องการออกข้อสอบอัตนัย

ดิฉันได้รับเชิญให้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วย แม้จะไม่ได้ออกข้อสอบมานานแล้วแต่ก็ไม่ปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ว่าดิฉันได้เคยมีส่วนในงานนี้ด้วย ทีมคณะกรรมการพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนการสอนในอดีตสมัยที่ดิฉันงานอยู่ที่ มวล.สมัยก่อนได้ริเริ่มไว้ อาจารย์หนุ่มๆ สาวๆ ช่วยกันคิดปรับรูปแบบจากเดิมที่เชิญวิทยากรจากภายนอกมาบรรยาย (เพราะรู้สึกว่าฟังแล้วก็ยังทำไม่ได้) มาเป็นให้อาจารย์ภายในที่เราเห็นว่าทำเรื่องนั้นๆ ได้ดีมาเล่าให้กันฟังว่าเขาทำอย่างไร แล้วจัดคนมาเพิ่มเติมความรู้อีกที ตอนนั้นดิฉันยังไม่รู้จัก KM ถ้ารู้จักคงได้ใช้ไปแล้ว

กิจกรรมเริ่มประมาณ ๐๙.๐๐ น. ดิฉันเดินทางไปถึงห้องประชุมที่อาคารสถาบันวิจัย เห็นการจัดโต๊ะเก้าอี้เป็นรูปตัวยู แต่ที่นั่งวิทยากรอยู่ต่างหากแถมมีการประดับต้นไม้ดอกไม้เป็นพิเศษอีก เลยขอให้ปรับใหม่ เอาโต๊ะมาต่อให้อยู่ระนาบเดียวกัน

อาจารย์ที่จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์มี ๓ คนคือดิฉัน ดร.สิริเพ็ญ ทองปัสโน และอาจารย์อัมพร หมาดเด็น ต่างสาขาวิชากัน ดิฉันนำนั่งในตัวยูเช่นเดียวกับผู้ที่มาเรียนรู้ และขอให้อาจารย์อัญชลีทำหน้าที่เป็น Facilitator นั่งตรงกลางแทน

 

 บรรยากาศในห้องประชุม

ดิฉันเข้าใจว่าผู้มาเรียนรู้ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ใหม่ของ มวล. (แต่บางคนเก่ามาจากที่อื่น) มีประมาณ ๑๕ คน ที่พิเศษคือมีทั้งอาจารย์จีน ญี่ปุ่น ฝรั่ง และไทย ดังนั้นนอกจากอาจารย์อัญชลีจะทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” ด้วยวาจาแล้ว ยังพิมพ์สิ่งที่เราแลกเปลี่ยนกันด้วยภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษขึ้นจอให้อาจารย์ต่างชาติได้รู้เรื่องด้วย อาจารย์ต่างชาติจึงสามารถ participate กับพวกเราที่ไม่ถนัดคุยเป็นภาษาอังกฤษ สิ่งที่อาจารย์อัญชลีคิดและทำในเรื่องนี้น่าชื่นชมจริงๆ

 

 อาจารย์อัญชลีกำลังพิมพ์ภาษาอังกฤษขึ้นจอ

อาจารย์อัญชลีแนะนำผู้มาแลกเปลี่ยนและให้ผู้มาเรียนรู้แนะนำตัวเองเป็นภาษาอังกฤษสั้นๆ ต่อจากนั้นให้ดิฉันเล่าประสบการณ์ของตนเอง

ผศ.ดร.วัลลา ตันตโยทัย สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์

ดิฉันบอกก่อนว่าข้อสอบทั้งแบบอัตนัยและปรนัยต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อจำกัด จะใช้ข้อสอบแบบไหนต้องดูวัตถุประสงค์ของการสอน ในประสบการณ์ของตนเองใช้ข้อสอบทั้ง ๒ แบบร่วมกัน ข้อสอบอัตนัยออกง่ายแต่ตรวจยาก โจทย์ต้องชัดเจน เว้นบรรทัดให้ตอบให้เหมาะกับความยาวของคำตอบ บอกคะแนนของแต่ละข้อให้รู้ด้วย เพื่อให้นักศึกษากะเวลาได้ถูก

เมื่อคิดโจทย์แล้วต้องเฉลยคำตอบไว้เลย การตรวจข้อสอบควรเป็นเวลาที่มีอารมณ์ดีๆ ระวัง bias วิธีการตรวจข้อสอบจะอ่านรอบแรกแล้วแยกคำตอบที่ดีมากดีน้อยไว้เป็นกองๆ แล้วจึงอ่านให้คะแนนอีกที ตรวจข้อสอบทีละข้อให้เสร็จเป็นข้อๆ ไป มีการเตรียมนักศึกษาให้คุ้นเคยกับข้อสอบแบบอัตนัยด้วยการให้ทำแบบฝึกหัดท้ายทุกบทที่สอน ข้อควรระวังมีอะไรบ้าง เป็นต้น

อาจารย์อัมพร หมาดเด็น สำนักวิชาศิลปศาสตร์

อาจารย์อัมพรเล่าว่าข้อสอบที่ใช้จริงใช้ทั้งแบบอัตนัยและปรนัย อาจารย์สอนกลุ่มใหญ่ ข้อสอบครึ่งหนึ่งจึงใช้ปรนัย ที่ออกข้อสอบแบบอัตนัยเพราะพยายามเปิดให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์ให้มากที่สุด จะไม่ให้ตอบเรื่องแนวคิดทฤษฎีอย่างเดียว จะให้ยกตัวอย่างประกอบด้วย และให้เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนมา แต่ข้อจำกัดคือใช้เวลาในการตรวจ มีการออกข้อสอบให้เลือกว่าจะทำข้อไหน ถ้าทำเกินจะถูกหักคะแนน ออกข้อสอบแล้วอาจารย์จะลองทำเองดูด้วยว่าจะทำได้ทันเวลาหรือไม่ เตรียมนักศึกษาโดยให้ทดสอบย่อย เป็นการฝึกในระดับหนึ่งก่อนสอบจริง

การให้คะแนนดูว่าตอบตรงคำถามไหม ตรงประเด็นไหม เชื่อมโยงข้อมูลกับแนวคิดหรือไม่ สะท้อนประสบการณ์หรือไม่ อาจารยือัมพรมีข้อสังเกตว่าคนที่ขยัน เอาใจใส่ จะทำข้อสอบได้ดี เวลาตัดเกรดจะใช้วิธีอิงกลุ่ม

ดร.สิริเพ็ญ ทองปัสโน สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร

อาจารย์สิริเพ็ญ ซึ่งสอนในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ บอกว่าการออกข้อสอบปรนัยวัดได้ง่ายกว่า แต่ก็ควรมีอัตนัยด้วย อาจารย์เคยผ่านการอบรมเรื่องการออกข้อสอบมาแล้วทั้ง ๒ แบบ เท่าที่ถามๆ อาจารย์ใหม่ๆ ที่ใช้ข้อสอบอัตนัย พบว่าไม่ใช่เหตุผลตามที่อบรมกันเลย เช่น ออกข้อสอบไม่ทัน (เพราะคิดว่าง่าย) ที่ได้ยินบ่อยๆ คือไม่รู้จะให้คะแนนส่วนไหน ข้อสอบปรนัยผิดแล้วผิดเลย อัตนัยมีค่าน้ำหมึก หาเรื่องให้คะแนนนักศึกษา และยังมีแง่คิดอีกแบบที่เราอาจนึกไม่ถึงคือการใช้ข้อสอบแบบอัตนัย อาจารย์สามารถเรียนรู้จากนักศึกษาได้

ปัญหาที่อาจารย์สิริเพ็ญเจอตอนที่มาใหม่ๆ ออกข้อสอบยังไม่เป็น ออกไม่ทัน จึงออกข้อสอบอัตนัย ถามง่ายมากว่า “ไวรัสคืออะไร” เว้นที่ไว้ ๑๐ บรรทัด จริงๆ ต้องการให้นักศึกษาตอบสั้นๆ ปรากฏว่าได้คำตอบที่หลากหลายมาก บางคนตอบไปถึงโครงสร้าง บางคนตอบว่าเป็น “พืชชั้นต่ำชนิดหนึ่ง....” คิดว่าคำถามนี้ง่ายที่สุดแล้ว ต่อให้ไม่ได้เข้าเรียนก็น่าจะตอบได้ แสดงให้เห็นว่าถ้าไม่รู้หลักของข้อสอบอัตนัย จะลำบากในการตรวจ เมื่อรู้แล้วก็รู้ว่าไม่น่าจะออกแบบนี้

อีกตัวอย่างหนึ่งที่อาจารย์สิริเพ็ญประสบ เป็นข้อสอบเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ อาจารย์ออกข้อสอบโดยใช้ภาพ ให้ดูภาพช้างมีคนขี่และมีภาพหมูตัวเท่ากับช้าง จากภาพที่ให้มา ให้นักศึกษาบอกผลกระทบที่จะเกิดจากภาพนี้ ปรากฏว่าครึ่งหนึ่งของนักศึกษาไม่เข้าใจว่าจะให้ตอบเรื่องการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ผลจากการถ่ายยีน และผลกระทบด้านต่างๆ เช่น social impact มีคนตอบมาว่า หมูจะแย่งอาหารช้าง หมูโตเร็ว หมูจะเหยียบคนเลี้ยงตาย ฯลฯ (ดิฉันบอกว่ายังดีที่ไม่มีใครตอบว่าเห็นช้างเท่าหมู)

ตอนหลังอาจารย์สิริเพ็ญได้เรียนรู้จากอาจารย์ ดร.ทิพย์วัลย์ สุทิน จึงเข้าใจว่าการออกข้อสอบที่ให้นักศึกษาตีความเอาเอง อาจตีความได้หลากหลาย ที่อาจารย์เข้าใจกับที่เด็กเข้าใจนั้นต่างกัน

การตรวจข้อสอบ เห็นด้วยกับอาจารย์วัลลาว่าต้องทำอารมณ์ดีๆ นิดนึง บางครั้งเราหงุดหงิดก็อาจจะอคติได้ เวลาตรวจจะเรียงจากเบอร์ ๑ ไปจนสุดท้าย แล้วดูทวนจากท้ายขึ้นมาอีกว่าได้ให้คะแนนดีหรือยัง ตรวจทีละข้อ มีธงในการให้คะแนน (key word) ไล่ทีละข้อ อย่าพยายามให้ความชอบหรือไม่ชอบนักศึกษามามีผลต่อการให้คะแนน (ถ้ามีพื้นที่ให้เขียน นักศึกษามักเขียนต่อท้ายมาขอคะแนน)

ถ้ายกสถานการณ์มาถาม ต้องบอกให้ชัดเจนว่าต้องการให้ตอบแค่ไหน มีคะแนนเท่าไหร่ ต้องใช้คำให้ชัดเจน การอธิบาย – อภิปรายต่างกัน เช่น “พ่อมีเลือดกรุ๊ป A เป็น AA แม่กรุ๊ป B เป็น.......ลูกจะมีโอกาสเป็น.....กี่ %” บางคนจะตอบมาแค่ % แต่บางคนจะบอกวิธีคิดมาด้วย

ดังนั้นต้องกลับมาดูคำถามของเราด้วย ที่เด็กตอบมาแบบนี้ เพราะคำถามของเรากำกวมไม่ชัดเจนหรือไม่ บางครั้งคำถามของเราเองนั่นแหละที่ทำให้เด็กเข้าใจผิดๆ ตีความผิดๆ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 144753เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2007 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ เรื่องการออกข้อสอบอัตนัย  ผมเห็นด้วยกับหลักการของท่านวิทยากรทุกท่านครับ  คือ ข้อดีของข้อสอบอัตนัยก็มีมาก แต่ผมมีประเด็นข้อจำกัดของข้อสอบอัตนัยจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยครับ  นั่นคือ คำว่าอัตนัย ผมว่าเราต้องมาตีประเด็นก่อนครับว่า อัตนัย ของใคร ถ้าเป็นอัตนัย ของ ผู้สอบก็โอเคครับ นั่นคือ ทำให้ผู้สอนได้รู้จักเด็ก   แต่จากประสบการณ์ของผมที่ผ่านมา คำว่า อัตนัย มักจะเป็นอัตนัย ของ ผู้สอนครับ นั่นคือ ผู้สอบต้องรู้จักผู้สอน แล้วต้องเดาใจว่าตอบอย่างไร จะถูกใจผู้สอน  ในมุมมองของผมนะครับ คำว่า "ธง" คำตอบที่ตั้งไว้ น่าจะเป็น ธง ในเรื่องของกระบวนความคิดนะครับ ไม่ใช่ธงของคำตอบถูกผิดตามอัตนัยของครูผู้สอน ผมจะยกตัวอย่างของจริงเลยก็ได้ครับ คือ ผมอยู่ในวงการศึกษา  มีข้อสอบถาม เกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น ผมตอบไปว่าผมไม่เห็นด้วยกับการมีหลักสูตรท้องถิ่น  และที่ผมไม่เห็นด้วยผมก็มีแนวคิดและหลักการมาอธิบายครับ ผลออกมา คือ ผมได้คะแนนกลุ่มต่ำครับ  เพราะอาจารย์ท่านนี้ เน้นหลักสูตรท้องถิ่นมาก อีกตัวอย่างครับ อาจารย์อีกท่านหนึ่ง ออกข้อสอบเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา ผมใช้หลักสำนักขัดแย้ง(ก็ใกล้ๆกับหลักคอมมิวนิสต์ นั่นแหละครับ) เป็นแนวในการตอบ ผมตอบแล้วก็มีแนวคิดและหลักการมาอธิบายประกอบ ผลสอบผมได้คะแนนดีครับ ทั้งๆที่อาจารย์ท่านนี้ก็เป็นปรปักษ์กับสำนักขัดแย้ง  ผมว่าถ้าจะสอบอัตนัย ก็น่าที่จะเป็นแบบกรณีหลังนะครับ ที่เขียนมา ผมว่าข้อสอบอัตนัย ผู้สอน หรือ ผู้ออกข้อสอบใจกว้างหน่อยก็ดีครับ เพราะถ้าใจไม่กว้าง  ก็ควรสอบปรนัยจะดีกว่าครับ

ขอบคุณอาจารย์ small man มากที่ให้ข้อคิดเห็นที่ทำให้มีมุมมองกว้างขึ้นค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท