ผมได้รับคำถามจากกระทู้ในกระดานพบผู้อำนวยการของwww.bantakhospital.com และได้พยายามตอบคำถามนี้ เห็นว่าหากเอามาลงในบล็อกอาจมีคนช่วยตอบได้อีกเยอะ ลองดูคำถามนะครับ
ขอเรียนปรึกษาค่ะ
เนื่องจากดิฉันเป็นหัวหน้างานในหน่วยงานเล็กๆที่ต้องให้บริการผู้ป่วย
มี จนท. อยู่ 2 คน และลูกจ้างประจำ 1คน ซึ่งเป็นเด็ก train
ดิฉันอยู่ในฐานะ กรรมการบริหาร
ค่อนข้างที่จะประชุมเพื่อรับนโยบายอยู่เป็นประจำ
เป็นหน่วยบริการที่ที่ต้องขึ้นเวรตลอด 24 ชั่วโมง
และจัดให้ลูกจ้างขึ้นเวรด้วย ( เพราะจำนวนเจ้าหน้าที่มีน้อย
และอยากหารายได้ให้กับลูกจ้าง ) ขอคำแนะนำค่ะว่า หากเจ้าหน้าที่อีกคน
ได้รับอนุมัติจากผอ.ให้ลาศึกษาต่อเนื่อง 2 ปีครึ่ง (
เข้าใจดีค่ะว่าต้องมีการส่งเสริมบุคลากรให้ได้รับทักษะ
และเพิ่มวุฒิการศึกษา
)แต่ถ้าทำให้อัตรากำลังบกพร่องดิฉันจะมีแนวทางแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างไร
กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเพราะเหลืออัตรากำลัง เจ้าหน้าที่ 1
และลูกจ้างเพียง 1 ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการลา การไปอบรม ประชุม
หรืออื่นๆ แนวทางของผู้บริหารรพ. ดิฉันก็คือ .......ไม่เห็นเป็นไร
อยู่ 2 คน ก็ทำไปเท่าที่ทำได้ อยู่เวรยังอยู่คนเดียวได้เลย
ถ้าหากทำไม่ได้ก็ให้ปิดแผนก หรือ ให้แพทย์ ส่งตรวจเฉพาะ case ง่าย ๆ
นี่แหล่ะ คือทางออก ของผู้บริหาร รพ. ดิฉัน ................
จึงอยากขอข้อคิดเห็นจากท่านค่ะ ขอขอบพระคุณมาณที่นี้ด้วย
เมื่อผมได้รับคำถามแล้วผมก็ตอบไปดังนี้ครับ
ผมยอมรับว่าเป็นคำตอบที่ยากมากๆ...เพราะคนที่ไม่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน
ย่อมคิดและเห็นไม่เหมือนกัน ส่งผลให้ตัดสินใจแตกต่างกันไป
การตอบของผมจึงจำกัดแค่ข้อมูลที่พึงมีและความเห็นจากประสบการณ์ที่พบเจอเท่านั้น
ในกรณีนี้...ถ้าเป็นผม จะทำอย่างไร
1.
ประเมินปริมาณงานดูว่า จาก 3 คน เหลือ 2 คน จะทำงานได้ไหม
ถ้าปริมาณงานไม่มาก ก็อาจไม่ต้องจ้างคนเพิ่มและให้อยู่ 2 คน
2.
แต่ถ้าปริมาณงานมากเกินไป อยู่ 2 คน ไม่ไหว
ก็มาดูสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลหรือดูจำนวนเจ้าหน้าที่ทางการพยาบาลที่มีอยู่
ถ้ามีคนพอที่จะจัดสรรได้ ก็จัดสรรไปช่วย 1 คน ถ้าไม่มีคนแต่มีเงิน
ก็จ้างคนมาช่วยอีก 1 คน แต่ถ้าไม่มีคนและไม่มีเงิน
ก็ต้องให้ลดปริมาณงานลงเท่าที่จะทำได้
เพราะก็ไม่รู้จะแก้อย่างไรเหมือนกันหากไม่ลดคนลง
ที่โรงพยาบาลเคยเจอสถานการณ์แบบนี้ที่งานทันตกรรม เคยมีทันตแพทย์ 3 คน
ทำให้สามารถให้บริการคนไข้ได้เยอะ ต่อมาเหลือทันตแพทย์ 2 คน
ถ้างานเท่าเดิม ทำไม่ได้แน่
ก็ต้องทำใจปรับลดปริมาณงานลงไปและสรางความเข้าใจที่ถูกต้องกับคนไข้เพราะนี่เป็นข้อจำกัด
ไม่รู้จะหาทันตแพทย์มาเพิ่มจากที่ไหนได้
3.
หากเรามีความเห็นว่าปริมาณงานลดลงไม่ได้แน่ งานเยอะมาก
ก็ต้องพยายามปรับเรื่องการนัดซึ่งอาจได้รับบริการช้าลงบ้าง
แต่ไม่ได้เลิกบริการ
และอาจจัดตั้งเป็นทีมคร่อมหน่วยงานโดยขอกำลังจากงานอื่นๆมาเวียนช่วยในลักษณะเป็นทีม
โดยที่ไม่ได้เอาคนของเขามาเป็นของเราเลย แต่เรามีคนช่วยทำงาน
ที่โรงพยาบาลบ้านตากแก้ไขแบบนี้หลายที่ด้วยกัน เช่นงานบริการสุขภาพจิต
มีเจ้าหน้าที่ประจำคนเดียว งานเยอะมาก
ก็มีทีมงานที่มาจากงาน/ฝ่ายอื่นๆเข้ามาช่วยอีกหลายคน
หรืองานการพยาบาลพิเศษ มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง 1 คน
แต่มีทีมมาจากจุดอื่นๆ เป็นการใช้คนร่วมกันหลายฝ่าย
ทำให้แก้ปัญหาการขาดคนไปได้
ครับนี่เป็นคำตอบที่ผมคิดได้ แต่มีสถานการณ์หรือบริบทที่แตกต่างกันไป
การแก้ปัญหาเรื่องดเรื่องหนึ่งในโรงพยาบาลจึงต้องคิดรอบด้าน มองรอบมุม
มองทั้งระบบเพราะหากดึงคนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง
อาจทำให้ที่ที่ได้คนดีขึ้น แต่ทำให้ที่ที่ถูกดึงคนมาแย่ลง
พอมองภาพรวมแล้วกลับแย่ลงไปมากทั้งโรงพยาบาล
อย่างนี้ก็ต้องไม่ดึงคนออกมาจากจุดนั้น
ดังนั้นการตัดสินใจของผู้บริหารแต่ละแห่งจึงขึ้นอยู่กับบริบท
ข้อจำกัดและสถานการณ์ที่องค์การเผชิญอยู่
คนนอกมักคิดได้ง่ายและดูเหมือนตัดสินใจได้ดีกว่าเพราะไม่ได้เกิดกับตนเองโดยตรง
ผงเข้าตาคนอื่นก็เขี่ยให้เขาได้ง่าย
แต่หากเป็นปัญหาของตนเองก็อาจจะแก้ยากเหมือนกันเหมือนผงเข้าตาตนเองเขี่ยออกเองไม่ได้
ท่านผู้อ่านละครับ มีคำตอบอะไรที่จะเสนอแนะ
เชิญเล่ามาได้เลยครับ
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Dr. Phichet Banyati ใน PracticalKM
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก