สาเหตุที่ก่อให้เกิดแนวปะการังเสื่อมโทรม


สาเหตุที่ก่อให้เกิดแนวปะการังเสื่อมโทรม

สภาพความเสื่อมโทรมที่สังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัดในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน พอที่จะสรุปได้ดังนี้
1) ผลจากพายุพัดทำลาย พายุที่พัดในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในปี พ . ศ . 2529 มีผลทำให้เกิดความเสียหายกับแนวปะการังทางชายฝั่งด้านทิศใต้ของเกาะต่างๆหลายแห่งทางฝั่งทะเลอันดามัน ที่เห็นเด่นชัดได้แก่ บริเวณหมู่เกาะ อาดัง - ราวี ส่วนทางฝั่งอ่าวไทย ได้รับผลกระทบจากทั้งพายุไต้ฝุ่นเกย์ ในปี พ.ศ. 2532 พายุซีต้าและพายุลินดาเมื่อปี พ.ศ. 2540 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากคือ บริเวณอ่าวไทยตอนกลาง ตั้งแต่บริเวณชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จนถึงสุราษฎร์ธานี
2) ผลจากการระบาดของดาวมงกุฎหนาม เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทางฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณที่ได้รับความเสียหายอย่างเด่นชัดคือที่หมู่เกาะอาดัง - ราวี ในช่วงปี พ . ศ . 2527 - 2529
3) ผลกระทบจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (coral bleaching) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทางฝั่งทะเลอันดามันในปี พ . ศ . 2534, 2538 และ 2541 ส่วนทางอ่าวไทยได้รับผลกระทบมากในปี พ.ศ. 2541 โดยมีสาเหตุจากการที่อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงผิดปกติ ติดต่อยาวนานในช่วงฤดูแล้ง กล่าวคือ อุณหภูมิสูงถึง 31 ซ . ( ซึ่งอาจถือเป็นจุดวิกฤต ) จากเดิมที่อุณหภูมิปกติ 29  ซ . แนวปะการังในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ โดยความรุนแรงแตกต่างกันในแต่ละแห่ง อย่างไรก็ตาม พบว่าปะการังที่ฟอกขาวส่วนใหญ่สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้ ยกเว้นในกลุ่มปะการังเขากวางที่มักจะตายไป โดยทั่วไปแล้วในแต่ละแห่งปะการังตายไปไม่เกิน 10%
4) ผลจากตะกอน เห็นเด่นชัดตามแหล่งที่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำ หรือตามเกาะที่มีป่าชายเลนขนาดใหญ่ เช่นเกาะตะลิบง กลุ่มเกาะยาว กลุ่มเกาะในอ่าวพังงา กลุ่มเกาะที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะภูเก็ต รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ใกล้แผ่นดินใหญ่ที่มีการพัฒนาชายฝั่งมากตามจังหวัดต่างๆทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย นอกจากนี้ยังมีปัญหาผลกระทบของตะกอนจากกิจกรรมการทำเหมืองแร่ในทะเลในอดีต โดยพื้นที่ซึ่งคาดว่าได้รับความเสียหายมากจากตะกอนที่เกิดจากการขุดแร่ในทะเล คือบริเวณแหลมหัวกรังน้อย และแหลมหัวกรังใหญ่ ในเขตอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เนื่องจากทั้งสองจุดนี้อยู่ใกล้แหล่งสัมปทานเหมืองแร่ในทะเลบริเวณบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา
5) ผลจากกิจกรรมการท่องเที่ยว เห็นได้ชัดในเรื่องผลกระทบจากสมอเรือ โดยเฉพาะที่บริเวณหมู่เกาะสิมิลัน ซึ่งหลายจุดมีปะการังที่เป็นพวกกิ่ง ( เช่น Hydnophora rigida และ Acropora spp.) เป็นพวกที่เด่นในพื้นที่ ปะการังประเภทนี้มีความเปราะบางกว่าชนิดอื่นๆ จึงมักพบร่องรอยความเสียหายจากสมอเรือหลายแห่งที่หมู่เกาะสิมิลัน นอกจากนี้ในบริเวณแนวปะการังน้ำตื้นหลายแห่ง เช่นที่เกาะสุรินทร์ เกาะสิมิลัน เกาะเฮ เกาะพีพี ฯลฯ ได้รับความเสียหายจากการถูกนักท่องเที่ยวยืนเหยียบย่ำเมื่อลงดำน้ำ ในบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกของอ่าวไทย แนวปะการังหลายบริเวณได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว เช่น บริเวณเกาะกุฎี จังหวัดระยอง เกาะหมาก และเกาะกระดาด จังหวัดตราด เป็นบริเวณที่มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมแนวปะการังเพิ่มมากขึ้น แนวปะการังมีสภาพเสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด
6) ผลกระทบจากการทำการประมงที่ผิดวิธี เช่นจาก การระเบิดปลา ซึ่งเห็นได้ชัดที่เกาะไหง และเกาะกระดาน จังหวัดตรัง แต่เนื่องจากทั้งสองแห่งนี้มีปะการังโขด ( Porites lutea ) ที่เป็นหัวขนาดใหญ่เป็นชนิดที่เด่น จึงไม่เกิดความเสียหายเป็นพื้นที่กว้างมากนัก และสังเกตพบว่าการระเบิดปลาน่าจะเกิดขึ้นมากในพื้นที่ที่เป็นแนวโขดหินใต้น้ำที่มีปะการังขึ้นอยู่เป็นหย่อม เนื่องจากในพื้นที่หลายแห่งมักจะพบเศษหินและซากปะการังแตกกระจายอยู่ตามพื้นทรายข้างล่าง
ในหลายพื้นที่ยังพบปัญหาเรื่อง เศษอวนปกคลุมปะการัง เศษอวนเหล่านี้อาจมาจากการที่ชาวประมงซ่อมอวนและตัดอวนทิ้งกลางทะเล ซึ่งมีโอกาสลอยและถูกพัดพาไปตกค้างในแนวปะการัง หรืออวนที่ชาวประมงดักปลาในแนวปะการังโดยตรง ซึ่งเมื่ออวนขาดเสียหายก็ถูกปล่อยทิ้งไว้จนคลุมปะการัง บางแห่งมีการวาง ลอบดักปลาบนแนวปะการัง ทำให้ปะการังแตกหักเสียหาย และในบริเวณโซนพื้นราบโดยทั่วไปมักเสียหายจากการที่ชาวบ้าน เดินเหยียบย่ำและพลิกปะการังเพื่อหาสัตว์น้ำ โดยเฉพาะพวกปลาหมึกยักษ์และหอยบางชนิด และในบางท้องที่ยังมีการ ลักลอบจับสัตว์น้ำในแนวปะการังโดยใช้สารไซยาไนด์


แหล่งที่มา:http://www.pmbc.go.th/CoralStation/CoralFrameset-4.htm



คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14459เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2006 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท