การประชุมเครือข่ายฯสัญจร (4) ต่อ


เราไม่ได้เอาเงินเป็นตัวนำให้เกิดการเรียนรู้ แต่เงินทำให้เกิดการเรียนรู้

    ไชโย! ในที่สุดก็สามารถเข้ามาในระบบได้แล้ว เมื่อวานนี้พยายามอยู่หลายชั่วโมงก็เข้าไม่ได้ จนกระทั่งร้านอินเตอร์เน็ตปิด (4 ทุ่ม) ก็เลยไม่ได้เข้ามาเขียนเล่าเรื่องการประชุมเครือข่ายฯสัญจรต่อ พูดถึงเมื่อวานนี้คงเป็นวันที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติอีก 1 วัน เนื่องจากมีการนัดชุมนุมอย่างสงบบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า (ไม่เห็นบรรยากาศแบบนี้มานานแล้วค่ะ) ถ้าหากว่าผู้วิจัยอยู่ที่กรุงเทพฯ คงไปร่วมสังเกตการณ์อย่างแน่นอน เพราะ เป็นคนอยากรู้ อยากเห็น (ไม่ใช่ สอดรู้ สอดเห็น นะคะ) ตอนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ผู้วิจัยก็ไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย ตอนนั้นยังเด็กมากเลย บ้านอยู่หน้ารามพอดี ก็เลยออกจากบ้านมาที่ ม.รามคำแหง มาดูประชาชน นักศึกษาชุมนุมแล้วเดินขบวนไปที่สนามหลวง (ไม่รู้เดินถึงหรือเปล่า เพราะ ทางไกลมาก) เหตุการณ์ดูน่ากลัวมาก แทบไม่อยากเชื่อเลยว่า 7-ELEVEN และห้างWELCO จะปิดทำการ แม่ค้า พ่อค้าขายของดียังกะเทน้ำเทท่า ลูกชิ้นจากไม้ละ 5 บาท ขึ้นเป็น 10 บาท คนปิ้งปิ้งแทบไม่ทัน คนซื้อหลายๆคนบอกว่าไม่ต้องปิ้งเลย ซื้อทั้งดิบๆไปเลย เดี๋ยวเอาไปปิ้งเอง ผู้วิจัยไม่อยากเห็นเหตุการณ์แบบนี้อีกเลย ยังไงก็ขออย่าให้มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นเลยนะคะ

    มาเข้าเรื่องของเราดีกว่า เมื่อวันก่อนค้างเอาไว้ตรงวาระที่ 4 ที่ประธานฯได้กล่าวสรุปว่ากลุ่มที่เข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายฯจะต้องจ่ายเงินอะไรบ้าง เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ มาที่กองทุนสวัสดิการของเครือข่ายฯ วันนี้จะขอเล่าต่อจากเมื่อวานนี้นะคะ

     ในประเด็นนี้ อ.นวภัทร ได้ยกมือขึ้นขอให้ประธานฯอธิบายเรื่องการเฉลี่ยความเสี่ยงอีกครั้ง

      ประธานฯได้อธิบายว่า กลุ่ม (องค์กร) ที่มาเป็นสมาชิกครบ 180 วันจะต้องจ่ายค่าเฉลี่ยความเสี่ยงมาที่เครือข่ายฯ โดยกลุ่มจะต้องดูว่าตนเองมีสมาชิกเท่าไหร่ แล้วแจ้งมาที่เครือข่ายฯ เครือข่ายฯก็จะแจ้งยอดกลับไปที่กลุ่มว่าจะต้องจ่ายค่าเฉลี่ยความเสี่ยงเป็นจำนวนเท่าใด เช่น ในกรณีของบ้านศรีบุญเรืองที่ขณะนี้มาสมัครเป็นสมาชิกของเครือข่ายฯแล้ว แต่ยังเป็นสมาชิกไม่ครบ 180 วัน กลุ่มบ้านศรีบุญเรืองจึงยังไม่ต้องจ่ายเงินค่าเฉลี่ยความเสี่ยงเข้ามา แต่ต้องจ่ายเงินต่างๆ ได้แก่

     1.เงิน 20% เพื่อเข้ากองทุนกลาง (สำรอง)

     2.เงิน 5% สำหรับกองทุนชราภาพ และ 5% สำหรับกองทุนเพื่อการศึกษา

    นอกจากนี้แล้วประธานฯยังได้อธิบายต่อไปว่า สำหรับเงิน 20% ที่ทางกลุ่มส่งมาที่เครือข่ายฯเพื่อเป็นกองทุนกลาง (สำรอง) นั้น กลุ่มแต่ละกลุ่มสามารถนำออกไปใช้ได้ ในกรณีที่เงินกองทุนสวัสดิการ 50% ของกลุ่มหมดไปแล้ว ไม่มีเงินเหลืออยู่ในมือ หรือ กลุ่มมีเงินเหลืออยู่ไม่เกิน 5,000 บาท แล้วเครือข่ายฯจะรู้ได้อย่างไรว่ากลุ่มไหนเหลือเงินไม่เกิน 5,000 บาท หรือ เงินหมดไปแล้ว? กลุ่มจะต้องส่งรายงานมาที่เครือข่ายฯว่าในแต่ละเดือนรับเงินจากการออมของสมาชิกมาจำนวนเท่าใด ใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการไปเท่าใด เรียกว่า รายงานฐานะการเงินของกองทุนสวัสดิการ เมื่อส่งมาแล้วทางเครือข่ายฯก็จะมีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบว่ารายงานนั้นเป็นรายงานที่แท้จริงหรือเปล่า เพราะ อาจจะมีการเอาเงินไปใช้ผิดประเภท ดังนั้น ทางเครือข่ายฯจึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ คณะกรรมการตรวจสอบต้องรักษาผลประโยชน์ให้กับเครือข่ายฯ ให้กับกลุ่มทุกกลุ่ม ถ้าหากว่ากลุ่มที่ส่งรายงานมาเพื่อขอยืมเงินจากกองทุนกลาง (สำรอง) มีการใช้เงินผิดประเภท หรือ มีเงินในกองทุนสวัสดิการเพียงพอก็ต้องมีการส่งกลับไป (ไม่อนุมัติให้ยืมเงินออกไป)

      คุณกู้กิจ ยกมือขออนุญาตแสดงความคิดเห็นว่า จากแผนที่ภาคสวรรค์เงินกองทุนสวัสดิการ 100% จะถูกแบ่งไปที่ กองทุนกลาง 20% , กองทุนธุรกิจชุมชน 30% , จัดสวัสดิการ (สงเคราะห์) 50% อยากจะเสนอความคิดเห็นต่อที่ประชุมว่าบางสิ่งบางอย่างต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เช่น ในกรณีของกองทุนสวัสดิการคนทำงานนั้น จะเรียกเก็บเงินจากสมาชิก 50 บาท/คน/ปี เมื่อเก็บเงินได้แล้วกลุ่มจะต้องส่งเงินมาที่เครือข่ายฯ 40 บาท/คน/ปี เก็บไว้ที่กลุ่ม 10 บาท/คน/ปี ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาแล้วจะเห็นว่าเงินที่ส่งมาที่เครือข่ายฯนั้น เครือข่ายฯยังไม่ได้เอาไปทำอะไรให้เกิดดอกออกผล อยากจะให้เอาเงินตรงนี้มาเก็บไว้ที่ชุมชน เครือข่ายฯจังหวัดเก็บเงินมาไว้ที่ (ห้องแอร์) จังหวัดมาหลายปีแล้ว หรือ ในกรณีของกองทุนกลาง (สำรอง) ที่ต้องส่งมาให้เครือข่ายฯ 20% ตนเองมองว่าเมื่อเอามาไว้ที่เครือข่ายฯ 20% ก็มาอยู่ที่ห้องแอร์ ในมุมมองของคนทำงานจึงอยากเสนอว่าอาจเอามาอยู่ที่เครือข่ายฯสัก 5% ส่วนอีก 15% เอาไว้ที่ชุมชน เพราะ ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ สำหรับกลุ่มเถินนั้นตั้งความหวังและจะต้องทำให้สำเร็จไว้หลายอย่าง เช่น ร้านค้าชุมชนจะต้องใหญ่กว่านี้ (ร้านค้าชุมชนเกิดจากการนำเอาเงินกองทุนสวัสดิการคนทำงานมาลงทุน) นอกจากนี้แล้วยังต้องเกิดปั๊มน้ำมันชุมชน , โรงน้ำดื่มของชุมชนด้วย ดังนั้น ตัวเลขที่ส่งมาที่เครือข่ายฯจึงควรที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ขอเสนอในที่ประชุมอย่างนี้ และอยากขอความเห็นจากที่ประชุมด้วย

      ในประเด็นนี้ ประธานฯได้กล่าวว่า ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนขอให้นำไปพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ (คุณกู้กิจได้แทรกขึ้นว่า ขอให้เลขาฯบันทึกด้วยว่าตนเองได้เสนออะไรไปบ้าง) คงจะไม่ขัดข้อง ถ้าสมาชิกเห็นด้วย สำหรับแผนที่ภาคสวรรค์นั้นได้ถูกนำมาใช้เป็นเวลา 5 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่

      นอกจากนี้แล้ว ประธานฯยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า อยากจะตั้งข้อสังเกตว่าในส่วนของกองทุนกลางนั้น หากส่งมาที่เครือข่ายฯเพียง 5% หรือ ไม่สมทบมาเลย วิธีการจัดการภายในของกองทุนกลางจะถูกเปลี่ยนไปทันที คือ

      1.ส่วนที่บอกว่าจะเอาไปเสริมสภาพคล่อง จะเอาไปเสริมหรือไปทำอย่างไร

      2.ในเรื่องกองกองทุนค้ำประกัน

      3.สินเชื่อ

      4.การร่วมทุน

      ลองนึกดูก็ได้ว่า ถ้ามันเปลี่ยนไปแล้วจะมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไร โจทย์นี้ไม่ใช่ของประธานฯหรือของคนใดคนหนึ่ง เราต้องช่วยกันคิด ถ้าหากว่าเราคิดว่าเราต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็ต้องทำอย่างนี้ (เป็นสูตรที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างนี้) ถ้าหากต้องการการปรับเปลี่ยนก็ต้องมาดูกัน ต้องมีเหตุผล มีความจำเป็นอย่างไร มากน้อยแค่ไหน

       อ.นวภัทร ยกมือแสดงความเห็นด้วยกับคุณกู้กิจ โดยกล่าวว่า รู้สึกว่าเราจะส่งเงินมาที่เครือข่ายฯมาก ตรงนี้ขอยกตัวอย่างในกรณีของกองทุนธุรกิจชุมชน อยากให้กลุ่มเป็นผู้จัดการเอง เราไม่ได้เอาเงินเป็นตัวนำให้เกิดการเรียนรู้ แต่เงินทำให้เกิดการเรียนรู้ ในประเด็นนี้ลุงคมสัน ในฐานะรองประธานเครือข่ายฯ และเป็นผู้ดูแลกองทุนกลาง 20% ได้อธิบายให้ฟังว่า 20% นี้จะถูกแบ่งอีกเป็นส่วนๆเมื่อนำมาไว้ที่เครือข่ายฯแล้ว คือ ไปที่กองทุนหมุนเวียน 1 ส่วน คิดเป็น 30% , ไปที่กองทุนธุรกิจชุมชน 1 ส่วน คิดเป็น 30% , ไปที่กองทุนเสริมสภาพคล่อง 1 ส่วน คิดเป็น 30% , ไปที่กองทุนค้ำประกัน 1 ส่วน คิดเป็น 10% เวลานี้เงินยังอยู่นิ่ง ยังไม่มีการเคลื่อนไหว แต่ถ้าหากว่ากลุ่มไหนมีปัญหาเรื่องเงินหมด หรือต้องการเงินไปเสริมสภาพคล่องก็สามารถทำเรื่องส่งมาที่เครือข่ายฯได้ โดยส่งรายงานฐานะการเงินมาที่เครือข่ายฯ เพื่อขอใช้เงินในส่วนของกองทุนเสริมสภาพคล่อง ถ้ามีเงินแล้วก็เอามาใช้คืน โดยที่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย เพราะ เป็นเงินของเราเอง หรือ ถ้าหากมีการการทำกองทุนหมุนเวียน ก็สามารถมาใช้เงินตรงนี้ได้ แต่ถ้ากลุ่มไม่ส่งเงิน 20% นี้มาที่ส่วนกลาง หากต่อไปกลุ่มไม่มีเงินแล้วเราจะเอาเงินตรงไหนมาช่วยกัน การที่มีกองทุนนี้ (กองทุนกลาง) เพราะ เราตั้งไว้เพื่อป้องกันปัญหา ใช้ในการแก้ไขปัญหา หรือ อย่างในกรณีของกองทุนสวัสดิการคนทำงาน ที่กลุ่มต้องส่งมาที่เครือข่ายฯ 40 บาท/คน/ปีนั้น หากจะปรับเปลี่ยนก็ได้ แต่ถ้าไม่ปรับเปลี่ยน หากกลุ่มต้องการใช้ก็มาขอใช้ได้ อาจมีหลายคนหรือหลายกลุ่มไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเอาเงินมาไว้ที่เครือข่ายฯมากๆ ความจริงแล้วเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อการป้องกัน แก้ไขปัญหาต่างๆ และที่ไม่มีการขยับเขยื้อน ต้องยอมรับว่า เครือข่ายฯของเราค่อนข้างอ่อนแอมาก แต่ขณะนี้กำลังจะเรียบร้อยแล้ว

       จากนั้น อ.นวภัทร ได้ยกมือขึ้นเพื่อขอแสดงความคิดเห็นว่า ในตอนนี้ถ้ามาดูกัน เงินกองทุนสวัสดิการ 50% ของกลุ่มหมดไป (ไม่พอ) ต้องไปเอาเงินกองทุนธุรกิจชุมชน (30%) มาช่วยเสริมสภาพคล่องตรงนี้ ถ้าหากเราต้องไปยืมเงินจากกองทุนกลาง (ที่อยู่ที่เครือข่ายฯ) มาอีก จะไม่ตายเหรอ มีแต่หนี้ คิดว่าตรงนี้คือ ปัญหา

       ในประเด็นนี้ ลุงคมสัน ได้อธิบายว่า เงิน 20% ที่แต่ละกลุ่มส่งมาที่เครือข่ายฯนั้น เราแบ่งออกเป็นอีกหลายกองทุน (ไม่ขออธิบายอีกนะคะ เนื่องจากได้อธิบายไปแล้วในส่วนต้นๆ) ดังนั้น ถ้ากลุ่มไหนเงิน 50% ไม่พอ ไม่ต้องไปยืมเงินจากกองทุนธุรกิจชุมชนมา แต่ขอให้ทางกลุ่มส่งฐานะการเงินของกลุ่มมาที่เครือข่ายฯ เครือข่ายฯจะทำการพิจารณาแล้วให้ยืมเงินในส่วนของกองทุนเสริมสภาพคล่องออกมา แต่ต้องใช้คืน ซึ่ง อ.นวภัทร ได้บอกต่อไปว่า เมื่อยืมมาแล้วก็ต้องใช้คืน (แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาใช้คืน)

      ประธานฯ ได้พยายามสรุปว่า ขอให้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมใหญ่ ในส่วนของเงิน 20% ถ้ากลุ่มไหนไม่อยากส่งก็ไม่ต้องส่ง แต่ถ้ากลุ่มไหนจะส่งขอก็ให้เกาะกลุ่มกันส่งเข้ามา ถ้าหากกลุ่มไหนส่งเข้ามาก็จะมีสิทธิในการขอใช้เงินกองทุนเสริมสภาพคล่อง แต่ถ้ากลุ่มไหนไม่ส่งก็ให้จัดการกันเอง

      คุณกู้กิจ ยกมือแสดงความคิดเห็นว่า ควรจะนำข้อเสนอตรงนี้ไปขบคิดกันก่อน หลังจากนั้น ในการประชุมเดือนหน้าก็เอามาคุยกัน หาข้อสรุปให้ได้ ประธานฯจึงกล่าวขึ้นมาว่า จะเอาอย่างนั้นก็ได้ อย่างในเรื่องเงินที่ส่งเข้ามาที่เครือข่ายฯนั้น ถ้าหากกลุ่มไหนจะส่งก็ส่ง ถ้าไม่ต้องการส่งก็ไม่ต้องส่ง เอาอย่างนี้ดีไหม ถ้าไม่ส่งหากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็ให้กลุ่มจัดการกันเอาเอง ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะทำให้ทุกกลุ่มสบายใจ เพราะ มี 2 แนวทางให้เลือก ถ้าแนวทางหนึ่งไม่เหมาะสมกับเรา เราก็สามารถไปใช้อีกแนวทางหนึ่งได้ แต่แผนที่ภาคสวรรค์ก็ต้องถูกนำไปทดลองใช้ เพราะ เราไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง เราเอาคนเป็นตัวตั้ง เอาคนเป็นกลไกที่จะเชื่อมโยงกัน ทำงานร่วมกัน

       คุณอุทัย ยกมือขอแสดงความคิดเห็นว่า จะสรุปอย่างที่ประธานฯบอกคงจะไม่เหมาะสม ถ้าอย่างนั้นก็อาจมีปัญหาได้ ถ้าหากมีทั้งกลุ่มที่ส่ง และกลุ่มที่ไม่ส่ง เครือข่ายฯจะไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยากจะเสนอว่าน่าจะมาดูว่าถ้าแต่ละกลุ่มเห็นว่าส่งมากเกินไป แล้วจะไม่ส่ง เราก็น่าจะมีการปรับลดเงินที่ส่งมาที่เครือข่ายฯให้ลดลง เพื่อให้แต่ละกลุ่มส่งเงินเข้ามา ในประเด็นนี้ อ.นวภัทร ได้ยกมือแสดงความเห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณอุทัย จากนั้นคุณกู้กิจ ได้ยกมือแสดงความคิดเห็นว่า ให้นำไปปรับ แล้วนำมาคุยกัน ไม่ใช่บอกว่า มติที่ประชุมบอกว่าจะส่งก็ส่ง ไม่ส่งก็ไม่ต้องส่ง

       เอาล่ะ! ตอนนี้ขอเล่าแค่นี้ก่อนนะคะ รู้สึกว่าเล่าไปเล่ามาคนเล่าจะเริ่มเครียดแทนคนเข้าร่วมประชุมค่ะ แล้วจะมาเล่าต่อให้จบนะคะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14455เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2006 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท